ย่างก้าวที่อาจเพลี่ยงพล้ำ


การเปิดอาเซียนไม่ใช่การพยายามเป็นคนอื่น แต่ต้องรักษาตัวตนของตัวเองให้มั่นคง ยอมรับคนอื่นได้โดยไม่สั่นคลอนรากเหง้าตัวเอง

ย่างก้าวที่อาจเพลี่ยงพล้ำ

      เพลงพิณ

     เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ปีก็จะก้าวเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)แล้ว  หลายหน่วยงานกำลังรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนกันอย่างคึกคัก  เมื่อหลายเดือนก่อนมีโอกาสได้รับเกียรติให้ไปร่วมงานสัมมนางานหนึ่งที่มีองค์กรเกี่ยวกับการศึกษาหลายหน่วยงานเข้าร่วม  มีการนำเสนอเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน  ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ด้วยเอกสาร  การแสดงของเด็กถ่ายทอดวัฒนธรรมแต่ละชาติในอาเซียน  มีเด็กๆ แต่งชุดประจำชาติต่างๆ มากล่าวทักทายเป็นภาษาของประเทศในภูมิภาคอาเซียน  การจัดนิทรรศการข้อมูลอาเซียน ฯลฯ  ซึ่งดูๆ แล้วเกิดคำถามและความวิตกขึ้นในใจ  เราเตรียมความพร้อมองค์กรและเยาวชนของเราถูกทางแล้วหรือ?

  การก้าวเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  ประเด็นหลักที่น่าจับตาคือ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ   ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ปัจจัยอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางการศึกษา  เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การบริการ ฯลฯ  ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมควรจะเป็นการเพิ่มศักยภาพทางสติปัญญาของเยาวชนเรา ที่จะกระโจนเข้าสู่ตลาดแรงงานและภาคธุรกิจเป็นหลัก  นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดระบบทางการผลิต  การแปรรูป  การส่งออกและการบริการให้สอดรับกับภาวะการแข่งขันที่จะเปลี่ยนไปจากเดิมอีกด้วย

  ประเด็นที่ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงมากที่สุด เห็นจะเป็นการเตรียมความพร้อมเยาวชนของไทย  ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตลาดแรงงานอาเซียน  เพราะดูจากภาพรวมการสอบ PISA แล้วไทยยังอยู่อันดับรั้งท้าย 

การสอบ PISA หรือ โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ Programme  for International Student Assessment เป็นโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาการทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า OECD  ซึ่งจะสอบวัดนักเรียนอายุ 15 ปีใน 63 ประเทศ ผลการสอบวัดความรู้นี้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับการทำนายแนวโน้มของประเทศในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ  ว่าแต่ละประเทศจะพัฒนาไปนอย่างไรใน 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า  (ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://pisathailand.ipst.ac.th/และhttp://www.oecd.org ) จึงนับว่าเป็นการทดสอบที่ชี้วัดตัวตนของประชากรและระบบการจัดการศึกษาที่ดี  ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลจากผลสอบPISA  ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาสวนทางกับข้อมูลทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษานำเสนอโดยเฉพาะข้อมูล GPA  ซึ่งล่าสุดผลการทดสอบPISAพบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับ  51 จาก 57 ประเทศ  ตกต่ำจาก ปี 2550 ที่เคยอยู่ในอันดับ 46 (ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าน่าวิตกมากแล้ว) 

  แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ผลสอบของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ต่างอยู่ในอันดับต้นๆ แม้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันส่วนใหญ่ก็สูงกว่าไทยทั้งนั้น  ถ้าจะกล่าวง่ายๆ คือ แนวโน้มที่เราจะพัฒนาทางเศรษฐกิจสู้ประเทศเหล่านั้นได้เป็นไปได้ยากเต็มที ถ้าคุณภาพของประชากรเราในอีก 10 ปีข้างหน้าด้อยกว่าประชากรใจภูมิภาคเดียวกัน การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็น่ากลัวสำหรับประเทศไทย  เพราะผู้ลงทุนต้องเลือกจ้างคนที่มีศักยภาพดีที่สุดเข้าทำงานจึงจะคุ้มค่าทุนในการว่าจ้าง 

ท้ายสุดแรงงานจากเพื่อนบ้านเราจะทะลักเข้ามาในไทยอย่างมากมาย  ในขณะที่แรงงานของเราส่วนใหญ่อาจเป็นได้แค่แรงงานไร้ฝีมือ  ยิ่งทักษะทางภาษาอังกฤษที่จำเป็นในการสื่อสารของนักเรียนเราด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันยิ่งเป็นข้อเสียเปรียบเพิ่มมากขึ้นจากเดิม  จากการเตรียมการของรัฐเท่าที่เห็นในปัจจุบัน  เชื่อว่ายากที่จะจัดระเบียบเกี่ยวกับแรงงานในประเทศและต่างประเทศที่จะเข้ามาในบ้านเราหลังเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างเป็นระบบ  

  องค์กรด้านการศึกษาของเราควรเดินหมากกันใหม่  ไม่ใช่พาลูกหลานเราร้องรำเพลงอาเซียน พูดทักทายภาษาอาเซียน งูๆ ปลาๆ  กันอย่างที่ทำกันอยู่  เราต้องเพิ่มความเข้าแข็งทางทักษะทางการคิด  ทักษะวิชาชีพ และความแหลมคมเชิงธุรกิจ  เหนือสิ่งอื่นใดต้องมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม  การเปิดอาเซียนไม่ใช่การพยายามเป็นคนอื่น  แต่ต้องรักษาตัวตนของตัวเองให้มั่นคง  ยอมรับคนอื่นได้โดยไม่สั่นคลอนรากเหง้าตัวเอง

  หากจะให้กล่าวด้วยความเห็นส่วนตัวของคนไทยตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับการแปลผลทางสถิติและข้อมูล  ข้าพเจ้ายังเห็นว่าไทยยังห่างเพื่อนบ้านหลายประเทศในอาเซียนหลายขุม  และทายว่าอีกไม่นานเราจะเดินรั้งท้ายในภูมิภาคนี้ตราบเท่าที่สภาพทางการเมือง  การศึกษาและบริบททางเศรษฐกิจ-สังคมของเรายังเป็นเช่นนี้  

  การจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งให้ดีได้  ควรเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิด  เริ่มตั้งแต่ผู้ใหญ่ในสังคมก่อนขยายไปสู่ประชาชนและเยาวชน  นั่นคือ เปลี่ยนทัศนะจาก ตนเองจะได้อะไรจากบ้านเมือง  การกระทำใดจะเอื้อประโยชน์แก่ตนมากที่สุด  มาเป็นคิดถึงผลกระทบต่อประเทศชาติที่จะตามมาให้หนักๆ แล้วทำเป็นแบบอย่างให้แก่ประชาชน 

นโยบายประชานิยมก็เป็นส่วนสำคัญที่บ่อนลายจิตสำนึกเพื่อการพัฒนา เนื่องจากเป็นใช้นโยบายแจกโน่นให้นี่เข้าล่อคะแนนเสียง  กระตุ้นให้ผู้คนเรียกร้องกระหายอยากผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาในระยะยาว จึงเหมือนการคอรัปชั่นด้วยระบบหรือด้วยนโยบาย นอกจากนี้นับตั้งแต่มีการนำนโยบายประชานิยมมาใช้จะเห็นได้ว่าประชาชนยอมรับการคอรัปชั่นมากขึ้นหากตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์บ้าง ดังข้อมูลจากผลสำรวจทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับการทุจริต(http://news.voicetv.co.th/thailand/49699.html  ) ดังนั้นหากเราพัฒนาความคิดคนไม่ได้ก็พัฒนาชาติไม่ได้เช่นกัน 

  ยิ่งนโยบายนั้นก้าวล่วงเข้ามาถึงหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาของชาติข้าพเจ้ามองจากมุมมองคนภายนอกยังหวาดกลัวว่ารากฐานการศึกษาของเรากำลังง่อนแง่น  และอาจโค่นถอนรากถอนโคนลงมาในไม่ช้า  เพราะเราพะวงแต่กับเปลือก  ว่าภาพตัวเลขจะออกมาไม่สวย  โดยลืมคำนึงถึงคุณภาพ  และศักยภาพ  หากระบบการศึกษาเราล่ม  แทบจะกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า บ้านเมืองเราล่มจมแน่นอน  เพราะการศึกษาสร้างทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ คือ คนในสังคมนั่นเอง

  ถึงกระนั้น ข้าพเจ้ายังเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนแปลงได้  หากแกนนำในบ้านเมืองตั้งใจผลักดันการเปลี่ยนแปลงโดยไม่คิดเล็กคิดน้อย(หรืออาจจะเป็นการคิดการใหญ่ก็ตาม) ว่าจะได้รับอะไรตอบแทนหรือส่วนแบ่งอะไรจากนโยบายหรือการวางแนวทางการเปลี่ยนแปลงนี้   เราทุกคนต้องมองอะไรให้ไกลกว่าวันนี้-พรุ่งนี้  ปีนี้-ปีหน้า  หรือสมัยนี้-สมัยหน้า  เพราะถ้าหากเราเสียความมั่นคงสติปัญญา ทางเศรษฐกิจ  และเสถียรภาพทางการเงินการคลังคงยากจะดำรงประเทศให้มั่นคงได้  เรากระตุ้นคนไทยให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเท่านั้นยังไม่พอ   เราต้องกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองใช้อำนาจและความคิดเชิงผลประโยชน์ด้วยความพอเพียงด้วยจึงจะรอด

ความหวังของข้าพเจ้าจึงฝากไว้กับการจัดการศึกษาไทย  หวังว่าหน่วยงานการศึกษาของเราจะเดินหมากใหม่ได้ทันท่วงที  เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่ปี  ยิ่งเราช้าเท่าไหร่  ความเสี่ยงของเรายิ่งมากขึ้นเท่านั้น  ในอนาคตสงครามที่น่ากลัวคือสงครามเศรษฐกิจ  การสิ้นรัฐชาติแทบจะไม่มี  แต่เราอาจจะสิ้นสภาพทางการเงินการคลังและระบบเศรษฐกิจล่มสลาย  จนพลอยทำให้วัฒนธรรมเสื่อมสูญด้วย

คำสำคัญ (Tags): #aec
หมายเลขบันทึก: 508477เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2012 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2013 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท