การตัดสินนิติดคีโดยหลักรัฐธรรมโหราศาสตร์


๖ ปีที่ทักษิณนั่งเมือง ได้เกิดศัพท์บัญญัติ วาทกรรม เกิดขึ้นในสังคมไทยหลายประการอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น

บกพร่องโดยสุจริต

ตัดสินคดีโดยหลักรัฐศาสตร์

คิดใหม่ทำใหม่

หนึ่ง..หนึ่ง...

เก่งแล้วโกงไม่เป็นไร


ภายหลังการปฏิวัติมี สองมาตรฐาน มือที่มองไม่เห็น (ส่วนมือที่มองเห็นกลับไม่มีคนมอง) อำมาตย์-ไพร่ (โดยอำมาตย์ใหญ่สุดไปลอยนวลอยู่ในวิมานต่างชาติ แล้วใช้สองมาตรฐานเล่นงานประเทศตลอด เช่น ไม่เคารพคำตัดสินศาลไทย แต่ฟ้องร้องผู้อื่นต่อศาลไทยตลอด) 


สิ่งที่ผมติดใจที่สุดคือ การตัดสินคดีโดยยึดหลักรัฐศาสตร์ ซึ่งหมายความง่ายๆว่า ให้ยกเว้นข้อกำหนดและการลงโทษที่กฎหมายบอกไว้ เพราะหากทำเช่นนั้น “บ้านเมืองจะเสียหาย” (ตามหลักรัฐศาสตร์)


คำว่า “บ้านเมืองจะเสียหาย” นี้หมายความเต็มว่า “ท่านผู้พิพากษา_คิดว่า_บ้านเมืองจะเสียหาย” และถ้าเสียหายอาจเสียหายแต่ในระยะสั้นแต่ระยะยาวแล้วอาจดีขึ้นเป็นทวีคูณก็เป็นได้ และคำว่า “เสียหาย” นี้มีนิยามว่าอย่างไร เสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม หรือหลักการใดแน่


โดยเฉพาะความเสียหายทางระบบนิติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ที่จะรวนเร ไม่เป็นเสาหลักให้คนทั้งประเทศเชื่อถือได้อีกต่อไป นี่เสียหายหนักมาก โดยศาลท่านอาจคิดไม่ถึง


เอาตัวอย่างง่ายๆ กรณีนายกฯทักษิณ ซุกหุ้น ถ้าศาลตัดสินตามหลักนิติศาสตร์ โดยไม่ต้องคำนึงหลักรัฐศาสตร์ให้มากความ ทักษิณก็ต้องถูกปลดออกจากนายกฯ ไปนานแล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้ป่านนี้ประเทศไทยเราอาจเดินหน้าไปไกล ไม่ต้องเกิดการทับซ้อนผลประโยชน์ การปฏิวัติ การแบ่งฝ่ายแตกความสามัคคี และความวุ่นวายทางการเมืองมาจนทุกวันนี้ก็เป็นได้ จึงน่าสงสัยว่าหลักรัฐศาสตร์ที่ใช้ในการตัดสินคดีดังกล่าว ส่งผลเสีย หรือ ผลดี ต่อรัฐกันแน่


เรา คนไทยทั้งประเทศ ต่างหัวอ่อน ยินดีน้อมรับดุลยพินิจของศาลในการตัดสินคดีความตามหลักรัฐศาสตร์เท่านั้นเองหรือ ซึ่งหลักนี้มันเป็นหลักตามอารมณ์ของศาลเท่านั้นเองหาจุดอ้างอิงที่มั่นคงอะไรไม่ได้เลย


จงช่วยกันฉุกคิดหน่อยว่า หลักรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดก็คือ หลักนิติศาสตร์ นั่นเอง เพราะรัฐต้องมีกฎหมายเป็นหลัก กฎหมายก็ออกมาจากสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐอยู่แล้ว ดังนั้นหลักนิติศาสตร์ก็คือหลักรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ยังจะเอาหลักรัฐศาสตร์ตามอำเภอใจของศาลไปสวมทับอีกต่อหรือ


การที่กฎหมายจะกำหนดสิ่งใดขึ้นมา ได้คำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์ไว้แล้ว หลักนั้นก็คือ เพื่อให้สังคมได้ดำรงอยู่อย่างถูกต้อง ดีงาม สันติ สุข หน้าที่ของศาลคือพิพากษาคดีไปตามหลัก “นิติศาสตร์” เพราะนั่นคือหลัก “รัฐศาสตร์” ที่สำคัญที่สุด


ทั้งนี้อาจมียกเว้นกรณีหน้าสิ่วหน้าขวานจริงๆ (ซึ่งกรณีทักษิณซุกหุ้นนั้นไม่ใช่เลย) ศาลอาจพิจารณาใช้หลัก “ธรรมศาสตร์” คือ เอาความถูกต้อง เอาธรรมะ เป็นเกณฑ์ ซึ่งถ้าเอาหลักธรรมศาสตร์มาใช้ร่วมกับนิติศาสตร์ ทักษิณซุกหุ้นยิ่งต้องผิดเป็นสองต่อด้วยซ้ำ คือผิดทั้ง นิติศาสตร์ และ ธรรมศาสตร์ 


ต่อไปคงตัดสินด้วยหลักโหราศาสตร์ด้วยกระมัง  นารีขี่ควายแดงแผลงศรไปทั่วประเทศ 

...คนถางทาง (๒๑ พย. ๒๕๕๕)


หมายเลขบันทึก: 509474เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2012 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท