ลูกป่วยกับยาของลูก


เป็นเรื่องที่ตระหนักอยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่ลูกป่วย เมื่อต้องไปซื้อยาให้ลูกที่ร้านขายยา แต่ด้วยเหตุอันใดไม่แน่ใจ เพราะเผอเรอ หรือนาน ๆ ครั้งลูกจะป่วย ทำให้ครั้ง ๆ หลัง ๆ มานี้ ลืมที่จะตรวจสอบเรื่องของปริมาณของยาต่อหน่วยไปสนิทใจ

เพียงเพราะการพลั้งเผลอในการตรวจสอบปริมาณยาต่อหน่วย อาจทำให้อาการป่วยของลูกหนักมากขึ้น และอาจร้ายแรงมากเกินกว่าจะจินตนาการ ครั้งก่อนหน้านี้ที่ถือว่าเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุด และเพิ่งจะระลึกสาเหตุของมันได้เพราะครั้งนี้ นั่นคือ เมื่อไปซื้อยาน้ำลดไข้สำหรับเด็ก ซึ่งก็คือพาราเซตามอลโดยทั่วไป แต่เมื่อไม่คำนึงถึงปริมาณยากับอาการของลูก ทำให้ไข้ลูกไม่ลดลงหลังจากใช้ยา คนเป็นแม่จึงจินตนาการถึงโรคอื่น ๆ ที่มีอาการของไข้สูง และโรคที่กำลังระบาด ซึ่งก็คือไข้เลือดออก และแน่นอน กับการตัดสินใจผิดพาลูกไปเจาะเลือดหาเชื้อไข้เลือดออก ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเป็นไข้มาได้วันเดียว ความไม่ประสา ในการหาข้อมูลโรค บวกกับเชื่อใจในหมอ และอหังกานัยทีว่าไม่สนใจกับค่ารักษาพยาบาล ทำให้เฏต้องโดนจับมัดเจาะเลือดในห้องคล้ายห้องขังดูดเลือด ที่พยาบาลไล่แม่ออกมานอกห้อง (ซึ่งในขณะนั้นก็เข้าใจดี ว่าเป็นเทคนิคในการทำงานของพยาบาล เพื่อที่จะให้เจาะเลือดได้เร็วและง่ายกว่าหากเทียบกับการทำงานที่มีแม่อยู่ข้าง ๆ เด็ก) แต่แม่นั้นจดจำสายตาของเฏวันนั้นดี สายตาที่แม่ต้องเดินหันหลังออกไปจากห้อง และเฏกรีดร้องอย่างทุรนทุราย พร้อมถามแม่ด้วยสายตาว่า “แม่ทิ้งเฏไว้กับคนพวกนี้ได้อย่างไร ทำไมถึงให้เค้ามาทำลูกเจ็บ”

ไข้เลือดออกนั้น การเจาะหาเชื้อของโรค ต้องเป็นมีไข้สูงมาแล้วอย่างน้อย 4 วัน จึงจะมีปริมาณเชื้อในกระแสเลือดมากพอที่จะให้ตรวจพบได้ แต่ “หมอคนนั้น” สั่งเจาะเลือดลูกเพื่อหาเชื้อ ทั้ง ๆ ที่รู้ข้อมูลดีจากแม่อยู่แล้ว ว่าลูกเพิ่งเป็นไข้มาแค่วันเดียว แน่นอนว่าการหาทางออกโดยการคลายจากความกังวลของผู้ปกครอง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง หากไม่อยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์เชิงวิชาชีพดังที่คุณได้ร่ำเรียนมา

ณ วันนั้นเป็นต้นมา แม่ตัดสินใจว่า บางทีการไปหาหมอแต่เนิ่น ๆ เมื่อลูกป่วย อาจไม่ใช่วิธีการคลายความกังวลที่ถูกต้องเสมอไปในยุคที่ ข้อมูลความรู้เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ไม่ยาก เพราะมีทั้งเทคโนโลยี application ด้านสุขภาพที่ผุดขึ้นมากมายให้เลือกใช้

ครั้งนี้ก็เช่นกัน หลังจากที่เฏกินยาลดไข้อยู่สองวัน และอาการไม่ดีขึ้นเลย แต่โชคดีที่วันนี้เฏได้หลับพักผ่อนกลางวันไปนาน ทำให้พอจะมีแรงบ้าง แม่จึงพาไปกินข้าวนอกบ้าน เพราะแม่ก็แทบไม่มีแรงจะเตรียมอาหารแล้ว เนื่องจากต้องดูแลเฏตลอดเวลา การออกนอกบ้านครั้งนี้ ทำให้ได้ไปซื้อยาเพิ่ม เพราะยาขวดเก่าใกล้จะหมดเต็มที แต่เมื่อเฏได้กินยาหลังอาหารเย็นไปเพียงมื้อเดียว อาการก็ดีขึ้นถนัดตา แม่จึงวิ่งไปดูข้างกล่องยาทันที และได้รู้ว่าความสะเพร่าของตนเองได้เกิดขึ้นแอกครั้ง เมื่อปริมาณยาขวดใหม่ที่ซื้อมามีพาราเซตามอลอยู่ 160 มิลลิกรัม ต่อปริมาณยา 5 มิลลิลิตร ในขณะที่ขวดเก่า 120 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร นี่คือสาเหตุว่าทำไมเฏกินยาไปสองวันแล้วยังไม่หาย (และแม่ก็เริ่มกล่อมประสาทตัวเองว่าอย่าให้ลูกกินยาบ่อย และติดต่อนานเกิน 5 วันอยู่ตลอดเวลา เพราะมีอันตราย)

หลังจากเหตุการณ์สองครั้งนี้ ทำให้แม่เริ่มจะสนับสนุนระบบการสั่งยาโดยแพทย์เท่านั้นของประเทศพัฒนาแล้ว เพราะอย่างน้อยคนมีใบประกอบวิชาชีพก็น่าละเอียดรอบคอบมากกว่าผู้ที่ไม่มี ยกเว้นผู้ที่สั่งเจาะเลือดเฏคนนั้น

หมายเหตุ

ยาขวดใหม่ที่ซื้อมา เป็นยานำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส มีแก้วยาที่ให้มาแสนสะดวกกับผู้ใช้ เพราะเด็กวัยสองขวบสามารถถือกินเองได้โดยไม่ต้องกังวลว่ายาจะหก หากเทียบกับช้อนยาทั่วไปที่แถมมาในกล่อง และไม่ต้องกลัวว่าจะเปลืองพื้นที่ในกล่อง หากผู้ผลิตยาในประเทศไทยจะใช้เป็นข้ออ้าง เพราะขนาดของแก้วพอดีกับฝาของขวดยา โดยสามารถบรรจุครอบฝาขวดมาในกล่องได้อย่างเหมาะเจาะกว่าการแถมช้อนที่ต้องอิงพื้นที่เหลือระหว่างขวดยากับกล่องกระดาษ ที่สำคัญข้างแก้ววิเศษเล็ก ๆ ใบใสใบนี้ ยังมีข้อมูลบอกปริมาณการใช้ ที่สัมพันธ์กับอายุ และน้ำหนักของผู้ป่วย โดยฉลากข้างกล่อง บอกให้คำนึงถึงน้ำหนักของผู้ป่วยก่อน หากไม่ทราบให้ใช้ปริมาณยาที่อิงกับอายุของผู้ป่วยได้

นอกจากนี้อีกข้อสังเกตหนึ่งทุกครั้งที่ไปซื้อยาเอง เภสัชกร มักจะติดสติ๊กเกอร์ ปริมาณการใช้ยาและความถี่ทับบนฉลากข้างขวด ซึ่งสำหรับตนเองแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลจากสติ๊กเกอร์ของเภสัชกรนั้นบ่งเพียงปริมาณการใช้ยาและความถี่เท่านั้น แต่ฉลากที่ปิดทับนั้น ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ผู้ใช้ควรต้องรู้ เช่น ส่วนประกอบของยา คำเตือนการใช้ วันที่หมดอายุเป็นต้น เขียนถึงตรงนี้เภสัชกรอาจจะแย้งว่า ภายในกล่องและบนกล่องของยาก็มีฉลากบ่งใช้ แต่หากนำหลักการตลาดผู้บริโภคมาใช้ เมื่อซื้อสินค้าใดมาใหม่ กล่องหรือ package มักจะถูกแกะและโยนทิ้งไปตั้งแต่เริ่มต้นการใช้ ที่สำคัญสิ่งของเหล่านี้ง่ายต่อการสูญหายมากกว่าฉลากที่ติดมากับขวด ดังนั้น การติดฉลากของเภสัชกร จึงควรจะเป็นการเขียนปริมาณการใช้ยาและความถี่ (บวกกับชื่อของเภสัชกรด้วย) แยกอีกใบต่างหาก  เพราะถึงอย่างไรแม้ว่าจะหายไป บนฉลากขวดก็ยังมีแผนสองที่สำรองข้อมูลเหล่านั้นอยู่ครบถ้วนอย่างแน่นอนอยู่แล้ว

เรื่องน่าเศร้าสุดท้ายของชาวไทยคือ ยาขวดใหม่ที่ซื้อมานั้น ผู้ขายไม่ใช่เภสัชกร พนักงานขายแจ้งว่าวันนี้เภสัชกรไม่อยู่ สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องพึ่งตนเองกันอย่างมากที่สุดในประเทศนี้เหมือนเดิม


 

ขวดยายุดใหม่ เป็นพลาสติก เสี่ยงต่อการแตกน้อยกว่า 
พร้อมมีแก้วใสใบเล็ก พร้อมข้อมูลบ่งปริมาณการใช้ข้างแก้ว

ขวดยายุคเก่า ใช้วัสดุแก้ว เภสัชกรติดฉลากทับฉลากเดิมทั้งหมด


เปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ ว่า แบบใดผ่านการคิด "มาก" แบบใดผ่านการคิด "น้อย"

หมายเลขบันทึก: 510039เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2012 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ้าว ป่วยเสียแล้วเจ้าเฎ ขอให้หายไวๆน่ะ

ขอบคุณค่ะยังและครูทิพย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท