ทดลองใช้ SciVal : ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Elsevier


 

1 ธันวาคม 2555 : ได้ทดลองใช้ SciVal ที่บริษัท Elsevier ให้มหาวิทยาลัยมหิดลทดลองใช้ฟรีเป็นเวลา 1 เดือน มีลักษณะเป็นฐานข้อมูล Scopus ภาคพิสดาร ที่ออกแบบมาสำหรับบริหารจัดการงานวิจัยเป็นหลัก (ถ้าขี้เกียจสร้างระบบขึ้นมาเอง Elsevier ก็รับจ้างทำให้) ราคาแพงไม่เบาเหมือนกัน SciVal Suite มีด้วยกันหลาย modules ได้แก่ Scival Experts, SciVal Funding, SciVal Spotlight, SciVal Strata — ไม่รู้ว่าในที่สุดทางมหาวิทยาลัยจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ แต่ลองใช้แล้วก็ไม่เลวเหมือนกัน สรุปให้ฟังสั้นๆ ได้ดังนี้ค่ะ

  • SciVal Experts
  • เหมาะสำหรับวิเคราะห์ผลงานของอาจารย์และนักวิจัยทั้งองค์กร ว่าใครเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอะไร ใครมีผลงานวิจัยมากน้อยแค่ไหน ทำงานร่วมมือกับใครบ้าง ได้รับทุนวิจัยเท่าไหร่ มีแนวโน้มงานวิจัย (research trends) เป็นอย่างไร และมีใครบ้างที่ทำงานคล้ายกัน ฯลฯ วิเคราะห์ทั้งในระดับบุคคล ระดับภาควิชา หรือระดับองค์กร โดยดูจำนวนผลงานวิจัย ความร่วมมือกับสถาบันอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการสร้าง Expertise Profile ของนักวิจัยแต่ละคน (โดยนักวิจัยไม่ต้อง key เข้าไปเอง) ข้อมูลผลงานวิจัยจะ update อัตโนมัติโดยอาศัยฐานข้อมูล Scopus เป็นหลัก ระบบนี้อ้างว่า งานวิจัยในปัจจุบันมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ-พหุวิทยาการมากขึ้น และจำเป็นต้องร่วมมือกับนักวิจัยแบบข้ามชาติ ดังนั้น SciVal Experts จึงเป็นเครื่องมือช่วยให้นักวิจัยแสวงหา collaborator ได้ดีกว่าการที่นักวิจัยจะไปทำความรู้จักกันเองหรือแนะนำกันแบบปากต่อปาก ซึ่งชักช้าเสียเวลา (จริงไม่จริงก็อีกเรื่องนะ) และทำให้ผู้บริหารองค์กรรู้จักและเข้าใจนักวิจัยในองค์กรของตนได้ดีขึ้น สรุปว่า SciVal Experts มีหน้าที “identify expertise and enable collaboration” — การนำระบบนี้มาใช้จริงในบ้านเราน่าจะมีประโยชน์ตรงที่ไม่ต้องสร้างฐานข้อมูลเอง มหาวิทยาลัยสามารถแสดง research profile ขึ้นโชว์บนเว็บได้เลย อาจารย์ไม่ต้อง key ข้อมูลเพื่อ update ผลงานของตัวเอง (ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยอยากจะทำอยู่แล้ว)   แต่อาจมีปัญหาอยู่บ้างหากอาจารย์นักวิจัยของเราไม่ได้ตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus ทั้งหมดทุกรายการ ทำให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และทำให้ผู้บริหารวิเคราะห์ผลผิดพลาดได้ แต่เห็นเขาบอกว่าจะมีจะมีช่องทางให้เราสามารถ update ข้อมูล CV เพิ่มเติมเข้าไปได้เองด้วยเหมือนกัน — อันที่จริงมีระบบ Scientific Social Network อื่นที่คล้ายๆอย่างนี้ และสร้างขึ้นโดยอาศัยหลักการ co-authorship network visualization เช่นเดียวกัน เช่น DIRECT2experts  VIVO  และ BiomedExperts ที่ให้บริการฟรีและเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่นักวิจัยที่นิยมชมชอบฐานข้อมูล PubMed

  • SciVal Funding
  • เรื่องเงินทุนวิจัยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ — SciVal Funding จะครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนต่างๆมากกว่า 3,000 แห่ง จากหลากหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา กลุ่มสหภาพยุโรป อินเดีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อังกฤษ อเมริกา ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นแหล่งเงินทุนวิจัยนั่นแหละ ให้รายละเอียดตั้งแต่เป็นแหล่งเงินทุนวิจัยของภาคส่วนใด ประเทศอะไร สาขาวิชาใดที่จะให้ทุน สถาบันใดที่ได้รับทุนไปแล้ว ให้ทุนไปแล้วปีละกี่ทุน (แสดงกราฟเป็นจำนวน award grants และ funding opportunities ต่อรายไตรมาสหรือรายปีให้เห็นแนวโน้ม) หลักการคือสร้าง personalized opportunity recommendations ขึ้นมาจาก publication profile และเงื่อนไขความต้องการของนักวิจัย จากนั้นนำไปเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเพื่อหาโอกาส (opportunities) ที่จะได้รับทุนจากแหล่งเงินทุนต่างๆจากทั่วโลก สรุปว่า SciVal Funding มีหน้าที “finding the right research sponsors” ไม่รู้ว่ามีรายชื่อ sponsors (granting agencies) จากประเทศไทยครบหรือยัง ถ้ายัง-เราสามารถเสนอชื่อแหล่งเงินทุนวิจัยไปเข้าฐานข้อมูลของเขาก็ได้

  • SciVal Spotlight
  • เหมาะสำหรับใช้วิเคราะห์ว่าองค์กรของเรานั้นมีจุดเด่นของงานวิจัยด้านใดบ้าง วัดความเป็นเลิศ (research excellence) ความเข้มแข็งหรือสมรรถนะ (competencies) ขององค์กร นอกจากนั้นหากจะเปรียบเทียบสมรรถนะของมหาวิทยาลัยเรากับมหาวิทยาลัยคู่เทียบ อื่นๆก็ทำได้ — สมรรถนะที่โดดเด่นขององค์กร (distinctive competency : DC) จะพิจารณาจากความเป็นผู้นำทางด้าน 1.จำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ (publication leader) 2.จำนวนผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงสูง (reference leader) และ 3.ความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมใหม่ (innovation leader) หลักการวัด DC คือ จำแนกผลงานวิจัยทั้งหมดขององค์กรออกเป็นกลุ่มๆ (clusters) เพื่อคัดเลือกสาขาวิชาที่มีความโดดเด่นออกมา ทั้งนี้ SciVal Spotlight จะใช้วิธีการที่แตกต่างกว่าวิธีดั้งเดิมของ Scopus ซึ่งจัดกลุ่มบทความตามสาขาวิชาของวารสารที่ตีพิมพ์ ซึ่งไม่ค่อยถูกต้องมากนัก แต่จะใช้วิธีจัดกลุ่มโดยดูจากการอ้างอิงบทความร่วมกัน (หลักการของ co-citation analysis) หรือมีบทความที่เกี่ยวข้องร่วมกัน (relative article share) นอกจากนั้น การนับจำนวนผลงานวิจัยจะไม่ได้นับเพียงแค่จำนวน articles published แต่จะนับแบบ fractionalized article count คือ คิดเป็นสัดส่วนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะเท่านั้น นัยว่าวิธีการเหล่านี้จะทำให้ครอบคลุมงานวิจัยแบบสหวิทยาการและงานวิจัยในสาขาที่อุบัติใหม่ได้

    อย่างไรก็ตาม SciVal Spotlight วิเคราะห์โดยใช้ผลงานวิจัยย้อนหลัง 5 ปีจากฐานข้อมูล Scopus เท่าที่ดูขณะนี้ใช้ข้อมูลในช่วงปี 2006-2010 ไม่ค่อย update เท่าไหร่ จะ update อีกทีก็คงอีกนาน แถมยังให้ดูได้เฉพาะมหาวิทยาลัยของเราเท่านั้น ไปเที่ยวดูมหาวิทยาลัยอื่นก็ไม่ได้ — SciVal Spotlight วิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลได้ 3 อย่าง คือ 1. publication output ผลผลิตงานวิจัยในภาพรวมขององค์กร 2. competencies หรือสมรรถนะที่โดดเด่นขององค์กร 3. collaboration เครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรอื่นๆทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้หลักการของ co-authorship network และแสดงผลออกมาได้ทั้งแบบ table และ map

  • SciVal Strata
  • เป็นการวัดและเทียบเคียงสมรรถนะการวิจัยในระดับบุคคล (โดยเชื่อมโยงข้อมูลนักวิจัยมาจากฐานข้อมูล Scopus) อาจเลือกนักวิจัยหลายๆคนเพื่อเทียบเคียงในลักษณะกลุ่มหรือทีมวิจัย (cluster) ก็ได้ สามารถเทียบเคียงกันได้สูงสุด 10 รายหรือ 10 ทีมวิจัย หรืออาจจำกัดขอบเขตโดยเลือกชื่อวารสาร ชื่อประเทศ หรือภูมิภาคตามต้องการได้ นอกจากการเทียบเคียง (Benchmark) โดยอาศัยการอ้างอิงเป็นหลักแล้ว SciVal Strata ยังใช้หาค่าความมีอิทธิพล (Influence) ของนักวิจัยโดยดูจากจำนวนผลงานวิจัย จำนวนการอ้างอิง อัตราส่วนของผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ไม่ได้รับการ อ้างอิง และค่า h index ของนักวิจัย และวัดความร่วมมือด้านการวิจัย (Collaboration) ทั้งในลักษณะของ geographical collaboration network และ authorship network ได้อีกด้วย

    นอกจากนั้น Elsevier ยังมีบริการอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า SciVal Analytics เป็นบริการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานให้แก่องค์กรอย่างครบวงจรด้วย ลูกค้ารายใหญ่ที่เคยใช้บริการนี้แล้ว ในปี 2011 คือ

และคาดว่าจะใช้ในอนาคต ปี 2014 คือ



สรุปว่า SciVal ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Elsevier นี้ ยกระดับการประเมินผลงานวิจัยจากวิธีการทางบรรณมิติ (bibliometrics) แบบธรรมดา ขึ้นมาเป็น scientific social network โดยใช้หลักการของ co-authorship network, co-citation network และแสดงผลในลักษณะของการสร้างมโนภาพ (visualization) แถมยังผนวกกับเทคโนโลยี semantic network — ทันสมัยมาก ออกแบบมาเพื่อขายผู้บริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวิจัยทั่วโลกโดยเฉพาะเลย … อะไรๆก็ดีทั้งนั้นแหละ ยกเว้นราคา !!


คำสำคัญ (Tags): #SciVal#Elsevier
หมายเลขบันทึก: 510642เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2012 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เกรงตรงราคานี้ละครับ 555 ขอบคุณครับที่แบ่งปัน..

เกรงตรงราคานี้ละครับ ขอบคุณมากครับที่แบ่งปัน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท