ทฤษฎีความรักชีวิตคู่


 

ทฤษฎีความรักชีวิตคู่

ทฤษฎีความรักชีวิตคู่ในมุมมองของนักจิตวิทยา 

  ความรักเป็นคำที่ทุกคนเคยได้ยินมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน บางคนได้เคยสัมผัสกับพลังความรักที่เป็นความหวานชื่น ความสุข ความสมหวังมาแล้ว บางคนอาจได้สัมผัสถึงความเจ็บปวด ความทุกข์ ความไม่สมหวังมาแล้วเช่นกัน  ความรักจึงได้ถูกนิยามความหมายไปต่างๆ นาๆ แล้วแต่ว่าแต่ละคนได้สัมผัสกับความรักในแง่มุมใด เสติร์นเบอร์ก(sternberg,1986)ได้ศึกษาถึงความรักชีวิตคู่ของบุคคลและสรุปผลมาดังนี้

  ความรักมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ด้านคือ ความใกล้ชิด(Intimacy) ความใคร่ปรารถนา(Passion) และการผูกพันยอมรับ(Commitment)  ทั้ง 3 องค์ประกอบพื้นฐานนี้สามารถจำแนกความรักได้เป็น  7 ประเภทดังนี้

  1.ความรู้สึกชื่นชอบ(Liking) เป็นความรักที่มีพื้นฐานมาจากความใกล้ชิด ความรักแบบนี้เกิดจากการที่คนเราได้มีโอกาสพูดคุยพบปะกับบุคคลต่างๆ จนกลายเป็นความสนิทสนม ความใกล้ชิด เกิดความรู้สึกชื่นชอบในคนคนนั้น

  2.การหลงรัก(Infatuation) เป็นความรักที่มีพื้นฐานมาจากความใคร่ปรารถนา ความรักแบบนี้เป็นความรู้สึกที่เราลุ่มหลงในความมีเสน่ห์ยั่วยวนใจในคนคนนั้น

  3.ความรักที่ว่างเปล่า(Empty) เป็นความรักที่มีพื้นฐานมาจากการผูกพันยอมรับ ความรักแบบนี้เป็นความรู้สึกที่เราไปปักใจยึดมั่นว่าเราจะอยู่กับเขาตลอดไป ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เราคิดเองอยู่คนเดียว ความรักแบบนี้จึงเป็นความรักที่ว่างเปล่า ไม่ได้มีใครมาอยู่กับเราจริง

  4.ความรักที่ร้อนรุ่มตามการคิดฝัน (Romantic love) เป็นความรักที่มีพื้นฐานมาจากความใกล้ชิดและความใคร่ปรารถนา ความรักแบบนี้หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่าความรักแบบโรแมนติก ซึ่งเป็นช่วงอารมณ์ความรักที่คนทั้งสองมีความใคร่ปรารถนาที่รุนแรงและร้อนรุ่ม เขาทั้งสองได้อยู่ใกล้ชิดมีความใคร่ปรารถนาต่อกัน ต่างมีจินตนาการคิดฝันถึงความสุขความสดชื่นความสมหวังในความรัก ราวกับมีฉันกับเธออยู่กันเพียง 2 คนเท่านั้นในโลกนี้

  5.ความรักที่ลวงตาหลงคิดไปเอง (Fatuous love) เป็นความรักที่มีพื้นฐานมาจากความใคร่ปรารถนาและการผูกพันยอมรับ ความรักแบบนี้เป็นความรักที่คนเราเกิดความรู้สึกลุ่มหลงในความมีเสน่ห์ยั่วยวนใจจนปักใจยึดมั่นในคนคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว คิดว่าตนเองต้องซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียว และรอคอยเขาคนนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าสักวันหนึ่งความรักของเราคงสมหวัง

  6.ความรักฉันเพื่อน (Companionate love) เป็นความรักที่มีพื้นฐานมาจากความใกล้ชิดและการผูกพันยอมรับ ความรักแบบนี้เป็นความรักที่คนเรามีความใกล้ชิดกัน และผูกพันยอมรับความใกล้ชิดที่มีต่อกัน ความรักแบบนี้เป็นความรักฉันเพื่อนที่มีความห่วงใยสุขทุกข์ร่วมกัน

  7.ความรักที่สมบูรณ์แบบ (Consummate love) เป็นความรักที่มีพื้นฐานมาจากความใกล้ชิด ความใคร่ปรารถนา และการผูกพันยอมรับ ความรักแบบนี้ถือว่าเป็นความรักที่สมบูรณ์แบบ เป็นความรักที่ดีเลิศ เป็นความรักที่มีทั้งความใกล้ชิด ความใคร่ปรารถนา และการผูกพันยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันตลอดไป ความรักแบบนี้จึงถือว่าเป็นความรักที่ดีที่สุด

  อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าความรักที่สมบูรณ์แบบ(Consummate love) จะเป็นความรักที่ดีที่สุดตลอดไป ซึ่งจากผลการศึกษาพัฒนาการความรักชีวิตคู่พบว่าในระยะแรกเริ่มของความรักชีวิตคู่จะเริ่มก่อตัวมาจากความรู้สึกชื่นชอบ(Liking) และการหลงรัก(Infatuation) จากนั้นจึงพัฒนามาเป็นความรักที่ร้อนรุ่มตามการคิดฝัน(Romantic love) ต่อมาจึงพัฒนาเป็นความรักที่สมบูรณ์แบบ(Consummate love) และในปั้นปลายชีวิตก็จะเปลี่ยนเป็นความรักฉันเพื่อน(Companionate love)

  ท่านลองสำรวจความรักชีวิตคู่ของท่านดูสิว่าความรักของท่านเป็นแบบใด ท่านได้พัฒนาความรักไปถึงขั้นใดแล้ว รีบๆ หน่อยนะ แล้วท่านจะพบว่าความรักชีวิตคู่ก็คือธรรมชาติชีวิตที่งดงามที่เราสามารถสัมผัสได้

หมายเลขบันทึก: 509750เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2012 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์..

-เข้ามาศึกษาทฤษฎีของความรักครับ..

-ท้ายที่สุดก็เเปลี่ยนมาเป็น "ความรักฉันเพื่อน"...

-บางครั้งการฝึกปฏิบัติก่อนการเรียนทฤษฎีก็มีประโยชน์นะครับอาจารย์...

-ขอบคุณสำหรับทฤษฎีเรื่อง"ความรัก"ครับ..

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท