วิเคราะห์เปรียบเทียบ ระหว่างสคาถกัมในคัมภีร์ ลังกาวตารสูตร และปฏิจจสมุปบาทของท่านพุทธทาสภิกขุ


วิเคราะห์เปรียบเทียบ ระหว่างสคาถกัมในคัมภีร์ ลังกาวตารสูตร และปฏิจจสมุปบาทของท่านพุทธทาสภิกขุ

วิเคราะห์เปรียบเทียบ

ระหว่างสคาถกัมในคัมภีร์ ลังกาวตารสูตร 

และปฏิจจสมุปบาทของท่านพุทธทาสภิกขุ


        “สคาถกัม”  นั้น   เมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ว่า  เป็นการกล่าวถึง  จิตที่เป็นตัวเข้าไปรับรู้หรือยึดติดอยู่กับใจ  ว่าเนื้อแท้จริง ๆ แล้ว  สิ่งที่รับรู้หรือยึดติดนั้น  ไม่มีอยู่เลย  เป็นเพียงแค่สิ่งสมมติ  โดยการรับรู้ผ่านทางประสาทสัมผัสเท่านั้น  เนื่องจากสิ่งทั้งหมดนั้น  อยู่ที่ว่าใครจะมองอย่างไร  ระหว่างความมีอยู่และความไม่มีอยู่  ถ้าพูดหรือมองดูแบบคนทั่วไป  ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีอยู่  (แต่มีอยู่อย่างไม่มั่นคงถาวร)  และถ้ามองด้วยความจริงอันสูงสุด  ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมไม่มีอยู่  และการที่จะทำให้เรานั้น  สามารถคิดแยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้  ก็คือ  ตัวรู้ หรือ ชญาน  ที่เป็นตัวคิดและทำให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น

             

        จิตนั้น  ก็เหมือนวัตถุทั่ว ๆ ไป  ที่จะต้องมีสิ่งมาสัมผัส  จากปัจจัยภายนอก  หรือปัจจัยภายใน   เพราะธรรมชาติดั้งเดิมของจิตนั้น   ต้องอาศัยปัจจัยเป็นเหตุจึงจะเกิดมีได้   และเมื่อตราบใดที่จิตยังเกี่ยวข้องอยู่กับโลก ตราบนั้นความคิดว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่  ก็ยังมีอยู่  ต่อเมื่อจิตที่นึกคิดไปเองหายไป  เพราะความเกี่ยวข้องอยู่กับโลกของจิตนั้นถูกขจัดไปโดยสิ้นเชิง  ด้วยชญาน  ความมีอยู่หรือไม่มีอยู่  ก็ย่อมไม่มี

 

         ส่วน “ปฏิจจสมุปบาท” นั้น  เป็นการกล่าวถึง  จิตที่มีเหตุปัจจัยต่าง ๆ มาปฏิฆะแล้วทำให้เกิดขึ้น โดยอาศัยหลักการทั้ง  ๑๑  อาการ  สืบเนื่องต่อกันเป็นระบบ  และปฏิจจสมุปบาทก็ยังสามารถที่จะเกิดขึ้นชั่วขณะอึดใจเดียว  หรือสองอึดใจ  แล้วก็เป็นปฏิจจสมุปบาทครบได้ทั้งรอบทั้ง  ๑๑  อาการ  โดยไม่ต้องรอให้ครบทั้ง  ๓ ชาติ

 

              เมื่อพิจารณาลงไปอีกปฏิจจสมุปบาทนั้น  ก็ยังแสดงให้เห็นถึงอาการต่าง ๆ ที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อกัน  และไม่มีความคงที่ อยู่ด้วยตัวของมันเองอย่างเดิมแม้อยู่ชั่วขณะเดียว  พูดอีกนัยหนึ่ง  อาการที่สิ่งทั้งหลายปรากฏเป็นรูปต่าง ๆ มีความเจริญความเสื่อมเป็นไปต่าง ๆ นั้น  แสดงถึงสภาวะที่แท้จริงของมันว่าเป็นกระแสหรือกระบวนการ  ความเป็นกระแสแสดงถึงการประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ รูปกระแสปรากฏเพราะองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน   กระแสดำเนินไปแปรรูปได้เพราะองค์ประกอบต่าง ๆ  ไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียว  องค์ประกอบทั้งหลายไม่คงที่อยู่แม้ขณะเดียวเพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน  ตัวตนที่แท้จริงของมันไม่มีมันจึงขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่าง ๆ  เหตุปัจจัยต่าง ๆ  สัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยกัน  จึงควบคุมเป็นกระแสได้  ความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องอาศัยกัน  แสดงถึงความไม่มีต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย

 

          สรุปความว่า   ทั้งสคาถกัมในคัมภีร์ลังกาวตารสูตร  และปฏิจจสมุปบาทของท่านพุทธทาสภิกขุนั้น  ล้วนแล้วแต่เป็นการอธิบายเสนอแนวคิดและมุมมองของแต่ละคัมภีร์  สคาถกัมก็มีความจริงของสคาถกัม  ปฏิจจสมุปบาทก็มีความจริงของปฏิจจสมุปบาท  อาจจะมีบางอย่างที่เหมือนกันบ้าง  เช่น  การที่จะเกิดอะไร ต้องอาศัยปัจจัยเป็นเหตุเกิด  แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้ง  ๒  คัมภีร์นั้น  จะเหมือนกันทั้งหมด  เป็นเพียงแค่ความคลายคลึงกันเท่านั้น

           และที่อยากจะพูด  ก็คือ  ในความรู้สึกสามัญของมนุษย์  ความรู้ในบัญญัติต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยพ่วงเอาความเข้าใจในปัจจัยและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยเหมือนกัน  แต่เมื่อเกิดความกำหนดรู้ขึ้นแล้ว  ความเคยชินในการยึดติดด้วยตัณหา  อุปาทาน  ก็เข้าเกาะกับสิ่งในบัญญัตินั้น  จนเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นอย่าง หนาแน่น  บังความสำนึกรู้  และแยกสิ่งนั้นออกจากความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ ทำให้ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็นและสิ่งที่คิดว่าตัวเราและของเราจึงแสดงบทบาทได้เต็มที่

หมายเลขบันทึก: 499906เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2012 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท