(ดู) ละครของพวกเรา


(ดู) ละครของพวกเรา

ท่ามกลางเรื่องเล่า มีคำถามบางอย่างเกิดขึ้นnระหว่างเวทีพูดคุยหัวข้อ ““ต้นทางละครเพื่อประชาชน” ในกิจกรรม “ทราบแล้ว...เปลี่ยน เวทีสัมมนาองค์ความรู้ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง”ที่มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นเมื่อปลายตุลาคมที่ผ่านมา “ครูอุ๋ย”พรรัตน์ ดำรุง ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมกิจกรรมละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงมาตลอด เล่าว่า เคยมีสมาชิกโครงการคนหนึ่งตั้งคำถามว่า การผลิตละครชุมชนและใช้มันเป็น “เครื่องมือ”สื่อสารแนวคิด อย่างที่ทำอยู่ถือเป็นงานศิลปะหรือไม่ และทั้งนี้สิ่งที่ (พวก) เราทำอยู่ สามารถเรียกตัวเองว่า “ศิลปิน” ได้หรือไม่ “แต่คำถามนี้ครูยังไม่ตอบ เพราะไม่คิดว่าศิลปินจะเกิดขึ้นได้เพราะทำงานแค่3เดือนหรือ3ปี และผู้ตัดสินไม่ใช่ตัวเองแต่เป็นผู้ชม ขณะเดียวกันถ้าเขาทำงานไปเรื่อยๆ คำถามนี้อาจไม่สำคัญก็ได้”ครูอุ๋ยบอก


 “ครูอุ๋ย” อธิบายต่อไปว่า ไม่มีใครปฏิเสธองค์ความรู้ด้านศิลปะแบบตะวันตก เพราะนั่นถือเป็นองค์ความรู้อย่างหนึ่งแต่เวลาเดียวกันต้องมองให้ออกถึงความรู้ใกล้ตัว เห็นความเป็นไปในชุมชน สังคม โดยต้องเข้าใจมันว่าอะไรที่เป็นรากเหง้า อะไรคือความดี ความงาม อะไรสิ่งใดคือวิถีปฏิบัติมาช้านาน เปรียบเสมือนรู้จัก “ที่ทางของตัวเอง” “ไม่แปลกหากเราจะสงสัยตัวเอง เพราะกว่าจะผลิตละครมาเรื่องหนึ่ง เราต้องทำความรู้จักบ้านของเรา รู้ถึงความเป็นไป ผ่านการบอกเล่า การค้นคว้า มีสาระสำคัญที่จะสื่อ เช่น เราเห็นว่าบ้านเรามีประเด็นเรื่องทรัพยากรที่ต้องพูดคุยกันและเราก็มีต้นทุนทางวัฒนธรรม ละครของเราจะเข้าไปรวมทั้ง2สิ่งนั้น เป็นการสร้างมูลค่าของงานที่เข้ากับชุมชนได้ และแน่นอนว่ามูลค่าความงามที่งดงามไม่แพ้นิยามความงามแบบอื่นใด”


“คนปากหนาก็งามได้ในแบบของเขา ความงามมันมีองค์ประกอบจากวิถีชีวิตจริง สังคมไทยแยกศิลปะกับวิธีชีวิตจริงไม่ได้ บ้างคนเลี้ยงลูกไปดูลิเกไป หรือนั่งดูงิ้วก็ทานข้าวไปด้วย สิ่งที่เราบอกไม่ใช่การดัดแปลงวรรณกรรมยอดเยี่ยมที่ไหน หรือไปลอกตะวันตก แต่เป็นการนำ “สาร”ที่เป็นของชุมชนเรา ผนวกกับการนำเสนออย่างแยบยล ด้วยต้นทุนที่เรามี” ผลลัพธ์ของงานละครแบบที่ครูว่าจึงมีความเป็น “ตัวเรา” ที่หมายถึงความเป็นไปในชุมชน สังคมที่ผู้เล่นอาศัยอยู่ตัวอย่างที่ดีในวันนั้น คงเป็นละครเยาวชนเรื่อง “พะยูงต้นเดียว” จากกลุ่มเด็กรักป่า จ.สุรินทร์ ซึ่งสะท้อนความเป็นไปของบ้านเกิดหลังพื้นที่ป่าที่คุ้นเคยถูกรุกล้ำจากขบวนการตัดไม้ และทำให้ต้นพะยูงขนาดใหญ่ประจำหมู่บ้าน ที่แฝงด้วยศรัทธา ความเชื่อ ถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตา


ปอนด์-สุชานันท์ คิดชนะ นักศึกษาชั้นปี1 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในกลุ่มเด็กรักป่า ย้ำว่า นี่ไม่ใช่การเข้ามาแอบตัดไม้แบบที่เคยได้ยิน หรือเป็นเรื่องราวระหว่างชาวบ้านกับนายทุนธรรมดา ละครเรื่องอธิบายถึงการลงมือแบบเป็นขบวนการ และมีคนในชุมชนได้ประโยชน์จากไม้พะยูงต้นนี้ โดยกลุ่มคนตัดไม้ซื้อคนในชุมชนให้มาร่วมด้วย เริ่มจากขอข้อมูลชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญผีตา-ยายที่เฝ้าป่าไป ช่วยดูต้นทาง เจรจากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จนถึงเอาไม้ต้นนั้นออกไปจากชุมชน“ชุมชนแตกสามัคคี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน จนทำให้ส่วนรวม ความเป็นหนึ่งเดียวที่เคยมีสูญเสีย ไม้พะยูงต้นสุดท้ายในหมู่บ้านจึงถูกตัดไป”พวกเขาย้ำ “ข้อความ”ที่จะสื่อสารอีกครั้ง เพิ่มเติมจากความหลักที่ใครๆคงเข้าใจอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ “ละครพะยูงต้นเดียว” จึงเป็นละครของกลุ่มเด็กรักป่าจริงๆ เช่นเดียวกับที่มันเป็นละครของคนทั้งหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.สำโรง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ


และก่อนจะจบช่วงพูดคุย “พี่ก๋วย”พฤหัส พหลกุลบุตร ทีมงานมะขามป้อม ผู้จัดการโครงการ “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” อธิบายเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการงานละครกับสังคมอย่างน่าสนใจว่า เมื่อทั้งประเด็น เนื้อหา ที่ถูกนำเสนอการันตีด้วยเค้าโครงเรื่องจริงแล้ว แม้กลวิธีเล่าเรื่องคือจินตนาการ แต่ผลผลิตของละครเปรียบได้กับการจำลองชีวิตมนุษย์ โดยเป็นการจำลองด้วยความเข้าใจและไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ เหตุนี้ทุกท่วงท่าที่ถูกแสดงออกมาย่อมมีความหมายและมีมูลค่าเกินกว่าความบันเทิงทั่วๆไปแน่


“ละครของตัวเรา”ที่เป็นการอธิบายความเป็นจริงที่ผู้แสดงเกี่ยวข้อง จึงเป็นการบูรณการความรู้ เกิดทักษะผ่านการลงมือทำ ตามมาด้วยองค์ความรู้จากทักษะที่ฝึกฝนเชี่ยวชาญ ก่อนนำไปสู่การยกระดับด้านจิตใจ“ละครของเราอย่างน้อยได้ทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ รู้ถึงปัญหาสังคม เห็นถึงความรัก โลภ โกรธ หลงจากบุคลิกตัวละคร เหล่านี้ได้มากจากการคุยกับคนหลายประเภท เฝ้าสังเกต และถ่ายทอดออกมา เป็นเรื่องของเรา ของสังคม ของชุมชนจริงๆ และอธิบายผ่านจิตนาการ กลวิธีนำเสนอ”พี่ก๋วยอธิบาย ละครแต่ล่ะเรื่องจึงไม่ต่างอะไรกับบทเรียนบทหนึ่งๆ ที่ทำให้ทั้งคนดูและคนเล่นเข้าใจ และตั้งคำถามกับสังคมรอบตัวไปพร้อมๆกัน

ละครของพวกเราที่อยากให้ใครๆได้ชม


คงจะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา (ผู้ชม) ลุกขึ้นมาทำอะไรได้บ้าง

หมายเลขบันทึก: 508041เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2012 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พบกับครูก๋วยที่บ้านอาจารย์ นุ มาแล้ว ชื่นชมครูมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท