ปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ของเรือนจำในประเทศไทย


ปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ของเรือนจำในประเทศไทย

นัทธี  จิตสว่าง

นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยสามารถแสดงบทบาทผู้นำในการผลักดันทำให้เกิดการจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสหประชาชาติจนสำเร็จขึ้นมาเป็นกฎหมายระดับโลก ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นข้อกำหนดที่วางมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders) หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) โดยเป็นข้อกำหนดที่ประเทศต่างๆ ควรยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศไทย  การผลักดันให้มีข้อกำหนดมาตรฐานนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลักดันข้อกำหนดดังกล่าวจนองค์การสหประชาชาติได้ลงมติยอมรับและประกาศเป็นข้อกำหนดให้ประเทศต่างๆ ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติตาม แม้จะไม่ได้เป็นกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ประเทศไทยควรเป็นประเทศที่เป็นแบบอย่างในการผลักดันและการขับเคลื่อน การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว

 

แต่โดยเหตุที่การจะอนุวัติตามข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยหลายประการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการดำเนินงาน  ดั้งนั้น เพื่อที่จะศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนสัมพันธ์ต่อการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในเรือนจำของประเทศไทย ผู้เขียนจึงได้ทำการวิจัยในเรื่องดังกล่าวโดยเก็บข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หญิงจำนวน 200 คน ซึ่งมารับการอบรมในหลักสูตร “การปฏิบัติตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ” ที่ได้จัดให้มีขึ้น ณ กรมราชทัณฑ์ จำนวน 4 รุ่นๆ ละ 50 ราย การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีแจกแบบสัมภาษณ์ และอภิปรายกลุ่มก่อนนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงคุณภาพ

 

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพซึ่งได้จากการสัมภาษณ์และอภิปรายกลุ่ม ปรากฏปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ ดังนี้

 

ความแออัดยัดเยียดในเรือนจำ

เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมองว่าความแออัดยัดเยียดในเรือนจำ เป็นปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคต่อการอนุวัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพของเรือนจำในประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะเรือนจำที่มีผู้ต้องขังหญิงทุกแห่ง ต้องพบกับสภาพความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขัง  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นทัณฑสถานหญิงซึ่งเป็นทัณฑสถานที่ใช้สำหรับคุมขังผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 8 แห่ง หรือในเรือนจำชายที่มีการแบ่งแดนเป็นแดนหญิงผู้ต้องขังหญิงขนาดใหญ่มีผู้ต้องขังประมาณ 700 – 1000 คน ซึ่งมีอยู่ 7 แห่ง หรือในเรือนจำชายที่มีการแบ่งแดนเป็นแดนผู้ต้องขังหญิงขนาดกลางมีผู้ต้องขังประมาณ 300 – 700 คน ซึ่งมีอยู่ 14 แห่งทั่วประเทศ ต้องประสบกับปัญหาผู้ต้องขังเกินความจุปกติของเรือนจำทุกแห่ง แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือแดนผู้ต้องขังหญิงที่มีขนาดเล็กที่อยู่ในเรือนจำชายซึ่งสามารถจุผู้ต้องขังได้ประมาณ 50 – 70 คน แต่ต้องใช้ในการควบคุมผู้ต้องขังหญิงถึง 100 – 300 คน ทำให้ผู้ต้องขังหญิงดังกล่าวต้องถูกคุมขังอยู่ในแดนแคบๆ โดยไม่มีที่ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การศึกษาหรือโรงงานฝึกวิชาชีพ ทั้งนี้เพราะเรือนจำได้ถูกออกแบบมากกว่า  40 – 60 คน แต่ปัจจุบันปรากฏว่ามีผู้หญิงเข้ามาสู่วงจรการกระทำผิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดียาเสพติดซึ่งมีสถิติผู้ต้องขังหญิงทำผิดในคดียาเสพติดถึงร้อยละ 85 ของผู้ต้องขังทั้งหมด ทำให้สถิติผู้ต้องขังหญิงเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่จำนวนเจ้าหน้าที่คงเดิม สถานที่คุมขังเท่าเดิม จึงเป็นอุปสรรคต่อการจัดกิจกรรมต่างๆ และการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพในเรื่องต่างๆ แทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลในด้านอนามัยการแพทย์และเด็กติดผู้ต้องขังซึ่งเป็นเรื่องที่บรรจุอยู่ในข้อกำหนดกว่า 20 ข้อ

 

ดังนั้น การที่จะอนุวัติให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงของไทยเป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ นั้น เงื่อนไขที่สำคัญคือจะต้องลดจำนวนผู้ต้องขังหญิงลง โดยการหันไปใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุกให้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพที่ส่งเสริมให้มีการใช้มาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษจำคุก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายรองรับในเรื่องนี้ตามมาตรา 246 และมาตรา 89 วรรค 1 และวรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการใช้สถานที่อื่นแทนการคุมขังในเรือนจำ รวมตลอดถึงมาตรการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็ควรมีการขยายให้มีการนำมาใช้บังคับให้มากขึ้น เช่น มาตรการคุมประพฤติ การพักการลงโทษ การปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาช่วยเสริมให้เกิดความมั่นใจต่อสังคมในการควบคุมในชุมชน ซึ่งจะเป็นทางเลือกแทนการใช้มาตรการจำคุกได้ส่วนหนึ่ง โดยหากสามารถใช้มาตรการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ลดจำนวนผู้ต้องขังหญิงลงและสามารถที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพในเรื่องอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สถานการณ์และบรรยากาศของเรือนจำ

สถานการณ์และบรรยากาศของเรือนจำนับเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ทั้งในส่วนของสถานการณ์และบรรยากาศโดยรวมของทุกเรือนจำหรือสถานการณ์และบรรยากาศเฉพาะในเรือนจำนั้นๆ  เช่น กรณีที่สถานการณ์และบรรยากาศของเรือนจำต้องเน้นการควบคุม เน้นการป้องกันและลักลอบนำยาเสพติดและโทรศัพท์มือถือเข้าเรือนจำ ทำให้เรือนจำต้องเข้มงวดในการระดมเจ้าหน้าที่ตรวจค้นการเข้าออกเรือนจำ การตรวจตราและตรวจค้นตามแดนและสถานที่ต่างๆ ในเรือนจำเพื่อป้องกันการลักลอบนำยาเสพติดและโทรศัพท์มือถือเข้าเรือนจำ การจัดกำลังเจ้าหน้าที่จึงต้องเน้นการควบคุม ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านการศึกษา การฝึกอาชีพ การนันทนาการและสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งอนามัยและการแพทย์ การดูแลเด็กติดผู้ต้องขัง ต้องถูกจำกัดหรือถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทำให้การขับเคลื่อนในเรื่องการอบรมแก้ไข หรือการทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการควบคุม รวมทั้งการอนุวัติตามข้อกำหนดกรุงเทพอาจได้รับผลกระทบหรือไม่ได้รับความสนใจอย่างเต็มที่รวมทั้งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติตามข้อกำหนด เช่น ในเรื่องการตรวจค้นตัว หรือตรวจค้นเด็ก ซึ่งอาจขัดต่อข้อกำหนดได้ ถ้าจะลองยกตัวอย่างข้อกำหนดกรุงเทพข้อที่ 28 ได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “การเข้าเยี่ยมมารดาที่เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำของบุตรที่เป็นเด็กจะต้องเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดประสบการณ์ที่ดีหรือในเชิงบวกจากการเข้าเยี่ยม... และควรให้มีการใกล้ชิดสัมผัสระหว่างมารดาและบุตรระหว่างการเข้าเยี่ยม...” ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่อนข้างทำได้ยากในสภาวะหรือบรรยากาศที่เน้นควบคุมเข้มงวดในปัจจุบัน

 

การแก้ปัญหานี้อาจทำได้โดยการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและจำแนกเรือนจำอย่างจริงจังเพื่อให้เรือนจำที่เน้นการควบคุมมีบรรยากาศแบบเข้มงวดใช้เป็นเรือนจำสำหรับการควบคุมผู้ต้องขังที่มีปัญหาด้านการควบคุมหรือมีความเสี่ยงสูงในการกระทำผิดในเรือนจำ ในขณะที่เรือนจำที่เน้นการอบรมแก้ไขหรือมีการผ่อนปรนด้านการควบคุมก็จะมีบรรยากาศของการอบรมแก้ไขและการนำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์และสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้

อัตรากำลังเจ้าหน้าที่และการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ

เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าแม้จะจะเป็นนโยบายกรมราชทัณฑ์หรือเป็นนโยบายหรือคำสั่งจากผู้บัญชาการเรือนจำ แต่ถ้าเรือนจำไม่มีความพร้อมทั้งด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติหรือความพร้อมด้านอัตรากำลัง การดำเนินการก็อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

 

อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นับเป็นปัญหาสำคัญของราชทัณฑ์ไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากจำนวนผู้ต้องขังได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 160,000 คน ในปี พ.ศ.2546 เป็น 230,000 คนในปัจจุบัน ขณะที่จำนวนเรือนจำก็เพิ่มขึ้นจาก 125 แห่ง เป็น 143 แห่ง แต่อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ยังคงเดิม เนื่องจากถูกมาตรการจำกัดการเพิ่มอัตรากำลังคนภาครัฐ จนทำให้เรือนจำต่างๆ  ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่อย่างหนัก แม้จะมีการบรรจุพนักงานราชการเข้ามาเสริม แต่ก็มีข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ไม่สามารถปฏิบัติงานในเรือนจำได้เต็มรูปแบบดังเช่นข้าราชการ ดังนั้น ภายในเรือนจำต่างๆ จะเห็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานควบคุมผู้ต้องขังอยู่ภายในแดนต่างๆ น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขัง เช่น ในเรือนจำใหญ่ๆ ที่มีการแบ่งแดนเป็นสัดส่วน แต่ละแดนจะมีผู้ต้องขังอยู่นับพันคนแต่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่สิบกว่าคนเช่นเดียวกับในแดนหญิง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อยู่ในสัดส่วนดังกล่าวเช่นกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เพียงเพื่อให้กิจกรรมประจำในแต่ละวันดำเนินผ่านพ้นไปด้วยดีเท่านั้น การทำงานพัฒนาหรือกิจกรรมอื่นต้องอาศัยเจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายนอกมาเสริม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่นข้อกำหนดกรุงเทพข้อที่ 13 ได้ระบุให้ “...เจ้าหน้าที่ควรที่จะให้ความสนใจ ตระหนักและสังเกตเมื่อผู้ต้องขังหญิงมีอาการหรือความรู้สึกเครียด ตลอดจนสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม...” ซึ่งจะเห็นได้ว่าการขาดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการให้เจ้าหน้าที่สามารถใส่ใจหรือสังเกตผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในสภาวะผิดปกติ เครียดหรือ ท้อแท้ และรีบให้การช่วยเหลือได้ตามข้อกำหนด

 

นอกจากนี้การขับเคลื่อนให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพนอกจากนโยบายที่ชัดเจนของผู้บริหารเรือนจำแล้วยังจะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ในเรือนจำอีกด้วย เพราะการจัดกิจกรรมหรืองานพัฒนาเพิ่มเติมจะต้องอาศัยฝ่ายควบคุมหรือฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ มาช่วยหรืออำนวยความสะดวกให้ซึ่งปกติเจ้าหน้าที่แดนหญิงหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงจะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอื่นๆ ไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากถูกมองว่าเป็นภารกิจที่เพิ่มภาระให้ฝ่ายอื่น ดังนั้นการได้รับความร่วมมือจากฝ่ายอื่นๆ ส่วนหนึ่งมาจากความรู้ความเข้าใจและทัศนคติต่อผู้ต้องขังตลอดจนนโยบายจากผู้บริหารของเรือนจำที่จะต้องตอบสนองออกมาในทิศทางเดียวกัน

 

ความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของข้อกำหนดกรุงเทพฯ

ประเด็นเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของข้อกำหนดกรุงเทพ นับเป็นปัจจัยที่สำคัญในการที่จะนำไปสู่ความสนใจและมุ่งมั่น ทุ่มเทในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้ต้องขังซึ่งโดยปกติเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บางส่วนที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ต้องขังมานาน จะมีประสบการณ์ในการมีปัญหากับพฤติกรรมของผู้ต้องขังบางส่วนสะสมมาอย่างต่อเนื่องจนเหมารวมกับผู้ต้องขังทั้งหมด และมีทัศนคติว่าไม่ควรทำอะไรกับผู้ต้องขังมากเพราะไม่เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแต่ประการใด  แต่กลับจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ ทัศนคติดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นในความคิดของเจ้าหน้าที่หญิงและชายรุ่นเก่าๆ ที่ทำงานใกล้ชิดและคลุกคลีกับผู้ต้องขังมานาน การมีทัศนคติเช่นนี้นับเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง แม้จะไม่ต่อต้านโครงการแต่ก็ไม่สนใจ ไม่สนับสนุน และไม่มุ่งมั่นแต่จะทำงานไปตามหน้าที่หรือทำให้ผ่านๆ ไปวันๆ โดยไม่สนใจต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำงาน

 

ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว อาจปรับเปลี่ยนไปได้หากเจ้าหน้าที่ได้มีความรู้ ความเข้าใจ ในแนวคิดและหลักการในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตามมาตรฐานของข้อกำหนดกรุงเทพ นอกจากนี้ยังอาจกล่าวได้ว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ หรือรู้จักข้อกำหนดกรุงเทพ ทำให้ขาดการสนับสนุน และความมุ่งมั่นในการอนุวัติตามกำหนดกรุงเทพ เช่น เจ้าหน้าที่ชายให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของแดนหญิงไม่มากเท่าที่ควรหรือเจ้าหน้าที่หญิงด้วยกันเองที่ไม่ได้มีแต่หน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามโครงการจะไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้น การให้ความรู้ ความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

 

แรงจูงใจของเจ้าหน้าที่เรือนจำ

แรงจูงใจของเจ้าหน้าที่เรือนจำในการขับเคลื่อนงานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงไปสู่มาตรฐานตามข้อกำหนดของสหประชาชาติหรือข้อกำหนดกรุงเทพ นับเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการอนุวัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพของเรือนจำต่างๆ ในประเทศไทย ตามทัศนะของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เพราะหากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีสิ่งจูงใจที่ดี สอดคล้องกับความต้องการแล้วจะทำให้การขับเคลื่อนไปสู่ข้อกำหนดกรุงเทพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นเพียงการทำงานตามหน้าที่ในระบบราชการ ทั้งนี้เพราะการขาดแคลนอัตรากำลังทำให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องทำงานอย่างหนัก โดยในแดนหนึ่งๆ จะมีเจ้าหน้าที่ทำงานควบคุมผู้ต้องขังอยู่เพียง  3 – 10 คน ต่อผู้ต้องขังนับร้อย นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานที่จำเจทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์บางส่วนเป็นการทำงานตามหน้าที่ให้เสร็จภารกิจไปในแต่ละวัน ดังนั้น การจะผลักดันในเรื่องการพัฒนางาน การปรับปรุงงาน การเปลี่ยนแปลงและปรับบทบาทในการทำงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดังกล่าวจะต้องอาศัยแรงจูงใจเป็นพิเศษที่จะทำให้เห็นว่าการทำงานดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาราชทัณฑ์ไทยเข้าสู่มาตรฐานสากล เป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทุกคน ขณะเดียวกันผู้ที่ได้ทุ่มเททำงานดังกล่าวนี้ก็จะได้รับการตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทุ่มเททำงาน การพาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระดับปฏิบัติการจากเรือนจำกลางราชบุรีที่เป็นเรือนจำที่มีการพัฒนาและอนุวัติตามข้อกำหนดได้ก้าวหน้า ไปทัศนศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานอย่างเต็มที่ ในขณะที่เรือนจำอื่นๆ ก็อาจจะมีการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจด้วยสิ่งจูงใจอื่นๆ แตกต่างกันไปทั้งในส่วนของความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน กาส่งเสริมให้เข้ารับการอบรมพัฒนาความรู้ การให้ทุนการศึกษาหรือฝึกอบรม หรือการไปศึกษาดูงาน เป็นต้น โดยสิ่งจูงใจในแต่ละแห่งแต่ละบุคคล จะมีความแตกต่างกันไป แต่สิ่งจูงใจดังกล่าวนับเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสำเร็จของการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง

 

สรุป

ในฐานะที่ประเทศไทยได้แสดงบทบาทผู้นำในการผลักดันข้อกำหนดของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงจนเป็นที่ยอมรับการทั่วโลก จึงจำเป็นที่ประเทศไทย ต้องแสดงบทบาทในการผลักดันให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหประชาชาติดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรือนจำของประเทศไทยเอง แต่การดำเนินการดังกล่าวจะสำเร็จได้เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 5 ข้อ ซึ่งเป็นผลมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ปฏิบัติ คือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หญิง ซึ่งปฏิบัติงานในเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ปัญหาเพื่อให้การอนุวัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพประสบความสำเร็จด้วยดีเป็นแบบอย่างของประเทศอื่นๆ ต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 505156เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท