พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

มองผ่านมุม ถอดบทเรียนการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของชุมชนสองข้างทางรถไฟ ณ โคราช


มองผ่านมุมบันทึกกิจกรรม คณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก                                                                                  ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ณ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 


                           ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่หลายๆ ท่านให้ไปร่วมทำงานกับคณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ด้วยวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ 
                 1. เพื่อทำกิจกรรมถอดบทเรียนการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของคนในชุมชนสองข้างทางรถไฟ จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับทีมทำงานด้านสถานะบุคคลในพื้นที่
                  2. เพื่อประชุมร่วมกับสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านราชสีมา ซึ่งขอหารือเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสถานะบุคคลให้กับเด็กในสถานสงเคราะห์ 

                 เรื่องเล่าจากกิจกรรมถอดบทเรียนตามข้อ 1.
                 กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตาม “โครงการห้องเรียนทดลองเพื่อจัดการปัญหาสถานะชุมชนสองข้างทางรถไฟ จังหวัดนครราชสีมา” ซึ่งดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ด้วยประสงค์จะแก้ปัญหาเรื่องสถานะบุคคล สัญชาติให้กับคนในชุมชนสองข้างทางรถไฟ โดยการทดลองทำโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างคณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก และคนทำงานในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด สำนักงานรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ เพื่อหวังบูรณาการคนทำงานและแต่งตั้งคณะทำงาน คณะอนุกรรมการโครงการห้องเรียนทดลองในชุมชนสองข้างทางรถไฟ   
               โครงการนี้ประสบความสำเร็จในหลายส่วน โดยหลักๆ ผู้เขียนเห็นได้ว่านอกจากจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องความไร้สัญชาติของคนในชุมชนได้แล้ว ยังเป็นโครงการที่รวมเอาคนทำงานด้านสถานะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนเก่า คนใหม่ คนที่มีหน้าที่โดยกฎหมายหรืออาสาสมัครเข้าไว้ด้วยกัน และอาจจะเป็นเหตุผลนี้เอง ทำให้อนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก เห็นควรว่าหลังการถอดบทเรียน ความสำเร็จ ความล้มเหลวและข้อเสนอแนะ จะนำประสบการณ์ตั้งแต่ริเริ่มโครงการมาเขียนเป็น หนังสือ หรือคู่มือ เพื่อหวังว่าจะเป็นเข้มทิศ ให้กับชุมชนลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆของประเทศไทยต่อไป 
                  ผู้เขียนเองเพิ่งได้มีโอกาสเข้ามาร่วมงานด้วยในส่วนปลายของโครงการ ก่อนไปจึงต้องเตรียมศึกษาข้อมูลการดำเนินการของโครงการก่อนหน้านี้จากเอกสาร เพื่อจะได้ตามที่ประชุมถอดบทเรียนให้ทัน
                 โดยระหว่างกิจกรรมการถอดบทเรียน เพื่อศึกษาถึง 1.“ปัจจัยของความสำเร็จในการจัดการปัญหาสถานะบุคคล” 2. “ปัจจัยที่ทำให้ยังทำไม่สำเร็จ” 3. “ข้อเสนอแนะ” และที่สำคัญคือ 4.“สาเหตุของปัญหาที่ทำให้คนในชุมชนลักษณะนี้ยังคงเป็นคนไร้สัญชาติทั้งที่คนเหล่านี้มีบรรพบุรุษต้นตระกูลในประเทศไทย ไม่ใช่พวกชนกลุ่มน้อยหรืออพยพเข้ามา” เราได้ใช้วิธีการโดยแบ่งกิจกรรมการถอดบทเรียนเจ้าของปัญหาเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มคนที่สามารถแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติได้สำเร็จ และกลุ่มคนที่ยังดำเนินการไม่สำเร็จ และแยกการกิจกรรมถอดบทเรียนคนทำงานผู้ให้ความช่วยเหลือเจ้าของปัญหา (supporter) และผู้รักษาการตามกฎหมายออกมา โดยผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมถอดบทเรียนกับเจ้าของปัญหาที่แก้ไขปัญหาสำเร็จ และได้รับมอบหมายงานเขียนในส่วนของการถอดบทเรียนและข้อเสนอแนะ
                    ข้อสังเกตส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามีความสำคัญมากในการจัดการปัญหา คือ องค์ความรู้ในปัญหาที่เกิดขึ้น องค์ความรู้ในการแก้ปัญหา และความใส่ใจในการแก้ปัญหาของเจ้าของปัญหา เพราะหลังจากผู้เขียนได้คุยกับเจ้าของปัญหาหลายๆคน มันสะท้อนชัดว่าคนเหล่านี้เป็นคนไทยติดแผ่นดิน บิดามารดาเป็นคนไทย แต่ด้วยก่อนหน้านี้พวกเขาไม่ได้เพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร และไม่รู้ว่าปัญหาของเขาคืออะไร (ไม่รู้ถึงการเป็นคนสัญชาติไทยที่ยังไม่สมบรูณ์ เพราะไม่มีการรับรองสิทธิในทะเบียนราษฎร) ไม่รู้ว่าการใช้สิทธิหลายประการเช่น การรักษาพยาบาล การเดินทาง ที่มีปัญหาก่อนหน้านี้นั้นสืบเนื่องจากสถานะบุคคล แต่พอวันที่ที่พวกเขาได้รับความรู้จากคนทำงาน (อนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก) มันก็ถึงทางเลือกว่าพวกเขาจะลุยกับปัญหานั้น หรือจะปล่อยให้มันเป็นปัญหาต่อๆไป...พอมาถึงตรงนี้แล้ว เหมือนผู้เขียนได้เห็นภาพที่อาจารย์มักจะบอกผู้เขียนเสมอว่า เราต้องรู้ให้ได้ว่าปัญหาคืออะไร(การจัดการข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหา)  แล้วต้องมีองค์ความรู้ในการแก้ปัญหา และแก้ปัญหานั่นเอง 

                  เรื่องเล่าจากการประชุมร่วมกับสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านราชสีม
                  การประชุมกับผู้ปกครองบ้านพักเด็ก ซึ่งนำเคสเด็กในความดูแลของสถานสงเคราะห์ ที่มีปัญหาสถานะบุคคล 14 เคสมาหารือนั้น ผู้เขียนขอสรุปลักษณะปัญหาของเคสดังกล่าว โดยแยกเป็นกลุ่มดังนี้
1.กลุ่มเด็กที่มีข้อเท็จจริงเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย – เด็กกลุ่มนี้มักได้รับสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต เพราะเราพบข้อเท็จจริงเรื่องวันเกิด สถานที่ บิดา และมารดา คนสัญชาติไทย จากการรับฟังพยานเอกสารประกอบพยานบุคคลแต่เด็กถูกละเลยไม่ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตั้งแต่เด็ก ซึ่งปัญหามักจะมาจากที่บิดามารดาไม่เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหา และสถานแรกรับก่อนหน้านี้เองก็อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องสถานะบุคคลให้แก่เด็ก เพราะสังเกตได้ว่า เด็กส่วนใหญ่อายุประมาณ 14-16 ปี และเข้ามาอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ของรัฐนานแล้ว (อยู่สถานสงเคราะห์อื่นมาก่อน) ทำให้ปัญหาความไร้สัญชาติเรื้อรังทั้งที่ น่าจะแก้ปัญหาได้นานแล้ว ความเรื้อรังของปัญหายังคงมีอยู่ต่อไปเมื่อ ปัจจุบันเด็กบางคนได้หนีออกจากสถานสงเคราะห์และไม่สามารถตามตัวได้
2.กลุ่มเด็กที่ขาดข้อเท็จจริง หรือพยานเอกสารยืนยันข้อเท็จจริง –เด็กกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มเด็กไร้รากเหง้าโดยแท้ คือ ไม่สามารถค้นหาข้อเท็จจริงเรื่องการเกิดและบิดา มารดาได้ จึงยังเป็นคนไร้สัญชาติ ที่ถูกบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรไทยประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ในกลุ่มคนไร้รากเหง้า ซึ่งเด็กกลุ่มนี้สามารถแบ่งย่อยได้อีก กล่าวคือ 
  •  2.1 เด็กที่มีข้อเท็จจริงและเอกสารว่าเกิดไทย เด็กกลุ่มนี้ถ้าได้รับการสำรวจประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามยุทธศาสตร์ปี พ.ศ.2548 ในช่วงปี พ.ศ.2550-2552 จะมีนโยบายของรัฐไทยที่พัฒนาสถานะให้เด็กกลุ่มนี้ได้สัญชาติไทยต่อไป
  • 2.2 เด็กที่ไม่มีข้อเท็จจริงเรื่องสถานที่เกิด เด็กกลุ่มนี้ถูกจัดว่าเป็นพวกตกอยู่ในสูญญากาศของนโยบายในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลของรัฐไทย ซึ่งทางคณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะแก่เด็กกำลังรวบรวมข้อเท็จจริงของเคสลักษณะนี้เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐไทยในการมีนโยบายเพื่อกำหนดและพัฒนาสถานะของเด็กกลุ่มนี้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 510743เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2012 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พัฒนาความคิดโดยการเขียนนั้นจำเป็นค่ะ

พัฒนาไปมากเลยครับ ขอชื่นชม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท