DDP-Thailand : ในเวที สปสช. (4-ตอนจบ)


ได้มองเห็นภาพใหญ่ของการทำงานเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงที่มีหลายหน่วยงาน/องค์การเกี่ยวข้อง

เรื่องสุดท้ายสำหรับการประชุมในวันนี้คือการเสนอสรุปผลการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ระยะที่ 1 (ปี 2553-2555) และร่างกรอบแนวทางฯ ระยะที่ 2 (ปี 2556-2560) โดย นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผจก.กองทุนบริหารจัดการโรคเรื้อรัง

เนื่องจากเวลาใกล้ 13.00 น. การนำเสนอจึงต้องเป็นแบบเร็วๆ ข้ามสไลด์ที่เตรียมมาไปหลายสไลด์ พอจะสรุปได้ว่าในระยะที่ 1 สปสช.ได้ร่วมกับ กสธ. พัฒนา System manager และ case Manager สถานการณ์ด้านนโยบาย สถานการณ์การจัดการโรคเรื้อรังในพื้นที่ เป็นอย่างไร มีโอกาสพัฒนาอย่างไรบ้าง

ผลลัพธ์ในระยะที่ 1 เช่น อัตราการเข้าถึงบริการดีขึ้น ผู้ชายยังเข้าถึงบริการค่อนข้างน้อย ตัวชี้วัดของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เป็นอย่างไร อัตราการรับเข้าโรงพยาบาลอันเนื่องจากโรคเบาหวาน อัตรารับเข้าโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนระยะสั้น ภาวะแทรกซ้อนทางไต อัตราการตัดขาออก ฯลฯ (มีอีกหลายเรื่อง)

กรอบแนวทางการบริหารจัดการโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระยะที่ 2 มีเป้าประสงค์ เพื่อ

  1. ลดหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงในกลุ่มเสี่ยง (Pre DM & Pre HT)
  2. ลดหรือชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง
  3. ลดอัตราป่วยตายจากโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงหรือภาวะแทรกซ้อน

วัตถุประสงค์ เป้าหมายและเกณฑ์ชี้วัด ด้านกระบวนการและด้านผลลัพธ์มีอะไรบ้าง

กลยุทธ์การดำเนินงานมี 4 กลยุทธ์ แต่ละกลยุทธ์จะมีแผนงาน/โครงการรองรับ

  1. พัฒนาระบบบริการสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้ป่วย (Self-management Support)
  2. พัฒนาระบบข้อมูลและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ สสจ. ให้เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการโรคเรื้อรัง (เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง) อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. พัฒนาทีมสหสาขาวิชาชีพในการจัดบริการควบคุมป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงอย่างครบวงจร
  4. ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านการจัดบริการดูแลโรคเรื้อรัง (เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง) อย่างต่อเนื่อง

แผนงาน/โครงการปี 2556 มี 7 เรื่อง ได้แก่

  1. สนับสนุนการพัฒนา Thai chronic disease management program สำหรับกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วย
  2. ประเมินผลลัพธ์การดูแลรักษาผู้ป่วย DM/HT ของหน่วยบริการ
  3. พัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามประเมินผลของ Data Center ในการจัดทำระบบการประเมินผลการดูแลรักษาผู้ป่วย DM/HT จากฐานข้อมูล 21 แฟ้ม
  4. สนับสนุนการพัฒนาและการจัดเก็บข้อมูล (DAMUS) ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาระบบบริการโรค DM/HT
  5. พัฒนาระบบบริการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในทุกระดับ
  6. สนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านจัดบริการโรคเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อน (System Manager, Case manager, พัฒนาศักยภาพพยาบาล/แพทย์ในการจัดบริการดูแลเท้าเบาหวาน, ระบบการจัดบริการ Foot Modification และเตรียมพัฒนาศักยภาพช่างกายอุปกรณ์)
  7. สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแกนนำชมรมในเรื่อง SMS ในบริการสุขภาพชุมชน จังหวัดละ 1 ชมรม

ดูรายละเอียดของกลยุทธ์ แผนงาน/โครงการ ที่ สปสช. จะทำแล้ว ดิฉันคิดว่าโครงการ DPP-Thailand ของเราน่าจะให้คำตอบได้บางส่วน

เดิมก่อนการเข้าประชุมครั้งนี้ ดิฉันคาดหวังเพียงแต่ว่าจะได้นำเสนอโครงการ DPP-Thailand ที่ขอการสนับสนุนจาก สปสช. แต่เมื่อเข้าประชุมแล้วได้มองเห็นภาพใหญ่ของการทำงานเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงที่มีหลายหน่วยงาน/องค์การเกี่ยวข้อง เครือข่าย KM เบาหวานเป็นองค์การเล็กๆ ที่มีส่วนในการต่อภาพจิ๊กซอว์ส่วนหนึ่ง ดิฉันคิดไว้ว่าจะหาทางจับมือกับเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยหรือ MedResNet เผื่อว่าจะมีงานอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อีก

ปิดการประชุมตอนกี่โมงก็ไม่ทราบเพราะไม่ได้ดูนาฬิกา แต่คิดว่าน่าจะเลย 13 น. ไปแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านรวมทั้ง ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ ไม่ได้อยู่กินอาหารกลางวันด้วย

คุณสิริกร ขุนศรี ช่วยหาห้องให้ดิฉัน ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร และ นพ.สมเกียรติ โพธิสัตย์ คุยกันต่อเรื่องแผน data management ในโครงการของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ นพ.สมเกียรติเป็นห่วง (โชคดีจริงๆ ที่ทีมงานของเครือข่ายฯ ช่วยกันเติมเต็มการทำงานในแต่ละเรื่องให้โครงการเกิดความสมบูรณ์)

เราจะต้องออกแบบและจัดทำแบบฟอร์มการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการข้อมูล และจะต้องมีงบประมาณในเรื่องนี้อีกส่วนหนึ่ง เราคุยกันว่างบสำหรับกิจกรรมบางเรื่องอาจขอจากกองทุนตำบลและยังมีอีกหลายเรื่องที่เราจะต้องเตรียมการ

วัลลา ตันตโยทัย


 

หมายเลขบันทึก: 506480เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับอาจารย์วัลลา

ผมดีใจที่ประเทศไทยจะมีระบบบริการสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้ป่วย (Self-management Support) ผมย้อนนึกถึงตอนที่เรียน Self-Management Model ตอนเรียนป.โท-เอก ที่ออสเตรเลีย และได้ใช้ในงานวิจัยกิจกรรมบำบัดมาบ้างครับ เมื่อ 5 ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน

อาจารย์ลองอ่าน paper ของผมเกี่ยวข้องกับ Knowledge translation of self-management concepts for Thais โดย download PDF ที่ http://www.ns.mahidol.ac.th/english/journal_NS/pdf/vol28/issue3/supalak.pdf

ขอบคุณอาจารย์ป๊อป เครือข่าย KM เบาหวานสนใจเรื่องกิจกรรมบำบัดของอาจารย์เหมือนกัน หากมีโอกาสคงจะได้คุยกันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท