การจัดการเรียนการสอนแบบเฟรอเบล


"เด็กเปรียบเสมือนเมล็ดพันธ์ที่ต้องการการพัฒนาให้งอกงามทั้งสติปัญญาร่างกาย จิตใจและสังคม การจัดการศึกษาที่ดีต้องส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เต็มศักยภาพในทุกด้านอย่างมีความหมาย"

 การเรียนการสอนแบบเฟรอเบล (Froebelian Model)

ต้นแบบอนุบาล

“เด็กเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการการพัฒนาให้งอกงามทั้งสติปัญญาร่างกาย จิตใจและสังคม การจัดการศึกษาที่ดี ต้องส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เต็มศักยภาพในทุกด้านอย่างมีความหมาย”

แนวคิดพื้นฐาน

       เฟรอเบล นักการศึกษาชาวเยอรมันและผู้นำการศึกษาอนุบาล ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาการศึกษาอนุบาล” เฟรอเบล เชื่อว่า เด็กมีความสามารถสำหรับสิ่งดีงามและความรู้มาตั้งแต่เกิด การเรียนที่ดีต้องให้เด็กมีประสบการณ์ที่เด็กสามารถได้เล่น ได้แสดงออก ได้ค้นหาสืบเสาะ ประสบการณ์ที่จัดให้เด็กนั้นต้องสะท้อนระดับพัฒนาการ ความสนใจการเรียนรู้ด้วยการลงมือกะทำอย่างเข้าใจของเด็กอย่างชัดเจน เด็กควรได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน โดยเฉพาะการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ดีสำหรับเด็กคือ การเล่น

การเรียนการสอน

            ชุดอุปกรณ์หรือ Gifts เป็นชุดอุปกรณ์ที่เฟรอเบลพัฒนาขึ้นสำหรับการสอนเด็กปฐมวัย เป็นหัวใจสำคัญของสื่อการสอนและแบบเรียนสำหรับเด็ก ชุดอุปกรณ์นี้ประกอบด้วยวัสดุสัมผัสได้ จำนวน 10 ชุด จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการรับรู้ความเหมือน ความสัมพันธ์ ความเกี่ยวเนื่อง และความหลากหลายให้กับเด็กด้วยการคิดอย่างมีเหตุผล (Cromwell, 1994: 6-7)

             การงานอาชีพ หรือ Occupations เป็นกิจกรรมเสริมการเรียนชุดอุปกรณ์ที่เฟรอเบลกำหนดขึ้น เพื่อให้การเรียนการสอนเด็กครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน มีหลากหลายเช่น พับกระดาษ ฉีกกระดาษ ถักทอ ร้อยลูกปัด วาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน สานริ้วกระดาษ เป็นต้น ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนนี้ ยังประกอบไปด้วยการร้องเพลง เต้นรำ การเคลื่อนไหว การเล่นเกมที่สร้างความสนุกสนานให้กับเด็ก โดยเฉพาะการเล่นถือว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กสูงสุด (Read,et. Al., 1993:183)

หลักการสอน

    การเรียนการสอนแบบเฟรอเบล เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เด็กได้เล่นและเรียนรู้จากการเล่นและร้องเพลง โดยใช้อุปกรณ์การเล่นแบบชุดอุปกรณ์ และกิจกรรมการงานอาชีพ หลักการสอนที่สำคัญคือ

1.  ครูต้องมีแผนการสอน ครูต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ชุดอุปกรณ์และกำหนอกิจกรรมการงานอาชีพ ให้สอดคล้องกับวัย พัฒนาการและความพร้อมของเด็กในการเรียน แล้วเปิดโอกาสให้เด็กลงมือเล่นกับอุปกรณ์อย่างอิสระตามธรรมชาติ โดยครูเป็นผู้สังเกตพร้อมให้การสนับสนุนการเรียนรู้

2.   ครูต้องสอนระเบียบเมื่อเล่นเสร็จแล้ว เด็กต้องเก็บชุดอุปกรณ์ที่เล่นเข้าที่ให้เป็นระเบียบ เด็กจะได้เรียนรู้การมีระเบียบจากการเก็บชุดของเล่นนี้ เฟรอเบลกล่าวว่า “การกระทำที่เป็นระเบียบ เป็นทางนำไปสู่การคิดที่เป็นระเบียบด้วย” (Gordon and Browne,1993:10)

     นอกจากการเล่นชุดอุปกรณ์ ครูต้องจัดกิจกรรมการงานอาชีพและกิจกรรมนันทนาการอื่นๆ เสริม เพื่อสร้างสุนทรีวิจักษ์และการเรียนความเป็นมนุษย์ ชีวิต และคุณงามความดีด้วย เพราะชุดอุปกรณ์ที่เฟรอเบลสร้างขึ้นจะเน้นการส่งเสริมความเข้าใจหยั่งรู้เท่านั้น ซึ่งการพัฒนาเด็กต้องครอบคลุมถึงจิตใจ อารมณ์ สังคม และคุณธรรมด้วย

      การพัฒนาเด็กที่ดีต้องสอดคล้องผสมกลมกลืนไปกับธรรมชาติของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้จากง่ายไปยาก จากธรรมชาติของเด็กไปสู้การเรียนรู้ที่พึงปรารถนา โดยมีครูเป็นผู้แนะแนว และสนับสนุนให้เด็กเกิดภาวะสร้างสรรค์ รู้จักสัมพันธภาพทางสังคม

หลักการสำคัญของการจัดการเรียนการสอนต้องมีอย่างน้อย 6 ประการ ดังนี้

  1. เด็กสัมผัสการเรียนรู้ด้วยความสุข
  2. เด็กได้สังเกตอย่างเรียนรู้โดยมีครูแนะนำสนับสนุน
  3. เด็กเกิดภาวะสร้างสรรค์ จากากรคิดในการปฏิบัติกิจกรรม                    
  4. เด็กเกิดพัฒนาจิตนิยมจากกิจกรรมการงานอาชีพ เช่น การเล่นเสรี การร้องเพลง การรู้จักเก็บของเข้าที่ เป็นต้น
  5. เด็กรู้จักการเข้าสังคมที่ถูกต้อง จากการเล่นหรือการเรียนร่วมกับเพื่อนๆและฝึกการมีวินัยจากการทำกิจกรรมประจำวัน
  6. เด็กเพิ่มพูนการพัฒนาพุทธิปัญญา เช่น การนับ การวัด การเปรียบเทียบ การจำแนก จากกิจกรรมการเล่นปนเรียนของเด็กที่ครูจัดสรรและกำหนดแผนมาอย่างเป็นระบบ

อ้างอิง

กุลยา  ตันติผลาชีวะ.รูปแบบการเรียนการสอนปฐมวัยศึกษา.-กรุงเทพฯ: เบรน-เบส บุ๊ค, 2551

หมายเลขบันทึก: 502921เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2012 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2012 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็ยวิธีการสอนที่มี วิธีการ หลักการ ที่ดีมาก

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท