ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว


ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

เรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยในร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ โดยมีข้อสังเกตบางประการ ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มีสาระสำคัญดังนี้

- แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๐ (๒) และ (๘) และมาตรา ๓๖ และเพิ่มมาตรา ๑๐ (๑/๑) และ (๑/๒) มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ )

- กำหนดให้มูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ในคดีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวมได้เช่นเดียวกับสมาคม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒)

- แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และผู้เจตนาทุจริต ใช้ จ้าง วาน ยุยง หรือดำเนินการให้มูลนิธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อกลั่นแกล้งผู้ประกอบธุรกิจให้ได้รับความเสียหายและเพิ่ม บทกำหนดโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕๖ และมาตรา ๖๐ และเพิ่มมาตรา ๕๖/๑)

ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๙ และเพิ่มความตาม มาตรา ๓๘/๑)

ความเห็น

- ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ เนื่องจากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฯ บางมาตรา ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐสภาในการตราพระราชบัญญัตินี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้กำหนดหนดโทษทางอาญาไว้มีความสัมพันธ์และเป็นไปตามความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดในแต่ละมาตราอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากจะมีการทบทวนบทลงโทษทั้งหมด ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิรูประบบกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งระบบบนพื้นฐานของการวิจัยการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคประเทศไทยก็จะทำให้การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (ที่ร่างกำหนดเพิ่มโทษมานั้นไม่มีที่มาของการกำหนดเพิ่มโทษ)

- ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาตรา ๓๘/๑ ที่กำหนดว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนค่าเสียหายตามคำพิพากษา ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวเพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับบทบัญญัติเรื่อง “กองทุนคุ้มครองผู้บริโภค” ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้ได้รับการคุ้มครอง ป้องกัน ระงับ ยับยั้ง จากผู้ประกอบธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าหรือการให้บริการใดซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค เพื่อให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ศาลสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนค่าเสียหายตามคำพิพากษานั้น ให้ขึ้นอยู่กับนิตินโยบายของรัฐสภาที่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของอัตราร้อยละของจำนวนค่าเสียหายที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนคุ้มครองผู้บริโภคตามคำพิพากษา (ที่กำหนดอัตราร้อยละนั้น ไม่พบที่มาของการกำหนดอัตราตัวเลข)

หมายเลขบันทึก: 501061เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2012 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2012 06:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท