อย่าปล่อยให้ความไม่เข้าใจ กลายเป็นความเกลียดชัง และขยายวงกว้างด้วยการแชร์ต่อกันอย่างไร้สติ


อย่าปล่อยให้ความไม่เข้าใจ กลายเป็นความเกลียดชัง
 หลังจากที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำพิพากษาคดีนางสาวแพรวา ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้ บนทางยกระดับโทลล์เวย์จนมีผู้เสียชีวิต 9 ราย เมื่อวันที่ 27ธ.ค.2553 ที่ผ่านมา โดยพิพากษาตัดสินให้จำคุก สาวผู้ขับรถซีวิค ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเวลา 3 ปี แต่จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงเหลือจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญา 3 ปี พร้อมสั่งห้ามขับรถจนกว่าจะอายุถึง 25 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งสั่งควบคุมความประพฤติโดยบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยประกันสังคม 48 ชั่วโมงในระยะเวลา 2 ปี และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน ส่วนข้อหาใช้โทรศัพท์ขณะขับรถให้ยกฟ้อง เนื่องจากนำสืบไม่ได้ ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นกระแสสังคม โดยเฉพาะในโซเซียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊ค ที่มีผู้นำคดีที่เด็กใช้เก้าอี้ฟาดหน้าแม่บ้าน คดีพนักงานเก็บขยะขายซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ มาเปรียบเทียบกับคดีของนางสาวแพรวา โดย มีประเด็นว่า "เก้าอี้ฟาดหน้าป้า เข้าสถานพินิจ หลังถูกจับ...ขายซีดีเก่า ติดคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ... ขับรถขน 9 ศพ ติดคุก 2 ปี รอลงอาญา? กูว่าคนไทยไม่เข้าใจนะ " (facebook/Realstorie) อันเป็นการเลือกเนื้อหาในการนำเสนอ และตัดทอนประเด็นที่จะสร้างความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกไป กลายเป็นเพียงถ้อยคำที่สนองต่ออารมณ์ความรู้สึก ความไม่เข้าใจ ความโกรธแค้น และสร้างกระแสความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีผู้เข้ามากดแชร์ต่อๆกันไปอย่างไร้ซึ่งการพิจารณาไตร่ตรง ก็ยิ่งทำให้เกิดความเกลียดชังและตั้งคำถามกับความยุติธรรมในสังคมไทยมากขึ้นไปอีก
 ซึ่งข้อเท็จจริง การลงโทษทางอาญานั้น จะต้องมีการพิจารณาถึงองค์ประกอบของความผิด ทั้งองค์ประกอบภายนอก ซึ่งก็ได้แก่การกระทำกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด และองค์ประกอบภายในซึ่งก็คือเจตนานั่นเอง นอกจากนี้แล้วการที่ศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษ ผู้พิพากษายังจะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดี ประวัติการกระทำผิด ประวัติส่วนตัวของผู้กระทำผิด บริบทแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนแนวโน้มที่จะกระทำผิดในอนาคตอีกด้วย...จะเห็นได้ว่าผลเสียหายที่เกิดขึ้น หรือความรู้สึกโกรธแค้นของประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือต่อตัวผู้กระทำผิดนั้นไม่ได้เป็นสาระสำคัญในการพิจารณาลงโทษทางอาญา อีกทั้ง 3 คดีที่มีการนำมาเปรียบเทียบกันนั้น มีความแตกต่างในสาระสำคัญอย่างสิ้นเชิง 
ในคดีแรก เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเด็กมีเจตนาทำร้ายร่างกายแม่บ้านโดยใช้เก้าอี้ฟาดหน้าอยู่หลายที ซึ่งในกรณีที่เด็กและเยาวชนกระทำผิดนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการถามปากคำเด็ก/เยาวชนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 24 ชั่วโมง และนำตัวส่งต่อภายในกำหนดเวลา ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อตรวจการจับกุม(ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่) ภายในช่วงเวลา 08.30-16.30 น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) จากนั้นจึงส่งหนังสือแจ้งการจับกุมเด็ก/เยาวชนไปยังสถานพินิจฯ เพื่อทราบและจัดทำสำนวนเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป...การส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ จึงเป็นไปที่ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจาณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้
ในคดีที่สอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสภาพของกลางเป็นแผ่นซีดีเพลง วีซีดีมีปก และแผ่นพลาสติกใสห่อหุ้มอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่เหมือนกับสิ่งของที่ถูกทิ้งในกองขยะ แต่เหมือนกับแผ่นซีดีที่วางจำหน่ายทั่วไป เชื่อว่าเป็นสินค้าที่ถูกนำมาจากแหล่งผลิต แม้จะมีการวางปนเปกันไปกับสินค้าอื่นๆ แต่ก็ฟังได้ว่าเป็นผู้จำหน่าย ผู้ประกอบการ ตามความหมายในมาตรา 38 วรรค 1 แล้ว ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าโทษปรับสูงเกินไปนั้น เห็นว่า มาตรา 79 ของกฎหมายนี้ ให้ปรับ 2 แสนถึง 1 ล้านบาทนั้น ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 2 แสนบาท และลดอัตราส่วนโทษให้นั้นก็นับว่าลงโทษสถานเบาที่สุดแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่อาจลงโทษเป็นอย่างอื่น จึงพิพากษายืน (manager online) เมื่อไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ จึงต้องกักขังแทนค่าปรับ อัตรา 200/วัน ...(อันนี้ต่างห่างที่เป็นเหตุให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เพราะคนจนจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าปรับ !!)
ในขณะที่ คดีของแพรวา...ศาลลงโทษได้เพียงคดีขับรถโดยประมาทเท่านั้น ประกอบกับปรัชญาของการลงโทษที่มุ่งเน้นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเป็นครั้งแรก และกระทำไปด้วยความประมาทนั้น การใช้โทษจำคุกกลับจะยิ่งทำส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น ไม่เกิดประโยชน์กับทั้งผู้เสียหายและสังคม ดังนั้นการรอลงอาญาและการให้ทำงานสาธารณะจึงเป็นทางออกหนึ่งที่ศาลนำมาใช้เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการใช้โทษจำคุกนั่นเอง
 ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น การสื่อสารที่รวดเร็ว มาพร้อมกับการลดทอนสาระสำคัญในเนื้อหา การใส่อารมณ์ความรู้สึกในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และส่งต่อๆกันอย่างไร้สติ ปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ยิ่งเท่ากับเป็นการส่งต่อความเกลียดชังให้ขยายวงกว้างไปในสังคมไทย ทำให้คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามกับ "ความยุติธรรม" ว่ามันไม่มีอยู่จริง ... 
ถึงความยุติธรรม มันโครตจะนามธรรม...แต่อย่างน้อยมันก็ยังมีเหตุผลรองรับพอทีจะทำให้มันยังคงอยู่บนโลกใบนี้แหละ!!!
หมายเลขบันทึก: 501169เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2012 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท