ชีวิตที่พอเพียง1633. ความฉลาดที่อยู่ในธรรมชาติ


 
          รายงานวิจัยเรื่อง Widespread RNA and DNA Sequence Differences in the Human Transcriptomeในวารสาร Science ฉบับวันที่ ๑ ก.ค. ๕๔ทำให้ผมคิดว่า ธรรมชาติฉลาดกว่าที่เราคิด   และความรู้ด้านพันธุศาสตร์ที่ผมเรียนมาเมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อนมันมีส่วนผิดไม่ใช่น้อย

 

          สมัยนั้นเราคิดว่า ความแม่นยำในการถ่ายทอด information จาก DNA สู่ RNA เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และธรรมชาติต้องหาทางทำให้แม่นยำที่สุด   ซึ่งที่จริงแนวคิดนั้นก็ยังถูกต้อง ยังไม่ผิด   คือมีการค้นพบ “กลไกตรวจปรู้ฟ” มากมาย   แต่ “เหนือฟ้า ยังมีฟ้า”   เหนือความแม่นยำ ยังมีการดัดแปลง    ดังนั้น เพื่อให้ชีวิตปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ดี   information ในระดับ DNA เมื่อถ่ายทอดสู่ RNA จึงต้องมีการดัดแปลงไปบ้าง

 

          ทำให้ผมนึกย้อนอดีตระลึกชาติกลับไปสมัยเด็ก   ผมโชคดีที่มีแม่คอยเอาใจใส่พร่ำสอน ด้วยการดุด่าว่ากล่าวเคี่ยวเข็น เพื่อจะให้เติบโตเป็นคนดีในอนาคต   แต่โชคร้ายที่แม่ตีความว่าผมจะเป็นคนดีได้ต้องทำตามที่แม่สอนทุกอย่าง   คือต้องเป็น RNA ที่เหมือน DNA (คำแม่สอน) ทุกอย่าง    เมื่อผมไม่ได้ทำตามทุกอย่าง ผมก็โดนลงโทษ

 

          คงจะเป็นธรรมชาติของผม (ไม่รู้ตัว) ที่ชอบแปลงคำแม่สอน ออกมาเป็นการตีความของตนเอง    ทำให้ผมมีนิสัยชอบตีความ และดัดแปลงเรื่องดีๆ ทั้งหลายตามความคิดความเข้าใจของตน   นำมาเป็นหลักปฏิบัติ   ด้วยเป้าหมายเดียวกันกับแม่ คือการป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม

 

          ความฉลาดที่มีอยู่ในธรรมชาติคือศักยภาพในการดัดแปลง หรือนวัตกรรม (innovation) นั่นเอง 

 

          กลับมาที่รายงานผลการวิจัยชิ้นนี้   ที่สำคัญคือ เขาค้นพบว่าส่วนที่ RNA แตกต่างจาก DNA หลายกรณี ไปปรากฎในระดับโปรตีนด้วย   คือทำให้เกิดผลต่อ phenotype ด้วย   เขาลงท้ายว่า ในการศึกษา gene (DNA) variation ที่มีผลต่อการเกิดโรคนั้น จะไม่เพียงพอ   ควรต้องศึกษา RNA variation ควบคู่ไปด้วย

 

          เนื่องจากเขาค้นพบว่า ความแตกต่างระหว่าง DNA – RNA นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบ random   จึงแสดงว่า ต้องมีกลไกให้เกิดความแตกต่าง    และความแตกต่างนี้ต้องมีความหมายหรือความมุ่งหมายในธรรมชาติ   ซึ่งผมตีความว่าเป็นความฉลาดของธรรมชาติ

 

          ที่กล่าวนี้ จากมุมมองทางวิทยาศาสตร์   ผมเชื่อว่า หากศึกษาจากมุมมองด้านอื่น เช่นสังคมวิทยา   เราจะค้นพบความฉลาดในธรรมชาติ ในแง่มุมอื่นๆ อีกมาก
 

 

วิจารณ์ พานิช
๒ ส.ค. ๕๕
 
 
หมายเลขบันทึก: 500525เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...ถ้าหาก..เรา..ลอง..ตั้ง..สมการ..เล่นๆว่า..มนุษย์ สัตว์..ต้นไม้ คือชีวิต เท่ากับ..มวล..คือ..ธรรมชาติ...ความฉลาดที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ..คือ..สันติคติ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท