การศึกษาไทย : สู่ ASEAN สู่สากล


การศึกษาไทย : สู่ ASEAN สู่สากล

การศึกษาไทย : สู่ ASEAN สู่สากล

นภสินธุ์ เสือดี
[email protected] กันยายน 2555

          การเข้าสู่ประชาคม ASEAN ในปี 2558 นั้นมีอยู่ด้วยกันสามมิติ ได้แก่ มิติความมั่นคง มิติทางเศรษฐกิจ และมิติสังคมวัฒนธรรม การศึกษานับว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะการศึกษานับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของชาติ การเป็นประชาคม ASEAN นั้นจำเป็นต้องจะต้องมีการหลอมรวมกันของวัฒนธรรม ค่านิยม ซึ่งการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

          ระบบการศึกษาของแต่ละประเทศใน ASEAN แตกต่างกัน เห็นได้ชัดว่าประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการศึกษาสูงที่สุดใน ASEAN คือสิงคโปร์ ซึ่งมีนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลักและยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ส่วนในประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษาหลายครั้ง และกำลังจะมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่เร็วๆ นี้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านมา และพัฒนาการศึกษาเพื่อเข้าสู่การเข้าร่วมประชาคม ASEAN

          ปัญหาใหญ่ของการเข้าสู่ประชาคม ASEAN ของคนไทยคงจะหนีไม่พ้นเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งนับเป็นภาษาสากลของโลก จากสถิติของ English Proficiency Index (EFI) ที่แบ่งระดับทักษะภาษาอังกฤษออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับสูงมาก ระดับสูง ระดับปานกลาง ระดับต่ำ และระดับต่ำมาก ปรากฏว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน “ระดับต่ำมาก” ทั้งยังอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม จากปัญหาดังกล่าวการเข้าสู่ประชาคม ASEAN ของไทยคงจะต้องเน้นการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการค้นคว้าหาความรู้ตามบริบทของการเรียนรู้ในปัจจุบันที่สามารถค้นคว้าได้ง่าย แต่สื่อองค์ความรู้เหล่านั้นมักอยู่ในรูปแบบของภาษาอังกฤษ นอกจากสนับสนุนด้านภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนนักศึกษาแล้ว การสนับสนุนให้กับประชาชนทุกคนเพื่อให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและรู้เท่าทันเทคโนโลยีรวมถึงข่าวสารต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้นก็นับเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันนอกจากความสามารถด้านภาษาแล้วความรู้ที่ควบคู่กันที่ควรต้องส่งเสริมคือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตในยุคแห่งข้อมูล

          ปัจจุบันในสังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องระเบียบวินัย การไม่เคารพกฎหมาย และการล่วงละเมิดต่างๆ มากมาย ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่งที่การศึกษาไทยควรจะสร้างคุณลักษณะนี้ให้แก่คนในชาติคือการรักษาสิทธิของตนเองและการไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น เพื่อให้มีทักษะในการใช้ชีวิตในสังคมที่สลับซับซ้อนหลากหลายเชื้อชาติ เพราะเมื่อเข้าสู่ประชาคม ASEAN แล้วคนในแต่ละประเทศจะสามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้อย่างอิสระ ดังนั้นคนไทยควรจะมีทักษะการอยู่ร่วมกันกับชาวต่างชาติที่ดี เพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคง การค้า และศิลปวัฒนธรรม จากข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนมีนาคม 2555 เรื่องระบบการศึกษากับการเข้าสู่ประชาคม ASEAN ทำให้รู้ว่ามีการเปิดเสรีให้นักเรียนไทยสามารถไปเข้ารับการศึกษาในกลุ่มประเทศ ASEAN ที่มีการเปิดเสรีให้นักเรียนนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาได้ แต่ด้านบุคลากรทางการศึกษายังไม่มีการเปิดเสรี หมายถึงยังมีข้อจำกัดเรื่องครูอาจารย์ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาสอนในประเทศไทย ดังนั้นด้านการจัดการศึกษาน่าจะยังไม่มีผลกระทบจากปัจจัยภายนอก แต่การศึกษาไทยจะต้องปรับจากภายในเพื่อให้รับกับการเข้าสู่ประชาคม ASEAN อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจำเป็นต้องศึกษาความต้องการของสังคมในภาพใหญ่ถึงระดับภูมิภาคว่ามีความต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณลักษณะอย่างไรเข้าสู่สังคมเพื่อตอบแสดงความต้องการของภูมิภาคอย่างแท้จริง จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรขนานใหญ่ รวมถึงวิธีการจัดการเรียนการสอนให้มีความเป็นสากลเพื่อรองรับนักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่จะเข้ามารับการศึกษา รวมถึงวิธีการวัดและประเมินผลที่ทำให้เกิดการเทียบโอนอย่างเป็นสากลในระดับภูมิภาคได้

 

ภาพประกอบ 1 ตารางแสดงการเปิดเสรีการบริการการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ปี 2558
ที่มา : Mac Education

          การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลไทยที่จะต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากธรรมชาติของการเรียนรู้ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผู้ที่เข้าถึงความรู้ได้ดี มีคุณภาพและรวดเร็ว ย่อมได้เปรียบในการเรียนรู้ การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาจะต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านโครงข่ายพื้นฐานทางการสื่อสาร และสนับสนุนการสร้างเนื้อหาความรู้ในรูปแบบของสื่อต่างๆ ทั้ง Online – Offline และวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ รวมไปถึงการศึกษาตลอดชีวิต

          ผลผลิตของการศึกษาไทยในปัจจุบันก็ยังประสบปัญหาอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการว่างงาน จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาที่ขัดแย้งกับความต้องการในตลาดงาน และการทำงานไม่ตรงกับสายการศึกษาที่ได้เรียนมา ในการจะเข้าร่วมประชาคม ASEAN อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดงาน และลักษณะงาน หลังจากปี 2558 อาจเกิดอาชีพใหม่ขึ้นเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ การประสานงาน การบริการเกี่ยวกับการโทรคมนาคมขนส่ง ดังนั้นภาคการศึกษาควรมีการวิเคราะห์งานและอาชีพใหม่เหล่านี้เพื่อสร้างหลักสูตรที่จะเข้ามารองรับ หรือวิธีการให้ความรู้ที่ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงควรปรับปรุงกระบวนการแนะแนวการศึกษาต่อ และการแนะแนวอาชีพ นักแนะแนวต้องมีความรู้เกี่ยวกับการศึกษาข้ามประเทศในภูมิภาค ASEAN และแหล่งงานทั้งในประเทศและในภูมิภาค เพื่อที่จะสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเลือกสายงานอาชีพ และการศึกษาต่อได้

          การปรับปรุงระบบการศึกษาไทยในอนาคตอันใกล้นอกจากจะต้องคำนึงถึงการผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อการเข้าสู่ประชาคม ASEAN แล้วยังจะต้องส่งเสริมให้คนไทยมีความสามารถที่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย จากการศึกษาของนักวิชาการศึกษาระดับโลก ได้ให้ทักษะที่สำคัญของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills)[1] ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ทักษะการทำงานและการดำเนินชีวิต ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจะต้องมีระบบต่างๆ มารองรับเพื่อให้การพัฒนาดังกล่าวเป็นไปได้จริง ไม่ว่าจะเป็น การวัดประเมินผลและมาตรฐานการศึกษา หลักสูตรและการสอน การพัฒนาวิชาชีพ และสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้


ภาพประกอบ 2 กรอบแนวคิดเรื่องทักษะที่สำคัญของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21
ที่มา :  Partnership for 21st Century Skills (P21)
[2]

          การเข้าสู่ประชาคม ASEAN ในปี 2558 คงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการศึกษาไทย อาจจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเข้าสู่ประชาคม ASEAN ซ้อนเข้ามากับการแก้ไขปัญหาการศึกษาที่มีอยู่เดิม ประเทศไทยน่าจะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงการศึกษา เพื่อประโยชน์ในการเข้าประชาคม ASEAN และการพัฒนาคนไทยให้มีศักยภาพ และคุณภาพระดับสากล เพื่อผลทั้งการเข้าสู่ประชาคม และการพัฒนาชาติ


[1] Trilling, B., Fadel, C. 21st century skills: learning for life in our times. (2009). San Francisco, CA: Jossey-Bass.
[2] Partnership for 21st Century Skills “A Framework for 21st Century Learning” http://www.p21.org/
หมายเลขบันทึก: 502070เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2012 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2012 01:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมค่ะ ได้ความรู้เพิ่มอีกแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท