โรงเรียนสาธิต ทางออกวิชาการทางครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์


โรงเรียนสาธิต  ทางออกวิชาการทางครุศาสตร์  ศึกษาศาสตร์

วัฒนธรรมวิชาการ ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ
ที่มีรากฐานวัฒนธรรมตะวันตก ที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ แบบกล้าคิด กล้าทำ
เพราะรากฐานของตะวันตกเขาต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางวิชาการผ่านยุคสมัย
ต่าง ๆ  คนของตะวันตกจึงรู้สึกเท่าเทียมกัน  ด้านเสรีภาพของความคิดเห็น
และ กล้าคัดค้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  ดังนั้นจึงการผลิตประดิษฐกรรมทางวิชาการ
ที่ต่อยอดจากวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็น  ก่อนยุควิทยาศาสตร์ไม่ว่า
จะโสกราตีส ที่ต้องดื่มน้ำแฮมล็อกจนตาย  กาลิเลโอ โคเปอร์นิคัส  ผู้จุดประกาย
วิทยาการที่ค้านแย้งกับความเชื่อ และยืนหยัดในความคิดทฤษฎี  เมื่อพ้นยุคกลาง
แล้ว ยุคสว่างทางวิทยาศาสตร์ ท่าทีทางญาณวิทยาของคนตะวันตก เป็นผู้ที่
เชื่อมั่นในตนเอง  มีวัฒนธรรมแบบสร้างองค์ความรู้

การนำเอาวิทยาการจากต่างประเทศเข้ามา  โดยไม่เข้าใจในบริบทและประวัติศาสตร์
ความนึกคิด ความเชื่อ ภูมิอากาศ  แยกส่วนความรู้เป็นส่วน ๆ ไม่เชื่อมโยงกัน
เข้ามาในบริบทวัฒนธรรมแบบเถรวาทแบบไทย ๆ ของเรา  นอกจากจะไม่เกิดผลดี
ในวงกว้างแล้ว  ยังบ่อนทำลายปัญญาของประเทศด้วย  ส่วนใหญ่ปัญญาชนที่มี
บทบาทด้านการศึกษาศาสตร์  มักจะได้รับทุนมาจากประเทศจักรวรรดินิยม ซึ่งมีวาระ
ซ่อนเร้นด้านการต่างประเทศ  ไม่ว่าจะก่อรูประบบการศึกษาปัจจุบัน ที่มีความสำเร็จ
ต่อการผลิตแบบทุนนิยม  กล่าวคือ  ได้ชนชั้นนำที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา
จำนวนน้อย และได้แรงงานมีฝีมือจำนวนนิดหน่อย และได้แรงงานไร้ฝีมือที่สำคัญต่อ
ระบบการผลิตแบบทุนนิยม ก็คือ แรงงานที่ถูกจ้างงานด้วยราคาถูก เพื่อให้โรงงานและ
การผลิตแบบทุนนิยม  ซึ่งจากการเตรียมการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เดิมมา
ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตามเป้าหมายการผลิตกำลังคนป้อนโรงงานอุตสาหกรรม
และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้

การแยกกลุ่ม ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ออกเป็นสองกลุ่ม ๆ ใหญ่ ๆได้แก่ กลุ่มจัดการเรียนการสอน
ในห้องเรียน  ได้แก่กลุ่มที่จัดวิชาการด้านหลักสูตร ในสาระวิชาการต่าง ๆ   การสอน
 เทคโนโลยีทางการศึกษา กลุ่มวัดและประเมินผล  กลุ่มนิเทศการศึกษา
และ กลุ่มที่ส่งเสริมการจัดการศึกษา  ได้แก่ กลุ่มบริหารและนโยบายการศึกษา 
กลุ่มนิเทศการศึกษา  กลุ่มการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตลอดชีวิต 
กลุ่มวิชาที่หนึ่ง  เป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ผลิตกำลังคนโดยตรง  วิชาการในแนวทางนี้คือ
การจัดทำหลักสูตร  การใช้หลักสูตร  การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร  ซึ่งมีหลักสูตร
ห้าปี หกปี  ในการเรียนรู้  โดยมีการเรียนรู้ทฤษฎี และ การปฏิบัติในสถานศึกษา  ซึ่งข้อจำกัด
อยู่ที่ทฤษฎีที่เรียนสอนตั้งแต่ยุคก่อตั้งกระทรวงศึกษาขึ้นมา ถึงวันนี้ก็ยังมีความรู้แบบเดิม ๆ
ผลิตซ้ำกันอยู่  บางเรื่องขาดความเป็นจริงในบริบท  มหาวิทยาลัยบางแห่งจึงสร้างโรงเรียน
สาธิตขึ้นมา เป็นนัยว่า เป็นห้องทดลองวิชาการศึกษา  ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ดีที่จะทำให้ทฤษฎี
นั้นไปได้กับความเป็นจริงทางการศึกษา 

แต่โรงเรียนสาธิตตามมหาวิทยาลัยดังกล่าวนั้น  ส่วนใหญ่ได้คัดเลือกนักเรียนเข้าไปเรียน
เป็นผลิตผลของครอบครัวชนชั้นกลางถึงสูงในเมือง  จึงไม่ได้สะท้อนภาพของความเป็นจริง
ทางการศึกษา ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่กระจัดกระจายไปยังชนบท เป็นผลิตผลของครอบครัวชาวรากหญ้า
มีปัญหาตั้งแต่โภชนาการ ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม  และมีความแตกต่างทางด้านฐานะ
ทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา  ถึงแม้ว่าโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
จะแยกความถนัดของผู้เรียน โดยแยกความถนัดไปแปดอย่าง ซึ่งถือว่าก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง
แต่ก็ไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงทางการศึกษา  และหลายแห่งที่ได้สร้างโรงเรียนขึ้นมา
เช่นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ซึ่งก็มีความก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง  แต่ก็ไม่สะท้อนภาพ
ความเป็นจริงทางด้านการศึกษา  โดยโรงเรียนเหล่านี้จำกัดรับนักเรียนโดยการสอบเข้า
ซึ่งการกรองคนเก่งเข้าไป ไม่สะท้อนภาพความจริงทางการศึกษาเท่าไรนัก

เรื่องโรงเรียนสาธิต เป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้วิชาการสามารถผสานกับการปฎิบัติได้ตามบริบท
และเป็นโรงเรียนที่ควรสาธิตไว้เป็นตัวอย่างทุก ๆ มหาวิทยาลัย  และทุกเขตพื้นที่การศึกษา 
การสาธิตทางวิชาการให้เป็นแบบอย่างในการจัดการศึกษา โดยจัดนักเรียนทุกประเภท
เข้าไปเรียนในโรงเรียนสาธิตเหล่านั้น โดยรับ นักเรียนที่เรียนแย่สุด ๆ เข้าไปครึ่งหนึ่ง รับ
นักเรียนอัจริยะทางวิทยาศาสตร์เข้าไปสิบเปอร์เซ็นต์  ให้โอกาสนักเรียนออทิสติค ผู้พิการ
ทางสมอง ได้เข้ามาเรียนร่วมอีกสิบเปอร์เซ็นต์  นำเอานักเรียนหลายเผ่าพันธุ์ ชนเผ่า ที่เรียน
กลาง ๆ เข้าไปเรียนร่วมด้วย อีกสิบเปอร์เซ็นต์  ที่เหลือนำเอานักเรียนยากจน นักเรียนที่มี
ปัญหาทางการเรียนเข้าไปเรียนด้วย  ก่อนที่จะกำหนดนโยบายอะไร ให้โรงเรียนที่เป็นตัวแทน
ความเป็นจริงของประเทศไทย ได้จัดการศึกษาให้ดูก่อน และผลของการศึกษาและแก้ไข
ปัญหานั้นได้  ถือเป็นผลงานทางวิชาการและสามารถเลื่อนระดับของผู้ที่เกี่ยวข้องได้  การยก
ระดับผลสัมฤทธิ์อะไรก็ตาม ให้ทำในโรงเรียนสาธิตก่อน  หากยกระดับการศึกษาได้เราก็มี
ทฤษฎีแบบใหม่ ๆ จากโรงเรียนสาธิต  บุคลากรทางการศึกษาจะฝึกอบรมก็ให้เข้ามาฝึก
อบรมในโรงเรียนสาธิตเหล่านี้  งบประมาณในการอบรมแนวทฤษฎีต่าง ๆ ให้ยกเลิกทั้งหมด
ให้มุ่งเน้นการอบรมที่โรงเรียนสาธิตต่าง ๆ เหล่านี้เป็นฐาน  และนำเอาวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุด
ผลการประเมิน การแก้ไขปัญหา  เป็นแนวทางในการสร้าง Grounded theory  ในฐานะที่
เป็นทุนทางวิชาการ  โรงเรียนสาธิตไหนที่รับนักเรียนที่มีความแตกต่างและมีปัญหา  และยก
ระดับคุณภาพทางวิชาการได้  บุคลากรที่รับผิดชอบต้องได้รับความดีความชอบและความก้าวหน้า
และเป็นตัวอย่างในการจัดการความรู้ และทฤษฎีทางการศึกษา  ขั้นสูงต่อไป  ทั้งนี้จะต้องรับ
นักเรียนตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น  โดยมีวิธีการที่ชัดเจนในการรับ  หากมีปัญหาในการคัดเลือก
นักเรียน ให้คนที่รับผิดชอบระดับสูงเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

หากทำได้เช่นนี้แล้ว  ระบบโรงเรียนจะเกิดคุณภาพการศึกษาจริง ๆ จะเกิดขึ้น
เครือข่ายคุณภาพจะเกิดขึ้น  จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรากฐานของความเป็นจริง 
โรงเรียนก็จะไม่เหลื่อมล้ำกันมากนัก มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด  การฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้อง
กับการศึกษาก็จะง่ายขึ้น เพราะตัวอย่างที่ดี ดีกว่าคำสอนอยู่แล้ว  งบประมาณที่พัฒนา
ทรัพยากรมนุษย์ก็จะไปถูกทิศทาง ตรงกับปัญหาและความต้องการ

เริ่มต้นที่ โรงเรียนสาธิต ในมหาวิทยาลัยก่อนไหม ?????  

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียนสาธิต
หมายเลขบันทึก: 507178เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2012 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท