จรรยาบรรณ ของโปรแกรมเมอร์


การกระทำสิ่งใด ๆ ก็ตามขอให้ผู้กระทำ คิดถึงผลกระทบกับสังคมที่ตามมาด้วย มิใช่มุ่งหวังเพียงเงินตราอย่างเดียว

วันนี้ได้เข้ามาอ่านบทความเกี่ยวกับงานวิจัยใน gotoknow พร้อมกับลูกที่นั่งเล่นเกมออนไลน์ หลังจากที่เขาช่วยทำ powerpoint ให้เสร็จแล้ว

เลยเวลาเที่ยงแล้วเขายังไม่ได้กินข้าวเที่ยงเลย จึงบอกลูกว่าให้ไปกินข้าวได้แล้ว และบอกว่าขอให้ pause (หยุดชั่วคราว) เกมไว้ก่อนก็ได้ ที่พูดเช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งกับวัยรุ่น (ซึ่งนักจิตวิทยาเขาว่าวัยรุ่นจะใช้ สมองด้านอารมณ์ มากกว่าเหตุผล)  

แต่ลูกบอกว่า เกมนี้ไม่มีปุ่มหรือฟังก์ชันให้ pause 

จึงคิดว่า โปรแกรมเมอร์ที่เขียนโปรแกรมเกมนั้น ช่างไม่มีคุณธรรม ความรับผิดชอบต่อผลกระทบของสังคมเลย

แบบนี้นี่เอง ที่รายการตีสิบได้เอาคนที่ติดเกมมาเล่าเรื่องการติดเกมชนิดหยุดไม่ได้ มาเล่าให้ฟัง ดูแล้วน่ากลัวมาก

ที่เขียนเกริ่นนำมาเสียยืดยาวก็เพียงเพื่อบอกว่า  ผมในฐานะผู้ที่อยู่ในวงการไอที สอนการเขียนโปรแกรมให้กับนักศึกษา อยากจะเสนอแนะไปยังทุก ๆ ฝ่าย อยากให้มีมาตรฐานการเขียนโปรแกรมเกม โดยขอให้มีปุ่มหรือฟังก์ชันให้หยุดชั่วคราวได้ ในทุก ๆ เกม

 

ตลอดจนขอให้นึกถึง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมด้วย

มิใช่มุ่งหวังเพียงเงินตรา รายรับ กำไร และ GDP เพียงด้านเดียว

(จริง ๆ แล้วผมคนหนึ่งที่เป็นคนต่อต้านการเขียนโปรแกรมเกม และการเล่นเกม แต่เมื่อฟังนักการตลาดไอทีเขาทำนายว่า เกมจะเป็นธุรกิจของไอทีเป็นลำดับหนึ่งที่สร้างรายได้ให้ประเทศได้ก็ตาม ก็ยังคงไม่เห็นด้วย เปรียบเสมือนพ่อค้าเหล้า พ่อค้าอาวุธ ถึงแม้จะถูกกฏหมายก็ตาม แต่สังคมเสื่อม...) 

หมายเลขบันทึก: 498378เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2012 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบวิธีการพูดกับลูกค่ะ เพราะเป็นวิธีแนะนำมากกว่าสั่ง สังเกตว่าถ้าเราคุยกับลูกแบบนี้ เขาจะควบคุมตัวเองได้ง่ายกว่าการสั่งหรือบังคับ เราจะไปห้ามการเล่นเกมส์คงยาก เพราะฉะนั้นไม่ให้สร้างเกมส์ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะ demand มากมายเหลือเกิน สิ่งที่ทำได้น่าจะเป็นหาทางให้คนสร้างเกมส์ สร้างเกมส์ที่ช่วยส่งเสริมทักษะหลายๆอย่างของผู้เล่นในแต่ละเกมส์ สังเกตดูที่น่าจะไม่ดีคือการทำอะไรซ้ำๆในท่าเดิมนะคะ ถ้าทำให้หลากหลายได้จะดีมาก เห็นวิวัฒนาการที่เดี๋ยวนี้มีเกมส์ประเภทลุกขึ้นมาเหวี่ยงแขน เหวี่ยงขาเล่นได้แล้วก็ดีใจค่ะ อาจารย์น่าจะส่งเสริมแนวคิดแบบนี้ให้ลูกศิษย์ลองนำไปพิจารณาไหมคะ

ผมขอยืนยันว่า คำเปรียบเปรยที่ว่า " เปรียบเสมือนพ่อค้าเหล้า พ่อค้าอาวุธ ถึงแม้จะถูกกฏหมายก็ตาม แต่สังคมเสื่อม..." เป็นคำกล่าวที่รุนแรงเกินความจริงไปมากมายครับ

ผมขอเดาเอาว่าอาจารย์ไม่เคยเล่นเกมส์กับลูกเลย หรือเล่นด้วยน้อยมากจึงไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าระบบการเล่นเกมออนไลน์....... เป็นความจริงครับที่ไม่มีปุ่ม"หยุด" กลางเกม แต่เป็นคำ"โกหก"เช่นกันถ้าบอกว่า"หยุึดไม่ได้" เพราะเกมเน้นเป็นระบบ "ภารกิจ" คือมี "คำสั่ง" ให้ไปทำตามครับแปลว่ารับคำสั่งแล้วยังไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าในกรณีลูกอาจารญ์กำลังเล่นอยู่แล้วอ้างว่าหยุดไม่ได้เพราะได้ทำตามคำสั่งไปแล้ว(ยกตัวอย่างเช่นให้ไปปราบปีศาจตัวหนึ่งและกำลังต่อสู้อยู่) การยกเลิกกลางคันนั้นย่อม"ทำได้"ครับ ก็แค่กลับมาเล่นใหม่ในภายหลังอีกครั้งแปลว่าถึงแม้ทำตามคำสั่งล้มเหลวก็แค่ทำใหม่เท่านั้นคำสั่งดังกล่าวก็ไม่หายไปจนกว่าจะทำภารกิจดังกล่าวสำเร็จนั่นเอง ดังนั้นหากลูกของท่านอาจารย์บอกว่า "หยุดไม่ได้" ไม่ได้แปลว่าเกมหยุดไม่ได้ครับ แต่แปลว่า "ข้าวเอาไว้ทีหลัง กำลังเล่นเกมอยู่" มากกว่า

ยกตัวอย่างสมัยเรียนผมก็เป็นคนหนึ่งที่เล่นเกม(และติดเกม)แต่มันไม่เคยทำให้เกรดผมเสีย(หนำซ้ำยังดีขึ้นทุกเทอมด้วยซ้ำ ผลการเรียนผมไม่เคยตกจาก 5 อันดับแรกของห้อง)เพราะผมถือว่า"คนเล่นเกม ไม่ใช่เกมเล่นคน"

การรับฟังแต่เรื่องแย่ๆที่เกิดขึ้นมาจากเกมนั้นผู้ใหญ่หลายท่านเลยมองว่าเกมนั้นไม่ดีแต่แท้ที่จริงลืมดูว่าตนเองนั้นเลี้ยงลูกมาอย่างไร อย่าลืมว่าคนที่เล่นเกมแล้วแย่ ติด ไม่ยอมทำอะไรเสียผู้เสียคน มีไม่ถึง 0.1% ของคนเล่นเกมทั้งหมด คนเล่นเกมมากกว่าสิบล้านคนแต่ข่าวคนเล่นเกมเสียผู้เสียคนออกมาถึง 10 - 20 คนหรือยังไปนับดีๆครับ ผมเห็นเทอมที่ผ่านมามีเด็กนักเรียน ม.6 เครียดผู้คอตาย นักศึกษาแพทย์โดดตึกตายเพราะเครียดการเรียนไม่เห็นมีใครโทษการศึกษาเลยทั้งที่การศึกษาบ้านเราระบบการศึกษานั้นบางครั้งก็สอนเด็กแบบเกินที่จะรับ เด็กไทยไปเรียนนอกเก่งคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าเด็กฝรั่งจนเค้าถามว่าทำไมเด็กประเทศยูต้องเรียนขนาดนี้ของที่เราเรียน ม.ต้น เค้าเรียนกัน ม.ปลาย อเมริกา เยอรมัน งง(มหาอำนาจผู้เจริญแล้วทั้งนั้นเลยนะครับคิดดู)

เกมไม่ได้เป็น "เหล้า" หรือ "ปืน" แต่เป็นแค่ขนม และการเรียนคือข้าว และคนที่สอนให้เด็กกินขนมแต่พอดีและกินข้าวเยอะๆคือพ่อแม่ ไม่ใช่โยนความผิดให้บริษัททำขนมนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท