โครงการ PLC ครูสอนดี จังหวัดมหาสารคาม _07: คำถามประเภทต่างๆ ในเวที PLC ครูสอนดี ครั้งที่ 2


วันที่ 28 กรกฎาคม  2555 เราจัดกิจกรรม PLC ครูสอนดี ที่มหาสารคามครับ บันทึกนี้เขียนต่อจากบันทึกที่แล้วครับ

ผมขอสรุปการตั้งคำถามของครูให้ดูง่ายๆ ดังนี้ครับ

ถามเพื่อตรวจสอบความรู้เดิม

  1. ทำอย่างไรจึงรู้ว่าน้ำเสีย
  2. วิธีแก้น้ำเสียทำอย่างไร
  3. จะใช้เครื่องมือใดวัดน้ำเสีย
  4. รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับน้ำเสีย

ถามเพื่อสร้างแรงจูงใจ เร้าความสนใจ

  1. อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเสียไหม
  2. ทำไมถึงอยากทำ
  3. ทำแบบนั้นจะดีอย่างไร
  4. เราไปดูสถานที่จริงได้หรือเปล่า

ถามเพื่อให้คิดหาเหตุผล

  1. ทำอย่างไรจึงรู้ว่าน้ำเสีย
  2. ทำไมถึงอยากทำ
  3. ทำไมน้ำจึงเสีย
  4. อะไรทำให้น้ำเสีย
  5. น้ำให้ประโยชน์อะไรแก่มนุษย์

ถามเพื่อให้ค้นหาความรู้ใหม่

  1. จะใช้เครื่องมือใดวัดน้ำเสียได้บ้าง
  2. ทำอย่างไรน้ำเสียจะกลายเป็นน้ำดี
  3. ใครบ้างหรือที่ไหนบ้างที่เขาแก้ไขน้ำเสียได้สำเร็จ
  4. เราจะหาพืชชนิดใดมาบำบัดหรือกำจัดน้ำเสียได้บ้าง
  5. มีสิ่งใดบ้างที่ก่อให้เกิดน้ำเสีย
  6. เราจะหาค้นหาความรู้จากแหล่งใดบ้าง
  7. น้ำเสียหรือไม่เสียวัดจากอะไร ตัวชี้วัดอะไรบอกว่าน้ำเสีย
  8. ต้องใช้กระบวนการใดบ้างในการบำบัดน้ำเสีย

ถามเพื่อทบทวนบทเรียน

  1. จงบอกสาเหตุและโทษของการทำให้เกิดน้ำเสีย
  2. วิธีแก้น้ำเสียทำอย่างไร
  3. น้ำเสียสังเกตจากอะไร
  4. น้ำเสียเกิดจากอะไร

ถามเพื่อประเมินทักษะและความรู้

  1. วิธีแก้น้ำเสียทำอย่างไร
  2. จะใช้เครื่องมือใดวัดน้ำเสียบ้าง
  3. น้ำเสียสังเกตจากอะไร
  4. ได้ความรู้อะไรบ้างจากการทำ
  5. น้ำเสียหรือไม่เสียจะวัดจากอะไร ตัวชี้วัดอะไรบอกว่าน้ำเสีย
  6. นักเรียนรู้อะไรจากการทำโครงงานครั้งนี้
  7. มีประโยชน์อย่างไร
  8. แก้น้ำเสียได้ไหม
  9. เราจะมีวิธีการป้องกันน้ำเสียอย่างไร
  10. ได้เรียนรู้เรื่องนี้ตอนไหน
  11. รู้ได้อย่างไรว่าใช่ ถูก

ถามให้เรียนรู้กระบวนการ

  1. วิธีแก้น้ำเสียทำอย่างไร
  2. น้ำเสียเกิดจากอะไร
  3. มีวิธีใดที่จะแก้น้ำเสียได้
  4. เราจะมีวิธีการแก้น้ำเสียอย่างไร
  5. เกิดอุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้างระหว่างทำ แก้ไขอย่างไร
  6. มีวิธีการและขั้นตอนการทำอย่างไร
  7. ทำไมอยากทำโครงงานเรื่องนี้ล่ะ
  8. อะไรทำให้น้ำเสีย ขั้นตอนการแก้ไขน้ำเสียทำอย่างไร

ถามเพื่อการมีส่วนร่วม

  1. ใครน้า... มีส่วนทำให้น้ำเสีย
  2. หน่วยงานใดที่มีบทบาทเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสีย
  3. แบ่งหน้าที่กันอย่างไร ใครทำอะไรบ้าง
  4. จะทำคนเดียวเหรอ
  5. ต้องการความช่วยเหลือจากใครหรือไม่
  6. ทำอย่างไรงานเราถึงจะสำเร็จ ใครจะช่วยเราได้บ้าง

ถามเพื่ออภิปรายขยายความคิด

  1. ผลกระทบใดเกิดกับชีวิตประจำวัน
  2. ชุมชนน่าอยู่ควรเป็นอย่างไร
  3. น้ำเสียก่อผลเสียต่อมนุษย์อย่างไร
  4. สังคมจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรทำอย่างไร
  5. เราจะนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างไร
  6. น้ำเสียส่งผลกระทบอะไรกับเรา
  7. เราจะนำกระบวนการนี้ไปใช้แก้ปัญหาอื่นๆ ได้หรือไม่
  8. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำเสียมีอะไรบ้าง

ผมแบ่งข้อคำถามออกเป็นสีๆ โดยคำถามสีแดงเป็นคำถามเน้นความรู้ ซึ่งรวมถึงความรู้เกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนด้วยนะครับ คำถามสีน้ำเงิน น่าจะสามารถทำให้เราทราบกระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้ คำถามสีเขียว เป็นคำถามที่ทำให้เด็กคิดและพิจารณา ซึ่งเด็กจะได้ฝึกคิด ส่วนคำถามสีดำนั้นไม่ชัดเจน แล้วแต่คำตอบของเด็กว่าจะสะท้อนด้านใด

จากการตั้งคำถามของครูทั้งหมด ผมขอตีความโดยรวม (จากความคิด) ดังนี้ครับ

  1. คำถามส่วนใหญ่เน้นองค์ความรู้ ซึ่งมีทั้งที่เป็นความรู้จำ และรู้จักที่เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการต่างๆ หลายๆ คำถามเน้นเนื้อหา
  2. คำถามที่สามารถตรวจสอบทักษะของนักเรียนได้ ยังมีน้อย
  3. คำถามที่เกี่ยวกับความคิดส่วนใหญ่ จะเน้นให้คิดจากความรู้เนื้อหา ไม่ได้เน้นให้คิดจากหลักการหรือวิเคราะห์จากเหตุการณ์เพื่อแก้ปัญหา
  4. แทบจะไม่มีคำถามใดกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เลยครับ
  5. ไม่มีคำถามประเภท ชี้แนะ ชี้ทาง หรือ นำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ 
  6. ไม่มีคำถามให้ประเมินทักษะการรู้จักตนเอง
  7. ฯลฯ

ผมว่ายังมีอีกหลายๆ ทักษะ ที่ยังขาดคำถาม กระตุ้นให้นักเรียนผ่านหรือได้ฝึกหรือทำกิจกรรม ที่จะทำให้เกิดทักษะนั้น

ท่านคิดอย่างไรครับ.....

ตอนท้ายของกิจกรรมการฝึกตั้งคำถาม ผมเน้นเรื่อง "คำถามเพื่อให้รู้กระบวนการเรียนรู้" และ "คำถามถึงกระบวนการเรียนรู้" กับครู โดยเริ่มจากคลิปชาร์ทหมายเลข 7 ดังรูปครับ

สองคำถามสุดท้ายผมเขียนเองครับ ผมเสนอว่า การถามเพื่อให้รู้กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนนั้น จะถามตรงๆ ได้ยาก ส่วนใหญ่ครูจะถามถึงวิธีการและขั้นตอน ซึ่งเป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่โดยมากนักเรียนจะได้จากการสืบค้น แต่การถามว่า " ได้เรียนรู้เรื่องนี้ตอนไหน รู้ได้อย่างไรว่าใช่ หรือถูก" จะเน้นให้เด็กเล่าเรื่อง ประสบการณ์ที่ผ่านมาของนักเรียน ซึ่งจะรวมทั้งวิธีคิดแลวิธีปฏิบัติ และขั้นตอนการตัดสินใจหลังจากคิดด้วยเหตุผลหรือความรู้ที่มี....... ง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าถามคำถามกระตุ้นให้นักเรียนเล่าเรื่อง นอกจากเขาจะได้ฝึกทักษะหลายๆ อย่างแล้ว เราจะสามารถทราบกระบวนการเรียนรู้ของเขาได้ครับ

สุดท้ายนี้ มีคำถามประเภทหนึ่งครับ ที่ครูเพื่อศิษย์ จำเป็นต้องฝึก ผมเรียกคำถามนี้ว่า "คำถามเพื่อชี้แนะ ชี้ทาง หรือ นำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้" (โดยไม่ได้บอกว่าให้ทำอย่างไรนะครับ" คำถามประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อ ครูรู้คำตอบแต่ไม่บอกคำตอบ ครูรู้วิธีการแก้แต่ไม่บอกวิธีแก้ ครูรู้วิธีทำแต่ไม่นำมาเล่า...ฮา  

หรือท่านคิดอย่างไรครับ

 

หมายเลขบันทึก: 498178เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท