ผมไปเป็นวิพุทธิยาจารย์ให้นิสิตจุฬาฯที่น่าน


เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ผมกับภรรยาและลูกสาวเดินทางด้วยเครื่องบินไปถึงเชียงใหม่ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เดินทางจากเชียงใหม่ไปน่านด้วยรถตู้ของโรงเรียนมงคลวิทยา ลำพูน นำโดยครูอึ่ง(ดวงพร เลาหกุล) ขับโดยครูอาราม ตามมาด้วยพี่หมอเจ๊ ซี่งเดินทางมาจากกระบี่ มารับผมกับครอบครัวแล้วจากนั้นเรารับน้องฝน แล้วไปลำปางรับครูแมวกับครูป้อม แล้วบึ่งไปน่าน

ถึงน่านแล้วเราไปสมทบกับครูหมอจอมป่วนจากพิษณุโลกซึ่งพาแม่นุกับน้องอ้าย มาด้วย ตามด้วยครูราณี และครูสุ กับเจอครูแฮนดี้ (อาจารย์พินิจ พันธ์ชื่น)ซึ่งเดินทางมาจากไชยาล่วงหน้า ๑ วัน แล้วจึงพากันเข้าไปที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตน่าน ซึ่งมีนิสิตสาขาวิชาบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ปี๒-๓ มาเรียนรู้อยู่ที่นี่ ซึ่งสาขาวิชานี้มี ศ.นสพ.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต เป็นผู้อำนวยการ ท่านและทีมงานมาต้อนรับพวกเราแนะนำตัวตั้งแต่ลูกน้องจนถึงผู้อำนวยการและเล่าให้พวกเราทราบความเป็นมาของวิทยาเขตที่นี่

ระหว่างที่พูดคุยกันในตอนเย็นวันนั้นครูบาสุทธินันท์ ครูใหญ่และครูเปลี่ยน มณียะ ก็เดินทางมาสมทบ คุยกันแจกของที่ระลึกกันแล้วท่านผู้อำนวยการก็เชิญพวกเราไปทานอาหารกัน อาหารทุกอย่างอร่อยมาก เนื่องจากเรายังไม่ได้เข้าที่พัก ทานข้าวเย็นกันเสร็จก็เข้าที่พักที่โรงแรมเทวราช เข้าห้องใครห้องมันแล้วก็มารวมตัวกันที่ห้องพักครูใหญ่ เพื่อมาตกลงกันว่าเราจะถ่ายทอดอะไรให้กับนิสิต ในที่สุดก็สรุปกันเป็นสามหัวข้อ

ผมรับผิดชอบหัวข้อ Learn how to learn in digital age ร่วมกับพระอาจารย์แฮนดี้และครูสุ แต่งานนี้ครูสุไม่ได้แหยมเลย อิอิ ผมพูดคนเดียวก็เกือบหมดเวลา ต่อด้วยครูแฮนดี้ก็เกลี้ยงแล้ว แฮ่…ไว้คราวหน้านะครูสุนะ

ผมพูดให้นิสิตตระหนักถึงเรื่องราวของการเรียนรู้ว่า เราสามารถเรียนรู้ได้ในทุกเรื่องเพราะสักวันหนึ่งมันจะเอามาใช้ประโยชน์ได้ นานมาแล้วผมไปคุมปั๊มน้ำมันและได้เห็นวิธีการที่คนรถปลอมปนน้ำมันและบอกให้พ่อทราบ ต่อมาอีก ๑๘ ปีผมเป็นอัยการได้รับมอบหมายให้ทำคดีปลอมปนน้ำมัน ขอบอกว่าสบายมากเพราะเราเคยเห็นวิธีการและวิธีตรวจสอบ การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันสามารถทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะผ่านการอ่าน ดูโทรทัศน์ สื่ออินเทอร์เน็ตประเภทต่างๆ แต่การเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ผมได้นำเสนอภาพที่ผมไปเรียนรู้การวาดสีน้ำ การวาดสีน้ำมัน การถ่ายภาพ และอธิบายด้วยว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเอามาใช้กับการเกษตรได้ด้วยนะเธอ เช่น เธอปลูกผักขายจะเอาภาพผักงามๆน่ากินไปให้ลูกค้าดู ถ้าถ่ายไม่เป็นต้องไปจ้างเขาถ่าย ถ้าถ่ายภาพเป็นเราก็ลดรายจ่ายด้านนี้ได้ ผมเรียนรู้ถึงขนาดล้างฟิล์มเอง อัดรูปขาวดำเอง การเรียนรู้เหล่านี้เราสามารถเรียนรู้ได้ ผมเรียนรู้เรื่องการทำเว็บไซต์ เราสามารถเขียนเว็บไซต์ขายผักหรือผลิตผลทางการเกษตรได้ เป็นการเพิ่มการตลาดอีกช่องทางหนึ่ง

ที่ผมกั๊กไว้เพื่อให้นักศึกษาคิดเอง ก็ด้วยการแกล้งตั้งคำถามว่ามีใครปลูกผักกินเองบ้าง นิสิตต่างก็เงียบ ผมบอกปลูกกินเองด้วยนะเพราะผมเรียนรู้การทำเกษตรมาตั้งแต่ผมเรียนชั้นประถมมีวิชาเกษตรด้วย

ผมอยากให้นิสิตได้คิดว่าหากเราคิดจะกลับคืนถิ่นไปช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นหรือช่วยครอบครัวของเราในฐานะที่เป็นเกษตรกร เราเตรียมตัวและหัวใจลงไปคลุกกับความเป็นเกษตรกรหรือยัง เราสามารถลองเรียนรู้การใช้ชีวิตของเกษตรกรได้นี่ครับ ถ้าเราไม่รู้หัวใจเขาเราจะไปช่วยอะไรเขาละครับ ช่วยแล้วตรงกับที่เขาต้องการให้ช่วยหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่เคยเรียนรู้การปลูกผัก เราไม่เคยรู้เรื่องเกษตรประณีต เราจะรู้ไหมว่าเราจะลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้อย่างไร เราเคยสังเกตไหมว่าพืชพันธุ์พื้นถิ่นของเรามีอะไร แต่ละต้นมันอยู่อย่างไร เราจะใช้พื้นที่ของเราให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มอย่างไร เราจะลดการใช้สารเคมีไม่ให้เกษตรกรเป็นหนี้ได้อย่างไร เราจะบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นิสิตอาจจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าตกลงแล้วเราเรียนบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรเพื่อจะเป็นผู้บริหารคอยสั่งงานให้คนอื่นทำแบบนักบริหารคนอื่นในสาขาวิชาอื่น หรือเราจะลงไปคลุกกับการเกษตรด้วยบริหารไปด้วย การเกษตรในอนาคตหาใช่วิชาชีพที่เป็นเบี้ยล่างคนอื่นไม่ เพราะคนเดี๋ยวนี้ไม่ยอมทำเรื่องเกษตรง่ายๆเพราะถือว่าหาซื้อเอาสะดวกกว่า ถามว่าเอาจอบเอาเสียมไปขุดไปสับดินมันน่าอายตรงไหน แล้วอัยการอย่างผมเป็นอัยการชั้นหก มีรายได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งสูงกว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด ทำไมหน้าด้านปลูกผักปลูกไม้ผลไม้ใบกินเองล่ะครับ ทำไมผมไม่อาย มันอยู่ที่วิธีคิดวิธีทำต่างหาก

ผมอยากเห็นนิสิตจุฬาชุดนี้ก่อนจบการศึกษา ได้รับมอบหมายโครงงานสัก ๑ เรื่องเพื่อจบการศึกษาอย่างเต็มภาคภูมิ ไหนๆก็เรียนการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรมาแล้ว ให้มหาวิทยาลัยจัดสรรที่ดินให้คนละ ๒-๓ ไร่ แล้วให้นิสิตทำโครงงานตามที่ตัวเองอยากทำหรือที่มันสอดคล้องกับท้องถิ่นของเราเอง หรือสำรวจตลาดในน่าน แล้วทำการเกษตรที่อยากทำเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด  ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ถ้าเลี้ยงสุกร จะเอาขี้สุกรมาทำอย่างไร เช่น ทำแก๊สชีวภาพ ทำปุ๋ยชีวภาพ น้ำล้างคอกสุกรเอาไปใช้ประโยชน์อะไร ทำให้เกิดผลผลิตอะไร หรือถ้าปลูกผัก ในพื้นที่เท่ากันจะปลูกอะไรได้สักกี่อย่าง เช่นปลูกชะอม ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ตะไคร้ สะระแหน่ ต้นหอม ขมิ้น ข่า ถั่วพู ฯลฯ 

ผมเห็นว่าไม่มีนักบริหารคนไหนหรอกที่จะบริหารงานได้เยี่ยมยอดหากเขาไม่มีความรู้เรื่องที่เขากำลังบริหารอย่างแท้จริง นิสิตจุฬาชุดนี้ก็เช่นกันหากเราจะบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตร เราควรเรียนรู้การทำเกษตรด้วยหัวใจก่อน เมื่อการทำเกษตรเข้าไปอยู่ในหัวใจแล้ว ศักยภาพของความเป็นนิสิตจุฬาจะผลักพลังเฮ้ากวงของเราที่อยู่ภายในออกมาทำให้พวกเรากลายเป็นนักบริหารที่ดี…เชื่อผมไหม อิอิ.


หมายเลขบันทึก: 508091เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2012 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นี่ละครับใช่เลย วิธีคิดแบบนี้ น่าจะเกิดขึ้นกับผู้นำชาติ และผู้บริหารทุกท่านทุกแผนก ไม่ว่าด้านใด"เราต้องเตรียมตัวและหัวใจลงไปคลุก..."

สวัสดีครับท่านอัยการ ผมเป็นสมาชิกใหม่ เทียววนไปในG2K ได้ไม่นาน ขอคารวะท่านครับ เป็นบันทึกที่ตรงใจแบบจังจัง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท