Software8: การแปลผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ กรณีพ่อแม่ลูก (PSU CalPat v 1.3)


     ผมทิ้งระยะเวลาอยู่นาน ก่อนที่จะเริ่มเขียนโปรแกรมเพิ่มเติม ให้การคำนวณทางสถิติ กรณีการตรวจพ่อแม่ลูกพร้อมกัน แบบ one parent test หรือแบบที่มีความเชื่อเริ่มต้นว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นแม่ของเด็กจริง แล้วมาตรวจพิสูจน์ว่าความเชื่อมั่นที่ผู้ชายที่ถูกกล่าวหา จะเป็นพ่อของเด็ก มีค่ามากหรือน้อยเพียงใด ด้วยโปรแกรม PSU CalPat รุ่น  1.3 สามารถที่จะแปลผลการทดสอบออกมาเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยให้พิมพ์ใบรายงานผลนี้ออกมา พร้อมกับการแปลผลการทดสอบ เพื่อที่ผู้ใช้สามารถใช้ใบที่ print out ออกมานี้ เป็นใบรายงานผลการทดสอบได้เลย 

    การรายงานผล จะแบ่งเป็น  3 ข้อ คือ

     1. ข้อแรก จะกล่าวถึงผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อ ว่าไม่สามารถคัดออก หรือ ปฏิเสธว่าไม่ใช่พ่อของเด็ก  หากมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น ก็จะมีการบอกจำนวนที่กลายพันธุ์ และตำแหน่งที่กลายพันธุ์ทั้งหมด

     2. ข้อสอง จะกล่าวถึง ผู้หญิงที่มาตรวจเปรียบเทียบกับเด็กด้วย ว่าไม่สามารถคัดออก หรือ ปฏิเสธว่าไม่ใช่แม่ของเด็ก หากมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น ก็จะมีการบอกจำนวนที่กลายพันธุ์และตำแหน่งที่กลายพันธุ์ทั้งหมด

     3. ข้อที่สาม จะกล่าวถึง สมมติฐานของการคำนวณว่า เป็นการคำนวณบนความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นแม่ของเด็ก แล้วคำนวณว่าความเชื่อมั่นที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อจะเป็นพ่อของเด็ก มีค่ามากหรือน้อยเพียงใด

     การรายงานผลนี้ เป็นการรายงานผลทางห้องปฏิบัติการ โดยมีการคำนวณค่าทางสถิติร่วมด้วย ส่วนการรายงานผลของภาควิชานิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จะมีใบปะหน้าอีกหนึ่งใบ ซึ่งจะระบุความเห็นแพทย์ไว้ว่า เชื่อว่าผู้ชายคนนี้ เป็นพ่อของเด็กจริง หรือจะปฏิเสธว่า ผู้ชายคนนี้ไม่ใช่พ่อของเด็ก  และเชื่อว่าผู้หญิงคนนี้เป็นแม่ของเด็กจริง หรือจะปฏิเสธว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่แม่ของเด็ก ใบปะหน้านี้ จะเซ็นออกโดยแพทย์ ส่วนใบรายงานผลทางห้องปฏิบัติการจะเซ็นออก โดย  3 คน ได้แก่ ผู้รายงานผลการตรวจ ผู้ตรวจสอบผลการตรวจ และผู้รับรองผลการตรวจ

     ปัจจุบัน การรายงานผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ หากมีการคำนวนค่า Posterior probability จะต้องมีการรายงานด้วยว่า เป็นการคำนวณเทียบกับกลุ่มประชากรไทย ระบุเอกสารอ้างอิง คือ รายงานวิจัยที่ศึกษาโดยอาจารย์บุษบา ฤกษ์อำนวยโชค ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี (Forensic Science International 2009;4(1):e37-e38 และคำนวณโดยการสันนิษฐานค่า prior prob เท่ากับเท่าใด และ ค่าสัมประสิทธิ์การมีบุพการีร่วม (Theta) เท่ากับเท่าใด (กำหนดค่าเริ่มต้น prior prob =  0.50 และ Theta =  0.01

     กรณีที่  1 เป็นกรณีที่ทั้งผู้ชาย และ ผู้หญิงที่ตรวจ เป็นพ่อและแม่ที่แท้จริงของเด็ก

     กรณีที่  2 เป็นกรณีที่คัดพ่อออก หมายถึงปฏิเสธว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่พ่อของเด็ก แต่ยอมรับว่า ผู้หญิงที่ตรวจร่วมด้วยเป็นแม่ของเด็ก กรณีนี้จะไม่มีการคำนวณค่าทางสถิติ หากต้องการคำนวณค่าทางสถิติ จะไปใช้การคำนวณเปรียบเทียบ แม่-ลูก แบบ duo หรือ แบบ no parent test ครับ

 กรณีที่  3 เป็นกรณีที่คัดแม่ออก หมายถึงปฏิเสธว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่แม่ของเด็ก แต่ยอมรับว่า ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อนั้นเป็นพ่อของเด็กจริง กรณีนี้จะไม่มีการคำนวณค่าทางสถิติ หากต้องการคำนวณค่าทางสถิติ จะไปใช้การคำนวณเปรียบเทียบ พ่อ-ลูก แบบ duo หรือ แบบ no parent test ครับ

 กรณีที่  4 เป็นกรณีที่คัดทั้งพ่อและแม่ออก หมายถึงปฏิเสธว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อ ไม่ใช่พ่อของเด็ก และผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่แม่ของเด็ก กรณีนี้จะไม่มีการคำนวณค่าทางสถิติให้

 

     กรณีที่  5 เป็นกรณีที่ทั้งผู้ชาย และ ผู้หญิงที่ตรวจ เป็นพ่อและแม่ที่แท้จริงของเด็ก แต่พบว่าเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นในผู้ชาย ซึ่งมีผลทำให้ค่า Posterior probability ลดลง แต่ยังคงมากกว่าค่า cutoff ที่ 99 ซึ่งมากเพียงพอ ที่จะยังเชื่อมั่นว่า ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อคนนี้ เป็นพ่อของเด็กจริง

 กรณีที่  6 เป็นกรณีที่ทั้งผู้ชาย และ ผู้หญิงที่ตรวจ เป็นพ่อและแม่ที่แท้จริงของเด็ก แต่พบว่าเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นทั้งในผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อ และ ผู้หญิงที่มาตรวจเปรียบเทียบด้วย ซึ่งมีผลทำให้ค่า Posterior prob ลดลงต่ำกว่า 99% แต่ยังคงมีค่ามากกว่า  50% ทั้งสองคนจึงยังไม่ถูกคัดออกจากการเป็น พ่อ และ แม่ของเด็ก แต่การที่ค่า Posterior prob ไม่ถึง 99% จะยังไม่ฟันธงครับว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นพ่อของเด็กจริง ในทางปฏิบัติจะต้องตรวจเพิ่มตำแหน่งให้มากขึ้น เพื่อให้ค่า Posterior prob มากกว่า 99% หรืออาจตรวจยืนยันด้วยวิธีการตรวจอื่น เช่น ไมโตคอนเดรีย, Y-STR หรือ X-STR เป็นต้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 500578เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท