A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ห้องเรียนในฝัน..แบบเด็กๆ ...


ความฝันของเด็ก ๆ เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน อยากได้สิ่งที่ถูกใจเท่านั้น

ห้องเรียนในฝัน  (ตอนฝันของนักเรียนเด็กๆ)

          เป็นคำถามง่าย ๆ แต่ตอบยาก..  ความฝันในสมัยนี้ ไม่รู้ว่าเป็นฝันของนักเรียน หรือครู หรือครูใหญ่ หรือเจ้าของโรงเรียน หรืออธิบดี หรือเสนาบดี หรือนักวิจัย หรือเจ้าของแท็ปเล็ต  แต่ก็เถอะนะ..

          ก็ขอร่วมบอกเล่าห้องเรียนในฝัน ตามความคิดฝันในวันเวลาช่วงๆ ต่างๆ ก็แล้วกัน

          วัยเด็ก จำได้ว่าไปโรงเรียนแล้วไม่อยากอยู่ ร้องจะกลับบ้านท่าเดียว ใหม่ ๆ ครูก็ปลอบ หลัง ๆ ครูก็ดุเอา และต้องนั่งอยู่ประจำที่ ต้องเริ่มหัดเขียน หัดอ่าน ไม่ชอบเพราะห้ามทำโน่น ทำนี่ และต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ เยอะแยะไปหมด กฏระเบียบมันเยอะ ก็ไม่อยากอยู่ มันไม่คุ้นเคย มิหนำซ้ำ ทำผิดยังถูกทำโทษจริง ๆจัง ๆ อีกด้วย.. วันนั้นไม่สนใจหรอกว่า กฏระเบียบมันสำคัญอย่างไร เพราะจดจ่อ รอเตี่ยมารับอยู่ท่าเดียว

          พอขึ้น ป.๒ วันเปิดเทอมใหม่ โห..ดีใจ ได้กางเกงใหม่ รองเท้าใหม่ แต่แม่ชอบซื้อของใหญ่ ๆ ให้ใส่ มันหลวม ๆ โพรก ๆ แม่บอกเดี๋ยวเราก็โต มันก็พอดีไปเอง ซื้อบ่อย ๆไม่ไหว ไม่มีตังค์  แม้จะเป็นความจริง แต่ตอนซื้อตอนใส่ ก็ไม่ค่อยชอบใจสักเท่าไร ยิ่งไปเห็นเพื่อนใส่เสื้อผ้าตัวใหม่ พอดีเป๊ะ ผ้าเสิร์ทอย่างดี (ของเรามันผ้าโทเร เสื้อโหล ก็ยิ่งอยากได้ พาลนึกตำหนิแม่เสียอีก ว่าซื้อของถูกมันก็ไม่ค่อยสวย ใส่แล้วไม่เท่) ที่จริงเพื่อนๆ กันก็ไม่มีใครสนใจหรอก เล่นสนุกกันเข้าเมื่อไร เสื้อผ้าก็เลอะเทอะ เละเทะเหมือนๆ กัน..

           หนังสือใหม่ทุกเล่ม แม่จะห่อปกให้ แต่แม่ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ห่อไม่ค่อยสวย เลยให้พี่สาวช่วยห่อ ใช้กระดาษปฏิทิน สวยๆ  ห่อ สมัยก่อนปฏิทินสวย ๆ กระดาษหนามาก เอามาห่อปก ใช้หนังสือได้ทนเป็นสองสามปีเลย เราได้มรดกหนังสือของพี่สาวมาตลอด เรียนกันมาตั้งแต่พี่สาวคนโต จนมาถึงเราคนที่สี่ หนังสือยังเป๊ะ ไม่มีหน้าไหนขาด ไม่มีหน้าไหนเขียนให้สกปรกเลอะเทอะ หลัง หัดห่อปกเอง เลือกกระดาษเอง จำได้ดีเลยว่า เล่มไหนเป็นเล่มไหน วิชาอะไร  เพื่อนบางคนชอบดารา ยังเอารูปมิตรเพชรามาห่อเป็นปกเลย ส่วนของเราจำได้ว่า เป็นรูปฝรั่งแล่นเรือใบในทะเล เป็นปฏิทินเหล้ายี่ห้ออะไรจำไม่ได้แล้วเพราะเป็นภาษาฝรั่ง ตอนนั้นอ่านไม่ออก แต่ภาพถ่ายสวยมาก เป็นภาพวิวเมืองนอก ยังจำติดตาได้ถึงวันนี้ และก็ไม่รู้ตัวด้วยว่า ภาพนั้นมันจะเป็นแรงบันดาลใจหรือเปล่าที่ทำให้มีอาชีพเป็นตัวเป็นตนอยู่ถึงวันนี้

           ชั้น ป.๒ นี้ต้องเรียนภาษาจีนด้วย สมัยนั้น ไม่รู้หรอกว่าภาษาจีนกับไทยมันมีความหมายอย่างไร รู้แต่ว่า เตี่ยให้เรียนจะได้อ่านจีนออกเขียนจีนได้ สมัยนั้นเรียนไม่ยากนัก ครู (เหล่าซือ) ที่สอนก็เป็นชาวจีนจากเมืองจีนจริง ๆ สอนแบบไวยากรณ์ เป็นหลัก เรียกว่า กฺวั๋วอิม  (อ่านว่า กวั๋ว-อิม)  แต่จำสระ ยากมากเลย เรียนถึงป. ๔ ก็จบหลักสูตร จำได้ว่า เรียนจีนตอนนั้น เขียนจดหมายไปเมืองจีนได้ แต่เดี๋ยวนี้ก็ลืมไปเกือบหมดแล้ว ตอนนั้น โรงเรียนสอนจีนไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจราชการเท่าไร แต่โรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษจะมีภาษีดีกว่า แต่มาถึงวันนี้ ก็ได้คิดว่า ความจริง สิ่งที่เตี่ยคิดไว้นั้น มันไกลกว่ารัฐมนตรีศึกษา คิดตั้งเยอะ...เยอะแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยแหละ...(ฮา)....แต่เราดันไม่เชื่อเตี่ย...(ฮา)....

          พอขึ้น ป. ๔ ปีนี้เจอครูประจำชั้นดุมาก ดุจนขึ้นชื่อว่า ที่สุดของโรงเรียน ป.๔ จำความได้มากขึ้น รู้ว่าโรงเรียนเป็นเอกชน ไม่รู้ความหมายและความแตกต่างที่ลึกซึ้งอะไร  รู้แต่ว่าถึงสิ้นเทอม เตี่ยต้องเอาค่าเทอมมาจ่าย และจำนวนมากขนาดทุบกระปุกเงินออมของบ้านมาเลยแหละ ...(ฮา)..  ต่างจากเพื่อนๆ แถวบ้าน บางคนเรียนเทศบาล บางคนเรียนโรงเรียนวัด ค่าบำรุงโรงเรียนถูกมากไม่กี่สิบบาท  ครั้งนั้นก็รู้แค่นั้น  จนจบ ป.๔  เตี่ยก็ส่งเข้าเรียนโรงเรียนประชาบาล (สมัยนี้ไม่มีแล้ว...เล่าเรื่องพัฒนาการของโรงเรียนประชาบาล ก็คงได้หนังสือเล่มใหญ่ สนุก ๆ มากมาย) สมัยนั้น คนจบออกไปบอกว่าที่โรงเรียนนี้วิชาแข็ง  เราก็ไม่รู้หรอกว่า แข็ง ๆ นั้นหมายถึงอะไร.. ก็ไม่เห็นว่าโรงเรียนมีอะไรทีแตกต่างจากโรงเรียนอื่น หนังสือก็เหมือน ๆ กัน แปดโมงเช้า เลิกสามโมงเย็นก็เหมือนโรงเรียนอื่นๆ ไม่มีติว ไม่มีเสริม ไม่มีซ่อม

           ตลอดสี่ปีในวัยเด็ก ๆ รับรู้ก็เฉพาะเรื่องที่ตนเองสัมผัสเท่านั้น  โรงเรียนใหญ่มาก ที่กว้าง มีเพื่อนมาก เด็กโตต้องดูแลเด็กเล็ก ที่โรงเรียนมีสารวัตรนักเรียน มีผู้ผูกคอสวย ใครได้คัดเลือกเป็นสารวัตรจะเท่มาก สามารถจับนักเรียนที่ทำผิด และสั่งทำโทษได้ตลอด สารวัตรจะมาก่อนโรงเรียนเข้า ต้องปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เช้า พักเที่ยงและตอนเย็นจนถึง ห้าโมงเย็น  ไม่ต้องทำทุกวันแต่มีเวรเข้าประจำวัน เช่น จันทร์-พฤหัส / อังคาร-ศุกร์/ พุธ-เสาร์  ใครๆ ก็อยากเป็นสารวัตร เป็นความใฝ่ฝันเชียวแหละ แต่ผู้จะได้รับคัดเลือกต้องเป็นเด็กเรียนดี และความประพฤติดี ผ่านการคัดเลือกจากครู จึงจะเป็นได้   ไม่เคยมีคำถามว่าเป็นแล้วได้อะไร  รู้แต่ว่าเป็นแล้วต้องทำอะไร กับต้องไม่ทำอะไรมากกว่า

            ที่โรงเรียนมีเวทีปูนใหญ่มาก เหมือนโรงละคร มารู้ทีหลังว่าที่นี่คือโรงเจ ถึงเทศกาลกินเจจะหยุด ๑๐ วัน และที่โรงเรียนจะมีกิจกรรมถือศีล บูชาเทพเจ้า มีกระบวนเอ็งกอ (เคยถามคนจึนเก่า ๆ ว่ามันคืออะไร หลายคนก็เล่าแตกต่างกันไป..) แต่ถึงเทศกาลจะสนุกมากเพราะมีแห่ มีคนมาเต้น จำได้แม่นเลยว่าตอนมีแห่เสียงกลองเสียงฉาบมันคึกคักเป็นที่สุด แล้วคนมาเต้นรำไม้ไผ่นี่มัน..สุดยอด เพื่อนคนหนึ่งสมัครเต้นเองกอ ต้องฝึกนานหลายอาทิตย์ แค่บอกว่าเป็นเพื่อนกัน ก็เท่แล้ว...(ฮา)... ใครๆ ถามว่า เรียนที่ไหน บอกว่าเรียนที่นี่..พอรู้ว่าเป็นโรงเรียนที่จัดงานกินเจ โห...ก็เท่แล้ว..โรงเรียนอื่น ๆ ไม่หยุดนะ มีแต่โรงเรียนของเราเท่านั้น  สมัยนั้นโรงเรียนกับชาวบ้าน แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน  บางวันเวทีของโรงเรียนยังมีโต๊ะจีนมาจัดเลี้ยงแต่งงานเลย.. ห้องเรียนของเรา บางครั้งก็ถูกตัดแปลงเป็นห้องพักแรมของผู้ถือศีล..

            ที่โรงเรียน เรียนวัดเสาร์ด้วย  แต่เรียนแค่ครี่งวัน ไม่รู้หรอกว่าทำไมต้องเรียนครึ่งวัน แต่วันเสาร์เป็นวันที่สนุกที่สุดในรอบสัปดาห์ เพราะเลิกเรียนแล้วอยู่โรงเรียนเล่นต่อได้อีกนาน..หลายชั่วโมง ทำให้รักโรงเรียนอีกโข  มิหนำซ้ำวันเสาร์กลับมาถึงบ้านยังมีหนังสนุก ๆ รอท่าอยู่อีก จำได้ดีกว่ากลับมาดู โกลเด้น หุ่นอภินิหาร สนุกสุดยอด  ที่โรงเรียนนี้ ทันสมัยด้วยนะ ครั้งนั้นตอนอพอลโล่เหยียบดวงจันทร์ ยังปิดโรงเรียนให้นักเรียนกลับบ้านมาดูข่าว ถ่ายทอดสดเลย แต่เราไม่ต้องทำรายงานเรื่องเหยียบดวงจันทร์นะ..เพราะครูจะเอามาเล่าให้ฟังมากกว่ามาฟังนักเรียนเล่า แต่นักเรียนก็อดคุยโม้สนุก ๆ กันจนดังกว่าเรื่องที่ครูเล่าเสมอ..

           ตอนกลางคืน คุณครู จะขี่จักรยาน ไปตรวจบ้านนักเรียน คนไหนไม่อ่านหนังสือ ไม่ทำการบ้าน หรือเที่ยววิ่งเล่น คุณครูจะจดชื่อและนำมาบอกโทษหน้าแถว  นักเรียนกลัวกันมาก พอคุณครูมาตรวจก็จะส่งเสียงบอกกันต่อกันไป บ้านต่อบ้าน ละแวกต่อละแวก ตลาดต่อตลาด  ไม่รู้จะเรียกกิจกรรมแบบนี้ว่ากระไร แต่ก็ทำให้เตี่ยกับครู คุยกันมากขึ้น เรากับเพื่อนต่างละแวกรู้จักกันมากขึ้น  ระยะทางที่ครูขี่จักรยาน ก็ไม่ใช่ใกล้ ๆ นะ เราคิดว่ารัศมีน่าจะสิบกิโลเมตรขึ้นไป ครูทำบ่อยมาก สองสามวันใน ๑ อาทิตย์เชียวแหละ และไม่ใช่ครูคนเดียว แต่เป็นครูทั้งโรงเรียนพร้อมใจกัน สมัยนั้นไม่รู้ว่าครูได้ค่าสอนกี่บาท แต่เราก็จำครูเหล่านั้นได้จนถึงวันนี้

          ห้องเรียนวัยเด็กของเรา ว่าสนุกแล้ว ของแม่เด็ก ๆ ยิ่งสนุกกว่าอีก  เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนเรียนฝนตก ที่โรงเรียนก็คือทุ่งมีนบุรีแหละ ยังออกนอกห้องเรียนมาไล่จับกุ้งจับปลา แอบปีนรั้วหนีครูมาเล่นริมคลอง นึกว่าจะพ้นสายตา แปลกแฮะ ครูกลับรู้เสมอ และรู้ทุกครั้งเสียด้วย...

          ความฝันในวัยเด็ก ๆ ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา...

          เราเองก็เช่นกัน  ความฝันก็เปลี่ยนไป เมื่อเริ่มเข้าสู่สนามการสอบคัดเลือกเพื่อจะไปเรียน ป.๕ ...โปรดติดตาม ตอนต่อไปนะ...  

หมายเลขบันทึก: 505455เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2012 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท