ศาสนาคือภูมิปัญญาเพื่อหาความสุข


ผมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ต้องการความสุข สิ่งมีชีวิตทุกประเภทไม่ใช่แค่สัตว์เท่านั้นแม้กระทั่งต้นไม้ก็ยังต้องการความสุข ถ้าลองนั่งสังเกตต้นไม้ เราจะพบว่าต้นไม้จะเติบโตและโอนเอนไปในทิศทางที่มีความสุขตามประสาต้นไม้เสมอ

ผมคิดว่าที่จริงแล้วสิ่งไม่มีชีวิตก็ยังต้องการความสุขด้วยซ้ำ ถ้าเราพิจารณาในมุมมองของความสุขของสิ่งนั้นเราจะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นก็จะโอนเอียงไปในทิศทางแห่งความสุขเช่นเดียวกัน ก้อนเมฆก็ลอยไปในทางแห่งความสุขของก้อนเมฆ ดวงดาวต่างๆ ก็โคจรไปในทิศทางของความสุขของดวงดาว สายลมแสงแดดต่างก็ดำเนินการเคลื่อนไหวของตัวไปในทิศทางแห่งความสุขของสิ่งนั้นๆ

ผมเขียนถึงทิศทางแห่งความสุขของสิ่งไม่มีชีวิตนี้อ่านแล้วอาจจะดูแปลกๆ แต่ผมคิดว่าเข้าใจได้ไม่ยาก

ลองนึกถึงตัวเราตอนเด็กๆ ที่ยังไม่มีอะไรรบกวนความคิดเรามากนัก เวลาเราวิ่งเล่นโดยไม่มีจุดหมายนั้นมีความสุขมาก เราไม่ได้วิ่งเพื่อไปไหนหรือเพื่อวัตถุประสงค์ใด เราวิ่งเพราะเราวิ่ง ผมเชื่อว่ามนุษย์ในโลกนี้ต่างมีประสบการณ์เช่นนี้ทุกคน ความสุขของสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตน่าจะเหมือนกันก็ตรงนี้เอง

แต่มนุษย์เรามี "ความรู้ตัว" (awareness) ซึ่งสิ่งนี้จะเรียกว่าเป็นของขวัญอันแสนวิเศษจากธรรมชาติก็ได้ หรืออาจจะเป็นคำสาปที่โหดร้ายของธรรมชาติก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะ awareness ทำให้เราแยกทุกข์จากสุขได้

ผมชอบการเปรียบเทียบในศาสนาคริสต์ ผมคิดว่าเวลาเอาอ่านไบเบิลนั้น ถ้าเราไม่ได้แปลตรงตัวแต่เราตีความหมายถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อเราจะได้แง่คิดที่ดีมากมาย ผมคิดว่าไบเบิลเขียนด้วยการอุปมาอุปไมยอย่างลึกซึ้งที่ต้องการให้ผู้อ่านตีความ และการตีความในไบเบิลก็คือ "meditation" ของชาวคริสต์นั่นเอง (Christian Meditation)

ใน Book of Genesis บทที่สองเขียนไว้น่าคิดทีเดียว คนทั่วไปแม้จะไม่ใช่ชาวคริสต์ก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องนี้ เพราะผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้สึกตัว (the tree of knowledge of good and evil) ที่อดัมและอีฟกินเข้าไปทำให้พวกเขาเกิด awareness ขึ้นมา

ความรู้ตัวทำให้เรา "รู้สึก" ถึงความทุกข์และความสุข แต่เอาเข้าจริงๆ เรากลับไม่ได้ "รู้จัก" ว่าความทุกข์และความสุขคืออะไร มนุษย์จึงต้องใช้ชีวิตที่จะเรียนรู้ที่จะรู้จักสิ่งทั้งสองนี้ตลอดทั้งชีวิต

ผมเชื่อว่าเราทุกคนยังอยู่ในสวนอีเดน แต่พิษของผลไม้ทำให้เรามองไม่เห็นสวน และยิ่งกว่านั้นเรายังมองไม่เห็นพระเจ้าอีกด้วย ทั้งๆ ที่พระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา นั่นคือเราไม่เคยแยกออกจากพระองค์จริงๆ เลยด้วยซ้ำแต่เป็นเรื่องยากมากที่จะ "เห็น" ในสิ่งนี้ เพราะพิษของผลไม้นั้นแรงมาก แม้ผมเองที่เขียนเช่นนี้ก็ยังไม่เห็น ก็แค่ "เหมือนจะเห็นแต่ก็ไม่เห็น" เป็นเช่นนี้อยู่เอง

คนที่เห็นก็จะเรียกพระองค์ว่า God บ้าง Tao บ้าง Atman บ้าง หรือ Dharma อย่างพุทธบ้าง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งเดียวกันที่ใช้ศัพท์เรียกที่ต่างกันทั้งสิ้น ที่จริงแล้ว Laozi เขียนไว้ดีใน Tao Te Ching ว่า "สิ่งนี้" ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรหรือเรียกว่าอะไร เรียกว่าเต๋าและอธิบายเท่าที่ทำได้ก็แล้วกัน อ่านดูแล้วจะมองให้เป็นมุขตลกก็ได้มองให้ลึกซึ้งก็ดี Laozi น่าจะเป็นผู้เฒ่าอารมณ์ดีคนหนึ่งแน่ๆ

ผมคิดว่าศาสนาพุทธสอนให้เรารู้เท่าทันความรู้ตัว (being mindful of one's awareness) แล้วอยู่กับธรรมชาติ (พระธรรม) เหมือนศาสนาคริสต์ที่สอนให้รู้จักพระเจ้าและตั้งมั่นอยู่กับพระองค์ไม่หลงไปทางอื่น เมื่อเราอยู่กับพระธรรม (หรือพระเจ้า) ได้ ความสุขก็จะมาให้เราเองตามธรรมชาติ

จริงๆ ผมก็เชื่อว่าอิสลามก็สอนสิ่งเดียวกัน เพราะ "มุสลิม" แปลว่า "one who submits to God" (จาก Wikipedia) แต่ผมเขียนได้ไม่มากเพราะผมไม่รู้จริง แล้วผมเคารพศาสนาอิสลามที่ไม่ให้ผู้ไม่รู้จริงวิเคราะห์วิจารณ์ศาสนาจนเกิดเป็นความเข้าใจผิด ที่จริงแล้วเป็นความคิดที่ดีมากในการรักษาศาสนาให้บริสุทธิ์ เรียกว่าถ้าอยากรู้ก็ต้องตั้งใจที่จะเรียนรู้ (คือเป็นมุสลิมก่อน) ไม่ใช่คิดว่ารู้แล้วก็พูดออกไปเท่าที่คิดได้

Thich Nhat Hanh เขียนในหนังสือเล่มหนึ่งของท่านว่า ทุกเช้าเมื่อท่านจุดธูปบูชาพระพุทธเจ้า ท่านจะบูชาพระเยซูด้วย เพราะท่านมีพระรูปพระเยซูอยู่ในกุฎิเช่นเดียวกันกับพระพุทธรูป

ที่จริงแล้วในประเทศไทยเราจะเห็นรูปพระเยซูและไม้กางเขนในโรงมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกข์ ตอนผมไปตอนเด็กๆ ผมไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าผมเข้าใจมากขึ้นแล้ว

มองกลับไปในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ บรรพบุรุษเราได้พัฒนาภูมิปัญญาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและถ่ายทอดมาให้เราแล้ว แต่คงเป็นเพราะ "พิษ" ของผลไม้แห่งความรู้ตัวที่ทำให้เราไม่ได้เรียนรู้องค์ความรู้เหล่านั้นให้ถ่องแท้ได้เสียที

เราก็คงต้องศึกษาหาทางที่จะดับพิษของผลไม้กันต่อไป ตราบใดที่เรายังไม่ปิดตัวเองที่จะเรียนรู้ พิษนั้นก็คงเบาบางลงได้ครับ

หมายเลขบันทึก: 500862เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2012 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอแลกเปลี่ยนบ้างคะ อาจารย์

ศาสนา คือภูมิปัญญาในการหาความสุข

ความสุข คือสิ่งที่คนๆ นั้นเชื้อ บ้างเชื่อว่า เงินสามารถให้ความสุขกับเรา

บ้างเชื้อว่า หน้าที่การงานให้ความสุขกับเรา บ้างก็เชื่อว่าความสงบที่แท้จริงของชีวิต คือความสุขของเรา

บ้างก็เชื่อว่า การปล่อยวาง คือความสุขของเรา

แต่สำหรับบางคนแล้ว ความสุข การไม่รู้สึก ไม่โหยหาแล้วซึ่งความสุข

การรู้สึกพอใจในสิ่งที่ตนเองมี คือความสุขที่ยิ่งใหญ่ ของคนบางคน

ผมเห็นด้วยกับคุณ Stream มากเลยครับ ผมคิดว่าศาสนาพุทธสอนในประเด็นนี้ไว้ดีทีเดียวครับ การหยุดค้นหาความสุขคือการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบความสุข เพราะเอาเข้าจริงความสุขอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา แต่หลายครั้งเราเลือกที่จะแลกเปลี่ยนความสุขในปัจจุบันกับความสุขที่เราคาดหวังในอนาคต บางครั้งเราก็กำไร บางครั้งเราก็ขาดทุน ผมเห็นว่าศาสนาสอนให้เราไม่หวังกำไรมากก็จะไม่ขาดทุนมาก (มีความสุขในปัจจุบันเพื่อให้มีความสุขในอนาคต) ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท