สะท้อนสังคมจากรากเหง้าของปัญหาคือ ครอบครัว


ครอบครัว" สุขสันต์ ครอบครัวอบอุ่น ครอบครัวเข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง. คุณพ่อคุณแม่เป็นกุญแจสำคัญที่สุด พ่อแม่ คือผู้ให้ "วัคซีนชีวิต" แก่ลูก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด


อ่านบทความ   นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประทับใจที่ท่านชี้ให้เห็นว่าปัญหาของเด็กทุกวันนี้เกิดจาก "ครอบครัว" เพราะตัวเองเป็นครูมีประสบการณ์ตรงเรื่องของเด็กที่มีปัญหามาจากครอบครัว  จึงต้องการให้ทุกคนที่จะเป็นพ่อ แม่ ในอนาคตหรือกำลังจะเป็นพ่อ แม่  ได้อ่านบทความนี้ซึ่งเป็นการสะท้อนสังคมจากรากเหง้าของปัญหาคือ "ครอบครัว"  ท่านได้เขียนบทความไว้ดังนี้

  นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีความฮอตของละครแรงเงาและข่าว "เยาวชนผูกคอตายเลียนแบบละครดัง" กลายเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และเป็นข่าวนำในสื่อทุกประเภท เป็นประเด็นกระหึ่มเมือง หลายภาคส่วนโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรม เกิดความตื่นตัวออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย

          ส่วนตัวผู้เขียนได้ชมละครเรื่องนี้เป็นครั้งคราว ...และก็มาทราบข่าวทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์จึงเริ่มอ่านข่าวอย่างจริงๆ จังๆ ทั้งปัจจุบันและย้อนหลัง ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวเพิ่มมากขึ้น และลองติดตามชมละครในบางตอน

          ในตอนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสตั้งใจดูนั้น สิ่งที่รับรู้และสัมผัสได้จากละครในทรรศนะของผู้เขียนคือเรื่องของ "ครอบครัว" ซึ่งก็มีเค้าลางของความเป็นครอบครัวที่เกิดขึ้นและเห็นกันดาษดื่นในสังคมไทย ทั้งความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเด็กติดยา เด็กติดเหล้า ติดบุหรี่ เด็กเกเร ปัญหาการเล่าเรียน การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ทั้งมวลล้วนมีที่มาจากรากเหง้าของปัญหาคือ "ครอบครัว"

          อาจารย์ประเวศ วะสี ให้นิยามเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ในบริบทของสังคมไทยว่า ประกอบด้วย 10 มิติ คือ ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทำและรายได้ ครอบครัว ความมั่นคงส่วนบุคคล การสนับสนุน ทางสังคม สังคมวัฒนธรรม สิทธิและความเป็นธรรม การเมืองและธรรมาภิบาล และผลจากการศึกษาพบว่า มิติที่ถือเป็นหัวใจหรือสำคัญต่อความสุขหรือความมั่นคงของมนุษย์ คือ ความสุขในครอบครัว

          เมื่อหญิงชายคู่หนึ่งที่มีความสัมพันธ์ตกล่องปล่องชิ้น และตกลงใจมาเป็นคู่ผัวตัวเมีย แม้ไม่รู้ว่าจะมีความพร้อมหรือไม่ ทั้งเรื่องวุฒิภาวะ ฐานะความเป็นอยู่ การยอมรับของบิดามารดาทั้งสองฝ่าย ตลอดจนคนในครอบครัว และที่สำคัญ "ปูมหลัง" ของบิดามารดาทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างไร ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญในการประคับประคองชีวิตคู่และชีวิตครอบครัว หากทั้งคู่พร้อมทุกด้านและเป็นคู่อยู่ด้วยกัน จะ "พึงพอใจ สุขใจ" ทั้งสองฝ่าย เชื่อว่า น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการจะเป็น "ครอบครัว" ที่อบอุ่น

          แต่ถ้ามีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ทันหุงข้าวสุก หม้อแตกกลางคัน การดำรงชีวิตของครอบครัวนี้จะมีปัญหาในอนาคต เพราะเด็กเกินไป ไม่พร้อมด้านฐานะและสังคม ยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ติดเหล้า ติดการพนัน ยังไม่เป็นตัวของตัวเองเลย อย่างนี้แหละเริ่มต้นบทที่ 1 ก็มีปัญหาแล้ว

          ถ้าอยู่ด้วยกันมี "ลูก" จะเป็นหญิง ชาย ก็ตาม "คุณพ่อคุณแม่" ทั้งสองนั้นแหละคือ "กุญแจสำคัญที่สุด" พ่อแม่ทั้งหลาย และครอบครัวต้องมานั่งคิดกันว่า ทำอย่างไร จึงจะเลี้ยงลูกได้สมดังใจที่ปรารถนา เพื่อให้เป็น "คนดี" เชื่อฟังพ่อแม่ และที่สำคัญ เป็นคนดีของสังคม

          "ลูกไม้" บางทีก็หล่นใต้ต้น หรือบางทีก็หล่นไกลต้นไปเลย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางคนพ่อแม่เลี้ยงดีมาก แต่มีเพื่อนไม่ดี ก็ชวนกันไปกินเหล้า สูบบุหรี่ ไปแข่งรถ เข้าเธค จนกลายเป็นเด็กไม่ดีไป บางคนพ่อแม่เอาใจมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ยอมลูกทุกอย่าง กลัวลูกโกรธ จะเอาอะไรก็ให้หมด ตามใจจนเคยตัว หนักๆ เข้า ลูกบางคนก็เอาแต่ใจ อยากได้อะไรก็จะเอาให้ได้อย่างใจ พอไม่ได้อย่างใจ พ่อแม่ดุว่า ก็จะเริ่มเถียงตอบ บางรายต่อว่า ตบตี พ่อแม่

          นั่นเป็นเพราะตัวพ่อแม่เองที่สอนให้ลูกกลายเป็นเด็กไม่ดี เข้าทำนอง "พ่อแม่เป็นผู้รังแกลูก"การเลี้ยงดูลูกให้ดีนั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่กลึกซึ้ง จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ว่า "พ่อแม่" เองนั้น เบื้องต้นจะต้องเป็นลูกที่ดีของ "ปู่ย่าตายาย" ท่านเหล่านั้นเลี้ยงดูเรามาด้วยความรักและเมตตา สงสาร ผูกพันกับเรามาโดยตลอด ดูแล อบรม สั่งสอนเรามาด้วยวิญญาณความเป็นพ่อแม่ แล้วยังเป็น "ครู" ให้ความรู้สั่งสอนวิชาการเท่าที่ท่านจะทำได้ เรามีปัญญาอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ บวกเลข 1+1 เป็น 2 ได้ รู้จักดีชั่ว ถูกผิด ยามเจ็บไข้ยังทำหน้าที่เป็น "หมอ" เป็น "พยาบาล" ดูแลประคบประหงม ยามเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อให้เราหายป่วยเร็วที่สุด เพราะถ้าเราป่วยหรือเจ็บปวด พ่อแม่ท่านก็จะรู้สึกเจ็บป่วยไปกับเราด้วย ถ้าเราสุข พ่อแม่ก็สุขด้วย

          บางครอบครัว พ่อแม่ยากจน เป็นหนี้สินมากมาย เวลาลูกจะไปลงทะเบียนเรียนหนังสือ หรือลูกขอไปซื้อเสื้อผ้า ของใช้ พ่อแม่จะไปกู้ยืมมาให้ลูกจนได้ พ่อแม่จะไม่กล้าบอกลูกว่าไม่มีเงินให้ นี่แหละ พ่อแม่ผู้แสนประเสริฐยิ่ง กลัวลูกเสียใจ น้อยใจ ไม่พอใจต่างๆ นานา กล่าวคือ พ่อแม่ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่าง หรืออยากให้ลูกกตัญญูรู้คุณคน ก็ต้องสอนโดยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ด้วยการพาไปหาปู่ย่าตายายบ่อยๆ และทำให้ดู มองให้รู้ ดูให้เห็นเป็นประจักษ์ หากลูกเห็นพ่อแม่ปรนนิบัติปู่ย่าอย่างไร? ห่วงใยใส่ใจอย่างไร? ลูกก็จะจดจำและทำตาม เยี่ยงลูกปูเดินตามแม่ปู

          "พ่อแม่" ถือเป็น "บุคคลสำคัญยิ่ง" ต้องทำตัวเป็นเกราะกำบังจากภายนอก และต้องสร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน กระตุ้น สร้างแรงจูงใจ ชื่นชมเป็นระยะ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ เข้มแข็ง ที่จะต้องพึงปฏิบัติหรือทำได้อย่างแนบเนียน ไม่เคอะเขิน เพื่อให้ลูกไปสู้กับโลกภายนอกอย่างแข็งแรง เริ่มจากให้ความใกล้ชิด ให้คำแนะนำ อบรมสั่งสอนสิ่งดีๆ และยังต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี "ความรักความเมตตา ความผูกพัน" จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้เป็นกำลังใจ ในการสั่งสอนลูกและชักจูงให้ลูกเดินได้ถูกทางอย่างที่ต้องการ

          การให้เวลากับลูกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อย่าปล่อยให้การงาน การเงิน มาคั่นเวลาของพ่อแม่และลูก ประเด็นสำคัญ อย่าเอาลูกของเราไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่นในทุกๆ เรื่อง แม้กระทั่งการพูดจา อย่าทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่า ท้อแท้เป็นอันขาด พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน ความดี ความโดดเด่น มีกันไปคนละแบบ พ่อแม่ต้องเข้าใจ ยอมรับ และรู้สึกพึงพอใจสิ่งที่มีอยู่ในตัวลูก และสิ่งที่ลูกทำได้ ต้องคอยให้กำลังใจ ชื่นชมเมื่อทำดี และให้คำแนะนำ ชี้แนะ ด้วยความละมุนละม่อม เมื่อเขาติดขัด มีอุปสรรค หรือทำสิ่งใดพลาดพลั้งไป "ไม่เป็นไรนะลูก โอกาสหน้ายังมี" สู้ใหม่ ทำใหม่ก็จะดีกว่าเก่า ลูกจะได้เกิด "พลัง" ในการต่อสู้ และมีความพยายามต่อไป

          ปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง บางครอบครัวที่มีพี่น้องมากกว่า 2 คนขึ้นไป ต้องไม่มีปัญหาเรื่องพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ห้ามประชดประชัน การชมเชยหรือการให้ของก็ต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม พ่อแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อพี่น้องทะเลาะกันต้องให้ความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ให้ความรักกับลูกอย่างเสมอภาค ในการตัดสินปัญหาต่างๆ

          เลี้ยงลูกด้วย "วัตถุ" หรือ "จิตใจ" พ่อแม่หลายครอบครัวในยุคสมัยนี้ ต่างพยายามหาสิ่งของมาปรนเปรอลูก เพื่อหวังให้ลูกทัดเทียมลูกคนอื่น เช่น โทรศัพท์มือถือ เกมต่างๆ ไอแพด ด้วยหวังว่าจะให้ลูกมีความสุข ไม่เป็นปมด้อย พ่อแม่บางคนเคยลำบากมาก่อน พอมีลูกก็อยากให้ลูกได้มีทุกอย่าง เหมือนเป็นการชดเชยวัยเด็กของตนเอง แต่ผลที่ได้คือเด็กติดเงิน ติดวัตถุ จนลืมพ่อแม่ ลืมความสำคัญของครอบครัว หรือบางคนก็เอาแต่ใจ หนีออกนอกบ้าน ทำตัวเหลวแหลกไปเลยก็มี

          ดังนั้น เมื่อตอนเด็ก พ่อแม่ที่เคยลำบาก อาจต้องให้ลูกเรียนรู้ความลำบากเหมือนเรา แม้อาจดูใจร้าย แต่การสอนให้ลูกรู้จักความเหนื่อยยากและความลำบากในการหาเงินมาแต่ละบาท และการให้เงินแต่ละครั้งต้องสอนเรื่องการเก็บออมควบคู่กับการปลูกฝังจิตใจให้รู้คุณค่าของเงิน รู้ความลำบากยากเข็ญเป็นอย่างไร นั่นแหละคือการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้ลูกสามารถออกไปเผชิญชีวิตอย่างเข้มแข็งแม้ยามที่พ่อแม่ไม่ อยู่ด้วย

          ระเด็นในละคร "แรงเงา" มีตัวอย่างของปครอบครัว "มุตตา-มุนินทร์, ต้อง-ต่อ" ที่มีปัญหา เกิดจากการเลี้ยงดูเป็นสำคัญ พ่อแม่ไม่มีเวลาเอาใจใส่ลูก ให้อยู่กับพี่เลี้ยง อยู่กับคอมพิวเตอร์กับสื่อโทรทัศน์ ปัญหาการทะเลาะตบตีกันของพ่อแม่ต่อหน้าลูก รักลูกไม่เท่ากัน นำมาซึ่งปัญหาการพึ่งพายาเสพติด ติดเพื่อน ติดเกม ปัญหาในละครหากย้อนกลับมาดูตัวเรา ก็มีเรื่องราวคล้ายคลึงกัน เพราะโลกนี้ละครโรงใหญ่อยู่แล้ว

          ปัญหาเยาวชนอย่างกรณีตัวอย่างในละครจะไม่เกิดขึ้น หากครอบครัวมีความรักความอบอุ่น ความเข้าใจ พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดีโดยเป็นลูกที่ดีของปู่ย่าตายาย มีความกตัญญูต่อท่าน ทำให้รู้ ดูให้เห็น "ลูกของเรา" จะรับรู้ปฏิบัติตามรอยพ่อแม่ เป็นเด็กดี เป็นคนดี รักพ่อรักแม่ ไม่นอกลู่นอกทาง ยับยั้งชั่งใจด้วย "สติ" เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างครอบครัวอบอุ่นและเข้มแข็ง มีภูมิต้านทานภัยต่างๆ ในสังคมได้อย่างเต็มที่

          ข้อมูลในหนังสือการพัฒนาครอบครัวโดยคณะอนุกรรมการด้านครอบครัว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พลังแห่งครอบครัวนั้นสามารถสร้างสรรค์ให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้มากมายในสังคม ทั้งในสิ่งที่เราเห็นเป็นรูปธรรมต่างๆ ก็ล้วนแปรรูปมาจากพลังแห่งครอบครัว

          ที่สำคัญคือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นนั้นแม้สัมผัสไม่ได้ แต่เราก็สามารถสัมผัสได้ด้วยความรู้สึกว่าพลังจากครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ "ครอบครัวดีมีสุข" เท่านั้นจึงจะ "ประสบความสำเร็จ" การสร้างชีวิตครอบครัว ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เป็นสิ่งไม่ยากหากบุคคลในครอบครัวให้การยอมรับกันและกัน มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมกันด้วยใจจริง ใช้ความรู้ของการอยู่อย่างเอื้ออาทรเป็นฐานของการสร้างความสำเร็จให้กับชีวิตครอบครัว

          ละครจบแล้ว..แต่ชีวิตเรายังต้องเดินต่อไป..แล้วไง?ผู้เขียนขอสรุปว่า "ครอบครัว" สุขสันต์ ครอบครัวอบอุ่น ครอบครัวเข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง. คุณพ่อคุณแม่เป็นกุญแจสำคัญที่สุด พ่อแม่ คือผู้ให้ "วัคซีนชีวิต" แก่ลูก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พ่อแม่ทุกท่านต้องเริ่มวันนี้ เดี๋ยวนี้ แล้วท่านจะสุขใจ ภูมิใจ เหมือนครอบครัวตัวละครตอนจบใน "ปัญญาชนก้นครัว" นะครับ


พ่อแม่รังแกฉัน (บาป ๑๔ ประการของมารดาบิดา)

พ่อแม่บางคน (๑)

    ทำร้ายลูกด้วยการรักเขามากเกินไป ผลก็คือเกิดภาวะรักจนหลง ลูกของตนถูกทุกอย่าง ลูกของตนดีกว่าคนอื่นเสมอ อันส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนมีอัตตาสูง เชื่อมั่นตนเองในทางที่ผิด ชอบดูถูกคน เป็นตัวปัญหา แต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา

พ่อแม่บางคน (๒)

    ทำร้ายลูกด้วยการตามใจเขามากเกินไป ผลก็คือพ่อแม่กลายเป็นข้าช่วงใช้ของลูก ส่วนลูกกลายเป็น “ลูกบังเกิดเกล้า” ที่พ่อแม่ต้องยอมให้เขาทุกอย่าง  ที่หนักกว่านั้นก็คือ ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมตามที่ลูกต้องการลูกบางคนก็ถึงขั้นทุบตีทำร้ายพ่อแม่

พ่อแม่บางคน (๓)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอนเมื่อลูกทำผิด ทำเลว ทำบาป  ผลก็คือ ลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น มองไม่เห็นเส้นแบ่งทางจริยธรรมว่า ดีเป็นอย่างไร ชั่วเป็นอย่างไร จึงกลายเป็นนักเลงอันธพาล  ระรานคนเขาไปทั่ว

พ่อแม่บางคน (๔)

    ทำร้ายลูกด้วยการให้เงินลูกเพียงอย่างเดียว  ผลก็คือ  ลูกไม่รู้จักคุณค่าของเงิน  ไม่เห็นคุณค่าของผู้ที่หา/และให้เงิน  ยิ่งได้เงินมาก  ยิ่งผลาญเงินเก่ง  มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้  และทั้งๆที่ใช้จ่ายเงินสูง  แต่กลับมีคุณภาพชีวิตต่ำ

พ่อแม่บางคน (๕)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง เกรงว่าหากให้ลูกทำอะไรด้วยตนเองแล้วเขาจะลำบาก ผลก็คือเมื่อโตขึ้นลูกกลายเป็นลูกแหง่ที่พึ่งตนเองไม่ได้ ทำอะไรด้วยตนเองไม่เป็น ยิ่งเติบโตยิ่งเป็นตัวปัญหาของสถาบันครอบครัว

พ่อแม่บางคน (๖)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี มัวแต่สนใจลงทุนในการทำธุรกิจเป็นร้อยเป็นพันล้าน แต่ไม่รู้จักลงทุนในการสร้างลูกให้เป็นปัญญาชน ผลก็คือลูกเติบโตแต่ตัว แต่ทว่ามีสติปัญญาที่ต่ำต้อย ขาดทักษะการคิด การใช้เหตุผล การทำงาน การเข้าสังคม เขาไม่เพียงแต่ไม่สามารถร่วมเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมเท่านั้นแต่ยังสร้างปัญหาให้สังคมอีกต่างหาก

พ่อแม่บางคน (๗)

    ทำร้ายลูกด้วยการทำแต่งานสังคมสงเคราะห์นอกบ้าน โดยลืมไปว่าคนที่ตนต้องสงเคราะห์ก่อนดูแลก่อนต้องให้ความรักก่อนก็คือลูก ผลก็คือแม้จะกลายเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ประสบความสำเร็จนอกบ้าน สังคมสรรเสริญ แต่กลับเป็นพ่อแม่ที่ล้มเหลวในบ้าน และลูกกลายเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น  ไม่พร้อมจะแบ่งปันความรักและความอบอุ่นให้ใคร

พ่อแม่บางคน (๘)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักยกย่องชมเชยลูกเมื่อเขาประสบความสำเร็จในการเรียน ในการทำงาน หรือในการทำกิจกรรมใดๆก็ตาม ผลก็คือลูกกลายเป็นคนใจคอคับแคบ ยกย่องชมเชยใครไม่เป็น เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสำเร็จ เขาจึงเป็นนักอิจฉาริษยาตัวฉกาจ ที่จ้องแต่จะหาทางทำลายคุณงามความดีของคนอื่น

พ่อแม่บางคน (๙)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสอนเขาให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ  ผลก็คือ  เมื่อโตขึ้น  เขาจึงพร้อมผละหนีพ่อแม่ไปอย่างไม่รู้สึกผิด  ไม่เห็นความจำเป็นว่า  การเป็นลูกที่ดีนั้น  จะต้องกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ของตนอย่างไร

พ่อแม่บางคน (๑๐)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนลูกให้รู้จักการบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ ผลก็คือเมื่อโตขึ้นเขาจึงกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ คิดแต่จะกอบโกย คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนมองไม่เห็นหัวคนอื่น แทนที่จะถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งให้ ยิ่งได้ยิ่งแบ่ง”กลับถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งคอร์รัปชั่น ยิ่งแบ่งปันยิ่งสูญเสียเปล่า”

พ่อแม่บางคน (๑๑)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกรู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง  ผลก็คือ  ลูกกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  ไม่กล้าคิด  ไม่กล้าพูด  ไม่กล้าทำอะไร  ส่งผลให้ไร้ภาวะผู้นำ  ต้องเดินตามคนอื่นโดยดุษฎี

พ่อแม่บางคน (๑๒)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนให้ลูกรู้จักสมบัติของผู้ดี ผลก็คือเขากลายเป็นคนหยาบกระด้างทั้งทางกาย ทางใจ ใจคอโหดหินทมิฬชาติ ขาดความสุภาพอ่อนน้อม ขาดสัมมาคาราวะ ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักประมาณตน ครองตน ครองงานไม่เป็น ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบประเพณี กฎหมาย จรรยาจารีตของสังคม  ไม่เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนดีของเพื่อนมนุษย์

พ่อแม่บางคน (๑๓)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่แนะนำให้ลูกรู้จักคบเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร (เพื่อนแท้) ผลก็คือรอบกายของเขาจึงมีแต่บาปมิตร (เพื่อนเทียม) คอยประจบสอพลอ คอยหลอกล่อให้ทำความเลวทรามต่ำช้า ติดสุรา ยาเสพติด นำพาชีวิตไปในทางเสียหาย ตกอยู่ใต้วังวนของอบายมุข สนุกสนาน ไม่สนใจหาแก่นสารให้กับชีวิต

พ่อแม่บางคน (๑๔)

    ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกเป็นคนรักการอ่าน รักการเขียน รักการเรียนรู้ รักการเดินทาง ปล่อยให้เขาศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองไปตามยถากรรม ผลก็คือเขากลายเป็นคนหูตาคับแคบ ขาดความรู้พื้นฐาน ขาดความรู้รอบตัว ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การคิด พูด ทำ ไม่เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ขาดความแหลมคม ตามไม่ทันโลก ตกข่าว เป็นคนว่างเปล่าทางความรู้ (รอบตัว) ความคิด จิตใจ และไม่มีรสนิยมอย่างอารยชน

ว.วชิรเมธี

๒๙ มกราคม ๒๕๕๒

กาฐมัณฑุ, เนปาล




คำสำคัญ (Tags): #บันทึก
หมายเลขบันทึก: 509513เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2012 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

ดีมากเลยนะคะ .... ได้ประโยชน์ และ เป็นประโยชน์มาก  และ ให้ข้อคืด...ดีดีต่อผู้อ่านนะคะ

ขอบคุณมากนะคะ

 

ขอทราบที่มาของข่าวได้ป่าวคับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท