A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ห้องเรียนในฝัน (เมื่อฉันขึ้นประถมปลาย)


ห้องเรียน มีบทเรียนเป็นรางวัลแด่ผู้เรียนเสมอ แต่ไม่มีสำหรับเจ้าของห้องเรียน ขณะที่ ห้องทดลอง มีผลสรุปรางวัลสำหรับเจ้าของห้องทดลองเสมอ แต่ไม่เคยมีสำหรับผู้เรียน...

            การสอบแข่งขันเข้าโรงเรียน ป.๕ เป็นการสอบครั้งยิ่งใหญ่สำหรับเด็ก ๆ อย่างเรามาก คิดย้อนหลังไป ก็ตกราว ๑๑ ขวบเท่านั้น ต้องสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อกับเด็กอื่นๆ อีกตั้งหลายร้อยคน ครั้งนั้นก็รับรู้เพียงง่าย ๆ ว่า ที่นั่งมีจำกัด ถ้าอยากเรียนต้องสอบ ถ้าผ่านจึงจะได้เรียน สำหรับเด็ก ๆ อย่างเราแล้ว มันยากนะ ยากมาก

 

            ยุคนั้นไม่มีติว ไม่มีข้อสอบเก่า ๆ เอามาเร่ขาย แบบเก็งหวย เก็งเลขเหมือนสมัยนี้ หรืออาจจะมีแล้ว   แต่บังเอิญโรงเรียนที่เราไปสอบนั้นเป็นโรงเรียนประชาบาลต่างจังหวัดจึงไม่มีให้เห็น (ซึ่งก็เป็นไปได้ อีกอย่างสมัยนั้นเราก็เด็ก เกินกว่าจะคิดวางแผนการแข่งขันชิงเด่นชิงดีจนต้องสังเกตุสังกาให้เอิกเกริก)   การสอบคัดเลือกครั้งนั้นจึงเหมือนไม่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันในหมู่นักเรียนมากนัก เพราะวัดเอาจากสิ่งที่เรียนมาจากโรงเรียนของตัวเองล้วน ๆ อีกอย่างเพื่อนที่สอบผ่านเข้ามาเรียนก็มาจากโรงเรียนหลากหลาย ไม่มียกแก็งค์ยกก๊วน ๒๐-๓๐ คนเหมือนสมัยนี้

 

            สมัยนั้น เราเองก็ฝันอยากให้ทุกคนได้เรียน ทำนองว่าไปบอกครูใหญ่ว่าจะขอมาเรียน ยกพานครูบูชา แล้วก็ได้เรียน  ไม่น่าจะต้องยุ่งยากสอบแข่งขันให้มีคนผิดหวังเลย แต่ก็เป็นไปไม่ได้

            เหตุที่เราต้องโรงเรียนนั้นมี ๒ ข้อ คือ ๑.โรงเรียนเดิมสอนแค่ ป.๔  (สมัยนั้นจบ ป.๔ ก็หรูหราแล้ว) ถ้าอยากเรียนต่อก็ต้องย้ายโรงเรียน   ๒.โรงเรียนใหม่เป็นของหลวง ค่าเล่าเรียนถูกมาก เสียค่าบำรุงปีละไม่กี่สิบบาท   และที่โรงเรียนใหม่นี้ ก็แจกสมุดฟรีด้วย เพราะโรงเรียนประชาบาลสมัยนั้น ได้สมุด-ดินสอฟรี (อันที่จริง เรื่องแจกกระดานชนวนแก้วหรือ Tablet สมัยนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่กระไร เป็นแนวคิดที่ลอกของเก่ามาทั้งนั้น ที่ดีกว่าเดิมคือโรงเรียน กทม.เดี๋ยวนี้เรียนฟรี โรงเรียนของ สพฐ. ก็เรียนฟรี) 

 

            แต่แปลกอย่างหนึ่งว่า ของแจกคุณภาพมักเลวกว่าของซื้อ เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเป็นเช่นนั้น แต่เวลาเขียนก็จะเลือกเองในใจว่า จะใช้เล่มฟรีสำหรับเขียนวิชาอะไร เล่มซื้อเขียนวิชาอะไร คิดตามประสาเด็ก ๆ ว่า ของหลวงห่วย ๆ ก็เอาไว้เขียนวิชาที่เราไม่ค่อยชอบ ของซื้อกระดาษดี ๆ ก็เอาไว้เขียนวิชาที่เราชอบ ๆ  ท้ายสุดก็เลยต้องเปลืองตังค์ซื้อ เพราะวิชาที่ชอบก็ต้องเขียนมาก เปลืองหนักกว่าเดิม แต่ดินสอที่ป่อเต็กตึ้งแจก มักจะดีกว่าของหลวงแจก  ก็แปลกใจอยู่แต่ไม่ติดใจ  ยังคิดไม่เป็น ก็ได้แต่ฝันว่า ป่อเต็กตึ้งน่าจะมาแจกทุกเดือนแทนที่จะแจกเฉพาะวันเด็ก

 

            ที่โรงเรียนใหม่นี้ ใหญ่กว่าโรงเรียนเดิม สนามบอลใหญ่มากอยู่ติดวัดด้วย มารู้ภายหลังว่าที่แท้เป็นโรงเรียนที่วัดอุปถัมภ์  ชื่อวัดป่า  โรงเรียนของเราเลยมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงเรียนวัดป่า ความที่ใกล้วัดที่เอง ทำให้การสวดมนต์ตอนเช้าหน้าเสาธง เปลี่ยนไปเลียนแบบพระ เสียงเหน่อ ๆ แบบพระ ถึงวันพระทีไร นักเรียนโต ๆ ก็ต้องไปช่วยพระท่านเรื่องทำบุญ เรื่องล้างจาน เก็บกวาดศาลา เพราะคนไปทำบุญเยอะ แต่ก็ดี เพราะได้ขนมกลับมากินด้วยเสมอ..(ฮา) ถึงชั่วโมงเรียนหน้าที่พลเมืองกับศีลธรรม ก็มีพระมาสอนหรือไม่ก็ย้ายไปเรียนที่วัด  ก็สนุกดี เหมือนได้ไปทัศนศึกษา ยังแอบฝันเลยว่า นอกจากที่วัดแล้วถ้าได้ไปเรียนที่อื่นๆ บ้างคงสนุกดี  ภายหลังเข้ามาเรียนมัธยมที่กรุงเทพแล้ว วัดกับโรงเรียนก็ห่างกันไป.. โรงเรียนบางแห่งทั้งที่อยู่ใกล้วัดแท้ๆ ยังสร้างพระองค์โต ๆ แข่งวัด ให้เปลืองสตางค์ คนกราบไหว้ก็ไม่มี ธูปเทียนก็ไม่จุด  ทั้งที่เดินออกรั้วไปไม่ถึงร้อยเมตรก็มีพระปูนอยู่ในโบสถ์ มีพระสงฆ์อยู่ในวัด ถ้าพระปูนพูดได้ ก็คงบ่นว่า แหม..เอาอาตมาน่าจะอยู่ในวัด ดันนิมนต์ออกมาเฝ้าประตูโรงเรียนเสียนี่...(ฮา)

 

            มาเรียนที่โรงเรียนวัด ได้เรียนวิชาสำคัญหลายอย่าง เราจำได้แม่นยำจนถึงโต  คือวิชาช่างไม้ และหัตถกรรม มีโรงเรือนช่างไม้ให้ฝึก ที่นี่สอนให้เราทำกบไสไม้เป็นตั้งแต่ ป.๖ ทำเองทั้งตัว ตั้งแต่คัดไม้ เจาะ แต่งและตั้งใบกบ ตอนสอบวิชานี้ ก็ได้คะแนนนิดหน่อยเท่านั้น แต่ความรู้ตอนนั้น มันทำให้เราสามารถทำงานไม้ในบ้านได้หลายอย่าง และติดตัวมาจนถึงวันนี้ ต่างจากวิชาในหนังสือที่เรียนได้คะแนนดี แต่ถึงวันนี้ก็ลืมเกือบหมดแล้ว  ส่วนหัตถกรรม ก็ทำให้เราสานพัด กับชะลอมได้ เกิดมาตั้งนานก็เพิ่งรู้จัก “ตอก” ก็ตอนเรียนวิชานี้แหละ ตอนนั้นก็สานชะลอมกันเป็นทุกคน แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่เห็นมีใครใช้กันแล้ว ใช้แต่ถุงพลาสติกกันหมด น่าเสียดาย เพราะตอก ทำได้ง่าย จากไม้ไผ่ที่มีอยู่มากมาย เด็ก ๆ ทำเองได้ ไม่ต้องซื้อหา ต่างจากพลาสติกที่ต้องซื้อเท่านั้น ไม่มีหนทางอื่น

 

            ที่นี่ทำให้เรารู้ว่า วิชาหัตถกรรมนี่สนุกพอ ๆ กับวิทยาศาสตร์ที่คุณครูชอบทดลองเรื่องแปลกๆ ใหม่ ๆ เชียวแหละ แต่ไม่นานก็รู้ว่าวิชานี้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยที่เราก็ไม่รู้สาเหตุ

 

            เรื่องจำได้แม่นอีกอย่างหนึ่งและฝันไว้ว่าอย่าให้เกิดขึ้นอีกคือ “หนูทดลอง”

            คุณรู้จัก เมตริกซ์ไหม... เราจำได้แม่นยำว่า เราและเพื่อนอีก ๕-๖ คน ต้องถูกแยกออกมาเรียนวิชาประหลาดๆ อย่างหนึ่ง เป็นเลขคณิต แต่บวกแปลก ๆ คือใช้วงเล็บใหญ่ๆ  บวกกันไปมา เราก็ไม่รู้ว่าต้องเรียนวิชานี้ไปทำอะไร.. เพราะเรียนแล้วก็ไม่ได้ใช้อะไร  เรียนอยู่เกือบเดือนกระมัง แต่แม้ไม่รู้ว่าเป็นวิชาอะไร พวกเราก็ทำแบบฝึกหัดได้คะแนนดี โถ..ก็พวกเราเรียนพอใช้ได้กันทุกคน

 

             มารู้อีกที  การเรียนแบบนี้เรียกว่า คณิตศาสตร์แบบเมตริกซ์  และกลายเป็นหลักสูตรตายตัวในการเรียนสมัยหลังต่อมา เราอยากบอกว่า ขออย่าเอาเด็กในห้องเรียน เป็นหนูทดลองอีกเลย คงมีคน ได้ ดร. จากการทดลองนี้ แต่คนที่รับกรรมคือเด็กอย่างเราที่ต้องทนเรียนอะไรก็ไม่รู้ วิชาหลักก็ไม่ได้เรียน ถึงผลการเรียนจะออกมาพอใช้ได้ แต่ก็กลายเป็นกรรม ที่ผลการเรียนบ่งชี้ว่า เรียนได้  เด็กทั้งประเทศก็เลยรับกรรม ต้องเรียนวิชาแบบนี้ ทั้งที่คณิตศาสตร์เมตริก มีข้อจำกัด และมันเหมาะสมเฉพาะบางด้านและ บางที่เท่านั้น

 

            จนหลายสิบปีต่อมา จึงได้รู้ว่า วิธีการแบบที่เราถูกกระทำในห้องเรียนแบบนั้น ในวงการศึกษาทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ และนิยมเอาเด็กในห้องเรียนมาหนูทดลอง โดยอ้างเอาการวิจัยเป็นยันต์กันผี  เราฝันว่าเด็กแบบเราน่าจะได้สิ่งที่ผู้ใหญ่ใคร่ครวญอย่างหนักแล้ว ครูต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เชี่ยวชาญอย่างยิ่ง  ขบคิดอย่างดีแล้ว จึงเอามาสอน  เช่น วิชาช่างไม้ หรือหัตถกรรม เป็นต้น  แต่วิชาที่ไม่แน่ชัด ยังเป็นการ “ทดลอง” ไม่น่าจะมาลองกับเด็ก ๆ   มาถึงวันนี้ สื่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับกระดานแก้ว  หรือ Tablet ก็ยังไม่แน่ชัด เด็กกว่าครึ่งประเทศ ถูกทดลองเหมือนกับเราในห้องเมตริกซ์นั้นเลย ห้องเรียนที่เต็มไปด้วยสื่อการเรียน จึงไม่ใช่ห้องเรียนแต่เป็นห้องทดลอง มิหนำซ้ำเป็นห้องทดลองที่ไม่รู้ผลลัพธ์ด้วยซ้ำว่าจะเป็นอะไร  

 

             ถ้าฝันเป็นจริง เราอยากให้ห้องเรียนเป็นห้อง “เรียน” จริง ๆ ไม่ใช่ห้องทดลองของใครก็ไม่รู้

 

             เด็ก ๆเช่นเรา เมื่ออายุเท่า ป.๖ นั้นมีเรื่องไม่รู้มากมาย เราอยากมารู้สิ่งที่ถูก เพื่อเป็นแบบสำหรับการทำงานในชีวิตต่อไป สิ่งถูกเหล่านี้ เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เรียงร้อยกันเป็นชิ้นใหญ่  และใหญ่ขึ้น ๆ จนกลายเป็นความรู้ ที่เด็ก ๆจะติดตัวไปใช้  มากกว่าที่จะชอบเป็น “ห้องทดลอง” ให้ใครมาทดสอบว่า วิชานั้นใช้ได้ วิชานี้ใช้ไม่ได้  เวลา เป็นของมีค่า ถ้ายังคิดไม่แตก คิดไม่ตก ใช้ของเดิมไปก่อนก็ได้

 

             แม้เราไม่แน่ใจ แต่ก็อยากเชื่อว่า เพราะห้องเรียนทุกวันนี้ กลายเป็นห้องทดลองไปเกือบทั่วประเทศแล้ว ประเทศถึงไม่เจริญ  เด็กไทยจึงโง่ลง สอบได้คะแนนน้อยลง มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ก็กลายเป็นมหาวิทยาทดลอง  ลองกันตลอด ลองกันจนหาเนื้อหาจริงไม่เจอแล้ว...  

 

             ห้องเรียน มีบทเรียนเป็นรางวัลแด่ผู้เรียนเสมอ แต่ไม่มีสำหรับเจ้าของห้องเรียน ขณะที่ ห้องทดลอง มีผลสรุปรางวัลสำหรับเจ้าของห้องทดลองเสมอ แต่ไม่เคยมีสำหรับผู้เรียน...

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ห้องเรียนในฝัน
หมายเลขบันทึก: 505539เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2012 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 06:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณนะครับ.. ทุกท่านที่ให้กำลังใจกัน....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท