ไทดำ...ไม่รำพัน


เมื่อปิดเป็นความลับต่อไปไม่ได้ เธอบอก “การเสียสละแค่นี้ ยังน้อยไป เมื่อเทียบกับการเสียสละชีวิตของบรรพบุรุษของพวกเรา” ไม่ใช่แค่แม่ของครูเท่านั้นที่ต้องยอมจำนน ฉันว่าหากใครได้ยินก็คง “อึ้งกิมกี่” ไม่แพ้กัน

 

ไทดำ...ไม่รำพัน

เกศินี จุฑาวิจิตร


         “สิบห้าปีที่ไตเฮาห่างแดนดิน (เดินกันไป)

         จงเอ็นดูหมู่ข้าน้อยที่พลอยพลัดบ้าน

         เฮาคนไต ย้ายกันไปทุกถิ่นทุกฐาน

         จงฮักกันเด้อ ไตดำเฮานา...”

         เพลง ไทดำรำพัน เป็นเพลงเก่าที่โด่งดังไปทั่วทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทยในช่วงประมาณปี 2513  ขับร้องโดย ก.วิเสส  เนื้อหาของบทเพลงเป็นเรื่องของการเพรียกหาถิ่นฐานบ้านเกิดและรากเหง้า อันเนื่องมาจากการที่ต้องอพยพลี้ภัยสงครามในสมรภูมิเดียนเบียนฟู   ประวัติศาสตร์ไทดำจึงระบุพิธีกรรมก่อนตาย[1]  แจ้งชัดถึงวิธีให้ดวงวิญญาณกลับสู่บ้านเก่าถิ่นเกิด  ไทดำในประเทศไทย ในลาวหรือในที่ไหนๆ ในโลกจะถูกสั่งสอนให้รู้จักพิธีนี้ เพื่อจะได้กลับไปรวมกันอยู่อีกครั้ง ณ แผ่นดินแม่ “เมืองลอ”

         เพลงนี้กลับคืนสู่ความทรงจำ   เมื่อครั้งได้สัมผัสกับ “ความรักฝังลึก” ของชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่งหรือไทยโซ่ง ที่มีต่อชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของตน 

         คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ใช่กลุ่มไทดำ (ที่กล่าวถึงข้างต้น)  ในเชิงชาติพันธุ์วรรณา  หากก็คลับคล้ายกันในแง่ของการพลัดพรากบ้านเมืองมาอยู่ในประเทศไทย  ชาวไทยทรงดำอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มๆ  ในหลายจังหวัด  เฉพาะตำบลไผ่หูช้าง จังหวัดนครปฐม ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นไทยทรงดำ พวกเขามีภาษา ประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง หากต่อมาก็กลมกลืนประสมประสานและกลายพันธุ์   เด็กรุ่นใหม่แม้เป็นไทยทรงดำแท้ๆ ก็เริ่มพูดภาษาพ่อแม่ของตนเองไม่ได้  ไม่ต้องพูดถึงเด็กลูกผสมที่ฟังภาษาดั้งเดิมของตนยังแทบไม่ออก

         ถึงกระนั้นประเพณีและวัฒนธรรมไทยทรงดำ ก็ยังเป็นเสน่ห์และจุดขายของตำบลไผ่หูช้าง

         องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่หูช้างทุ่มงบประมาณกับการจัดงานประจำปีของไทยทรงดำ เป็นงานใหญ่ปีละครั้ง เชิญชวนคนมาเที่ยวงาน ชิม ชม ช็อป ครบสูตรการท่องเที่ยวแบบเบ็ดเสร็จ แต่ฉันนิ่งคิด ... วัฒนธรรมมีไว้เพื่อขายเท่านั้นหรือ... วัฒนธรรม ไม่ควรเป็นแค่การบริการคนภายนอกชุมชนให้มาเสพสุขแบบฉาบฉวย ...วัฒนธรรมจะเป็นเครื่องมือของการสืบสาน ต่อยอด และนำสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดีกว่าของคนภายในชุมชนได้หรือไม่ อย่างไร นี่คือคำถาม

 

         ตัวแทนกลุ่มสตรีทอผ้า บ่นเหนื่อยล้ากับการผลิตที่ไม่มีการตลาดรองรับ

         คำพูดของดร.พิทักษ์พงศ์ยังติดอยู่ในใจ  เอ้อ! แล้วทำไมนายก (อบต.ไผ่หูช้าง) ไม่เชิญชวนให้พนักงานทุกคนใช้ผ้าทอของกลุ่มสตรี ตัดเป็นชุดทำงานเสียให้รู้แล้วรู้รอด

         ประธานสมาคมไทยทรงดำในวัยชรา ตัดพ้อไม่มีงบประมาณให้กับครูอาสาสมัครที่ตะลอนๆ ไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อสอนภาษาและประเพณีไทดำให้กับเด็กรุ่นใหม่

         เอ้อ! แล้วทำไม อบต.ไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อการสืบสานอย่างยั่งยืนเล่า แทนที่จะจัดแค่ Event ใหญ่ๆ

          ครูปิยวรรณ สุขเกษม  ผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์  เคยทดท้อแต่ไม่ถอยในอันที่จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ไทยทรงดำ เธอทุ่มทั้งใจ เททั้งแรงกาย ไม่เว้นแม้แต่งบประมาณส่วนตัว   เงินเดือนจากอาชีพข้าราชการครูไม่อนุญาตให้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัวอยู่แล้ว แต่ครูกลับเจียดมันมาใช้กับความคิดความใฝ่ฝันที่เกินตัว และเมื่อความฝันใหญ่ขึ้น ก็หมายถึงการถมเงินที่มากขึ้นด้วย  แม่ของครูเอ่ยถามด้วยความห่วงใยเมื่อเห็นก้อนหนี้ที่เธอแอบมัน..มิดเม้น

         เมื่อปิดเป็นความลับต่อไปไม่ได้ เธอบอก “การเสียสละแค่นี้ ยังน้อยไป เมื่อเทียบกับการเสียสละชีวิตของบรรพบุรุษของพวกเรา”   ไม่ใช่แค่แม่ของครูเท่านั้นที่ต้องยอมจำนน ฉันว่าหากใครได้ยินก็คง “อึ้งกิมกี่” ไม่แพ้กัน

         ทุกวันนี้ครูยังคงเดินหน้าสานฝัน  อาศัยลานหน้าบ้านของตนเองปรับแต่งให้เป็นตลาดอาหารการกินและตลาดวัฒนธรรมของไทยทรงดำ หวังจะให้ธรรมชาติใต้ร่มไม้และสายน้ำที่ไหลผ่าน เป็นมุมของการผ่อนพักที่แท้จริงสำหรับนักท่องเที่ยว   ตลาดของครูแม้ว่าจะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวแบบซึมซับวีถีชีวิตพื้นถิ่นไทยทรงดำ หากก็ยังดำเนินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ    สถานที่ท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์แห่งนี้ไม่มีทางที่จะ “ติดตลาด” ถ้าท้องถิ่นและชุมชนไม่เข้าไปดูแล หรือจะปล่อยให้การต่อสู้ของคนคนหนึ่งต้องตายไปด้วยตนเอง

         ความชื่นชมของฉัน...   ผู้หญิงไทยทรงดำคนนี้ ไม่เคยจะรำพันพิรี้พิไรกับความฝัน ...เป้าหมายของเธอมีไว้พุ่งชนจริงๆ

                  



[1] กิเลน ประลองเชิง. “ทางกลับเมืองลอ,” ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2551

 

หมายเลขบันทึก: 506630เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 08:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ไทดำ กับไทยทรงดำ ผมว่าก็น่าจะเป็นคนไท เชื้อสายเดียวกันนะครับ เพราะเคยอ่านหนังสือหลายเล่มน่าจะเกี่ยวข้องกันครับ ผมอ่านอักษรไทดำ หรืออักษรลาวโซ่ง ได้นะครับ

เคยฟังตอนเด็กๆ ค่ะ เพลงนี้ cheers!!!

เชิญผู้สนใจศึกษาการเขียนพยัญชนะและสระไทดำได้ที่
http://www.snc.lib.su.ac.th/west/
หรือ
http://www.snc.lib.su.ac.th/libmedia/taidam/TaiDum.swf

ขอบคุณค่ะ
งานศูนย์ข้อมูลภาคตะวนตก
หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท