พยากรณ์สองยุค


กรุงศรีอยุธยาล่มแล้วให้เป็นกรณีตัวอย่างในกรุงรัตนโกสินทร์

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

         จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา

เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา

มหาดิเรกอันเลิศล้น

เป็นที่ปรากฏรจนา

สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน

ทุกบุรีสีมามณฑล

จบสกลลูกค้าวานิช

ทุกประเทศสิบสองภาษา

ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคนิด

ประชาราษฎร์ปราศจากไภยพิศม์

ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์

ฝ่ายองค์พระบรมราชา

ครองขันทสิมาเป็นศุข

ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก

จึ่งอยู่เย็นเป็นศุขสวัสดี

เป็นที่อาไศรยแก่มนุษย์ในใต้หล้า

เป็นที่อาไศรยแก่เทวาทุกราศรี

ทุกนิกรนรชนมนตรี

คะหะบดีชีพราหมณพฤฒา

ประดุจดั่งศาลาอาไศรย

ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันษาขา

ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา

เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาน

ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ

อาจปราบไภรีทุกทิศาน

ทุกประเทศเขตขัณท์บันดาล

แต่งเครื่องบันนาการมานอบนบ

กรุงศรีอยุทยานั้นสมบูรณ์

เพิ่มพูลด้วยพระเกรียศคะจรจบ

อุดมบรมศุขทั้งแผ่นภิภพ

จนคำรบศักราชได้สองพัน

คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย

จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น

ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศมิตราชธรรม์

จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ

คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ

อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน

มหาเมฆจะลุกเปนเพลิงกาล

เกิดนิมิตพิศดารทุกบ้านเมือง

พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก

อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง

ผีป่าก็จะวิ่งเข้ามาเมือง

ผีเมืองจักวิ่งออกไพร

พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี

พระกาฬกุลีจักเข้ามาเป็นไส้

พระธรณีจักตีอกไหม้

อกพระกาลจักเกรียมกรม

อันพุทธทำนายนี้ไม่ผิดผัน

ด้วยนิมิตอัศจรรย์ก็เห็นสม

มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม

มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด

มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น

ฝูงคนจักตายพรายพัด

มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ

ทั้งสิงสาราสัตว์จักร้อนรน

 

 

ทั้งเทวดาบำรุงพระศาสนา

จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล

ทั้งสัปรุษก็จักแพ้แก่ทรชน

มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก

ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว

คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์

อันลูกศิษย์จักสู้ครูพัก

จักหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ

นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย

น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม

ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า

เหล่าจัณฑาลจักเข้ามาสู่สม

ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์

เพราะสมัคสมาคมด้วยพาลา

พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสีหนาท

ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา

คนอาสัจจักเลื่องลือชา

พระธรรมาจักตกลึกลับ

ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ

จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ

ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์

สัปรุษก็จักอับซึ่งน้ำใจ

จักถอยอายุทั้งเดือนปี

ประเพณีจะแปรปรวนตามนิสัย

ทั้งแผ่นดินก็จักผอมไข้

ผลหมากรากไม้จะถอยรส

ทั้งแพศพรรว่านยาก็อาเพศ

เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด

จวงจันทน์พรรณไม้อันหอมรส

จะถอยถดไปตามประเพณี

ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง

สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่

จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี

ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมปน

ทุกประเทศราชธานี

จักเกิดกาลกลีทุกแห่งหน

จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล

จะสาละวนทั่วโลกทั้งหญิงชาย

จะร้อนอกสมณาประชาราช

จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย

จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย

ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ

ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก

เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ

แต่สิงห์สารสัตว์เนื้อเบื้อ

นั้นจะหลงหลอเหลือในแผ่นดิน

ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย

จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น

ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน

จะสูญสิ้นการณรงสงคราม

กรุงศรีอยุทยาจะสูญแล้ว

จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม

ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม

จนสิ้นนามศักราชห้าพัน

กรุงศรีอยุทยาเขษมสุข

แสนสนุกนิ์ยิ่งล้ำเมืองสวรรค์

จะเป็นแพศยาอาทัน

นับวันจะเสื่อมสูญเอยฯ

ส่วนเรื่องผู้แต่งนั้น ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด เพียงแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระนารายณ์มหาราช เพราะเรื่องราวเป็นเรื่องสำคัญระดับบ้านเมือง ยิ่งเป็นเรื่องโจษขานกันทุกยุคด้วยแล้ว ยิ่งต้องเป็นถ้อยคำจากผู้มีอิทธิพลในสังคม มากไปกว่านั้นศาสตร์การทำนายและการผูกเรื่องด้วยทักษะวรรณกรรมในระดับสูง 

  เนื้อหานี้อยู่ในหนังสือหลักภาษาชั้นมัธยมศึกษาปีี่ที่ 3  หน้า 25 ครูพานักเรียนอ่านแล้ววิเคราะห์เปรียบเทียบว่าเรื่องใดเกิดขึ้นแล้ว ควรแก้ไขอย่างไร /เรื่องใดยังไม่เกิด ควรรักษาไว้อย่างไร และจะปฎิบัติตนอย่างไรในยุคปัจจุบันจนถึงอนาคต คำตอบที่ได้คือ

1. ฤดูกาลแปรปรวน แก้ไขโดยสร้างเทคโนโลยี(เขื่อน ชลประทาน คลองส่งน้ำเพื่อการเกษตรเป็นต้น)เพื่อแบ่งเบาความเดือดร้อน จัดการน้ำให้ได้ใช้ในการเกษตรตลอดปี

2.คนดี(นักปราชญ์)ถูกเหยีบยย่ำ คนชั่วได้รับการยอมรับ แก้ไขโดยการสร้างค่านิยมส่งเสริมคนดีให้มีความเข้มแข็งไม่พ่ายแพ้ต่อความเลวร้ายทั้งปวง ยกย่องส่งเสริมคนดีให้มีอำนาจ 

3.ประเพณีที่ดีงามผิดเพี้ยนไปตามค่านิยมของคนต่างชาติที่ถือว่าเจริญและปฏิบัติตามกันมาโดยไม่ยึดติดประเพณีดั้งเดิม แก้ไขโดยรื้อฟื้นประเพณีดั้งเดิมส่งเสริมให้เยาวชนรู้และเห็นคุณค่า ภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีที่ดีของตนเอง

4.เกิดโรคร้ายต่าง ๆที่ทำลายชีวิตผู้คนมากมาย แก้ไขโดยระวังรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย รู้เท่าทันโรคจะได้ป้องกันตัวเอง-ชุมชน ประเทศชาติได้

5.เกิดสงครามล้างเผ่าพันธุ์ เพราะผู้คนขาดเมตตาต่อกัน แย่งชิงผลประโยชน์ที่คิดว่ามีค่า แก้ไขโดยให้คนรุ่นใหม่รู้จักคิดวิเคราะห์ มีค่านิยมที่สงบสุขพอเพียงไม่เบียดเบียนกัน

6.ศาสนาจะถูกย่ำยีให้หม่นหมอง แก้ไขโดยการบำรุงศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองนักบวชต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนโดยเป็นที่พึ่งทางใจแก่ผู้ที่ทุกข์ทนทั้งหลายโดยไม่แยกศาสนาอื่น ๆ 

  กล่าวโดยสรุปสิ่งใดที่เกิดแล้วก็ให้รู้เท่าทันช่วยกันแก้ไขให้เป็นปกติ ส่วนเรื่องใดที่ยังไม่เกิดก็ให้ช่วยกันดูแลรักษาให้บริสุทธิ์ด้วยเป็นเรื่่องที่ทุกคนในสังคมมีส่วนในการรับผิดชอบร่วมกัน

หมายเลขบันทึก: 498599เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มีหลายเรื่องที่ตรงประเด็นในบานเรานะครับ
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ขจิต สบายดีนะคะ *หลายประเด็นที่ท่านว่า...หนึ่งในนั้นคือ G2K และสมาชิกที่กำลังพยายามช่วยกันอยู่ ทุกคนเป็นกำลังใจให้กันถือเป็นประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวเราค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท