มงคลที่ 21 ไม่ประมาทในธรรม


ความไม่ประมาทคืออะไร ? ความไม่ประมาท คือการมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ


มงคลที่ 21 ไม่ประมาทในธรรม ความไม่ประมาทคืออะไร ?  ความไม่ประมาท คือการมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจะเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"

(มหาปรินิพพานสูตร) ที. ม. 10/143/180  ไม่ประมาทในธรรมหมายความว่าอย่างไร ไม่ประมาทในธรรม หมายถึง ไม่ประมาทในเหตุ ให้มีสติรอบคอบ ตั้งใจทำเหตุที่ดีอย่างเต็มที่ เพื่อให้บังเกิดผลดีตามมานั่นเอง

ลักษณะของผู้ที่ยังประมาทอยู่

1. พวกกุสิตะ คือพวกไม่ทำเหตุดีแต่จะเอาผลดี

2. พวกทุจริตะ คือพวกทำเหตุเสียแต่จะเอาผลดี

3. พวกสิถิละ คือพวกทำเหตุดีเล็กน้อยแต่จะเอาผลดีมากๆ

ผู้ที่ไม่ประมาททุกคนจะต้องมีสติเสมอ

สติคืออะไร ?

สติ คือความระลึกนึกได้ถึงความผิด ชอบ ชั่ว ดี

หน้าที่ของสติ

1. สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความระมัดระวังตัว ป้องกันภัยที่จะมาถึงตัว

2. สติเป็นเครื่องยับยั้ง เตือนไม่ให้ตกไปในทางเสื่อม

3. สติเป็นเครื่องกระตุ้นให้ขวนขวายในการสร้างความดี

4. สติเป็นเครื่องเร่งเร้าให้มีความขะมักเขม้น

5. สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความสำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ

6. สติเป็นเครื่องทำให้เกิดความละเอียกรอบคอบในการทำงาน

คำอุปมาของสติ

สติเสมือนเสาหลัก เพราะ ปักแน่นในอารมณ์ คือคนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคิดในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดใตร่ตรองจรเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเปรียบเสมือนเสาหลัก

สติเสมือนนายประตู เพราะจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามากระทบใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นสติก็จะใคร่ครวญทันทีว่า ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ หรือควรหยุดไว้ก่อน ปรับปรุงแก้ไขให้ดีเสียก่อน

สติเสมือนขุนคลัง เพราะคอยตรวจตราอยู่ทุกเมื่อ ว่าของที่ได้เข้ามา และใช้ออกไปมีเท่าไร งบบุญงบบาปเราเป็นอย่างไร ตรวจตราดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ยอมให้ตัวเองเป็นหนี้บาป

สติเสมือนหางเสือ เพราะจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จตาม เป้าหมายที่วางไว้ ไม่หลงไปทำในสิ่งที่ไม่ควร เหมือนคอยระมัดระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น

ประโยชน์ของสติ

1. ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในสภาวะที่เราต้องการ

2. ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง

3. ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุด

4. ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่

5. ชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์

การฝึกสติให้เป็นคนไม่ประมาท

1. มีสติระลึกถึงการละเว้นทุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนื่องๆ มีได้ขาด

2. มีสติระลึกถึงการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด

3. มีสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด

4. มีสติระลึกถึงความทุกข์ อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในวัฏสงสารอยู่เนืองๆ มิได้ขาด

5. มีสติระลึกถึงกรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ ให้ขาด จากสันดานอยู่เนืองๆ มิได้ขาด

สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง

1. ไม่ประมาทในเวลา

2. ไม่ประมาืทในวัย

3. ไม่ประมาทในความไม่มีโรค

4. ไม่ประมาทในชีวิต

5. ไม่ประมาทในการงาน

6. ไม่ประมาทในการศึกษา

7. ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม

อานิสงส์การไม่ประมาทในธรรม

1. ทำให้ได้รับมหากุศล

2. ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตายสมดังพุทธวจนะ

3. ทำให้ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ

4. ทำให้คลายจากความทุกข์

5. ทำให้เพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายในการสร้างความดี

6. ย่อมมีสติอันเป็นทางมาแห่งกุศลอื่น

7. ย่อมได้รับความสุขในการดำรงชีพ

8. เป้นผู้ตื่นตัว ไม่เพิกเฉยละเลยในการสร้างความดี

9. ความชั่วความไม่ดีต่างๆ ย่อมสูญสิ้นไปโดยเร็ว

ฯลฯ

จากหนังสือมงคลชีวิต ฉบับ "ทางก้าวหน้า"


คำสำคัญ (Tags): #HA Forum 2012
หมายเลขบันทึก: 510737เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2012 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท