ฟังเสียงหัวใจ หนังสือความเครียดเล่มแรก(เยี่ยมผู้ป่วยTB)


หากเปรียบความเครียดของผู้ป่วยเหมือนกองหนังสือที่ซ้อนกันอยู่ บางทีหนังสือเล่มบางๆที่เรามองเห็นว่าเล็กน้อย ไม่น่าจะสำคัญเลย อาจทำให้หนังสือทั้งกองพังลงมา เพราะเรามองเห็นหนังสือแค่เล่มสุดท้าย ที่เรามักพูดว่า "แค่เรื่องแค่นี้นะเหรอ"

แก้ไข : เพิ่มรูป เพิ่มเติมข้อความ           

          เมื่อวันจันทร์ ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยวัณโรคตามคำเรียกร้อง(อิอิ) ของน้องผู้รับผิดชอบงานวัณโรคที่ รพ.สต. บอกว่าผู้ป่วยมีปัญหา ไม่ยอมรับการรักษา โดยไม่เชื่อว่าตัวเองป่วยเป็นวัณโรค พอออกไปที่ รพ.สต.พร้อมกับพี่นิว ผู้รับผิดชอบงานวัณโรคของโรงพยาบาล(TB Clinic) ได้รับข้อมูลจาก รพ.สต.ว่า "ผู้ป่วยไม่ได้ป้องกันตนเอง ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ญาติพี่น้องผู้ป่วยก็ไม่ยอมรับว่าผู้ป่วย"  พี่TB Clinic บอกว่า "พี่ได้พูดมาเยอะแล้ว สำหรับคนไข้คนนี้ เธอพูดก็แล้วกัน"  ฟังความข้างเดียวคงกระไรอยู่  ในฐานะคนนำสาร จำจะต้องนำสารไปส่งผู้ป่วยอีกสักรอบ

         ออกจาก รพ.สต. พร้อมกับน้องๆ อีกสองคน ไปถึงบ้านผู้ป่วย ห่างจาก รพ.สต.ประมาณกิโลกว่าๆ  บริเวณบ้านดูสะอาดสะอ้าน ต่างจากบ้านผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่ ผู้ป่วยเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 55 ปี สภาพครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ มีอาชีพหลัก ทำนา สภาพผู้ป่วยดูแข็งแรง วันที่นั่งคุยก็มีแม่ผู้ป่วย อายุซัก 85 ปี ดูผิวพรรณดี และแข็งแรงเหมือนกัน

         เราเริ่มคุย โดยใช้รูปแบบการตกลงบริการแบบมีส่วนร่วม แต่ปรับใช้ เป็นการพูดคุยแบบมีส่วนร่วมโดยเนื้อหายึด หลักของ Health Believe Model  ส่วนการมีส่วนร่วมประยุกต์ใช้เทคนิค ORID Model ส่วนของรายละเอียดคงจะไม่พูดถึงนะครับ จากการพูดคุยถึงได้รับรู้ว่า.......หากเปรียบปัญหาความเครียดของผู้ป่วยเหมือนกองหนังสือที่ซ้อนกันอยู่ 

..... หนังสือเล่มสุดท้ายที่เราเห็นคือการปฏิเสธการรักษา การไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย 

..... ยังมีหนังสืออีกหลายเล่ม ที่วางซ้อนกันอยู่ 

....  หนังสือเล่มใหญ่ คือ ผู้ป่วยมีความเครียดเรื่อง ทำไมตัวเองไม่มีอาการของวัณโรคเลยแล้วถูกวินิจฉัยว่าป่วย 

.... หนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ ทำไมผู้ป่วยกินยารักษาวัณโรคแล้วอาการยิ่งแย่ลง อ่อนเพลีย จากเคยแข็งแรงกลับแย่กว่าเดิมอีก

.... หนังสือเล่มใหญ่หนาที่สุด คือ ผู้ป่วยเป็นคนอัธยาศัยดี มีเพื่อนบ้านมากมาย เคยขายเครื่องสำอาง เคยถูกชมว่าผิวดี ไปไหนมาไหนมีคนทักทายตลอด แต่การป่วยเป็นวัณโรคครั้งนี้ เขาได้สูญเสียสิ่งที่เคยภูมิใจ แม้แต่สามีก็ดูมีท่าทีเหมือนรังเกียจ เพื่อนบ้านหรือใครมาหาก็ต้องบอกให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยก่อน ชีวิตของการป่วยด้วยวัณโรค มันน่ารังเกียจขนาดนี้เลยหรือ

       หากเปรียบความเครียดของผู้ป่วยเหมือนกองหนังสือที่ซ้อนกันอยู่ บางทีหนังสือเล่มบางๆที่เรามองเห็นว่าเล็กน้อย ไม่น่าจะสำคัญเลย อาจทำให้หนังสือทั้งกองพังลงมา เพราะเรามองเห็นหนังสือแค่เล่มสุดท้าย ที่เรามักพูดว่า "แค่เรื่องแค่นี้นะเหรอ"

     จากการพูดคุยแลกเปลี่ยน พอจะได้ช่วยอ่านหนังสือที่ซ้อนกันอยู่ หลายๆเล่ม และพอจะฉีกความหนาของหนังสือแต่ละเล่ม ให้เล่มบางลง  หวังว่าการได้คุยกันคงทำให้ผู้ป่วยได้มีกำลังใจต่อไป

......ก่อนกลับ ผู้ป่วยเอาข้าวสาร มาฝาก ว่าจะไม่รับแล้วหล่ะ แต่กลัวว่าจะทำให้ หังสือมันกลับหนาขึ้นมาอีกครับ เพราะว่าผู้ป่วย สำทับว่า"ถ้าไม่เอาถือวา่ารังเกียจกันนะหมอ" 5555





หมายเลขบันทึก: 509353เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2012 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท