ทำนาไร่เดียวก็รวยได้ ไม่ต้องพึ่ง สส. รัฐบาล และ.ไม่ต้องไปรับจ้างชุมนุมอีกต่อไป


อีสานเคยเชิญนักเกษตรจากอิสราเอลมาให้คำแนะนำ เขาตกใจมากว่าอีสานเรามีฝนตกปีละ ๑๐๐๐ มม. แล้วจะแล้งได้อย่างไร  ในขณะที่อิสราเอลตก ๓๕๐ มม. เท่านั้น  แต่เขาทำเกษตรจนเหลือกิน และส่งออกได้  (ทะเลทรายมีนิยามว่าฝนตกน้อยกว่า ๒๕๐ มม. ดังนั้นอิสราเอลก็เฉียดทะเลทรายไปแล้ว ในขณะที่อีสานเราน้ำท่วมก็บ่อยด้วยซ้ำ) 

 

คนไทยเราอึกอักอะไรก็ฟังฝรั่งสอน (ยิวด้วย)  แต่คนไทยเรากันเองสอน มันไม่ฟังหรอก  

 

เมื่อวันก่อนมีชาวนาอีเมล์มาหาผม (ชาวนาไทยวันนี้ใช่ย่อย)   ท่านสนใจเรื่องการชลประทานในนาข้าวที่ผมได้เสนอไว้ใน โกทูโนว์  นี้แหละ  เลยได้โอกาสว่าวันนี้จะเอามาขยายผลสักหน่อย 

 

สมมติเล่นๆว่าทำแปลงนาขนาดใหญ่หนึ่งแปลง    พื้นที่ ๑ ไร่ ถ้าทำแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็ขนาด ๔๐x๔๐ ม.  ถ้าอีสานแล้งมีฝนตกเพียง ๑๐๐๐ มม.  (หรือ ๑ เมตรนั่นเอง)    ก็จะได้น้ำฝน ๑๖๐๐ ลูกบาศก์เมตร 

 

ถามว่า ถ้าเราขุดคูน้ำรอบพื้นที่ โดยคูนี้มีหน้ากว้าง ๒ เมตร เราจะต้องขุดคูลึกเท่าไร จึงจะเก็บน้ำจำนวนนี้ไว้ได้    (คณิตศาตร์ระดับป.๖ นะเนี่ย ชาวนาทุกคนเรียนกันมาหมด แต่เชื่อว่า รัฐมนตรีไทยส่วนใหญ่ทำโจทย์ข้อนี้ไม่ได้หรอก ...รมต.ไทย เฮ้อ..) 

 

 

คำตอบคือ ต้องลึกประมาณ ๕.๒๖๓ เมตร  (ใครตอบถูกยกมือขึ้น  ..ใครตอบผิดเอาฟางไปกินเลยไป๊  แฮ่ๆ ล้อเล่นน่า..ใครจะใจจืดขนาดเอาฟางไปให้แควนๆกินได้เนาะ) 

 

 

โห....อย่างงี้เราก็มีน้ำเหลือกินเหลือใช้เลยสิ   ไม่ต้องไปพึ่งกรมชลรับประทาน แห่งรัฐมารไทยให้ยุ่งยาก

 

ตอบว่า ใช่เลย ...แต่ในชีวิตจริงน้ำฝนที่ตกลงมา มันไม่ได้อยู่ยงคงกระพันหรอกนะ  มันระเหยกลายเป็นไอกลับคืนไปสู่บรรยากาศ และมันซึมลงใต้ดินด้วย   แต่ถ้าเราบริหารจัดการดีๆ มีเทคโนฯถูกๆ เข้ามาช่วย มีขมองอีกเล็กน้อย   ขี้หมูขี้หมา ครึ่งหนึ่งก็ต้องพอเก็บไว้ได้หรอก  ก็ได้ ๘๐๐ ลบ.ม.   ซึ่งถ้าเราบริหาร “น้ำในคู”  นี้ดีๆ เราจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำนาได้ ๑๐๐ เท่าสบายๆ   (คะเนเดาเอานะ ไม่เชื่อลบหลู่ได้ )   เช่น

 

 

เอาดินที่ขุดทำคูน้ำมาพอกทำคันนา หน้ากว้างสัก ๒ เมตร  สูงสัก สองศอก (๕๐ ซม.)   บนคูนาปลูกไม้ยืนต้นที่ใบไม่แผ่กว้าง (ไม่อยากให้มันบังแดดมากเกินไป)   และชอบน้ำ   โดยปลูกบนคันนาในแนวเหนือ-ใต้เท่านั้น ส่วนแนวออก-ตกไม่ปลูก (เพราะมันบังแดดในนาข้าว)   .... ยังมองไม่เห็นอะไรดีไปกว่า  ไผ่   เพราะประโยชน์มหาศาลจริงๆ แถมเลี้ยงง่ายอีกด้วย

 

พื้นที่นาสี่เหลี่ยมด้านในของคูน้ำ ให้ปลูกข้าว ด้วยการทำคันนาเตี้ยๆ รอบไว้ให้หมด (ริมคูน้ำด้านใน) สูงสักประมาณ  ๑๐  ซม.เท่านั้น แล้วสูบน้ำจากคูน้ำโดยรอบเข้าไปให้เต็มผืนนา ซึ่งจะใช้น้ำเพียงประมาณ  ๑๐๐  ลบ.เมตรเท่านั้นเอง  (จากทั้งหมด ๘๐๐ ลบ. เมตรที่มีอยู่)  (คันนาไม่ต้องสูงมากเกินจำเป็นแบบที่ทำกันมานานหลายพันปีหรอก เพราะเราเพียงแค่ต้องการกำจัดหญ้าเท่านั้นเอง สูงเพียง  ๑๐ ซม. หญ้ามันก็สำลักน้ำตายหมดแล้ว)  

 

ความจริงคันนาสูงเพียง ๕ ซม.ก็พอแล้ว แต่ที่ให้มันสูง ๑๐ ซม. ก็เพื่อให้มันลึกพอที่จะเลี้ยงปลาซิว กุ้งฝอย เขียดน้อยได้  เพื่อให้เขียดไปกินแมลง กำจัดศัตรูพืชได้หมด  (เขียดใหญ่กินแมลงใหญ่ เขียดน้อยกินไร เพลี้ย)  อึออกมาก็สร้างแพลงตอนให้ปลาซิวกิน  อึปลาก็เป็นปุ๋ยให้ต้นข้าวอีกต่อ ก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใดๆ (แม้ปุ๋ยชีวภาพ)    ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง หรือ ฆ่าหญ้า  ให้ยุ่ยากและเป็นพิษต่อชีวิตตนและผู้อื่น

 

ส่วนคูน้ำรอบๆ (ที่กว้าง ๒ เมตร และลึก ๒.๕ เมตร)   ก็เลี้ยงปลาที่กินไรน้ำ และ กินพืช เช่น ปลาจีน (ปลาเฉา) ปลากระดี่ ปลานิล ปลาดุก    โดยไรน้ำจะมาจากใบไผ่ที่ตกลงไปในน้ำ แล้วย่อยสลาย สร้างไรน้ำขึ้นมาให้ปลากิน   (ไผ่เป็นพืชที่มีใบร่วงหล่นมาก และใบไผ่มีสมบัติย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ดีมาก)  นอกจากนี้ยังเลี้ยงสาหร่ายเสริมเข้าไปให้ปลากินด้วย  (สาหร่ายน้ำนี้เป็นพืชมหัศจรรย์ที่คนมองข้าม   มันเลี้ยงได้ง่ายตามธรรมชาติแบบไม่ต้องการอะไรเลย และไม่มีสัตรูพืชอีกต่างหาก ..นอกจากปลาที่เราเลี้ยง)  

 

น้ำในคูน้ำ (บ่อปลา)  จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จากอึปลา ซึ่งอาจทำให้ปลาตายได้ (หรือเมาอึตนเอง โตช้า มีโรคมาก) ซึ่งเราสามารถแก้ได้ด้วยการสูบเอาน้ำเข้าไปในนาข้าว  ไปแทนที่น้ำสะอาดกว่าที่ขังอยู่เดิม   เพื่อทำการบำบัด  (เติมออกซิเจนในพื้นที่ที่กว้างกว่า ตื้นกว่า มีแดดส่องถึง)  อีกทั้งยังเป็นการเอาน้ำอึปลาเข้มข้นเข้าไปเป็นปุ๋ยให้ต้นข้าวอีกด้วย   (ได้สองต่อ) 

 

ส่วนไผ่นั้น นอกจากให้ใบที่หล่นไปสร้างไรน้ำเป็นอาหารปลาในคูแล้ว เรายังได้ไม้ไผ่มาทำเครื่องใช้ส่วนตัวและทำขาย (เช่น กรอบรูป ตะเกียบ ไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ (จำลอง))     หน่อไผ่เอามากิน (และขาย) 

 

 

ที่สำคัญมากคือใต้เงาไผ่อย่าลืมเอาถุงเห็ดไปห้อย (เห็ดตลาดทั้งหลาย)    อากาศริมน้ำมันชื้นอยู่แล้ว เห็ดชอบ รวมทั้งเห็ดธรรมชาติที่ชอบขึ้นกับไผ่ เช่น เห็ดไผ่ เห็ดหนวด เห็ดตาโล่  (รู้จักไหมเห็ดตาโล่  ถ้าทำตลาดดีๆ รับรองว่าโลเป็นพัน มันเป็นเห็ดประหลาดที่สุดในโลกก็ว่าได้ )

 

พอเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เรามีน้ำเหลืออยู่ในคูอีกมาก (๗๐๐ ลบ.ม.)   เราอาจทำนา ๒   เสร็จนา ๒ ทำนา ๓ ก็ได้   หรืออาจปลูกผัก  ถั่ว   งา ข้าวโพด มันเทศ  ก็ได้ทั้งนั้น เพราะเรายังมีน้ำในคูเหลืออยู่มาก ที่จะเอามารด    แถมเป็นน้ำที่มีอึปลาเข้มข้นเป็นปุ๋ยธรรมชาติอยู่แล้ว  ส่วนกบเขียดก็เป็นเพื่อนกิน(แมลง)ให้เรา แถมร้องระงมกล่อมเรานอนยามว้าวุ่นอีกต่างหาก

 

ถ้าเราทำแบบนี้   เราจะมีรายได้เพิ่มจากหลากหลายส่วนดังนี้คือ

 

ข้าวชีวภาพ (ราคาดีกว่าปกติ) 

ผัก 

ถั่ว  (สมมติว่า ปลูก สามครั้งในหนึ่งปี  ข้าว ผัก ถั่ว ซึ่งทำได้จากน้ำในคูของเราเอง) 

ปลาใหญ่ในคู

ปลาเล็กในนา

กบ เขียด (จับขายได้เรื่อย) 

หน่อไม้

เนื้อไม้ไผ่  (เพิ่มมูลค่าด้วยการทำเฟอร์นิเจอร์)

เห็ดห้อยกับกิ่งไผ่  (เก็บขายได้ทั้งปี)

 

ส่วนรายจ่ายที่เคยมีกับระบบเดิมๆ เรากลับลดไปได้มากคือ

ปุ๋ย (ทั้งปุ๋ยเคมีและชีวภาพ เพราะอึกบ ปลา มันเอามาให้ฟรีๆ จากการกินแมลงที่เป็นศัตรูพืช)

ยาฆ่าแมลง (ทั้งเคมีและชีวภาพ เพราะกบ เขียด มันโซ้ยหมดแล้ว)

 

ส่วนเงินที่ต้องจ่ายกว่าปกติมีน้อยมาก  คือ

ค่าพันธุ์ปลา (ซึ่งน้อยมาก  ถ้าทำแบบต่อเนื่องหลายปี ก็ไม่ต้องซื้อด้วยซ้ำเพราะมันออกลูกมาให้เรา)

ค่าสูบน้ำจากคูเข้าไปในนาบ่อยๆเพื่อบำบัด  (น้อยมากเพราะน้ำมีปริมาณน้อย)

ค่าขุดคูน้ำ  (งบลงทุน ครั้งเดียวเท่านั้น )

 

ผลพลอยได้อื่นๆ คือ สุขใจที่ได้ช่วยโลกลดสารพิษในห่วงโซ่อาหาร เป็นการลดค่าใช้จ่ายของโลก แต่กลับช่วยเพิ่มสุขภาพให้มนุษยโลก  (ได้บุญยิ่งกว่ากินเจ)

 

คนถางทาง (๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๕)

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 505149เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คุณเป็นคนรวยทั้งเงิน รวยทั้งความรู้ ที่ชอบให้"ทานความรู้" แก่คนอื่น ตัวเองก็ทำนาเหมือนกัน แต่ทำเท่าที่ทำได้ ทำแล้วมีความสุข สนุกกับการทำนา ดีกว่าไปนั่งประชุม

  • บันทึกนี้ดีจังครับ
  • คนจนจะได้เลิกเป็นจิ้งหรีด
  • ที่ถูกปั่นหัวเสียที

มีเพื่อนรุ่นพี่ท่านเป็นวิศวโยธา ท่านเห็นด้วยกับแนวทางแต่เตือนว่าคูน้ำที่ว่านี้อาจเิกิดการถล่มของดิน ซึ่งผมก็พอเล็งเห็นแต่แรกแล้ว เลยแย้มไว้่ว่าต้องมีเทคโนโลยีง่ายๆเข้ามาช่วยด้วย ซึ่งผมว่าไม่เหนือบ่ากว่าแรง เช่น อาจบุผนังคูด้วยพลาสติก และคลุมตาข่ายในล่อนการเกษตร เพื่อช่วยรองรับนน. จากนั้นตรึงตาข่ายเป็นจุดด้วยระบบค้ำยันที่มีเป็นระยะ สมองของมหาลัยไทยสามารถช่วยได้ก็ตรงนี้และครับ

แต่ถ้าจะให้ง่ายขึ้นผมว่า ขุดคูลงไปสัก 1 เมตร แล้วเอาดินมาถมเป็นคันดินสองข้าง เรียกว่าบารายข้างละ 1 เมตร เราก็ยังได้คูน้ำลึก 2 เมตร แต่ได้คันดินสองข้าง ก็ปลูกไผ่ได้สองด้านเลย

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ยิ่งถ้าเป็นภาคใต้สบายเลย น้ำตก ห้วย หนอง คลอง บึงเยอะเยะ รวยเลยงานนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท