ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๘๒. รศ. พญ. ลัดดา เหมาะสุวรรณ



          ผมเขียนถึง รศ. พญ. ลัดดา เหมาะสุวรรณ ตามคำขอของแพทย์รุ่นลูกศิษย์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไว้ตั้งแต่เดือน พ.ค. ๕๕  ตั้งใจเอาลง บล็อก แล้วก็ลืม  จึงนำเอามาลงในตอนนี้  เพราะว่า ท่านเป็นตัวอย่างของคนที่ดำรงชีวิตแบบพอเพียง



รศ. พญ. ลัดดา เหมาะสุวรรณ

เพชรน้ำหนึ่งของวงการวิชาการโภชนาการและพัฒนาการเด็กไทย

วิจารณ์ พานิช

อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๒๕๒๔ - ๒๕๒๖  และ ๒๕๒๘ - ๒๕๓๒

.............................


          รศ. พญ. ลัดดา เหมาะสุวรรณ กับผมน่าจะสนิทสนมกันมาประมาณ ​๓๕ ปี  ดังนั้นข้อเขียนต่อไปนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นการเขียนจากใจของมิตรคนหนึ่ง  การได้รับเชิญให้เขียนถึงอาจารย์หมอลัดดาช่วยให้ผมได้ย้อนรำลึกถึงช่วงการทำงานที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งถือเป็นช่วงที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานมากที่สุดแห่งหนึ่ง  เนื่องจากเป็นงานในวัยฉกรรจ์ มีแรงบันดาลใจหรือมีไฟล้นเปี่ยม  โดยมีเป้าหมายที่การพัฒนาวิชาการให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และแก่สังคมไทย  โดยมีอาจารย์หมอลัดดาเป็นแนวร่วมสำคัญ


          ในสายตาของผม อาจารย์หมอลัดดาจึงเป็นอาจารย์นักวิชาการหรือนักวิจัย  นอกเหนือจากทำหน้าที่สอนหรือดูแลลูกศิษย์นักศึกษาแพทย์ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คือเป็นครูแพทย์ที่เอาใจใส่การวิจัยเพื่อนำความรู้มาพัฒนาการทำหน้าที่อาจารย์แพทย์ และทำหน้าที่แพทย์ให้บริการผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น  อาจารย์หมอลัดดามีข้อเด่นพิเศษในฐานะอาจารย์แพทย์ทางคลินิกที่ทำงานวิจัยอย่างจริงจัง  อุทิศเวลาเพื่อการนี้ ไม่เปิดคลินิกหารายได้ส่วนตัว 


          ผมเดาว่าคุณสมบัตินี้ นอกจากมาจากพื้นฐานส่วนตัวของอาจารย์หมอลัดดาแล้ว  ยังน่าจะได้จากการอบรมบ่มนิสัยจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  ในส่วนของสาขาวิชาโภชนศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  ที่มี ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี แพทย์รางวัลแม็กไซไซ เป็นหัวหน้าใหญ่  ศ. พญ. สาคร ธนะมิตต์ เป็นหัวหน้ารุ่นที่สอง  ศ. นพ. ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ เป็นหัวหน้ารุ่นที่สาม  และต่อๆ มา 


          เมื่ออาจารย์หมอลัดดาฝึกวิทยายุทธด้านการเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์ และเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโภชนศาสตร์ (Nutrition) แล้ว  ท่านก็มาทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งผมเดาเอาเองว่า เพราะท่านมีนิสัยชอบที่ว่างไม่ชอบที่คับคั่ง ซึ่งเป็นนิสัยที่พ้องกับผม  คือชอบไปทำงานริเริ่มสร้างสรรค์ที่ใหม่  ไม่ชอบทำงานที่เก่าที่มีคนวางรากฐานไว้แล้ว  เราอยากทำงานวางรากฐานด้วยตัวเอง โดยต้องหาทางสร้างทีมงาน และคลำหาทางสร้างรากฐานงานด้วยตัวเอง


          อาจารย์หมอลัดดาจึงเป็นผู้วางรากฐานวิชาการและหน่วยงานด้านโภชนศาสตร์ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า เป็น founder คณะแพทยศาสตร์ควรยกย่องจารึกไว้ให้ชัดเจนเป็นตัวอย่าง และเป็นแรงบันดาลใจ ของการทำงานริเริ่มสร้างสรรค์แก่อนุชนรุ่นหลัง


          การริเริ่มสร้างสรรค์ของอาจารย์หมอลัดดาไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เท่านั้น  แต่เมื่อถึงวาระและโอกาสที่เหมาะสม ประสบการณ์และความรู้ของท่านก็ได้มีคุณูปการระดับประเทศด้วย  และผมเดาว่ามีหลายเรื่อง  แต่ที่ผมมีประสบการณ์ร่วมคือเรื่องชุดโครงการวิจัยระยะยาว พัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทย ที่สนับสนุนโดย สกว. กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก  ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นผู้อำนวยการ สกว.  ดังสรุปย่อโครงการที่ http://research.trf.or.th/node/3829 โดยอาจารย์หมอลัดดารับผิดชอบโครงการในส่วนภาคใต้ ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา  ถึงแม้โครงการนี้ในระดับประเทศจะดำเนินไปไม่ครบ ๑๕ ปีตามเป้าหมายเดิม  แต่ในส่วนของศูนย์ภาคใต้ในความรับผิดชอบของอาจารย์หมอลัดดา ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง  และได้ผลสร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กมากมาย ดังตัวอย่างใน PowerPoint คำบรรยาย http://www.saiyairakhospital.com/back-office/upload/document/latda.pdf  และใน หนังสือชุดพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทย http://info.thaihealth.or.th/library/11018 ที่มีทั้งหมด ๑๐ เล่ม


          การวิจัยภาพใหญ่ของประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่งที่อาจารย์หมอลัดดามีส่วนสำคัญ คือเรื่องโรคอ้วนในเด็กไทย ดังในรายงาน http://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/pro-6_Chapter1(1).pdf  และการบรรยายเรื่องสถานการณ์ ผลกระทบ และความก้าวหน้า ของการจัดการปัญหาโรคอ้วนในประเทศไทย http://www.nutritionthailand.or.th/upload/docpath/Sym%209.1-%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%94%E0%B8%B2%20%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93.pdf


          เนื่องจากผมเป็นคนความจำไม่ดี และออกจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปทำงานอื่นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ผมจึงไม่มีรายละเอียดผลงานของอาจารย์หมอลัดดา  แต่ผมก็รับทราบว่า ท่านได้รับยกย่องเป็นอาจารย์ตัวอย่างด้านการวิจัย ประจำปี ๒๕๔๓ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และผมก็ได้รับรู้ว่าท่านได้รับการยอมรับนับถือในฐานะนักวิชาการด้านโภชนาการเด็ก  พัฒนาการเด็ก และโรคอ้วน เป็นบุคคลแนวหน้าในระดับประเทศ  โดยที่ตัวท่านเองไม่แสดงตัว  คนที่อ่อนน้อมถ่อมตน และสมถะเช่นนี้ เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นตัวอย่าง


          ผมเคยเขียนยกย่องอาจารย์หมอลัดดาสั้นๆ ในบันทึกชุด “คนดีวันละคน” ใน บล็อก Gotoknow ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/209357


          ในโอกาสฉลอง “แซยิด” อายุครบ ๖๐ ปี ของอาจารย์หมอลัดดา ผมจึงขอถือโอกาสแสดงความชื่นชม และแสดงความยินดี ใน “ชีวิตอุดม” ของท่าน  และใคร่ขอตั้งความหวังว่า อาจารย์หมอลัดดาจะยังคงทำงานวิชาการต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย ๒๐ ปี  เพราะชีวิตคนสมัยนี้มีความแข็งแรงยืนยาว  อาจารย์ของพวกเราหลายคนอายุกว่า ๘๐ ยังคงมีร่างกายแข็งแรง สมองเฉียบแหลม  และยังทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองต่อเนื่อง  ผมขออำนวยพรให้อาจารย์หมอลัดดาดำเนินชีวิตหลังวัย ๖๐ อยู่ในกลุ่มนั้น


        เมื่อได้อวยพรแล้ว ก็ขอถือโอกาสทักท้วงด้วย  ว่าความสมถะด้านตำแหน่งวิชาการ ไม่ยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์ ทั้งๆ ที่ความสามารถและผลงานเหลือเฟือ  เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่อาจารย์รุ่นหลัง  และทำให้ขาดโอกาสทำงานที่ยากกว่าที่ทำอยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง 


วิจารณ์ พานิช

๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕


.............................


วิจารณ์ พานิช

๘ ต.ค. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 507782เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท