Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทของประเทศอินโดนีเซียกับอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

 

6.สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)
         

         เมืองหลวงคือ จาการ์ตา ถือเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่ 1,919,440 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากถึง 240 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ.2553) โดย 61% อาศัยอยู่บนเกาะชวา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษา Bahasa Indonesia เป็นภาษาราชการ

 

ข้อมูลทั่วไปของประเทศอินโดนีเซีย

       ประเทศอินโดนีเซีย หรือชื่อทางการว่า “สาธารณรัฐอินโดนีเซีย” (Republic of Indonesia) เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า 17,500 เกาะ แต่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 3,000 เกาะ ภูมิประเทศของอินโดนีเซียตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรอินโดจีนกับทวีปออสเตรเลีย และระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก จึงทำให้อินโดนีเซียสามารถควบคุมเส้นทางการติดต่อระหว่างมหาสมุทรทั้งสองผ่านช่องแคบสำคัญต่างๆ เช่น ช่องแคบมะละกา ซุนดรา และลอมบ็อก ซึ่งล้วนเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมายังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก     เฉียงใต้และเอเชียตะวันออก อินโดนีเซียมีพื้นที่ราว 5,193,250 ตารางกิโลเมตร ชื่อ “Indonesia” มาจาก “indos nesos” แปลว่า “หมู่เกาะใกล้อินเดีย” มีประชากรกว่า 237 ล้านคน (สำรวจปี 2553) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม (88%) ศาสนาคริสต์ (8%) ศาสนาฮินดู (2%) ศาสนาพุทธ (1%) และศาสนาอื่นๆ (1%) ภาษาทางการคือ ภาษาอินโดนีเซีย หรือ Bahasa Indonesia 

ปัจจุบัน ประเทศอินโดนีเซียปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร แบ่งการปกครองเป็น 30 จังหวัด 2 เขตการปกครองพิเศษ และ 1 เขตนครหลวงพิเศษ มีเมืองหลวง คือ กรุงจาการ์ตา

 

ในด้านเศรษฐกิจ พื้นที่ส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียเป็นป่าดงดิบ เป็นประเทศที่มีป่าไม้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลผลิตจากป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็ง ด้านเกษตรกรรมมีการปลูกพืชแบบขั้นบันได มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยาสูบ ข้าวโพด เครื่องเทศ ประมง และมีแร่ธาตุที่สำคัญได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งทำรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุด อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การกลั่นน้ำมัน การต่อเรือ เป็นต้น[1] สกุลเงินของประเทศอินโดนีเซีย คือ รูเปียห์

 

การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน

อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนโดยการร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ของนายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีจากกระทรวงการต่างประเทศ ในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งอาเซียน อินโดนีเซียจัดได้ว่าเป็นชาติที่มีศักยภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอื่นๆ เหตุผลที่ประเทศอินโดนีเซียเข้าร่วมอาเซียนในปี 2510 มีปัจจัยสนับสนุนแบ่งเป็น 2 ด้านหลักๆ กล่าวคือ

 

1) ปัจจัยแวดล้อมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์และสังคม เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากร มีประชากร และมีพื้นขนาดใหญ่เป็นพี่เบิ้มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำไปสู่การเสริมสร้างทัศนคติของอินโดนีเซียที่มองเห็นศักยภาพและความพร้อมของตนเองที่เหนือประเทศในภูมิภาคเดียวกัน จนเกิดความรู้สึกเลื่อมใสในตัวเอง (self-respect) และรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ (self-importance) เหล่านี้ผลักดันให้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการระหว่างประเทศ

 

2) การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวคือ ภายหลังได้รับเอกราช จากเนเธอร์แลนด์ในปี 2488 อินโดนีเซียมีนโยบายต่างประเทศที่เน้นหนักไปในเรื่องความเป็นชาตินิยม ต่อต้านสหรัฐฯและอดีตจักรวรรดินิยม ตลอดจนปฏิเสธการที่จะเข้าร่วมเป็นภาคีกับกลุ่มประเทศใด ยึดมั่นในหลักการ “เป็นอิสระและแข็งขัน” (Independent and Active) ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นผลจากอิทธิพลและประสบการณ์ในยุคที่อินโดนีเซียอยู่ใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ ทำให้มีการต่อสู้อย่างมุ่งมั่นเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชและอธิปไตย ดังนั้น พฤติกรรมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศของอินโดนีเซีย จึงมีลักษณะไม่ผูกพันกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (Non-Alignment) ส่งผลให้อินโดนีเซียมีความเหินห่างออกจากภูมิภาคและไม่ได้ให้ความสนใจในความเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค จนกระทั่งในปี 2508 สมัยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ภายใต้ยุค “ระบบใหม่” เน้นหลักอาศัยนโยบายการเศรษฐกิจนำการเมือง หันมาสนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง และสร้างความร่วมมือภายในภูมิภาค โดยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีความประนีประนอมมากขึ้น แต่ยังคงยึดมั่นในหลักการ “เป็นอิสระและแข็งขัน” และให้ความสำคัญแก่กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอยู่เช่นเดิม ในขณะที่มีท่าทีต่อเพื่อนบ้านผ่อนปรนมากขึ้น นำไปสู่ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการก่อตั้งอาเซียน

 

บทบาทของอินโดนีเซียในอาเซียน

                     ประเทศอินโดนีเซียในสมัยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ได้มีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยหันมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมากขึ้น และมีความพยามยามในการร่วมมือในส่วนภูมิภาคมากขึ้น ดังเช่น การที่อินโดนีเซียประกาศยุติการเผชิญหน้ากับมาเลเซียด้วยหลัก “การยุติปัญหาของชาวเอเชียโดยชาวเอเชียด้วยกันเอง” (Asian Solutions for Asian Problems)[2] อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปี พ.ศ.2540-2541 อินโดนีเซียมีปัญหาภายในที่มีสภาวะการผลัดเปลี่ยนผู้นำ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้บทบาทในอาเซียนของอินโดนีเซียลดลงไป กระทั่งเริ่มมีบทบาทอย่างสำคัญในอาเซียนอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์ตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ถล่ม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โดยในช่วงระยะเวลา 1 ปี หลังเหตุการณ์ อินโดนีเซียได้มีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นประเทศที่ถูกเชื่อว่ามีฐานของกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่ภายในประเทศ[3] ทำให้อินโดนีเซียต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย โดยได้ร่วมมือกับอาเซียนในการประกาศใช้ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านลัทธิการก่อการร้ายปี 2001 (2001 ASEAN Declaration on Joint Action to Counter Terrorism) นอกจากนี้ยังได้เสนอเป็นผู้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการต่อสู้กับลัทธิการก่อการร้ายระหว่างประเทศอีกด้วย

 

ในด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน ประเทศอินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 3 สมัยด้วยกัน กล่าวคือ

 

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2519 ที่เมืองบาหลี มีการประกาศปฏิญญาบาหลีฉบับที่ 1 หรือ Bali Concord I ซึ่งช่วยวางรากฐานสำคัญให้กับอาเซียน โดยเสนอวัตถุประสงค์และโครงสร้างของอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก และกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา โดยมีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือ เพื่อยึดเป็นพื้นฐานในการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ

 

ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 7-8 ตุลาคม 2546 ที่เมืองบาหลี ในครั้งนี้อาเซียนได้ประกาศปฏิญญาบาหลีฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งกำหนดให้มี 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงและการเมือง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคม-วัฒนธรรม

 

ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 ที่เมืองบาหลีเช่นกัน อาเซียนมีแผนที่จะออกปฏิญญาบาหลีฉบับที่ 3 ซึ่งจะกำหนดบทบาทและทิศทางของประชาคมอาเซียนในเวทีโลกจะเห็นได้ว่าอินโดนีเซียมีบทบาทนำในอาเซียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน อินโดนีเซียมักจะนำเสนอแนวความคิดและโครงการใหม่ต่ออาเซียน

โดยในปี 2554 ที่อินโดนีเซียรับตำแหน่งประธานอาเซียน อินโดนีเซียได้มีความริเริ่มที่สำคัญ 4 ประการ 

 

ประการแรก คือ การเสนอตัวเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเรื่องเขตแดนรอบปราสาทเขาพระวิหาร

 

ประการที่ 2 ความพยายามผลักดันให้พม่าเปิดกว้างทางด้านการเมืองมากขึ้น และเร่งปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เพื่อให้พม่าก้าวทันโลกไปพร้อมกับประเทศอื่นในอาเซียน

 

ประการที่ 3 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก มีสหรัฐอเมริกา และรัสเซียเข้าร่วมเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการสร้างระเบียบและสถาบันความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และวาระที่ชัดเจนมากขึ้น

 

ประการที่ 4 การริเริ่มการผลักดันให้มีการเจรจาเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้ จนเกิดปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยธำรงสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ เป็นการตอกย้ำบทบาทที่สำคัญที่สุดของอาเซียน ในการสร้างกฎระเบียบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประเทศสมาชิก ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอาเซียน[4]

 
  อ่านข้อมูลประเทศอินโดนีเซีย ได้ที่นี่

 

[1] วิทย์ บัณฑิตกุล. รู้จักประชาคมอาเซียน. (กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2554). หน้า 214.

[2] พิษณุ สุวรรณะชฎ. สามทศวรรษอาเซียน (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2540). หน้า 44.

[3] สุริชัย หวันแก้ว และคณะฯ. อาเซียน : สิ่งท้าทายใหม่และการปรับตัว. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2548). หน้า 74.

[4] Komsan. บทบาทของอินโดนีเซียในอาเซียน. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2555 จากhttp://news.voicetv.co.th/global/23660.html

หมายเลขบันทึก: 503005เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2012 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2012 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท