Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทของประเทศเวียดนามกับอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

                         

 

2.สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam)
         

         เมืองหลวงคือ กรุงฮานอย มีพื้นที่ 331,689 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจถึงเมื่อปี พ.ศ.2553 มีประชากรประมาณ 88 ล้านคน ประมาณ 25% อาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ ปัจจุบัน ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์


ข้อมูลทั่วไปของเวียดนาม

               ประเทศเวียดนาม หรือชื่อทางการว่า “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” (Socialist Republic of Vietnam) ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกสุดของคาบสมุทรอินโดจีน มีอาณาเขตติดกับจีนทางทิศเหนือ และติดกับลาวและกัมพูชาทางทิศตะวันตก ทิศตะวันออกติดอ่าวตังเกี๋ยและทะเลจีนใต้ มีประชากรกว่า 90 ล้านคน (สำรวจเมื่อปี 2554)[1] มากเป็นอันดับ 13 ของโลก ส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนาม (90%) ที่เหลือคือ ชนกลุ่มน้อย ประกอบด้วยชาวจีน ชาวเขากว่า 30 เผ่า และชาวกัมพูชา ประชากรนับถือศาสนาพุทธ (55%) ศาสนาคริสต์ (7%) และศาสนาอื่นๆ (38%) มีภาษาทางการ คือ ภาษาเวียดนาม

 

ในด้านการเมืองการปกครอง เวียดนามมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ เนื่องจากมีการปกครองในระบอบสังคมนิยม โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Communist Party of Vietnam) เป็นพรรคการเมืองเดียวและมีอำนาจสูงสุด[2] ผูกขาดการชี้นำภายใต้ระบบผู้นำร่วม (Collective Leadership) ที่คานอำนาจระหว่างกลุ่มผู้นำ ได้แก่ กลุ่มปฏิรูป (สนับสนุนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ) กลุ่มอนุรักษนิยม (ต่อต้านหรือชะลอการเปิดประเทศ) และกลุ่มที่เป็นกลาง (ประนีประนอมระหว่างสองกลุ่มแรก)[3] แม้จะปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาลเวียดนามก็ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบาย “โด่ย เหมย” (Doi Moi) ที่ดำเนินมากกว่า 20 ปี เพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัย

เวียดนามได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 58 จังหวัด และ 5 เทศบาลนคร มีเมืองใหญ่สำคัญ 3 เมือง คือ

ฮานอย (เมืองหลวง) กรุงโฮจิมินห์ และไฮฟอง

สกุลเงินของเวียดนาม คือ ด่ง (ดอง) [4]

 

ในด้านทรัพยากรและเศรษฐกิจ เวียดนามมีผลผลิตทางการเกษตรกรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวเจ้า ยางพารา ชา กาแฟ ยาสูบ พริกไทย และการประมง ตลาดที่สำคัญของเวียดนาม คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ อุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมทอผ้า มีการทำเหมืองแร่ที่สำคัญคือ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ

 

 การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน

ประเทศเวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในลำดับที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของเวียดนามนี้ได้สวนทางกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการก่อตั้งกลุ่มอาเซียนในปี พ.ศ.2510 ที่มุ่งการต่อต้านประเทศสังคมนิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและเวียดนามในทศวรรษที่ 60 อย่างไรก็ตาม มี 2 ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน คือ

 

1)    ปัจจัยทางการเมืองยุทธศาสตร์และความมั่นคง การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของเวียดนามถือเป็นการปลดปล่อยเวียดนามออกจากความโดดเดี่ยว และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกและในภูมิภาค ทำให้เวียดนามสามารถสร้างภาพพจน์ของความเป็นประเทศรักสันติ ลบล้างภาพของผู้รุกรานและลบล้างความหวาดระแวงกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจรจาของเวียดนามกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาเขตแดนทางทะเล ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลและปัญหาประมง อีกทั้งยังเป็นการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคด้วย นอกจากนี้แสดงเจตนารมณ์ในการเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนยังเป็นวิธีการหนึ่งที่เวียดนามหวังว่าจะนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเวียดนาม ดังนั้น การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนจึงเป็นโอกาสที่เวียดนามจะเปลี่ยนภาพพจน์ของตนเองสู่การเป็น “ประเทศสังคมนิยมที่เดินไปสู่เศรษฐกิจการตลาด” และ “ผู้สนับสนุนสันติภาพ”

                     ยิ่งกว่านั้น การล่มสลายของสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตและในยุโรปตะวันออก ยังทำให้เวียดนามมีความกังวลใจเกี่ยวกับภัยคุกคามจากจีนมากขึ้น ซึ่งเวียดนามมีปัญหาความขัดแย้งกับจีนกรณีการอ้างสิทธิในดินแดนทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะปัญหาในทะเลจีนใต้ ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นการลดความเสี่ยงและเป็นเกราะกำบังในการเผชิญหน้ากับจีน และอาจสามารถเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับจีนได้ด้วย โดยเฉพาะในกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีการเรียกร้องสิทธิในการครอบครองจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม อาเซียนเองต่างก็มีความกังวลต่อท่าทีและนโยบายของจีนในเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ และยังมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพ ทำให้อาเซียนเห็นความสำคัญของเวียดนามในฐานะประเทศที่สกัดกั้นการเคลื่อนตัวของจีนลงมาทางใต้ [5]

 

2)    ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจจะมีความสำคัญรองจากเหตุผลทางการเมืองในการที่อาเซียนรับเวียดนามเข้าเป็นสมาชิก แต่ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้ โดยความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างเวียดนามกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วหลังจากเวียดนามประกาศถอนทหารออกจากกัมพูชา และได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีสในปี พ.ศ.2534 เหตุผลทางเศรษฐกิจที่เป็นแรงจูงใจให้เวียดนามต้องการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน แบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลักคือ

 

2.1)    ความต้องการแรงสนับสนุนและความช่วยเหลือในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากประเทศสมาชิกอาเซียน  โดยเวียดนามมองว่าการเข้ารวมกลุ่มอาเซียนจะทำให้เวียดนามมีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศจากสมาชิกต่างๆ อันจะมีส่วนเอื้ออำนวยและเร่งการพัฒนาของตนไปสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาดที่วางอยู่บนหลักการของการแข่งขันได้ในที่สุด

 

2.2) ความต้องการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และองค์กรการค้าโลก เวียดนามได้ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการเข้าร่วมในระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)  และระบบเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น การเป็นสมาชิกของอาเซียน นอกจากจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ยังนำเวียดนามไปสู่ความคุ้นเคยกับแนวทางปฏิบัติในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับโลก ซึ่งจะมีผลดีและเป็นปัจจัยที่จะผลักดันเวียดนามให้ก้าวไปสู่การเป็นสมาชิกในระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก)APEC) และองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) [6]

 

2.3) ความต้องการผลประโยชน์จากลงทุนและการค้ากับประเทศอาเซียน ในฐานะของสมาชิกอาเซียน เวียดนามหวังที่จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของการค้าและการลงทุนกับประเทศอาเซียนทั้งหลาย โดยในขณะที่การค้าภายในกลุ่มอาเซียนกำลังขยายตัว เวียดนามได้เตรียมพร้อมและปรับทิศทางการส่งออกของตนที่จะไปสู่ตลาดอาเซียนอย่างจริงจังมากขึ้น นอกจากนี้ เวียดนามยังหวังว่าตนจะได้รับสิทธิพิเศษ GSP (Generalized System of Preferences) อย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป และเวียดนามยังจะเป็นจุดส่งออกที่สำคัญสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในด้านการลงทุน ทั้งเวียดนามและประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเวียดนามจะสามารถดูดซึมเทคนิค วิทยาการและเทคโนโลยีที่ผ่านมากับการลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบการร่วมทุน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการผลิตของเวียดนาม

 

บทบาทของเวียดนามในอาเซียน


               เวียดนามได้แสดงถึงความพยายามในการปฏิบัติตามพันธกรณีของสมาชิกอาเซียน โดยได้ลงนามใน Declaration on the Admission ในปี พ.ศ.2538 ตกลงที่จะเข้าเป็นภาคีในปฏิญญาและข้อตกลงฉบับต่างๆ ของอาเซียน รวมถึงความตกลงที่อาเซียนทำไว้กับคู่เจรจาทั้งหมด ในปีเดียวกันเวียดนามได้ลงนามเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงแม่บทว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน และพิธีสารว่าด้วยการยอมรับข้อตกลงการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรร่วม การที่เวียดนามลงนามในข้อตกลงต่างๆ ในกรอบของอาเซียนนี้ เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับข้อผูกพันในความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและเปิดการค้าให้เป็นเสรีของเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามยังได้เข้าเป็นภาคีในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน ในปี พ.ศ.2539 มีผลให้เวียดนามสามารถเข้าร่วมในโครงการ AICO ซึ่งมุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน โดยมีการแบ่งส่วนตลาดและจัดสรรใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงแม่บทว่าด้วยการบริการของอาเซียน ซึ่งเวียดนามต้องเปิดเสรีสาขาบริการต่างๆ ให้แก่สมาชิกอาเซียน ได้แก่ การท่องเที่ยวและโทรคมนาคม

 

               จะเห็นได้ว่า ในช่วง 2 ปีแรกหลังจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอาเซียน เวียดนามได้พยายามปรับตัวทางการค้าในการเข้าร่วมกับ AFTA (อาฟตา) ปรับตัวด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว อีกทั้งปรับระบบให้สอดคล้องกับระบบของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เช่น การยกเลิกการขอวีซ่าเข้าประเทศเวียดนามสำหรับผู้ถือพาสปอร์ตทางการทูตและทางราชการจากประเทศอาเซียนด้วยกัน ผลจากการปรับตัวทางการค้า ทำให้เวียดนามก้าวสู่แนวทางความเป็นเสรีทางการค้า

 

นับตั้งแต่เวียดนามเปิดประเทศและประกาศกฎหมายว่าด้วยการลงทุนต่างชาติ ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างก็ให้ความสนใจและพยายามแสวงหาโอกาสเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีจุดเด่นตรงที่เป็นตลาดใหญ่ มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานที่มีศักยภาพและมีราคาเกือบต่ำสุดในอาเซียนรองจากกัมพูชา การมีเวียดนามเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นจะทำให้อาเซียนมีประชากรเพิ่มขึ้น และจะทำให้อาเซียนมีศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการต่อรองทางการเมือง[7]

 

ปัจจุบันเวียดนามมีความโดดเด่นในเชิงเศรษฐกิจในอาเซียน คือ เวียดนามตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยมีแนวชายฝั่งทะเลยาวกว่า 3,200 กิโลเมตร มีแห่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน โดยมีปริมาณสำรองน้ำมักมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก และสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้มากเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีประชากรอ่านออกเขียนได้สูงเกือบร้อยละ 100 ทั้งยังสามารถพูดได้ถึง 3 ภาษา คือ อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น มีค่าแรงยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ช่วยดึงดูดทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในเวียดนาม[8] ขณะเดียวกันเวียดนามก็มีจุดอ่อนในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ประชากรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามในปัจจุบันต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก ทั้งยังมีต้นทุนที่ดินและค่าเช่าสำนักงานค่อนข้างสูง[9]

และปัญหาสำคัญของเวียดนามคือ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งสะสางเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงมีรายได้และความต้องการสูงขึ้น สืบเนื่องจากเศรษฐกิจของเวียดนามในปัจจุบันที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเริ่มมีบทบาทในเวทีสำคัญทางเศรษฐกิจโลก สะท้อนได้จาก ในปี พ.ศ.2550 เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ลำดับที่ 150 หลังจากใช้ความพยายามมานานกว่า 11 ปี ทำให้หลายประเทศต้องจับตามองถึงบทบาทที่จะทวีความสำคัญขึ้นในเวทีการค้าโลก ในฐานะเป็นฐานการผลิตที่เติบโตเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทข้ามชาติต่างๆ โดยเฉพาะนักลงทุนจากไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง และสิงคโปร์ ส่งผลให้เวียดนามมีภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูงและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

 

ด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน ประเทศเวียดนามรับหน้าที่ในตำแหน่งประธานอาเซียนถึง 2 สมัยด้วยกัน โดยในครั้งแรกได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ณ กรุงฮานอย และในปี พ.ศ.2553 เวียดนามได้รับตำแหน่งประธานอาเซียนอีกครั้ง และทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ.2553 ซึ่งตรงกับสมัยนายกรัฐมนตรี เหวียน เติน ซุง กับคำขวัญในฐานะประธานอาเซียนของเวียดนาม คือ “สู่ประชาคมอาเซียน: จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ” (Towards the ASEAN Community: From Vision to Action) โดยเวียดนามมีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่สมาชิกอาเซียนอย่างแข็งขันและรับผิดชอบ เพื่อสนับสนุนให้อาเซียนเชื่อมโยงกันอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ และจากการเหตุการณ์ปะทะระหว่างกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยกับกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงที่มีกองกำลังติดอาวุธ ในปี พ.ศ.2553 สมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนได้แสดงความห่วงใยโดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและแสวงหาการเจรจาอย่างสันติ เพื่อประโยชน์ของชาวไทยและเสถียรภาพในภูมิภาค[10]


               หากจะประเมินผลงานของเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนที่ผ่านมา (2553) อาจกล่าวได้ว่า เวียดนามมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ประเทศไทย (ประธานอาเซียนในปี 2552) ได้ริเริ่มไว้ เช่น การสานต่อการมีผลบังคับใช้ในด้านต่างๆ ของกฎบัตรอาเซียน โดยการจัดตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายอาเซียน การปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาค (Regional Architecture) โดยการผลักดันให้ประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา และรัสเซียเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) เพื่อเพิ่มยุทธศาสตร์การหารือให้ครอบคลุมรอบด้านต่อไป และการให้การสนับสนุนการผลักดันประเด็นการเสริมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาค (ASEAN Connectivity) ของไทย[11]

 

  อ่านข้อมูลประเทศเวียดนาม ได้ที่นี่

 


 

[1] http://www.apecthai.org/apec/th/profile1.php?continentid=2&country=v9

[2] http://www.mfa.go.th/web/2386.php?id=273

[3] วิทย์ บัณฑิตกุล. รู้จักประชาคมอาเซียน. (กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2554). หน้า 175.

[4] http://www.gustotour.com/info_asia/vietnam/vietnam.html

[5] อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์. อาเซียนใหม่. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541). หน้า 99-104.

[6] อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์. อาเซียนใหม่. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541). หน้า 105.

[7] อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์. อาเซียนใหม่. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541). หน้า 105-106.

[8] เอกรินทร์ เลาจริยกุล. “เวียดนามกับบทบาทในเวทีการค้าโลก” สารวิจัยธุรกิจ. 11, 5 (กุมภาพันธ์ 2550) หน้า 2.

[9] http://www.thai-aec.com/140#more-140

[10] http://www.chaoprayanews.com

[11] สมาคมอาเซียน-ประเทศไทย. “การประชุมยุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 จับตามองก้าวต่อไปของอาเซียน” ใน จดหมายข่าวสมาคมอาเซียน–ประเทศไทย.2, 3 (ตุลาคม-ธันวาคม 2553) : หน้า 6.

หมายเลขบันทึก: 501040เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2012 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท