ธนาคารน้ำและเขื่อนชุมชนร่องเนินเพื่อการเกษตรและป้องกันน้ำท่วม


 

ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางขึ้นอีสานเหนือเพื่อหาซื้อของเข้าพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ (ก่อนปิดงบประมาณ)    คราวนี้ขับผ่านแถวอุดรธานีต่อสกลนคร ได้เห็นภูมิประเทศที่คล้ายกับแนวพิจิตรต่อ พิษโลก ตาก  กำแพงเพชร   รวมถึง ชัยภูมิ ขอนแก่น   และจว. อื่นๆ  คือมีลักษณะเป็นเนิน  (หรือ โคก  หรือ ดอน    เตี้ยๆ)  มากหลาย   สลับกันเป็นริ้วๆ    โดยเฉลี่ยโคกเหล่านี้สูงประมาณ 50 เมตร   กว้างประมาณ 2000 เมตร ยาวก็ประมาณนี้   เป็นหลังเต่ากระจาย    ดูจากระยะไกลแล้วก็มีความสวยงามตามธรรมชาติเฉพาะตัวไปอีกแบบ   ถ้าไปสร้างบ้านอยู่บนยอดเนินจะสวยมาก เพราะได้ลมแรง และได้วิวดี

 

พื้นที่เหล่านี้ทำนาไม่ได้ ส่วนใหญ่ที่เห็นก็คือ การปลูกอ้อย ข้าวโพด  มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชนบทไทยเรา    ก็ยากจนกันต่อไปตามปกติ จนทำให้หลายคนต้องไปหารายได้จากการรับจ้างชุมนุมในใจกลางกทม. เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับนักธุรกิจการเมืองบางคน

 

มือถือพวงมาลัยใจก็คิดไปพลางว่า ทำไมเราไม่กั้นเขื่อน ระหว่างหุบร่องเนินซึ่งเป็นร่องรับน้ำจากลูกเนินทั้งสองฝั่ง  ซึ่งถ้าเราทำเป็นขยักๆ ไปเรื่อยๆ ตามร่องน้ำ  เราจะได้เขื่อนจำนวนมาก ทั้งในแนวดิ่ง และแนวขนาน โดยเราได้ระดับน้ำลึกขนาด ๕ เมตร หน้าตัดเขื่อนเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่มีหน้ากว้างประมาณ 200 เมตร   ความยาวขนาดสัก 2 กม.  เราจะกักน้ำได้เขื่อนละ 500,000 ลูกบาศก์เมตร   ถ้าเรามีสัก 1000 เขื่อนใน 1 จว. (คือมีประมาณ 1 หมู่บ้านต่อ 1 เขื่อน )    เราก็กักได้  500 ล้าน ลบ. เมตร   

 

 

การสร้างเขื่อนกักน้ำแบบนี้จะ ลงทุนน้อยมากเพราะไม่ต้องขุดหนอง   และกินเนื้อที่น้อย (ผลกระทบต่อระบบนิเวศต่ำ)     เพราะสร้างตรงหุบเนินที่มีความลาดชันสูง   ที่ซึ่งหน้าตัดเขื่อนเป็นรูปสามเหลี่ยม 

 

 

สำหรับเงินลงทุนสร้าง อาจกู้มาจาก “ธนาคารน้ำ”  ซึ่งรัฐบาลต้องตั้งขึ้นมา หรือจะใช้โครงสร้างของธกส. ก็ได้

 

 

ปริมาณน้ำที่กักได้จะไปเพิ่มผลผลิตการเกษตรในพื้นที่ ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งก็เอาไปจ่ายคืนเงินกู้ระยะยาว (เช่น ๒๐ ปี)   อีกทั้งจะมีรายได้เสริมคือผลผลิตการประมง และพืชน้ำอีกด้วย

 

การรดน้ำพื้นที่สวน ไร่ นา ซึ่งปลูกบนเนินในระบบนี้คือ รดน้ำตอนกลางคืน ด้วยการสูบน้ำจากหุบเนินขึ้นไปบนยอดเนินแล้วปล่อยให้ไหลด้วยแรงโน้มถ่วงลงไปรดไร่นา   ทั้งนี้โดยการใช้ปั๊มมอเตอร์ไฟฟ้า โดยใช้ไฟที่ผลิตในเวลากลางคืนซึ่งมักเป็นไฟที่เหลือใช้ ซึ่งทำให้ค่าไฟมีราคาถูก และหรือทำให้โรงไฟฟ้ามีการผลิตเต็มศักยภาพตลอดทั้งวันทั้งคืน  (ไม่เสียศักยภาพไปโดยเปล่าประโยชน์ในเวลากลางคืน)    อีกทั้งน้ำที่ล้นฝายออกไปก็ยังสามารถนำไปปั่นเป็นไฟฟ้าขนาดเล็กได้อีกด้วย 

 

พอมีน้ำแบบนี้จะทำให้มีทางเลือกในการทำเกษตรอีกมากเช่น อาจปลูกยางพารา หรือ ปาล์มน้ำมัน แทนอ้อย ข้าวโพดได้  (พืชพวกนี้มีความต้องการน้ำสูงกว่าอ้อย ข้าวโพดมาก)   ก็ทำให้มีรายได้มากขึ้นและเหนื่อยยากน้อยลง แถมยังกลายเป็นสวนป่าที่ช่วยซับน้ำป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ปลายน้ำได้อีกด้วย 

 

สำหรับในฤดูน้ำท่วม   หากเขื่อนชุมชนเหล่านี้สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นได้ตามที่ร้องขอไปจากหน่วยงานบริหารน้ำท่วม  ก็จะได้รับเครดิทน้ำจากธนาคารน้ำ เช่น สามารถรับน้ำได้เพิ่ม 1 แสน ลบ.ม. ก็ได้เงิน 1 แสนบาทเป็นต้น  โดยเครดิทนี้สามารถใช้ในการส่งคืนเงินกู้ได้ด้วย   พอใช้คืนเงินกู้หมดแล้วก็อาจใช้เป็นเครดิทในการกู้เพื่อพัฒนาชุมชนได้ 

 

แน่นอนว่าการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนชุมชนนี้ต้องบริหารโดยคณะกรรมการระดับชุมชนที่ปลอดการเมือง หรือ ปลอดการโกงจากนักการเมืองท้องถิ่นด้วย....ซึ่งยาก

 

...คนถางทาง (๑๘ กันยายน ๒๕๕๕) 

หมายเลขบันทึก: 502651เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2012 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นั่นดิ.. ท่านอาจารย์ ที่ไหนมีน้ำที่นั่นมีชีวิต แล้วก็มี.. ชีวาด้วยเพราะสิ่งที่ตามมามีอีกมากโข มันเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารเลยนะคะ ลองนึกตามนะคะ.. ว้าว อีสานเขียว และอุดมสมบูรณ์ แล้วชีวิตคนอีสานหล่ะ ไม่ต้องพูดถึง.. ต้องดีแน่นอนค่ะ .. โอ้ยยย.. อยากเห็น อยากเห็น

...ธนาคารน้ำ..กู้..ธกส...ธนาคาร"ต้นไม้"...ธกส..ทำ...มีต้นไม้..มี..สมาชิก.เยอะเลย.เป็นแสนมีต้นไม้เป็นล้านอยู่ในกระดาษ..ได้...(พยายามต่อรองมาหลาย..รัฐบา..น..สุดท้ายได้ยินว่า..รับเรื่องแล้ว..สองพันล้าน...ตอนนี้..หายป๋อมแป๊มไป..สงสัยว่า..จา..ไป..อยู่ใน..ธนาคารน้ำ..นี่เอง...แหะะๆๆๆ..(ยายธี)....

ชื่นชมอาจารย์มากๆค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท