มหาลัยไทยติดอ้ันดับโลก(ไปทำไม)


ตอนนี้ประเด็นมหาลัยไทยติดอันดับโลกกำลังดัง   ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยออกมาแสดงความเห็นว่า ที่ม.ไทยติดอันดับเดียวแล้วอันดับใกล้ๆบ๊วย (จาก 400 อันดับ)  เป็นเพราะ 1) อาจารย์เงินเดือนน้อยเกินไป   2) งบวิจัยจากรัฐมีน้อยเกินไป (โทษเงินไว้ก่อน)

 

ซึ่งผมว่าก็จริงทั้งสองอย่าง แต่ว่าการบริหารงบวิจัยของเราก็แย่ (มากๆ) ด้วย

 

เช่นหน่วยงานวิจัยนิยมให้ทุนในโครงการใหญ่ๆ   เป็นสิบ เป็นร้อยล้านก็มี  โดยไปเชื่อกันว่างานวิจัยที่ดีต้องทำเป็นชุดโครงการที่ทำร่วมกันหลายๆ คน แบบบูรณาการครบวงจร  ซึ่งผมว่าเป็นการคิดที่หลงทางเอามากๆ   นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังสิ้นเปลืองงบประมาณแบบมหาศาล เพราะ

 

1) นักวิจัยที่เก่งๆ  นั้นท่านเก่งงานวิจัย ท่านไม่เก่งไปทำหน้าที่บริหารโครงการใหญ่ ๆเพื่อจะ บู หรอกครับ  คนที่เก่งทางด้านพวกนี้มักเป็นนักวิจัย ลด.  เสียเป็นส่วนใหญ่  พวก “กรรมมารอ” น่ะ  พวกนี้บูเก่งมาก แล้วไปลด. เอาเงินหลวงมาถลุงกันได้มากมหาศาล   ตัวที่เก่งทั้งงานและเก่งทั้งบูและไม่ลด. (ไม่โกง) นั้นนับหัวได้ในประเทศไทย

 

2) การบูกันนั้น เสียเวลาประชุม เวลาบู และเสียเงินค่าบูด้วย (เดินทางประชุมรร.หรู)  แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำวิจัย 

 

สุดท้ายถลุงเงินไปมาก แต่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน  ผลงานตีพิมพ์ที่นิยมกันหนักหนาก็ไม่ได้

 

 

แบบนี้สู้ให้ทุนวิจัยเล็กๆ หลายๆทุนไม่ดีกว่าหรือ อาจได้อะไรแปลกๆใหม่ๆ ออกมา  เพราะงานวิจัยเชิงนวัตกรรมนั้นมักเป็นโครงการเล็กๆ ถ้าเป็นโครงการใหญ่นั้นมันระดับสร้างเครื่องต้นแบบแล้ว   มันแทบไม่มีอะไรใหม่แล้ว  ไม่ต้องการมันสมองมากนักหรอก

 

ได้ข่าวมาว่า องค์กรให้ทุนวิจัยเขาขี้เกียจให้ทุนเล็กๆ  เพราะต้องเสียเวลาประเมินเท่ากับโครงการใหญ่  สู้ให้โครงการใหญ่ๆ ไปเลย ง่ายดี ใช้เงินหมดตามที่ได้รับมา แต่เหนื่อยน้อยกว่า    อีกกระแสก็ว่า ที่ให้โครงการใหญ่เพราะค่าหัวคิวใหญ่ตามไปด้วย  (เรื่องนี้มีคนวงในบอกเลยว่า บางหน่วยงานถ้าไม่มีนายหน้าไปวิ่งเต้นเพื่อประสานตกลงเรื่องหัวคิว รับรองโครงการไม่ผ่าน) 

 

 

เรื่องเห่อการจัดอันดับเนี่ย ต้องเลิกเสียที  ไปจัดอันดับกับพวกคนรวย แบบเห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง ระวังตูดแหกนะจะบอกให้  แล้วเลือดไหลหมดตัว ตัวแห้งตายอีกตามมา 

 

พอไปเห่อจัดอันดับ ก็ต้องไปวิ่งไล่ KPI ตามเขา โดยเฉพาะผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ  ซึ่งผลงานตีพิมพ์เหล่านี้ กว่าจะได้มาเสียเงินไปมาก แต่มันอาจไม่ช่วยพัฒนาประเทศไทยอะไรเลย  เพราะไปทำแต่งานวิจัยฟุ้งเฟ้อลอยฟ้า ทั้งที่ประเทศไทยเราในขณะนี้ส่วนใหญ่ต้องการงานวิจัยที่ติดดิน ใช้ได้จริง เช่น การเกษตร ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ต่างๆ  

 

ผมยกตัวอย่างเสมอว่า นิวซีแลนด์เขามีผลไม้ลูกเดียวคือ กีวี แต่มหาลัยเขาวิจัยกันกระเจิง ผลผลิตออกมานับพันอย่าง ส่วนของเรามีผลไม้เต็มประเทศแต่ผลงานวิจัยด้านนี้น้อยมากๆ  ไปวิจัยนาโนกันโน่น  (ทำน้ำมะม่วงให้ดี มีความเสถียรก็ยังทำไม่ได้เลย)

 

เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก ไทยเราเก่งมาก มีบริษัทนับพัน แต่ไม่มีใครทำงานวิจัยสนับสนุน เพื่อให้ดี ส่งออกขายอาเซียน อัฟริกา ได้มาก

 

ที่สำคัญรัฐควรต้องกระตุ้นให้บ.เอกชน ทำวิจัยให้มากกว่านี้ โดยไม่ต้องไปทำเองก็ได้ แต่ให้ทุนวิจัยแก่มหาลัยไปทำ แล้วรัฐก็ทำการลดหย่อนภาษีในส่วนนั้นให้สองเท่า แทบว่าบริษัทได้งานวิจัยฟรีๆ ไปเลย มหาลัยก็เข้มแข็ง   ใน usa ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป  เอกชนให้ทุนวิจัยมากกว่ารัฐหลายเท่า  เช่น ญี่ปุ่น รัฐให้แค่ 25%  ใน usa 17%  แบบนี้มันวิจัยเพื่อเศรษฐกิจใช่ไหม  เพราะบริษัทเขาให้เงินเขาก็ต้องการผลวิจัยมาเพิ่มกำไรเขาโดยตรง

 

ส่วนของเรารัฐให้หมด มันก็เอาไปวิจัยทิ้งขว้างกันเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะ “ไม่ใช่เงินของข้า”

 

อยากติดอันดับโลก ในขณะที่ระบบบริหารงานวิจัยของประเทศเป็นโรคง่อยเปลี้ยเสียขาแบบนี้  มันจะไหวหรือ

 

...คนถางทาง (๑๒ ตค. ๕๕) 

หมายเลขบันทึก: 505341เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2012 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มิน่า..มีแต่..ผลงาน.วิจัย.บันลัยโลก..อิอิ..(ยายธี)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท