การเข้าถึงอาตมัน ใน มาณฑูกยะ อุปนิษัท


ขณิกนิพพาน ปรากฏให้ภาวะที่ ๔ คือ ตุรียะ

การเข้าถึงอาตมันที่ปรากฏในมาณฑูกยะอุปนิษัท

                คัมภีร์อุปนิษัท  นับว่าเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์ที่ได้รวบรวมดอกไม้ต่าง ๆ ไว้มากมาย   แม้ดอกไม้จะแตกต่างกันบ้าง   แต่กลิ่นของมันไม่แตกต่างกันเลย    ถึงเวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใด  อุปนิษัทก็ยังคงกลิ่นของมันไว้เหมือนเดิม    กลิ่นนั้นคือกลิ่นแห่งความจริงแท้   กลิ่นแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอาตมัน  และพรหมัน   มาณฑูกยะอุปนิษัทก็เป็นหนึ่งในดอกไม้  และเป็นหนึ่งแห่งความจริงแท้  ของความจริงทั้งหมด   และการที่จะทำให้เราเข้าถึงอาตมันได้นั้น  ในมาณฑุกยะอุปนิษัทก็ได้แบ่งออกเป็น  ๒  วิธีด้วยกัน  คือ  การเข้าถึงอาตมันด้วยคำว่า “โอม”  และการเข้าถึงอาตมันด้วยในขณะที่เราตื่น  หลับฝัน  และหลับสนิท

 

            ๑.       การเข้าถึงอาตมันด้วยคำว่า  “โอม”

           มาณฑูกยะอุปนิษัท  เป็นอุปนิษัทหนึ่งที่ได้อธิบายถึงคำว่า  “โอม”  ไว้  และการที่เราจะเข้าถึงอาตมันได้นั้น  เราก็ต้องใช้คำว่า “โอม”  ในการช่วย  โดยการที่นำคำว่า “โอม”  มาใช้ในการบริกรรม  เพื่อทำสมาธิจากระดับแรก  คือเสียงอะ   เมื่อทำการบริกรรมคำนี้ไปเรื่อย ๆ  จนกว่าเราเห็นว่าคำนี้เราสามารถเข้าใจ  หรือทำได้ชำนาญแล้ว  เราก็เพิ่มระดับขึ้นไปอีก            โดยบริกรรมคำว่า  อุ  เมื่อทำการบริกรรมคำนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะรู้สึกว่าจิตของเราละเอียดมากกว่าเดิมแล้ว  เราก็เริ่มบริกรรมเพิ่มระดับขึ้นไปอีก  โดยบริกรรมคำว่า  มะ    เมื่อบริกรรมคำนี้ไปจิตของเราถึงความเป็นสุขชั่วขณะ  มีความสุขจากการรวมสิ่งสองสิ่งเข้าเป็นสิ่งเดียวกัน  โดยไม่มีเหตุ  มีแต่ผล  จากนั้นเราก็บริกรรมคำอันเป็นสิ่งสูงสุดคือ  คำว่า “โอม”  เราก็จะหมดซึ่งสิ่งที่เป็นคู่ทั้งหมด  ไม่มีเหตุและผล  ไม่มีของสองสิ่งอีกต่อไป  ทำให้จิตของเราถึงสภาพที่เรียกว่าเป็น     ปีติสุขอันยอดยิ่ง  คือเป็นสวภาวะที่เป็นอาตมัน   ดังข้อความที่กล่าไว้ในมาณฑูกยะอุปนิษัทว่า

 

               เสียง   “โอม”   เมื่อไม่มีส่วน หรือไม่มีเสียงนับ  อันเป็นส่วนที่  ๔        ซึ่งอยู่เหนือการเกี่ยวข้องใด ๆ ว่างจากปรากฏการณ์ทั้งปวง  มีความสงบเย็น     หนึ่งไม่มีสอง  ดังนั้น  โดยแท้จริงแล้ว  เสียง “โอม” ก็คืออาตมัน  บุคคลผู้รู้อย่างนี้      ย่อมพาตนเข้าไปสู่อาตมัน

 

               การถือเอา “โอม” เป็นคำเดียว  หมายถึงการถือเอาเป็นคำบริกรรม  เพื่อให้จิตจดจ่อเป็นสมาธิ  แต่เมื่อต้องการให้สมาธิละเอียดประณีต  ต้องเพ่งอาตมันให้ละเอียด  โดยแยกเป็นส่วน  และคำว่า “โอม” ซึ่งใช้เป็นสื่อนี้ก็ต้องแยก “โอม”  ออกเป็นส่วนด้วย  คือ  แยกออกเป็น  ๓  เสียง  ได้แก่  เสียง  อะ  เสียง  อุ  และเสียง  มะ    และคำว่า “โอม” นี้   เมื่อเปล่งเสียงออกมาหลาย ๆ ครั้ง  เสียง อะ  และเสียง  อุ  ก็จะเลือนหายเข้าไปในเสียง  มะ  และปรากฏอีกครั้ง  เมื่อเริ่มต้นออกเสียง  “โอม” ด้วย  อะ  อุ  มะ  ซึ่งก็เหมือนกับการตวงข้าวเปลือกใส่ยุ้งแล้วตักออกมาอีก  ทำนองเดียวกัน  สวภาวะตื่นและสวภาวะหลับฝัน  ก็เลือนหายไปสู่สวภาวะหลับสนิท  แล้วจึงค่อยผุดโผล่ขึ้นมาอีกเป็นสวภาวะหลับฝันและสวภาวะตื่นตามลำดับ  เมื่อเราทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จิตของเราก็จะเป็นสมาธิ   และการทำสมาธิจากเสียงอะ  เสียงอุ   เสียงมะ  และคำว่า “โอม” นี้เอง ทำให้เกิดสวภาวะ  ที่  ๔  คือ     ตุรียะ  อันเป็นสวภาวะที่เป็นอาตมัน  และทำให้เราบรรลุถึงโมกษะด้วย   เพราะ       สวภาวะที่  ๔  ที่เป็นอาตมันนี้เอง  ก็คือโมกษะด้วยและโมกษะก็คืออาตมัน  ทั้ง ๒  สิ่งนี้ก็ไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้เหมือนกัน

 

๒.      การเข้าถึงอาตมันด้วยสวภาวะทั้ง  ๔

           สวภาวะทั้ง  ๔  คือ  สวภาวะตื่น  สวภาวะหลับฝัน  สวภาวะหลับสนิท  และ    สวภาวะหลับสนิทที่ปราสจากการฝัน  อันเป็นสวภาวะที่เราสามารถเจอได้ทุกวัน  และสิ่งเหล่านี้  ก็สามารถที่จะนำเราไปสู่สวภาวะแห่งอาตมันได้  จนบรรลุถึงสิ่งที่เราต้องการสิ่งนั้นก็คือการบรรลุโมกษะนั่นเอง 

             สวภาวะตื่น  คือสวภาวะแรกที่เราเจอในตอนที่เราตื่น  และสิ่งที่เราเจอนั้น  ล้วนแต่เป็นสิ่งที่หยาบ ๆ เมื่อเราเห็นสิ่งเหล่านั้น  เราก็จะเสพรับรู้มันเข้ามาในตัวเราขณะที่เราตื่น  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกรับรู้  โดยอาตมันในตัวเราเป็นผู้รู้สิ่งเหล่านี้   และเป็นการเข้าถึงอาตมันในชั้นแรก ขณะที่เราหลับฝัน  เราก็จะฝันสิ่งต่าง ๆ รับรู้มันไว้ในมโนภาพของเรา  อาตมันที่อยู่ภายในเราก็รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เราฝันและมันก็เพลิดเพลินจากความฝันเรา  และนี้ก็เป็นการเข้าถึงอาตมันในชั้นที่  ๒  แต่ว่าทั้ง  ๒  สวภาวะนี้ยังจำกัดไว้ด้วยเหตุและผลอยู่  กล่าวคือ  ยังไม่สามารถรู้แจ้งอาตมันในตัวเราได้  เป็นการรู้ว่ามีสิ่งที่รับรู้ในภายในเราเท่านั้น   สวภาวะที่  ๓  คือ สวภาวะหลับสนิท     สวภาวะนี้  เราก็จะหลับสนิท  สงบ  มีความสุข  เป็นการรวมสิ่งที่เราเจอในขณะตื่นและขณะที่เราหลับฝันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทำให้สิ่งนี้มีแต่ผล  ไม่มีเหตุ  นี้ก็เป็นการเข้าถึงอาตมันในชั้นที่  ๓  อาตมันในชั้นนี้จะละเอียดมาก  แต่ก็ยังไม่ใช่อาตมันที่บริสุทธิ์อยู่ดี  แม้ว่าอาตมันจะมีความสุขยิ่งก็ตาม   และเมื่อเราหลับสนิทแล้วปรากฏว่าเราไม่รู้สึกฝันขึ้นมาเพียงชั่วคราว  สิ่งที่ปรากฏชั่วคราวนี้เองที่เรียกว่า  ตุรียะ  อันเป็นสวภาวะที่อาตมันบริสุทธิ์และเป็นการบรรลุถึงโมกษะเพียงชั่วคราวของเราด้วย  แต่ถ้าเราทำได้นาน ๆ และตลอดไป  แสดงว่าเราเข้าถึงอาตมันอย่างแท้จริง  โดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ใด ๆ จากขณะที่ตื่น และขณะที่ฝัน  เราก็สามารถที่จะเข้าถึงอาตมันได้ และก็บรรลุโมกษะถึงความหลุดพ้นจากการรู้แจ้งอาตมัน

 

            จากที่ได้กล่าวมา  จะเห็นได้ว่า  วิธีการเข้าถึงอาตมันของมาณฑูกยะอุปนิษัทนั้น    มี  ๒  วิธีการด้วยกัน  แล้วแต่ว่าใครจะเลือกเอาวิธีการหนึ่งวิธีการใด  เพื่อให้ได้เข้าถึงอาตมันและบรรลุโมกษะในที่สุด


บรรณนุกรม

S. Gambhīrānanda,  Māndūkya  Upanisạd


หมายเลขบันทึก: 504627เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ คุณทิมดาบที่ติดตามอ่านนะครับ

ขอบคุณด้วยความจริงใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท