คัมภีร์พระเวท


เนื้อหา และความเป็นมาของคัมภีร์พระเวท

      อินเดียได้ชื่อว่าเป็นอนุทวีป    (Sub-continent)  เพราะความกว้างใหญ่ไพศาลของพื้นที่  อินเดียจึงมีพื้นที่หนึ่งใน  ๕  ส่วนของพื้นที่ของโลก    อินเดียเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์นานา      เชื้อชาติ   เผ่าพันธุ์และวัฒนธรรม  มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์   และสังคมของชาวอินเดียอารยันสมัยพระเวท  ประมาณ  ๒๕๐๐ – ๕๐  ปีก่อนพุทธศักราช   ได้มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในช่วงของแต่ละวัยที่เรียกว่า  อาศรม (อาศรฺม)  ๔  คือ

                     ๑)      พรหมจรรย์  (พฺรหฺมจรฺย)  คือวัยเยาว์  ผู้ซึ่งปฏิบัติตนอยู่ในอาศรมนี้  เรียกว่า  พรหมจาริน   (พฺรหฺมจารินฺ)  มีหน้าที่ต้องศึกษาหาความรู้ความสามารถ  และศึกษาพระเวท  พร้อมทั้งรักษาพรหมจรรย์  กล่าวคือ  รักษาตนให้บริสุทธิ์  ไม่แปดเปื้อนด้วยเมถุนธรรมทั้งกายและใจ  ยังชีพอยู่ด้วยการภิกขาจารและมีหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้ครู

                     ๒)     คฤหัสถ์  (คฺฤหสฺถ)  คือ  วัยผู้ใหญ่หรือผู้ครองเรือน  มีหน้าที่สร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัว

                     ๓)     วานปรัสถ์  (วานปฺรสฺถ)  วัยสูงอายุ  ต้องบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม

                     ๔)     สันนยาสี  (สํนฺยาส)  วัยชรา ต้องบำเพ็ญพรตและจาริกสั่งสอนผู้อื่นให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ

                     พระเวท  คือ  คัมภีร์ที่เก่าแก่ของพวกอินโด - อารยัน   เป็นแหล่งกำเนิดของวรรณกรรมอินเดีย    คำว่า  “เวท”  แปลว่า  ความรู้  มาจาก วิทฺ ธาตุ ที่แปลว่ารู้  ซึ่งหมายถึงความรู้ทางศาสนา หรือความรู้ทางด้านจิตใจของชาวฮินดู   คัมภีร์พระเวทมิใช่ผลงานของนักปราชญ์  หรือของศาสดาคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ    หากเป็นที่รวมปัญญาความคิดนึกของบรรพบุรุษของชาวอินเดียหลายชั่วอายุคน   ที่สืบทอดกันมาโดยวาจาเป็นเวลาหลายร้อยปี  จนในที่สุดก็รวบรวมจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร

                     “พระเวท”  นั้น ประกอบด้วยคัมภีร์  ๓  ประเภทด้วยกันคือ

                     ๑)      คัมภีร์สังหิตา หรือ มันตระ   คำว่า  “สังหิตา”  แปลว่า ที่รวมหรือชุมชม  ในที่นี้หมายถึง    ชุมนุมบทสดุดีเทพเจ้า   บทสวดขับร้องมนต์หรือคาถาและสูตรสำหรับใช้ในพิธีบูชายัญ   บทประพันธ์ทั้งหมดในคัมภีร์สังหิตาเป็นร้อยกรอง    กล่าวคือแต่งเป็นฉันท์

                     ๒)     คัมภีร์พราหมณะ   ได้แก่ข้อความร้อยแก้ว  อธิบายความหมายของบทสดุดีเทพเจ้า    บัญญัติว่าบทสดุดีใดควรใช้ในที่ใด  พรรณนาถึงกำเนิดของบทสดุดีในส่วนที่เกี่ยวกับกำเนิดของพิธีบูชายัญ   ตลอดจนอธิบายความหมายของพิธีบูชายัญด้วย

                    ๓)     คัมภีร์อารัณยกะ   และอุปนิษัท   ได้แก่บทประพันธ์ที่ว่าด้วยความคิดนึกทางด้านปรัชญาหรืออีกนัยหนึ่ง  คือ  ความนึกคิดที่เกี่ยวกับเรื่องวิญญาณ หรืออาตมัน เรื่องพระเป็นเจ้า  เรื่องโลก  และเรื่องมนุษย์ข้อความบางตอนในคัมภีร์อารัณยกะและอุปนิษัทซ้ำกับที่มีอยู่ในคัมภีร์พราหมณะ

                   คัมภีร์สังหิตา  หรือ  มันตระ  ซึ่งกล่าวถึงข้างต้นนั้นคงจะมีแพร่หลายอยู่มากมายตามสำนักและอาจารย์ต่าง ๆ และที่พอจะแยกออกเป็นประเภทต่างหากได้นั้น  สามารถแยกได้ดังต่อไปนี้

๑)      สังหิตา หรือชุมนุมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยบทสดุดีเทพเจ้า  เรียกว่า   ฤคเวทสังหิตา

๒)     สังหิตา  หรือชุมนุมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยสูตรสำหรับใช้ในพิธีบูชายัญเรียกว่า  ยชุรเวทสังหิตา   ซึ่งยังแยกออกอีกเป็นสองแขนง  คือ  กฤษณะยชุรเวท  แปลว่า    ยชุรเวทดำ  และศุกละยชุรเวท   แปลว่า  ยชุรเวทขาว

๓)      สังหิตา หรือชุมนุมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยบทสวดขับร้องเรียกว่า  สามเวทสังหิตา

๔)      สังหิตา   หรือชุมนุมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยมนต์หรือคาถาต่าง ๆ เรียกวา อาถรรพเวทสังหิตา

          สังหิตา  ๔  ประเภทที่ได้กล่าวมานี้    เป็นพื้นฐานอันก่อให้เกิดคัมภีร์พระเวททั้ง  ๔     ที่เรียกว่า  “จตุรเวท”   อาจจกล่าวไว้ด้วยว่าคัมภีร์พระเวท  แต่ละคัมภีร์นั้นต่างก็มีคัมภีร์พราหมณะ  อารัณยกะ และอุปนิษัทเป็นบริวาร ในทำนองเดียวกันกับคัมภีร์ยชุรเวท  สามเวท  และอาถรรพเวท  ก็มีบริวารด้วยเช่นกัน    เช่นคัมภีร์ยชุรเวท   สามเวท   และอาถรรพเวท   ก็มีคัมภีร์พราหมณะ   อารัณยกะและอุปนิษัท   เป็นบริวาร 

           คัมภีร์ทั้ง  ๔  หมวดที่ได้กล่าวมาแล้วนี้คือ    เวท   พราหมณะ  อารัณยกะ   และอุปนิษัทนั้น    มีอายุกาลเรียงตามลำดับและเรียกรวม ๆ  ว่าเป็น  “ศรุติ”  แปลว่า  สิ่งที่ได้ยินมา หมายถึงได้ยินมาจากพระเจ้า  โดยผ่านสื่อกลางคือ    ฤาษีมุนี และด้วยเหตุนี้จึงเป็น “อเปารุเษยะ”  (ไม่ใช่เป็นของมนุษย์สร้างขึ้น)  บรรดาฤาษีมุนีผู้ได้ยินได้ฟัง  “ศรุติ”   เรียกว่า  “มันตทรรษฎา”  แปลว่า ผู้ที่ได้เห็นหรือได้รับมนตร์จากพระเจ้า

 

บรรณานุกรม

จำลอง สารพัดนึก, ประวัติวรรณคดีสันสกฤต (กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง๒๕๔๖),  ๗.

กรุณา-เรืองอุไร  กุศลาสัย,  ภารตวิทยา พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพมหานคร: ศยาม, ๒๕๔๗),     ๒๕ - ๒๙.

กรุณา – เรืองอุไร  กุศลาสัย,  อินเดีย อนุทวีปที่น่าทึ่ง  (กรุงเทพมหานคร :  ศยาม , ๒๕๔๒), ๖๐.

 

หมายเลขบันทึก: 500288เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้ฟามรู้มากกกกเรยยยย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท