KM รูปแบบการให้บริการคลินิก Health care สุขภาพดีด้วยการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ตอนที่ 7


กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 4 (เทคนิคการมีสุขภาพดี) , ทบทวนระหว่างการทำกิจกรรม

มาถึงตอนที่ 7 เนื้อหาเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆนะครับ  สำหรับ Km รูปแบบการให้บริการคลินิก Health Care สุขภาพดีด้วยการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก  ของงานส่งเสริมสุขภาพ  (แพทย์แผนไทย)  นะครับ 

 

ในครั้งนี้เราให้ Concept ของชื่อตอนนี้ว่า :  กบนอกกะลา ( ไม่อยากเป็นกบในกะลา  ต้องติดตามตอนนี้ )   

 

หลังจากครั้งที่แล้วเราพัฒนาโปรแกรมแบบมีส่วนร่วมแล้วได้ทบทวนว่าควรจะมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  นอกสถานที่  เพื่อนำเอาความรู้ใหม่ๆ  ไม่ใช่ความรู้แค่ภายในหน่วยงาน  เพราะเราอยากได้ความรู้ที่หลากหลายและเห็นผลจริง  จึงได้ทบทวนกันและช่วยกันคิดว่า  จะมาถอดและสกัดความรู้จากจุดไหนดีและสุดท้ายได้สรุปและตกลงกันว่า  จะเลือกสถานที่แห่งนี้    คือ

 

อุทยานสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

 

เหตุผลที่เลือกสถานที่นี้ในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ

1.เป็นจุดศูนย์รวมของคนรักสุขภาพทุกเพศ ทุกวัย  ของจังหวัดนครสวรรค์

2.เป็นจุดศูนย์รวมของชมรมต่างๆ  เช่น  ชมรมโยคะ  ชมรมไทเก็ก  ชมรมแอโรบิค  ชมรมเดินเพื่อสุขภาพ ฯลฯ

3.เป็นจุดศูนย์รวมของการทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพหลายๆชนิด  ทั้งในด้าน  ออกกำลังกาย  อารมณ์  ธรรมะ  และด้านอื่นๆอีกมากมาย

เป้าหมายของการมาทำกิจกรรม ณ  สถานที่นี้คือ

 

 

1.ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  สกัดความรู้  เทคนิคการดูแลสุขภาพ  และเทคนิคการดำเนินการชมรมแบบยั่งยืน 

2.ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ

 

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มที่ 1 (ชมรมสุขภาพ)    

 กิจกรรมแลกเลปี่ยนเรียนรู้กลุ่มเริ่มดำเนินการโดยมี คุณญดา  เฉลิมพงษ์ ผู้ช่วยแพทย์แผนไทยของเราเป็น Fa  ในการดำเนินการเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งได้เข้าไปแนะนำตัวและสมาชิก และขออนุญาต ทำกลุ่มซึ่งทางชมรมให้การต้อนรับเป็นอย่างดี  รายละเอียดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีดังนี้

 

คุณณภัทร  ภคสกุลวงศ์ (รองประธาน  ชมรมสปอร์ตแมน)

ก่อนอื่นเลยผมขอแนะนำชมรมเราก่อนนะครับ  ชมรมเราเป็นชมรมการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย  จะมีอุปกรณ์ต่างๆช่วย  เช่น เครื่องออกกำลังกาย  ดัมเบล  จักรยานปั่น  และอื่นๆอีกเยอะ  เราก่อตั้งเป็นชมรมมานาน  เทคนิคการทำให้ชมรมอยู่ได้ยั่งยืนคือ  เราต้องมีความสม่ำเสมอในการทำกิจกรรม  ตรงต่อเวลา ไม่ผิดนัด  ซึ่งทำให้ชมรมเราอยู่ได้และมีคนเยอะ  เพราะบางที  ถ้ามีชมรมแต่ไม่มีคนมันก็ดูไม่น่าออกกำลังใช่ไหมครับ

ผมเป็นความดันโลหิตสูง ปกติก็มาออกกำลังกายด้วยเครื่องออกกำลังกาย  แต่บางครั้งเหนื่อยหัวใจเต้นเร็วบ้างก็พัก แล้วใช้วิธีการเดินออกกำลังกาย   และเห็นผลในวิธีเดินนะครับ ทำให้ความดันลดลงหลังจากที่ไปตรวจที่โรงพยาบาลมา เดิน 5-6 วัน ต่อสัปดาห์ครับ เพราะจะมาช่วงเย็นๆ  สะดวกอยู่แล้ว และใกล้บ้าน  ทำให้มาได้เป็นประจำครับ

 

ร.ต.ต.กนก  ชมภูนุช  (รองหัวหน้าชมรม Sport man)

คนสูงอายุมาเล่นกันพอมีนะครับ  มากสุดก็ 60 กว่าก็มีครับ  แต่เค้าจะเลือกเล่นเฉพาะอย่าง  แบบที่เบาๆ  และทำร่วมกับเราได้ครับ  แต่คนสูงอายุจะชอบเยอะนะครับ เพราะว่ามีคนเล่นกันเยอะและเล่นเป็นประจำ

ตอนแรกความดันโลหิตสูง  ไขมันสูง  พอได้มาออกกำลังกายแบบเบาๆ  เดินออกกำลัง  เป็นประจำทุกวัน  ทำให้ผลเลือดและความดันปกติได้  และตอนนี้เป็นภูมิแพ้  ก็จะมีอาการเป็นหวัดง่าย  คัดจมูก  เวลาเจออากาศเย็นๆครับ  ก้อดูแลตัวเองปฏิบัติตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัด  ทำสม่ำเสมอ  

ผมเดินทุกวันครับผม  วันละครึ่งรอบหนองสมบูรณ์  ถ้าวันไหนมีแรงหน่อยก็วันละรอบครับ

ก็ประมาณ 1ชั่วโมงได้  แต่เหมือนได้ออกกำลังเลยล่ะครับ และคนสูงอายุจะชอบเดิน 

 

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลุ่มที่ 2 (ผู้ที่มาทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ)

คุณสมชาย  สุประดิษฐ์พงษ์ อายุ 78 ปี  (ข้าราชการบำนาญ)

ปกติแล้วผมออกกำลังกายเป็นประจำ  มากสุดก็ 5 ครั้งต่อสัปดาห์  เพราะอยากมาผ่อนคลาย  ได้ออกกำลังกายรู้สึกสดชื่น สบายตัว  สำหรับการออกกำลังกายที่เป็นประจำคือการเดินครับ  เดินรอบๆอุทยานสวรรค์  ผลที่เห็นได้ชัดคือ  กล้ามเนื้อแข็งแรง  สุขภาพดี  สังเกตได้จาก  เมื่อก่อนตอนทำงานไม่ค่อยมีเวลาว่างไม่ค่อยได้มาเดินออกกำลังกาย  จะป่วยบ่อย เป็นหวัดหายยาก  พอได้มาเดินบ่อยๆ  เวลาเป็นไข้ไม่สบายจะเป็นไม่นาน  อีกอย่างต้องทำอารมณ์ให้ไม่เครียด  ผ่อนคลายตลอดเวลาครับ และพวกยืดเหยียด  มันก็ช่วยให้ตัวเราได้ผ่อนคลาย  ถ้ามีกิจกรรมก็จะเข้าร่วม  แต่ก็ทำอยู่นะครับ เพราะก่อนการวิ่ง หรือเดินผมก็จะยืดเหยียดก่อน

 

คุณวิจารณ์  จะกะกอง   อายุ 84 ปี  (พ่อบ้าน)

มีโรคประจำตัวคือโรคเก๊าต์ ก็ดูแลตามหมอสั่ง งดอาหารพวกเครื่องในสัตว์ กะผักพวก ยอดชะอม  ยอดผักต่างๆ  แล้วก็ออกกำลังกายครับ  จะมาเดินทุกวัน ทำให้สุขภาพดีขึ้น  ไม่ค่อยมีอาการปวดตามข้อ  และอารมณ์ดีครับ ได้เจอเพื่อนๆที่มาออกกำลังกายด้วยกันและคนอื่นอีกเยอะครับ

 

คุณปัญญา  ตนาภิวัฒน์  อายุ 76 ปี  (เจ้าของธุรกิจร้านเครื่องเพชร) 

โรคประจำตัวไม่มีครับ  แต่ชอบมาออกกำลังกาย  มาเดินเพื่อสุขภาพ และก็ยืดเหยียด ร่างกายวันละประมาณ 6-7 ครั้ง  ประมาณ 30 นาที  ทำจิตใจให้สงบ  และชอบการดูแลสุขภาพด้วยตนเองครับ เรื่องฤาษีดัดตน  โยคะ  หรืออาหารสมุนไพร เพราะชอบทานอยู่แล้ว  ปกติแล้วจะเลือกทานอาหารสุขภาพ  ถ้าได้รู้จักสมุนไพรที่ช่วยบำรุงสุขภาพก็จะดี

 

คุณธนา  เรืองจรูญรัตน์ อายุ  58  ปี (ค้าขาย)

ผมเป็นภูมิแพ้ครับ  ชอบมาเดินออกกำลังเหมือนกัน  เดินสลับกับวิ่ง  รู้สึกว่าทำให้แข็งแรงขึ้นไม่ค่อยป่วย  มาออกกำลังกายที่นี่ได้ประมาณ 10 ปีแล้วครับ  มาประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์  และกิจกรรมของคลินิกที่พวกน้องๆเสนอมา

เป็นกิจกรรมที่ดี  และถ้าจะให้ดีต้องทำร่วมกันบ่อยๆ  และเยอะๆ จะได้เกิดสนุกสนาน  และอยากทำต่อเนื่อง   ส่วนอาหารสมุนไพรปกติผมทานเป็นประจำ  พวกกระเทียม  ตะไคร้  ต้มยำ  ช่วยได้ดีในช่วงที่เป็นหวัด  กินแล้วทำให้หายใจโล่งเลยครับ

แล้วก็พวกขมิ้นชัน  ตอนนี้ก็ทานอยู่ช่วยแก้อาการท้องอืดได้ ผมอ่านหนังสือเจอว่ามีสรรพคุณเยอะมากในการบำรุงร่างกาย  แต่ก็ทานในขนาดที่เหมาะสม  ไม่มากไป

 

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มที่ 3 (ชมรม 17.05 เพื่อสุขภาพ)

 

 

 

คุณประจวบ  โพธิ์อ่อน  อายุ 76 ปี   (ข้าราชการบำนาญ)

เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่  ตอนนี้รักษาและรับยาอยู่ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์อยู่  ก็มาออกกำลังกายทุกวันด้วยการเดินเร็ว  รู้สึกว่าทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า  สดชื่นหลังเดิน  และก็ดูแลตัวเองเรื่องอาหาร เลือกแต่อาหารที่มีประโยชน์พวกผัก  แต่ของทอดของมันก็มีบ้างแต่น้อย  และก็มาเข้าชมรม 17.05 ทุกคนจะมารวมตัวกันแล้วเดินเร็วรอบๆหนองสมบูรณ์  และเลือกรับประทานอาหาร  ไม่ทานหวาน และเค็ม

 

คุณสุชัย  เตติวัฒน์  อายุ 79 ปี  (ค้าขาย)

ตอนแรกเป็นความดันโลหิตสูง  แล้วไปหาหมอ  หมอแนะนำให้มาออกกำลังกาย  และพบว่า  หลังจากออกได้ช่วงหนึ่งแล้วมาตรวจความดันพบว่าความดันลดลง  ดีขึ้น  และผมมีเทคนิคการส่งเสริมสุขภาพตัวเองคือ  ไม่สูบ  ไม่ดื่ม  ไม่เที่ยว  มาเป็นสมาชิกชมรม 17.05  ได้นานแล้ว  และมาทำกิจกรรมเป็นประจำทุกวัน

 

คุณนิทัศน์  ชิวารักษ์  อายุ  72 ปี  (ธุรกิจส่วนตัว)

มาออกกำลังกายที่นี่ได้ 30 ปีแล้ว  ชอบมาเดินทุกวัน  เพราะอยากแข็งแรง  และการทำกิจกรรมชมรม 17.05 ดีมากทำให้แข็งแรง

 

คุณนพดล  แย้มกลิ่น  อายุ 77 ปี  (ค้าขาย)

ชอบกิจกรรมเดินเร็ว  และมีเทคนิคคือทำกิจกรรมสม่ำเสมอ

 

คุณนวลน้อย  โรจน์สุวณิชกร  อายุ 65 ปี   (ค้าขาย) 

ชอบมาเดินเร็ว ที่นี่เพราะมีเพื่อนเยอะ  และสุขภาพเราดีขึ้น  เมื่อก่อนเป็นความดันโลหิตสูง หลังจากเดินแล้วความดันลดลง ดีขึ้น และกล้ามเนื้อกระชับ แข็งแรงขึ้น

 

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มที่ 4 (ผู้ที่มาทำกิจกรรม และตัวแทนชมรมต่างๆ)

 

คุณพิศเพลิน  หมวกน้อย  อายุ  66 ปี  (ข้าราชการบำนาญ)

โรคประจำตัวไม่มีส่วนมากจะมีอาการปวดตามตัว  ปวดข้อเท้า  ปวดเข่า  ปวดหลัง  ก็จะมาทำกิจกรรมเช่น  ตะบองชีวจิต  เพราะได้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ  ทำได้เองที่บ้านและ  ปกติมาออกกำลังที่นี่ได้ประมาณ 5 ปีแล้ว  เพราะอยากให้ตัวเองมีสุขภาพดีแข็งแรง  ผลที่ได้คือ ตอนทำงานบ้านประจำก็จะมีการปัด กวาดเช็ดถู  ซักผ้า ล้างจาน  ก็จะทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดขา ปวดเข่า  พอได้มาทำตะบองชีวจิตแล้วก็ทำให้มีการปวดลดลง

 

คุณพจนาพร  เซี่ยงว่อง  อายุ  58 ปี  (ข้าราชการบำนาญ)

มีโรคประจำตัวเยอะค่ะ  นิ่วในกรวยไต  ไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร  ไมเกรน         กรดไหลย้อน ซึ่งหมอก็แนะนำให้ออกกำลายเบาๆ ก็เลือกเดินออกกำลัง  บางครั้งเข้าร่วมกิจกรรมไทเก็ก เพราะเป็นการบริหารร่างกายด้วยการใช้จิต  สมาธิ  กำหนดลมหายใจและการเคลื่อนไหว  ผลที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมไทเก็กนี้ คือ  ใจเย็น  แล้วรู้สึกว่าปัญหาเกี่ยวกับหัวใจไม่ค่อยมีตอนนี้เป็นปกติ  และโรคไมเกรนที่เป็นประจำก็ลดลงด้วยค่ะ 

 

คุณวิมล  พับพุ   อายุ 55 ปี  (แม่บ้าน)

ไม่มีโรคประจำตัวค่ะ แต่ชอบมาบริหารร่างกาย  ชอบเต้นแอโรบิค  มาทุกวันถ้าสะดวก รู้สึกว่าร่างกายสดชื่น  แข็งแรง  ไม่ค่อยป่วยเลย  และเข้าชมรมอีกหลายชมรม  เช่น  โยคะ  แอโรบิค  ตะบองชีวจิต  เพราะจะได้บริหารร่างกายในหลายๆด้าน

 

คุณอเนก  แก้วกิตย์กรณ์  อายุ 70 ปี  (พ่อบ้าน)

มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง  เลยมาออกกำลังกาย  มีเทคนิคการดูแลตนเองคือ  คุมอาหาร  ออกกำลังกาย  และทำจิตใจให้สบาย  ฟังเพลง

 

หลังจากทำกิจกรรมกลุ่มเสร็จสิ้นเราได้ร่วมกันถอดบทเรียนออกมาเป็นแผนผังสรุปถอดบทเรียน  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง รูปแบบการพัฒนาการให้บริการคลินิก Health Care ในหัวเรื่อง เทคนิคการมีสุขภาพดี

   

ซึ่งแผนผังสรุปนี้จะใช้ในการถอดบทเรียนร่วมกับผังอื่นๆ เพื่อสร้างรูปแบบโปรแกรมขึ้นมาครับผม  

ได้ข้อคิดจากการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้คือ เราต้องเริ่มเป็นคนทำก่อน ทำเป็นทีมงานที่เข้มแข็ง และเป็นตัวอย่างในการทำกิจกรรม  เพื่อให้ผู้รับบริการเข้ามาร่วมกับเราได้

 

ทบทวนหลังทำกิจกรรม

ควรมีการทำกิจกรรมบางส่วนอย่างต่อเนื่องไปก่อนที่สามารถทำได้ก่อน และวัดระดับความพึงพอใจของผู้รับบริการ 

ควรมีการสรุปรูปแบบโปรแกรมสุขภาพที่เป็นมาตรฐาน

____________________________________Xมoตั๋J_____________________

 

จบแล้วนะครับสำหรับตอนที่ 7  เป็นยังไงกันบ้างครับ เทคนิคการเป็นกบนอกกะลา  คือการนำความรู้จากทุกส่วน  ไม่ใช่ว่ามีความรู้แค่ในหน่วยงานที่เดียว  จะทำให้ได้ความรู้ที่หลากหลายเป็นทางเลือกใหม่ และตัวเลือกหลากหลายในการแก้ไขปัญหาในหน่วยงานให้ดีขึ้นครับ   (รอติดตามตอนต่อไปนะครับ เข้าโค้งสุดท้ายครับผม)

 

หมายเลขบันทึก: 502190เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2012 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท