KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 578. ปัญญาปฏิบัติ


ผมคิดว่าปัญญาปฏิบัติ มี 3 ส่วน ก็คือส่วนที่เป็นทฤษฎีหรือความรู้เชิงทฤษฎี แล้วก็เป็นส่วนของการปฏิบัติ การปฏิบัติทำให้เกิดความรู้อีกแบบหนึ่ง อันที่สามคือการได้รับผลจากการปฏิบัติ ก็จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง สามส่วนนี้ประกอบกันเข้าก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ” ภาษาพระเรียกว่าเป็น ปริยัติ ปฏิบัติ และปฎิเวธ การรับรู้ผลจากการปฏิบัติเป็นความรู้อย่างหนึ่ง เป็นความรู้ความเข้าใจแบบหนึ่ง แล้วก็มีวิธีการที่จะทำให้เรารับรู้ได้ลึกกว่าปกติโดยทั่วไป

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 578. ปัญญาปฏิบัติ

บังเอิญค้นพบ เอกสารถอดเทปการบรรยายพิเศษเรื่องปัญญาปฏิบัติ    และลองค้นด้วย Google ไม่พบ   จึงนำมา ลปรร. ที่นี่ ดังต่อไปนี้

 

บรรยายพิเศษ : ขับเคลื่อนเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพด้วยปัญญาปฏิบัติ

 

โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช

ประธานมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)

วันที่ 2 พฤษภาคม 2554 เวลา 09:00-10:00 น.

 PowerPoint ประกอบเสียงการบรรยายอยู่ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/438890

 

กราบเรียนท่านนายกสภาการพยาบาล ท่านคณะกรรมการจัดงาน คณาจารย์ และนักศึกษาที่เคารพทุกท่าน... รู้สึกตื่นเต้นกับพิธีเปิดประชุม เป็นพิธีเปิดประชุมที่ผมไม่เคยเห็น ไม่เคยผจญมาก่อน ตื่นเต้นว่าเดี๋ยวยิงไม่ออก (หัวเราะ)... ก็ขอกราบขอบพระคุณที่กรุณาให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องปัญญาปฏิบัติ

ปัญญาปฏิบัติเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และยิ่งนับวันก็เป็นที่ประจักษ์กันว่าการที่จะมีปัญญาอย่างแท้จริงนั้นต้องผ่านการปฏิบัติ มนุษย์เราทุกคนต้องสั่งสมไม่ใช่แค่ความรู้เชิงทฤษฎีเท่านั้น ต้องสั่งสมปัญญาปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย ความรู้เชิงทฤษฎีกับเชิงปฏิบัติจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ปัญญาปฏิบัติที่เราสนใจในที่นี้ก็เป็นเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ ผมเข้าใจว่า ผมตีความเอาเอง ไม่รับรองว่าถูกต้อง และจริง ๆ ทุกคนก็สามารถตีความด้วยตัวเองได้ แตกต่างไปจากนี้ก็ได้ ผมคิดว่าปัญญาปฏิบัติ มี 3 ส่วน ก็คือส่วนที่เป็นทฤษฎีหรือความรู้เชิงทฤษฎี แล้วก็เป็นส่วนของการปฏิบัติ การปฏิบัติทำให้เกิดความรู้อีกแบบหนึ่ง อันที่สามคือการได้รับผลจากการปฏิบัติ ก็จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง สามส่วนนี้ประกอบกันเข้าก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ” ภาษาพระเรียกว่าเป็น ปริยัติ ปฏิบัติ และปฎิเวธ การรับรู้ผลจากการปฏิบัติเป็นความรู้อย่างหนึ่ง เป็นความรู้ความเข้าใจแบบหนึ่ง แล้วก็มีวิธีการที่จะทำให้เรารับรู้ได้ลึกกว่าปกติโดยทั่วไป ซึ่งเดี๋ยวจะพูดถึง

ปัญญาปฏิบัตินั้น มองมุมหนึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นเรื่องที่ต้องปลูก ขยาย งอกงามขึ้นภายในตน พูดง่าย ๆ ก็คือว่าเรียนแทนกันไม่ได้ พูดให้แรงกว่านั้น ซึ่งผมพูดเสมอแต่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ผมบอกตัวเองเสมอว่าสอนไม่ได้ สอนกันไม่ได้ ต้องเรียนเอาเอง และเราก็ต้องบอกตัวเองให้เรียน จึงจะได้รับประโยชน์ แล้วก็ไม่ใช่เรียน... อันนี้ย้ำวนแล้วว่าไม่ใช่เรียนแค่จากการฟังคนมาพูดอย่างที่ผมกำลังพูดหรือว่าแค่อ่านหนังสือ เพราะว่าการฟังคนอื่นพูดและการอ่านหนังสือนั้นจะได้รับความรู้แต่ในมิติที่ไม่ลึก ต้องลงมือปฏิบัติจึงจะลึกขึ้น แล้วก็รู้จักที่จะเรียนรู้จากผลของการปฏิบัติ จะยิ่งลึกขึ้นไปอีก อาจารย์ช่วยได้ ไม่ใช่ช่วยไม่ได้ ไม่ใช่อาจารย์ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าอาจารย์เรียนแทนไม่ได้

ถึงแม้ว่าความรู้ปฏิบัติจะเป็นความรู้เฉพาะตน เป็นความรู้ในตน แต่การเรียนร่วมกันเป็น team learning ช่วยได้ การจัด team learning ที่ดีโดย facilitator ที่เก่งซึ่งก็คืออาจารย์ อาจารย์เป็น facilitator ที่เก่ง ชวนกันทบทวนความรู้ความเข้าใจที่เรียกว่า reflection ภาษา KM เรียกว่า AAR, After Action Review ภาษาทั่วไปเรียกว่า reflection มาทำ reflection กันหลังจากผ่านประสบการณ์การปฏิบัติมาแล้ว ก็จะทำให้เราเข้าใจลึกขึ้น ตัวทฤษฎีก็จะชัดขึ้น เชื่อมโยงขึ้น เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ในปัจจุบันนี้ การเรียนรู้แบบ team learning เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก แล้วก็คนที่จะเรียนได้ดีนั้นต้องมีทักษะในการที่จะเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น แล้วก็อาจารย์ก็ต้องมีทักษะในการที่จะ facilitate การเรียนเป็นทีม

ที่จริงหลักที่สำคัญที่สุดที่ผมใช้ของการเรียนเป็นทีม คือบอกตัวเองว่าอย่าไปกลัวว่าคนจะว่าเราโง่ แล้วก็อย่าไปเที่ยวว่าใครเขาว่าเขาโง่ ถ้าเขาคิดไม่ตรงกับเรา ถ้าเขาคิดอะไรแปลก ๆ แผลง ๆ และเราเองควรจะกล้าที่จะคิดอะไรแปลก ๆ แผลงๆ ซะบ้าง การเรียนรู้ในมิติที่ลึกจะเกิดขึ้น การเรียนรู้เป็นทีมเน้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ลปรร.” เป็นศัพท์เทคนิคทางการศึกษาที่ผมตั้งขึ้นเอง ย่อมาจากคำว่า “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” เรื่องของการเรียนรู้ ปัญญาปฏิบัตินี้ หลายครั้งถ้าเคร่งเครียดมากจะเรียนได้ไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องมีการจุดพลุโป้งปร้าง ๆ แบบวันนี้

ในการเรียน การสร้างปัญญาสมัยใหม่ อย่างที่เรียนแล้วว่า เรียนแล้วก็สร้างปัญญาจากการปฏิบัติเนี่ยเยอะ จึงมี concept เรื่องความรู้ชนิดที่ฝังอยู่ในตัวคนเกิดขึ้นเรียกว่า tacit knowledge ซึ่ง tacit knowledge นี้บางครั้งเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัวว่าตัวมี ให้บรรยายให้ฟังเรื่องความรู้ก็อาจจะพูดไม่ได้ แต่ว่าประจักษ์พยานว่าเขามีคือเขาทำได้ เขาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ จะให้เล่าเรื่องความรู้นี่เล่าไม่ได้ แต่ถามว่าทำอย่างไร ทำให้ดูได้ แล้วก็อาจจะเล่าได้ด้วยว่าทำอย่างไร เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่าคนนั้นมีความรู้ที่เรียกว่า tacit knowledge หรือความรู้ที่ฝังอยู่ในคน ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน วิธีการที่จะได้ความรู้จากเขาคือให้เขาเล่าเรื่อง เรียกว่า storytelling บางคนก็เรียกว่าเป็น narrative...  storytelling กับ narrative เป็นคำเดียวกัน แล้วก็ตอนหลังมีวิชาที่เรียกว่า Narrative Medicine ผมเข้าใจว่า Nursing ก็น่าจะมี เป็น Narrative Nursing อะไรอย่างนี้ ก็คือเป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ยาก สิ่งที่อยู่ในตัวคนหรืออยู่ในการปฏิบัติของคน

ความรู้ที่อยู่ในคนหลายส่วนก็ไม่ใช่วิธีการ วิธีการทำโน่นทำนี่ แต่เป็นความเชื่อ เป็นความเชื่อที่เรียกว่า belief เป็นกระบวนทัศน์ วิธีคิด ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จะให้เหมือนแป๊ะ ๆ เนี่ยเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราจะเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ลึกซึ้งจากการปฏิบัติ แล้วเราไปทำงาน ทำสิ่งนั้นร่วมกันหลาย ๆ คน แล้วให้แต่ละคนเล่าออกมาว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ตัวเองเข้าใจว่าอย่างไร แลกเปลี่ยนอย่างสบายใจ อย่างเปิดใจ เราจะได้ความรู้จากเพื่อนเยอะเลยว่าเออเขาคิดแบบนี้ เราคิดไม่เป็น... ในการทำงานในช่วงประมาณ 7-8 ปีหลังตอนที่ทำ สคส. สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ทำเรื่อง KM ผมก็ตระหนักเลยว่า... พวกที่มาทำงานกับผมเนี่ยส่วนใหญ่อายุน้อยกว่าลูกคนโตของผมทุกคน พอเราไปทำอะไรร่วมกันแล้วกลับมาคุยกันว่าที่ทำงานนั้นเขาได้ความรู้อะไร เขารู้สึกอะไร จากเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ เป็นอย่างไร ผมตระหนักเลยว่าความคิดแบบนั้นผมทำไม่เป็น ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะผมแก่เกินไป อายุมากไป ต้องการคนอายุน้อยหน่อยที่จะคิดแบบนั้น ...แต่จะเติมเต็มให้ความรู้ความเข้าใจของเราเพิ่มขึ้น ครบขึ้น

ความรู้ที่เราคุ้นเคยเรียกว่า explicit knowledge เป็นความรู้เชิงทฤษฎี เขียนออกมาได้ง่าย เวลาอาจารย์สอนทั้งหลายจะเป็น explicit knowledge 80-90 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาของ explicit knowledge ก็คือว่าเวลาเอาไปใช้ต้องใส่บริบทเข้าไปด้วย คนใช้ต้องรู้จักกาลเทศะว่าจะใช้ทฤษฎีบทไหนในเหตุการณ์นั้นประกอบกัน ส่วนใหญ่ต้องใช้หลายทฎษฎีหลายความรู้ประกอบกัน คนที่ทำงานเก่ง เอาความรู้ไปใช้เก่ง เป็นคนรู้จักปรับตัวทฤษฎีให้เข้ากับกาละเทศะ เราจะเห็นคนหลายคนความรู้เยอะมาก ตอบข้อสอบได้คะแนนดี เพราะท่องเก่ง ความจำดี แต่ทำงานไม่ค่อยเก่งเพราะไม่รู้กาละเทศะ กาละเทศะไม่มีให้ท่อง ทฤษฎีท่องง่าย เพราะฉะนั้นคนเราจะมีชีวิตที่ดีมีสุขภาวะที่ดีได้ แล้วไปอยู่ที่ไหนก็เป็นประโยชน์ ต้องรู้จักใช้ผสมกันระหว่างความรู้สองตัวนี้ อย่างผสมกลมกลืน แล้วก็ยิ่งมีชีวิตอยู่หรือทำงานไปก็ยิ่งสั่งสมประสบกาณ์ สั่งสมตัวความรู้ และสั่งสมวิธีการที่จะปรุงระหว่างความรู้สองอย่าง เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของตัวเองในหลากหลายด้านและในชีวิตการทำงาน

แนวความคิดเรื่อง tacit- explicit knowledge เราสามารถตีความ เอามาตีความเวลาเราเรียนรู้หรือเราทำงานได้ไม่มีสิ้นสุด ไม่มีสิ้นสุด เพราะว่ามันจะต้องตีความแนบเข้าไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการทำงาน การเรียนรู้ เพราะฉะนั้นปัญญาปฏิบัติมันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้สองชนิดนี้ แล้วก็เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่เข้ามามีปฏิบัติการร่วม มาอยู่มาร่วมกันทำงาน เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ก็จะไม่สิ้นสุดถ้าเรามีวิธีการ เข้าใจหลักการนี้แล้วก็มีวิธีการ... ที่จริงหนังสือที่ท่านได้รับและกระบวนของการจัดประชุมนี้จะทำให้เราค่อย ๆ เข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์นี้

Concept ที่สำคัญอีกเรื่องเกี่ยวกับเรื่องปัญญาปฏิบัติ คือเรียกว่า SECI model, S-E-C-I เป็นตัวย่อ S ย่อมาจาก socialization อยู่ใน quadrant บนซ้าย คือการที่คนที่ทำอะไรร่วมกันมาประชุมร่วมกัน เรียกว่า socialization ต้องเป็นการประชุมแบบ socialization ไม่ใช่ประชุมแบบแข็ง ๆ ไม่ใช่ประชุมแบบเป็นทางการ ต้องใช้ความไม่เป็นทางการ 90% ความเป็นทางการนิดหน่อยเท่านั้นเอง เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลปรร. ในนี้เขียนว่า sharing and creating tacit knowledge through direct experience คือมามีปฏิสัมพันธ์ภายใต้บรรยากาศที่เป็นกันเอง ภายใต้ปฏิสัมพันธ์ที่เป็นแนวราบ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วก็เป็นบรรยากาศสบาย ๆ แบบไม่กลัวถูกกลัวผิด

ตอนที่ผมเริ่มทำงาน KM หรือการจัดการความรู้ เราก็จะต้องพยายามพูดเสมอพอเวลาเริ่มจะคุยกันแบบสบาย ๆ ว่าวงนี้ตอนที่เราจะคุยครั้งนี้ไม่มีถูกไม่มีผิด ใครคิดอย่างไรก็พูดออกมาตามที่ตัวเองเข้าใจ รู้สึก หรือตีความ เป็นการตีความ การตีความนี้แต่ละคนควรตีความไม่เหมือนกัน ผมก็จะบอกว่าพวกเรามีกัน 11 คน ถ้าตีความแล้วเหมือนกันหมดก็ไม่ต้องมี 11 คน มีคนเดียวได้ มีหัวเดียวได้ แต่ว่าเราก็คงต้องการแขนกับขาอีกเยอะ ตกลง 11 คนนี้มีหัวเดียวพอแล้วมีแขนขาอีก 11 คู่ ซึ่งคงเป็นมนุษย์ที่ประหลาดมาก ประเด็นสำคัญคือเราต้องการความแตกต่าง เราให้คุณค่าความแตกต่างแล้วเอามา  share กัน จะเกิดความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เป็นการ share tacit knowledge คือความรู้ในคน เป็นความรู้ที่อยู่ในใจลึก ๆ ที่ในสังคมไทยก็มักจะไม่ค่อยพูดกัน เพราะว่าไม่กล้า เพราะเกรงบารมีผู้ใหญ่ เพราะกลัวผิด กลัวคนเขาว่าโง่ เพราะฉะนั้นในบรรยากาศของ socialization ต้องทำให้ความรู้สึกด้านที่ไม่กล้าทั้งหลายนั้นหายไป ซึ่งในหลายที่ก็ทำยาก

ตัว E, externalization คือเอาออกมาข้างนอก เอาจากในหัวคน ในตัวคนออกมา เอาออกมาให้เห็นชัดเจน จาก tacit knowledge ความรู้ฝังลึกออกมาให้เป็นความรู้ที่ชัดเจน เขียนออกมาได้ ภาษาฝรั่งเรียกว่าเป็น articulating กระบวนการนี้หลายคนเรียกว่า “ถอดความรู้” ที่จริงกระบวนการ 4 อันนี้ S-E-C-I ไม่ได้อยู่แยก ๆ กัน มันเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ในความเข้าใจผมนะ มันเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แล้วก็ถ้าเราทำงานเป็น อย่างที่ สคส. ที่ผมไปทำงานด้วยหรือในหลายที่ที่ผมไปทำงาน วงนี้วันหนึ่งมันหมุนไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ มันเกิดขึ้นแบบเป็นธรรมชาติ แล้วก็ไม่ต้องไปสนใจหรอก S-E-C-I มันเกิดขึ้นของมันเอง โดยที่เราเข้าไปมีส่วนในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับความรู้ขึ้น

ในสไลด์นี้ที่เห็นตัว I ผมเอามาจาก Professor Nonaka ที่มาพูดในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติเมื่อปลายปีที่แล้ว ตัว I คือ individual ตัวบุคคล ตัวบุคคลมา form กันเป็นกลุ่มและแลกเปลี่ยนกัน พอเล่าเรื่อง เล่าความในใจ ความเข้าใจ ตีความกันทั้งหลายแล้วเขียนออกมาเป็นประเด็น แล้วอาจมีการจัดหมวดหมู่นิดหน่อย จะได้เป็นเอกสารหรือทำออกมาเป็นมัลติมีเดีย อะไรต่ออะไร คือเป็นความรู้ชุดที่ส่งต่อหรือถ่ายทอดกันได้ง่าย  

ตัว C, combination คือเอาความรู้ explicit knowledge ความรู้ที่ได้นั้นมาจัดหมวดหมู่ จัดหมวดหมู่ตามความต้องการใช้งาน จุดนี้สำคัญนะ ความต้องการใช้งาน ไม่ใช่จัดหมวดหมู่แบบทฤษฎีลอย อย่างนั้นไม่ใช่ เพราะว่าวงจร SECI เป็นเรื่องของการจัดการความรู้เพื่อการใช้งานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น combination เป็นกระบวนการที่จะช่วยกันทำให้เกิดการจัดหมวดหมู่ความรู้

ตัว I, internalization คือเอาความรู้ไปใช้งาน เอาไปใช้งานนี่ส่วนหนึ่งก็เอาไปทำให้สติปัญญาเราดีขึ้น ก็คือกลับเข้าไปในสมองเรา แต่ส่วนที่สำคัญกว่านั้นก็คือใส่เข้าไปในวิธีทำงาน อย่างพวกเราพยาบาลก็ใส่ไปในกระบวนการให้การพยาบาลผู้ป่วย ในทางธุรกิจก็ใส่ไปในสินค้า กลายเป็นสินค้าตัวใหม่ อาจจะตัวเดิมแต่มีคุณภาพดีกว่าเดิม ใส่เข้าไปในการบริการลูกค้า ซึ่งพยาบาลก็อยู่ในวิธีการให้การพยาบาล กระบวนการนี้จะหมุนอยู่ตลอดเวลา หมุนอยู่เรื่อย หมุนอยู่เรื่อยไป ถ้าในองค์กรที่มีความสามารถจะมีการใช้เครื่องมือง่าย ๆ อย่างที่ว่า ถ้าเกิดขึ้นวันละหลายรอบ อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งคนไม่รู้ตัวว่ามีวงจรนี้เกิดขึ้น วงจรนี้เพิ่งมีการอธิบายโดย Professor Nonaka เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในที่ทำงานบางที่มานานนมแล้ว ที่ที่ทำงานของเราก็มี พอรู้ตัว เราเข้าใจกระบวนการเยอะและเราสามารถใช้ความเข้าใจนี้ไปทำกระบวนการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น นี่ก็เป็น วงจร SECI เพื่อที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นปัญญาปฏิบัติ ความรู้ที่อยู่ในคน มีประสิทธิผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Ba อันนี้ก็เป็นสไลด์ที่ผมยืมมาจาก Professor Nonaka เหมือนกัน ท่านอธิบายคำว่า บะ Ba แปลว่าพื้นที่ พื้นที่สำหรับปฏิสัมพันธ์ที่ดีและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องเกิดขึ้นในนี้ท่านว่า “here-now” ที่นี่และเดี่ยวนี้ ก็คือเกิดมีพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้น ณ ทุกจุดของการทำงาน พูดอย่างนี้เข้าใจยาก ในองค์กรทั่วไปเป็นองค์กรที่เน้นการบังคับบัญชา การทำงานทุกอย่างต้องเป็นไปตามสูตร ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ห้ามแตกต่าง เราทำแล้วเรารู้อันนี้ว่ามันไม่ดีเท่าไหร่ น่าจะมีวิธีดี ๆ กว่านี้ เราก็ไม่กล้า เพราะว่าเดี๋ยวผิด เดี๋ยวนาย หัวหน้ามาดู ประสบการณ์ที่เราได้มันน่าจะดีกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ทั้งหลายก็ไม่กล้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับใคร เพราะว่ากังวลอยู่ตลอดเวลาว่ามันไม่ตรงกับมาตรฐาน ทั้งที่เราคิดว่ามันดีกว่า หรือบางทีเราเคยแอบลองด้วยซ้ำไปว่ามันดีกว่าจริง ๆ ก็ให้เห็นว่าสภาพเช่นนั้น บรรยากาศอย่างนั้นในองค์กรในที่ทำงาน เป็นบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่มีพื้นที่เกิดขึ้น ไม่มี Ba เกิดขึ้นในที่ทำงาน มีก็เหมือนไม่มี

ผมเองคิดลึกไปถึงขนาดที่ว่า Ba พื้นที่นี้มันอยู่ในตัวเราด้วย เราคนเดียว ถ้าเรามีพื้นที่ของการตรวจสอบกันเองระหว่างความรู้เดิมที่เรามีแล้วพอไปทำแล้วเกิดประสบการณ์ มีข้อมูลชุดหนึ่งที่เราไปลองไปทำงานแล้วเห็นอยู่ว่าน่าจะมีวิธีที่ปรับปรุงได้ อย่างนี้เป็นการเปิดพื้นที่ในสมองในใจของเราเอง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเรื่องของพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับชีวิตของมนุษย์เรา แล้วเรื่องของสุขภาวะสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่มีได้ตลอด ที่สร้างแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ตลอด เป็นที่รู้กันว่าในองค์กรที่จะประสบความสำเร็จสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางธุรกิจ ธุรกิจถ้าทำไม่ดีเขาเจ๊ง ถ้าแข่งกับคู่แข่งไม่ได้เขาเจ๊ง ต้องหาวิธีที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ดีกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลาและต้องดีในลักษณะที่ว่าดีกว่าคู่แข่งด้วย ก็ต้องการเครื่องมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้อย่างมีพลัง

พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีหลากหลายแบบ อย่างในสไลด์ มีตั้งแต่ meeting, drinking…กินกาแฟด้วยกัน ... ไม่ทราบว่าพวกเราคิดว่าคนญี่ปุ่นหรือคนไทยใครมีความสุขกว่ากัน....คนไทยนะไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นรวย ระดับการครองชีพสูง แต่มีความสุขน้อย เครียดมาก เครียดอย่างยิ่ง คนญี่ปุ่นจึงมีการ drinking ด้วยกัน เมา... แต่คนญี่ปุ่นเมาแล้วไม่ระราน เมาแล้วน่ารัก... มีกระบวนการ project teams ลงไปถึงการใช้ virtual space คือใช้ e-mail,  teleconference… พวกนี้ถือเป็นพื้นที่หมด ตั้งแต่เจอกันจริง เจอกันจริงอย่างไม่เป็นทางการ ตอนที่ผมทำงานอยู่ที่ สคส. ผมไปถึงที่ทำงาน 06:30 น. มาหกโมงครึ่ง ไม่ใช่ขยัน แต่บ้านอยู่ไกล ต่อมาอีก 15-20 นาที คนอื่น ๆ ก็ทยอยกันมา พอเจอหน้ากันก็คุยกันแล้วว่าเมื่อวานเป็นยังไง เดี๋ยวก็เข้าห้องกินกาแฟกัน... แล้วแต่ว่าเราจะใช้พื้นที่นั้นคุยกันเรื่องอะไร มีบางคนบอกว่าหลายพื้นที่คุยกันเรื่องแหวนเพชร เรื่องรถยนต์ ก็ไม่ผิดอะไร... ช่วยทำให้คนใกล้ชิดสนิทสนมกัน แต่ถ้าคุยกันเรื่องงานก็งอกเงย คุยกันเรื่องแหวนเพชรก็เสียตังค์แต่ก็ให้ความสุขกับหลาย ๆ คน...

หันมาที่เรื่องสุขภาพ สุขภาพเป็นนามธรรม คำว่าสุขภาพเป็นนามธรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นรูปธรรมได้ด้วย เช่น ผมเป็นโรคความดันโลหิตสูง วัดได้ 180 ก็รู้แล้ว รูปธรรม สุขภาพไม่ดีทั้งที่หน้าตาท่าทางก็แจ่มใสแต่ว่าข้างในไม่ดีเท่าไหร่ นี่คือส่วนรูปธรรม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นนามธรรม ซึ่งส่วนที่เป็นรูปธรรมหลายส่วนก็รู้ได้เฉพาะตน ตัวเองรู้ เช่น ผมก็รู้ว่าเช้านี้ผมไม่เต็มร้อยเพราะเมื่อคืนนอนดึก...นอนดึกแล้วจะงัวเงีย... รู้เฉพาะตนข้างใน การที่จะให้เรามีสุขภาพดีเป็นเรื่องของการปฏิบัติ ผมเองพยายามปฏิบัติให้มีสุขภาพดีโดยการออกกำลังกาย วิ่งทุกเช้าถ้าทำได้ ผมสังเกตนะว่าคนในครอบครัวเห็นเลยว่าผมวิ่งมาตั้งแต่อายุ 40 เกือบ 30 ปีแล้ว เกือบทุกเช้า 95% ของทุกเช้าจะวิ่ง ไปไหนก็ต้องมีรองเท้า วิ่ง 20-30 นาที เมื่อเช้าก็วิ่ง การวิ่งก็จะช่วยกระตุ้น... ทุกคนในบ้านรู้หมดเลยว่าพอผมปฏิบัติอย่างนี้สุขภาพดีจมเลยแต่ไม่มีใครทำ เห็นไหมอย่างนี้มันเป็นการปฏิบัติเฉพาะตน แล้วต้องมีกำลังใจที่จะทำ ผมจะบอกว่าสุขภาพเป็นเรื่องเฉพาะตน รู้ว่าดีแต่ไม่ปฏิบัติ รู้ไม่พอต้องปฏิบัติแล้วเห็นผล ที่จริงของผมนี่เห็นผลกันทั้งบ้าน คนเห็นผลแต่ก็ไม่ปฏิบัติ แสดงว่ามีอย่างอื่นมากกว่า เพราะฉะนั้นทำแทนกันไม่ได้ บังคับกันไม่ได้ และการจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ก็ต้องคนที่หัวอกเดียวกัน ใจตรงกัน อย่างผมนี่เจอพวกที่ออกกำลังก็คุยกันสนุกสนาน....(เล่าเรื่องที่เจอเพื่อนสมัยเรียนมัธยมด้วยกันและคุยกันเรื่องวิ่งแล้วสุขภาพดี)

มาถึงเรื่องลึก ๆ ปัญญาปฏิบัติในการสร้างเสริมสุขภาพเป็นอย่างไร ผมได้พูดแล้วว่าเรื่องปัญญาปฏิบัติเป็นทฤษฎีบวกกับปฏิบัติบวกกับการเห็นผล ผมคิดว่าน้ำหนักอยู่ที่ 20-40-40 อยู่ที่ทฤษฎีเพียง 20 อยู่ที่การปฏิบัติ 40 อย่างที่ผมพูดแล้วว่าเห็นผลน่ะเห็นแต่ไม่ปฏิบัติ ทฤษฎีก็รู้ (คนในครอบครัวมีความรู้) แต่ไม่ค่อยทำ ที่จริงก็ทำเหมือนกัน ทำบ้างแต่น้อยเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการไปสนับสนุน หาวิธีที่จะทำให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ ผมคิดว่าจะต้องหาทางทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน 3 กลุ่ม ก็คือนักปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติก็คือชาวบ้าน เราเองก็เป็นชาวบ้านด้วยในฐานะสุขภาพเราเอง เราก็อยู่ในผู้ปฏิบัติด้วย ผมว่าพยาบาลทั้งหลาย 90% ของพยาบาลคือนักปฏิบัติ เป็น professional ส่วนนักทฤษฎีคือพวกอาจารย์ทั้งหลาย อาจารย์พยาบาลจริง ๆ ก็คงเป็นทั้ง 3 อันเลย เป็นนักทฤษฎีด้วย เป็นนักปฏิบัติด้วย และเป็นผู้ปฏิบัติเองด้วย message จากรูปนี้คือถ้าเราจะคุยหาทางเพื่อให้ชาวบ้านมีการปฏิบัติตัวเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพของเขา เขาต้องเข้ามาร่วมวงด้วย แล้วจำนวนคนสัดส่วนของคนที่เข้ามาร่วมวงพูดคุยกันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะการออกกำลังกาย เรื่องอาหารอะไรทำนองนี้ ควรจะมีสัดส่วนของคนที่เป็นผู้ปฏิบัติเป็นจำนวนมากเป็นส่วนใหญ่ ความเห็นผมว่าอย่างนั้น ซึ่งอาจารย์วัลลาจะชำนาญในการชักชวนผู้ปฏิบัติมาร่วมวงและมีวิธีดีไซน์เพื่อให้เขาสนุก

การออกแบบวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้คนสนุก ถ้าจับหลักได้แล้วง่ายนิดเดียว ก็คือต้องให้เขาเป็นผู้แสดง ให้เขาโชว์ ให้เขา show & share ถ้าให้เขาพูดทฤษฎีเขา show & share ไม่ออก ต้องให้พูดสิ่งที่เขาทำ โดยการเล่าเรื่อง เป็น storytelling และเป็นเรื่องที่พอเล่าแล้วคนตาลุก ฟังตาแป๋ว คนจะมีความสุข คนพูดจะมีความสุข อันนี้เป็นหลักง่าย ๆ เป็นหลักจิตวิทยาง่าย ๆ ผมเรียนรู้นี้เมื่อสัก 30 ปีมาแล้ว ตอนที่เป็นคณบดีแพทย์ฯ ที่ มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เราเชิญพวกนักวิชาการไปสอนวิชา Management คราวนั้นเราจัดที่กระบี่ สมัยนั้นที่กระบี่ อ่าวนาง มีโรงแรมอยู่ที่เดียว...ยังมุงหลังคาจาก อยู่ในป่า ดงมะพร้าว นั่งรถจากหาดใหญ่ไปกระบี่ใช้เวลา 7 ชั่วโมง เขาพับผ้าสมัยนั้นพับจริง ๆ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยพับแล้ว เขาตัดถนนใหม่....วิทยากรของเราชื่อศาสตราจารย์ ดร.อรุณ รักธรรม... ก็คุยกันเรื่องวิชาการเรื่องการจัดการ แต่คุยกันแบบง่าย ๆ ... ที่จริงท่านก็เล่าเรื่องที่ท่านเป็นวิทยากร แต่เล่าแบบคุยแล้วผมคอยถาม พอถึงที่หมายท่านบอกว่าคุยกับหมอนี่สนุกจริง ๆ ถึงไม่รู้ตัว ซึ่งผมก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน ได้ความรู้เยอะ... จริง ๆ ท่านพูด 99 ผมพูด 1 ท่านสนุกเพราะได้พูดในสิ่งที่มีความสุขที่จะพูด เราเป็นลูกคู่ที่ดี คอยตอดเล็กตอดน้อย แต่ผมได้ประโยชน์มหาศาล

การที่จะยกระดับปัญญาปฏิบัติ เป็นที่รู้กันและการประชุมนี้ก็ดีไซน์ด้วย KM การจัดการความรู้ โดยการใช้กระบวนการ SECI แต่ในกระบวนการใช้เครื่องมือวงจร SECI ต้องอย่าลืมที่จะดึงทฤษฎีใส่เข้ามาด้วย ลูกศรแดง EK (ในสไลด์) คือ explicit knowledge ใส่เข้าไปในกระบวนการ เวลาจัดระบบความรู้ ถ้าจัดระบบความรู้ที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เฉพาะกลุ่มพวกเราเท่านั้น ไม่เอาความรู้จากทฤษฎีบางส่วนใส่เข้าไป มันไม่พอ มันแคบเกินไป แล้วเวลาจะเอาไปใช้อีกทีก็ต้องเอาความรู้จากทฤษฎีใส่ไปอีก ใส่เข้าไปด้วย ที่จริงแล้วผมคิดว่าลูกศรแดง EK ควรจะใส่เข้าไปในทั้ง 4 quadrants ของ SECI ในกระบวนการ socialization ยกตัวอย่างว่าเราไปทำอะไรกันมาแล้วเรามาคุยกัน หลายครั้งเลยถ้าผมอยู่ในวงแล้วผมเป็นผู้ใหญ่ ผมมีประสบการณ์ยาว อายุเราเยอะ มีประสบการณ์การทำงานเยอะ อ่านหนังสือก็อ่านเยอะ เพราะฉะนั้นในกระบวนการที่คุยที่เล่ากันหลายครั้งผมจะบอกว่านี่ไงหนังสือเล่มนี้เขาว่าอย่างนี้ นี่อย่างนี้ทฤษฎีแล้วนะ เอา explicit knowledge เข้าไปใส่แล้ว ก็จะช่วยยืนยัน หลายครั้งพอคนอื่นเขาพูดว่าเขาสังเกตว่าเป็นอย่างนี้ ๆ แล้วเขาคิดว่าเป็นเพราะสาเหตุอย่างนี้ ผมก็จะบอกว่าเอ้อยืนยันด้วยหนังสือเล่มนี้ ตอนนี้เขาว่าอย่างนี้ ๆ ๆ เห็นไหม อันนี้เป็นการเอาทฤษฎีใส่เข้าไปยืนยัน ทำให้วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มันสนุกและเกิดความมั่นใจ แล้วคนที่ได้รับการยืนยันก็จะมีความสุขมากว่าเขาคิดเองนะ หัวเขาเองนะ ไม่เคยรู้เรื่องทฤษฎีพวกนี้นะ ตรงแป๊ะเลย เห็นไหมมันสร้างความสุขในกระบวนการ

สำหรับอาจารย์ที่เป็นนักวิชาการ ในกระบวนการทั้ง 4 quadrants โจทย์วิจัยมีอยู่เยอะเลย เพราะหลายเรื่องเราเห็น เราทำ เราเห็น เราตีความ แล้วถามว่าตีความอย่างนี้มีทฤษฎียืนยันไหม เมื่อกี้ผมบอกว่ามีใช่ไหม แล้วมีความสุข แต่คราวนี้ไม่มีหรือเราไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า เราก็ต้องไปค้น พอไปค้นแล้วมันไม่มี แปลว่าอะไร แปลว่านี่คือโจทย์วิจัย ทุก quadrants ท่านสามารถสร้างโจทย์วิจัยออกมา แล้วโจทย์วิจัยนี้ลงท้ายจะตอบด้วยกระบวนการที่เราทำงานนั่นแหละ นี่คือประโยชน์ต่อนักวิชาการในการใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการ KM

ที่จริงแล้วกระบวนการ KM เป็นวิธีการที่วงการธุรกิจใช้เพื่อสร้างความรู้ เพื่อความสามารถในการแข่งขันของเขาเองขึ้นมาตีคู่กับเรื่องการวิจัย ผมก็เพิ่งเข้าใจ ผมเพิ่งอ่านหนังสือของ Professor Nonaka เล่มใหม่ Managing Flow แล้วมีคนมาเขียนคำนำ เป็น Professor ทางด้าน Management เขียนคำนำแล้วอธิบายให้ฟังว่าตั้งแต่ปี 1950 กว่า ๆ บริษัทต่าง ๆ แข่งกันอย่างไร แข่งกันด้วยการมี R&D unit เพื่อจะเอาความรู้ basic มาใช้ apply ในการผลิตสินค้า สินค้าตัวใหม่ทั้งหลาย บริษัทจะแข่งได้สมัย 1950 กว่า ๆ ต้องมี R&D unit พอทำไป ๆ ก็ได้ผล แต่ว่าทำไป ๆ มันไม่ชะงัดมาก ก็ค่อย ๆ เคลื่อนมาว่า R&D unit แปลว่าอะไร แปลว่าการแข่งขันนั้นใช้ความรู้ของหน่วย R&D หน่วย R&D เป็นผู้ไปสกัดความรู้จากที่ต่าง ๆ เอามาใช้ แล้วก็สร้างขึ้นมาเพื่อจะทำ product ตัวใหม่ เช่น ทำรถยนต์รุ่นใหม่ ทำทีวีรุ่นใหม่ แล้วทำให้บริษัทแข่งขันได้ แค่นี้ไม่พอ เกิด concept ใหม่ ปี 1959 Peter Drucker บอกว่าต่อไปนี้โลกเราต้องการ knowledge worker ต่อมาก็มีคนบอกว่าทุกคนเป็น “knowledge worker” นี่ KM แล้ว คือทุกคนต้องสร้างความรู้ขึ้นมาใช้เพื่อทำให้บริษัทของเราหรือหน่วยงานของเรา competitive นี่คือ concept ที่ขยายออกไปแล้วว่าการสร้างความรู้ไม่ใช่แค่การวิจัยในหน่วยวิจัย หน่วย R&D แต่เป็นการสร้างความรู้จากจุดทำงานทุกจุดเลย ก็คือ SECI, SECI model เป็นเครื่องมือที่มาอธิบายกระบวนการของการสร้างความรู้ของคนหน้างาน

ตอนหลังที่ศิริราช (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) เราก็คิด R2R เรื่องของการสร้างสรรค์เพื่อจะทำให้เกิดกระบวนการที่จะใช้สติปัญญาของมนุษย์ทุกคน ณ ทุกจุดทำงาน เราคิดได้เยอะ คิดเองใหม่ได้ ... R2R ตอนเกิดใหม่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร ตั้งชื่อกันใหญ่ ชื่อยาว ผมบอกว่าชื่ออย่างนี้ไม่ sexy ชื่อไม่ติดตลาด คิดไปคิดมาก็ได้ R2R, routine to research ดีมาก... คิดโลโก้ คิดไปคิดมาก็บอกว่าต้องเอา R2R มันพูดง่าย R2R… เปลี่ยนคนทำงาน routine ให้เป็นคนที่สร้างความรู้ ปรับวิธีทำงานของตนเอง เกิดประโยชน์มหาศาล จะเห็นว่าวิธีคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญญาปฏิบัติจะโยงไปได้เรื่อย โยงไปได้อีกสารพัด

ขอโยงมาสู่เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพให้มากขึ้น ว่าเราสามารถที่จะมีชมรมการสร้างเสริมสุขภาพ ชมรมนี้ภาษา KM คือ CoP, Community of Practice ชุมชนแนวปฏิบัติหรือชุมชนนักปฏิบัติ การมีชมรมหรือ CoP แบบนี้สามารถสร้างได้เยอะ เช่น ชมรมแอโรบิค ชมรมร้องเพลง การร้องเพลงก็ทำให้สุขภาพดีขึ้น ทำให้ดียิ่งขึ้นก็ร้องไปเต้นไป... คนที่สนใจอะไรร่วมกันมาเป็นชมรม ชุมนุมร่วมกันตามที่สนใจ เกิดขึ้นในหน่วยงานในพื้นที่ในชุมชนอะไรอย่างนี้ พอทำไป ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายประเด็น โยงเข้าหาสุขภาพได้ทุกเรื่อง โยงเข้าสู่การเสียสุขภาพก็ได้เหมือนกัน เช่นเป็นชมรมอยู่ดี ๆ ก็ดื่มเหล้า... แล้วก็สามารถที่จะวัดและประเมินผลที่เราต้องการ พอเป็นชมรมแล้วก็ลองมาคิดกันดูว่าเราอยากให้เกิดอะไรขึ้นที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเรา แล้ววัดดูว่าเป็นอย่างไร ชาวบ้านคิดกันเองได้อย่างนี้ แต่เขาวัดไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นเขาบอกว่าพวกเราเป็นความดันโลหิตสูง เรามาทำอันนี้กันเพื่อลดความดัน แต่เขาไม่รู้ว่าความดันลดหรือเปล่า แต่รู้ว่าเขาสบายขึ้น ก็มาเชิญพยาบาลชุมชนให้วัดความดันให้ อย่างนี้ก็สามารถที่จะประเมินผลได้อย่าง objective แล้วก็สามารถจดบันทึกและเปรียบเทียบได้

จุดที่สำคัญคือตรงนี้ คือการใช้ After Action Review คือเราปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วดี สบายขึ้น ยังไม่พอ ต้องมาทำ After Action Review หรือ reflection ว่าที่ทำไปแล้วเราว่าดีขึ้น มันดียังไง คิดว่าสาเหตุจากอะไร อย่างนี้เขาเรียกว่าทำ reflection หรือ AAR เพื่อให้เห็นคุณค่า ให้เกิดความเข้าใจในมิติที่ลึกขึ้น มีการตั้งคำถาม ต้องมี facilitator ที่เก่งแล้วก็ตั้งคำถามที่ลงลึก ที่เหมาะสม ถ้าลึกเกินไปสำหรับชาวบ้าน ชาวบ้านก็เบื่อ เกินกำลัง ต้องให้พอดีแล้วก็จะเกิดความเข้าใจเป็นระยะ ๆ อย่าลืมว่าในช่วงของการทำ After Action Review  นี้ หลายครั้งจะมีการเติมทฤษฎีเข้าไปด้วย อยู่ที่การดีไซน์ ซึ่งหลายท่านในที่นี้โดยเฉพาะอาจารย์วัลลาจะเข้าใจวิธีดีไซน์แบบนี้ดี จากชมรมโยงกันหลาย ๆ ชมรมก็กลายเป็นเครือข่าย ก็จะสนุกสนานขึ้น เกิดความครึกครื้นขึ้น เกิดเครือข่ายในพื้นที่ อะไรอย่างนี้ เราอยากให้เกิดอย่างนี้

เครือข่ายในพื้นที่จะมีเป็นเครือข่ายเชิงประเด็น เครือข่ายเชิงกลุ่ม กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเยาวชน กลุ่มพ่อแม่ของเด็กที่มีปัญหาอะไร ๆ อย่างนี้ หรือว่าเป็นเครือข่ายเชิงกิจกรรม เช่น กิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ป่า เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลขยะ อะไรอย่างนี้ ก็สามารถที่จะทำได้ จริง ๆ แล้วเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพไม่จำกัดเฉพาะเรื่องสุขภาพภายในตัวเราเท่านั้น มันโยงไปสู่เรื่องอื่น ๆ ได้อีกเยอะแยะ เป็นมิติหนึ่งของปัญญาปฏิบัติ

นักวิชาชีพหรือนักวิชาการสามารถไปมีบทบาทต่อชมรมหรือเครือข่ายเหล่านั้นได้เยอะ ก็เหมือนอย่างที่ทีมอาจารย์วัลลาทำเครือข่ายเบาหวาน ก็จะไปร่วม AAR กับเขา ช่วยจดบันทึก เพราะบางทีชาวบ้านก็จดบันทึกไม่เก่ง เราก็ต้องไปช่วย คอยฝึกให้เขาจดบันทึกขึ้นมา ชาวบ้านถ้าฝึกเขาจะจดบันทึกได้ดี ผมเคยไปร่วมกับชาวนา ทำโรงเรียนชาวนา ทำแล้วก็มาประชุมกันทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละครึ่งวัน คือมา AAR กัน ใหม่ ๆ ก็ไม่จด เพราะเขาเขียนหนังสือตัวโย้เย้ อาย สะกดการันต์ผิด ๆ ถูก ๆ แต่พอมีคนหนึ่งเขียนขึ้นมาแล้วเราชม หลังจากนั้นจดกันอุตลุดเลย ตอนหลังไม่มีกระ

หมายเลขบันทึก: 504955เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 06:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท