หนีฝนไปพึ่งหนาว : เชียงใหม่ ภาคสอง...วัดวาอาราม และวัดใจ!


อิ่มบุญ อิ่มใจ.....ณ เชียงใหม่

 

 

หนาวนี้ หรือหนาวไหน ๆ ใคร ๆ ก็คิดถึงภาคเหนือ

จังหวัดยอดฮิตก็คงไม่พ้น เชียงใหม่...

จังหวัดท่องเที่ยวที่มีทั้ง ภูมิอากาศหนาวถึงใจบนยอดดอย

อากาศร้อนตับแลบในตัวเมือง  

วัฒนธรรมชนเผ่าที่มีมากมาย

วัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามา

วัฒนธรรมผสมผสานอย่างลงตัวบ้างไม่ลงตัวบ้าง

 

แต่ สิ่งหนึ่งที่เป็น เอกลักษณ์ ก็คือ...วัดที่มีศิลปะแบบล้านนา

หรือศิลปะทางเหนือ ที่เน้นลวดลายแกะสลักจากไม้

 

วัดที่ เชียงใหม่ ก็เคยไปมาหลายวััด เพราะเวลาเดินทางไปที่ไหน

ก็ไม่เคยลืมที่จะแวะสักการะ ทำบุญ เพื่อศิริมงคลแก่ตัวเอง

 

ครั้งนี้ ได้หนุ่มเหนือใจดี พา่ืท่องวัด ได้ถึง 5 วัด ภายใน 4 ชั่วโมง

 

เริ่มจากวัดแรก....

 

วัดชัยมงคล....ริมแม่น้ำปิง

เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง สร้างในสมัยไม่ปรากฏหลักฐานประมาณกันว่ามีอายุราว 600 ปี

วัดชัยมงคลเดิมเป็นวัดมอญ (เม็ง) เดิมชื่อวัดมะเล่อ หรือมะเลิ่ง (แปลว่า รุ่งแจ้ง,รุ่งอรุณ)

ต่อ มาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระราชชายาดารารัศมี

ขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดชัยมงคล (ริมปิง)

เพราะเหตุที่ว่าท่าน้ำเป็นท่าลงเรือเจ้านายฝ่ายเหนือจะล่องไปกรุงเทพฯ

แต่เดิมอุโบสถของวัดตั้งอยู่ในลำน้ำริมปิงติดกับกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

พอถึงฤดูน้ำหลากมีซุงไหลมาชนโบสถ์เสียทำให้สังฆกรรมไม่ได้

ใน ปี พ.ศ. 2478 ครูบา ดวงแก้ว จึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมา

และปลูกสีมาฝังลูกนิมิตเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2479

จึงทำให้อุโบสถ์ซ้อนวิหารเป็นหลังเดียวกันในปัจจุบันนี้


ที่วัดนี้ มีไม้แกะสลักสวยงาม แกะได้คมชัด สวยจริง ๆ

ชอบอย่างหนึ่งที่โบสถทางเหนือเนี่ยจะมี พระคุณเจ้า รอให้พรเราด้วย

เลยได้ผูกข้อมือ รับพรปีใหม่ซะด้วยเลย

แถมทำบุญไถ่ชีวิตโค และแวะชมน้ำปิง ให้อาหารปลาและนกพิราบด้วย...

อิ่มใจอิ่มบุญ จริง ๆ

 

 

 

 

จากนั้น ไปทางไหน ไม่รู้ แล้วสารถีก็พาเลี้ยวเข้าวัดเจ็ดลิน

วัดเล็ก ๆ แต่เก่าแก่ เป็นวัดที่มีหนองน้ำอยู่ด้านในของวัด

ชาวบ้านเรียกว่าวัดหนองจลิน ตำนานเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าเคยเป็นที่สรงน้ำพระ

ของพระเมกุฏสุทธิวงศ์ กษัตริย์เชียงใหม่ เมื่อครั้งทำพิธีราชาภิเษกขึ้นครองเมือง

เชียงใหม่ในอดีตกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายพระองค์ใด ก่อนจะขึ้นเสวยราชจะต้อง

ไปทรงผ้าชุดขาว (นุ่งขาว ห่มขาว) ณ วัดผ่าข้าวก่อน จากนั้นจะเสด็จไปสะเดาะ

เคราะห์ ณ วัดหมื่อนตูม และจะเสด็จไปประกอบพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก ณ หนองน้ำวัดเจ็ดลิน

 

 

 

 

ตามมาไม่ไกลกัน เราก็ได้มาจอดที่ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ ราชกุฏาคาร,

วัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา

กษัตริย์ลำดับที่ ๗ แห่งราชวงศ์มังรายไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด

สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ. ๑๙๓๔ วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอาราม

หลวงแบบโบราณ มีการบูรณะมาหลายสมัย ปัจจุบันมีขนาดความกว้างด้านละ ๖๐

เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่ิ

เกร็ดความรู้ สำหรับวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร คลิ๊ก

 

 

ที่วัดนี้ ได้ทำบุญ ตุงเงิน ตุงทองด้วย....เป็นกิจกรรมที่เรียกความสนใจ

จากนักท่องเที่ยว ได้มากทีเดียว....

 

 

 

 

วนเวียนอยู่แถวประตูเมืองนึกขึ้นได้ เลยถามถึงวัดศรีสุพรรณ

ถนนวัวลาย ที่เค้าเคยบอกว่ากำลังทำโบสถเงินอยู่

พี่ชายเลยแวะถามทาง (คนเชียงใหม่ยังหลงอ่ะ) แล้วพาไปเจอจนไ้ด้

 

“วัดศรีสุพรรณ” ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่นอกเขตกำแพงเมืองชั้นใน

หรือที่เรียกกันว่าคูเมือง และตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองชั้นนอก หรือแนวกำแพงเมือง

       วัดศรีสุพรรณ เป็นวัดที่มีประวัติยาวนาน ปัจจุบันคงเหลือร่องรอยความเจริญ

รุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ทั้งทางด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมของล้านนาโบราณ

อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งปรากฏในรูปแบบต่างๆคือ “หลักศิลาจารึกประวัติวัด” ที่จารึก

ด้วยอักษรฝักขามบนหินทรายแดง
       
       ตามหลักศิลาจารึกของวัดศรีสุพรรณกล่าวไว้ว่า ในปี พ.ศ.2043 พระเจ้า

พิลกปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ในราชวงศ์มังราย และ

พระนางสิริยสวดี พระราชมารดาเจ้า โปรดเกล้าให้เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำมหาอำมาตย์

นำพระพุทธรูปทองสำริดองค์หนึ่ง ซึ่งก็คือ “พระพุทธปาฏิหาริย์” หรือ “พระเจ้า

เจ็ดตื้อ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนผสมสุโขทัย มา

ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ ในคราวสร้างวัดชื่อว่า “วัดศรีสุพรรณ”

      
             และด้วยความเก่าแก่ของวัดทำให้อุโบสถเดิมได้ชำรุดทรุดโทรมตามกาล

เวลา ไม่เอื้อต่อการประกอบศาสนกิจ ของพระสงฆ์ กอปรกับกลุ่มศิลป์ล้านนาวัด

ศรีสุพรรณ ชมรมส่งเสริมสล่าล้านนา มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่ต้องการจะสืบ

สาน ส่งเสริมภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องเงิน ถนนวัวลาย ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. 2547 จึงมี

แนวคิดสร้าง อุโบสถเงินหลังแรกของโลก ให้เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา
       
       โดย “อุโบสถเงิน” หลังนี้ใช้วิธีการก่อสร้างจากฐานและพัทธสีมาและพระ

พุทธประธานในอุโบสถหลัง เดิม ลักษณะเป็นอุโบสถรูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา

ก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 17.50 เมตร สูง 18 เมตร ประดับตกแต่ง

สลักลวดลายแนวประเพณีล้านนา ภายในศิลปกรรมแสดงถึงการเคารพสักการะพระ

รัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ส่วนภายนอกศิลปกรรม

แสดงสัญลักษณ์ของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์


 

       ซึ่งลวดลายทุกส่วนล้วนสลักตกแต่งด้วยภูมิปัญญาเครื่องเงิน โดยใช้กรรมวิธี

บุคุนลวดลายด้วยแผ่นเงิน เงินผสม และวัสดุแทนเงิน(อลูมิเนียม) ทั้งภายในภาย

นอกรวมทั้งหลัง โดยถือว่าอุโบสถเงินหลังนี้จะเป็นแหล่งรวบรวมลวดลายศิลปะ

ล้านนาและลวดลาย ประจำท้องถิ่น แม้ขณะนี้จะยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ก็มีนัก

ท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมและกราบ ไหว้อยู่สม่ำเสมอ
       
       ปัจจุบันวัดศรีสุพรรณ ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นงานช่างสิบหมู่

สืบสานงานศิลป์จากภูมิปัญญาแห่งแผ่นดินสู่งานศิลป์ช่างสิบหมู่ ส่งเสริมการท่อง

เที่ยวศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์ภูมิปัญญาพัฒนาสืบสานจารีตประเพณีท้องถิ่น

สร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนหัตถกรรมสล่าล้านนาอาทิ

สล่าเงิน สล่าแกะ และสล่าหล่อ ฯลฯ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล

 

 

 

อยากรู้ว่าสวยแค่ไหน ต้องหาโอกาสไปชม แต่ ผู้หญิงเข้าในอุโบสถไม่ได้นะจ๊ะ..

เลยได้แต่ฝากกล้องให้พี่ชายไปเก็บภาพมาฝากด้วย...

ถนนเส้นนี้จะเป็นถนนคนเดิน ในวันอาทิตย์อีกด้วย วันปกติก็จะมี

ร้านเเครื่องเงิน ขายกันเพียบ แต่เวลาน้อยเลยได้แค่ นั่งรถผ่านมองตามด้วย

ความมุ่งมั่นว่า จะมาเดิน ถนนคนเดินที่นี่ให้ได้....และวัดนี้มีการเจิมหน้าอวยพรด้วย

ไม่มีพลาด พระท่านเขียนด้วยน้ำมันหอมอะไรสักอย่าง แล้วผูกข้อมือให้ด้วย

 

 

 

 

ก่อนจะกลับไปพักผ่อน ขออีกวัด วัดเจดีย์เจ็ดยอด

ได้ยินชื่อมานาน ก็ขอแวะสักทีละกัน

ต้องหามุมกันนานมากกว่าจะเจอมุมที่มองครบ ยอด ทั้ง 7

มีต้นโพธิ์ใหญ่ จนต้องใช้ไม้ค้ำกิ่งไว้ เลยเป็นที่มาของการทำบุญ

ต่อชะตา ค้ำชะตา อะไรทำนองนี้ ถึงว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน

ภายใต้เจดีย์มีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ อากาศข้างในเย็น สดชื่น

แต่ข้างนอก แดดร้อนมาก

 

ที่วัดนี้เป็นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ในรัชสมัยพระยาติโลกราช

พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ทรงสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสิงหล (ลังกาวงศ์)

ทรงส่งเสริมการเล่าเรียนทางด้านปริยัติธรรม ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญ

ภาษาบาลี และในปีพ.ศ. 2020 โปรดให้ประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่เพื่อชำระ

พระไตรปิฎก ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน) ใช้เวลา 1 ปีจึงเสร็จ

นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก เป็นครั้งแรกของไทย

และถือเป็นหลักปฏิบัติของสงฆ์ในล้านนา

 

 

 

ห้าวัด ผ่านไป...อย่างรวดเร็ว อากาศเชียงใหม่ตอนบ่ายเนี่ยร้อนมากๆ


คำสำคัญ (Tags): #เชียงใหม่
หมายเลขบันทึก: 501828เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2012 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเที่ยวเชียงใหม่ ... กระจาย ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท