อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ : วงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ (จบ)


กระบวนการของวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจที่พิจารณาตามสภาวะของอดีต (เหตุ) ปัจจุบัน (ผลและเหตุ) และอนาคต (ผล) เป็นไปในลักษณะของการแสดงถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไล่เรียงจาก อดีตเหตุ (กิเลสและกรรม) ไปสู่ ปัจจุบันผล (วิบาก) ไปสู่ ปัจจุบันเหตุ (กิเลสและกรรม) ไปสู่ อนาคตผล (วิบาก) ไปสู่ อดีตเหตุ (กิเลสและกรรม) ไปสู่ ปัจจุบันผล (วิบาก) ไปสู่  ปัจจุบันเหตุ (กิเลสและกรรม) ไปสู่ อนาคตผล (วิบาก) ...  หมุนเวียนสืบเนื่องเป็น “วัฏฏะ” ในกระแสสายธารของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างนี้เรื่อยไป นัยคือ วิบาก (วิกฤติเศรษฐกิจ : ล้มละลายและตกงาน) มิใช่เบื้องปลายท้ายสุด หากแต่เป็นเพียงกระบวนการปรับดุลยภาพใหม่ในทางเศรษฐกิจ (เกี่ยวเนื่องจาก วิกฤติเศรษฐกิจก็คือการเสียสมดุลทางเศรษฐกิจ) และการล้มละลายและการตกงานนั้นก็จะเป็นแรงบังคับ บีบคั้นให้สร้างความต้องการ (กิเลส) ซึ่งความต้องการก็เป็นแรงขับให้เกิดการสนองตอบ (กรรม) ... หมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่กล่าวไว้ว่า “ไม่มีเบื้องแรก ไม่มีเบื้องสุดท้าย” เหตุปัจจัยทั้งหลายล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอาศัยซึ่งกันและกันในกระแสสายธารของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

       หรือ แสดงได้ด้วยภาพการเชื่อมต่อระหว่างเหตุกับผลและผลกับเหตุ เรียกว่า “สนธิ”

         


         ภาพ ๖ กระแสสายธารของการดำเนินไปในวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ (การสนธิ)


        จากภาพ เป็นการแสดงถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในวงจรเศรษฐกิจที่ดำเนินต่อเนื่องไปอย่างไม่ขาดสาย เป็นไปในลักษณะของการเชื่อมต่อระหว่างเหตุกับผล และผลกับเหตุ

        จากภาพ จุดเชื่อมต่อระหว่างเหตุกับผล และผลกับเหตุ เรียกว่า “สนธิ” มี ๓ คือ

                    -  สนธิที่ ๑    =   เหตุผลสนธิ   =    กิเลส   ไปสู่     กรรม   ไปสู่     วิบาก

                    -  สนธิที่ ๒   =   ผลเหตุสนธิ    =    วิบาก   ไปสู่     กิเลส   ไปสู่     กรรม

                    -  สนธิที่ ๓   =   เหตุผลสนธิ    =    กรรม   ไปสู่     วิบาก  ไปสู่      กิเลส

 

           สนธิที่ ๑ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเหตุกับผล ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการเชื่อมโยงของฝ่ายกิเลส (ความต้องการ + การสะสมความมั่งคั่ง)   ไปสู่   กรรม (การสนองตอบ + การเก็งกำไร) ไปสู่  วิบาก (วิกฤติเศรษฐกิจ : ล้มละลายและตกงาน)   

 

          สนธิที่ ๒ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างผลกับเหตุ ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากสนธิที่ ๑ ของฝ่าย วิบาก (วิกฤติเศรษฐกิจ : ล้มละลายและตกงาน)  ไปสู่    กิเลส (การสะสมความมั่งคั่ง + ความต้องการ)  ไปสู่    กรรม (การเก็งกำไร + การสนองตอบ)    

 

          สนธิที่ ๓  เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเหตุกับผล ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากสนธิที่ ๒ ของฝ่าย กรรม (การเก็งกำไร + การสนองตอบ) ไปสู่    วิบาก (วิกฤติเศรษฐกิจ : ล้มละลายและตกงาน) ไปสู่   กิเลส (ความต้องการ + การสะสมความมั่งคั่ง)

 

         กระบวนการของวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจที่พิจารณาตามสภาวะของการเชื่อมต่อระหว่างเหตุกับผลและผลกับเหตุ ที่เรียกว่า “สนธิ” นั้น ก็จะเป็นไปในลักษณะของการแสดงถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไล่เรียงจาก เหตุผลสนธิ ๑ (กิเลส – กรรม – วิบาก) ไปสู่   ผลเหตุสนธิ ๒ (วิบาก – กิเลส – กรรม)  ไปสู่    เหตุผลสนธิ ๓ (กรรม – วิบาก – กิเลส)  ไปสู่  เหตุผลสนธิ ๑ (กิเลส – กรรม – วิบาก) ...  หมุนเวียนสืบเนื่องไปเป็น “วัฏฏะ” ในกระแสสายธารของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างนี้เรื่อยไป นัยคือ วิบาก (วิกฤติเศรษฐกิจ : ล้มละลายและตกงาน) มิใช่เบื้องปลายท้ายสุด หากแต่เป็นเพียงกระบวนการปรับดุลยภาพใหม่ในทางเศรษฐกิจ (เกี่ยวเนื่องจาก วิกฤติเศรษฐกิจก็คือการเสียสมดุลทางเศรษฐกิจ) และการล้มละลายและการตกงานนั้นก็จะเป็นแรงบังคับ บีบคั้นให้สร้างความต้องการ (กิเลส) ซึ่งความต้องการก็เป็นแรงขับให้เกิดการสนองตอบ (กรรม) ... หมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่กล่าวไว้ว่า “ไม่มีเบื้องแรก ไม่มีเบื้องสุดท้าย” เหตุปัจจัยทั้งหลายล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอาศัยซึ่งกันและกันในกระแสสายธารของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

       สรุป

          วงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ (อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ) เป็นกระบวนการในฐานะที่เป็นวัฏฏะ หรือวงจร ไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย นัยคือ ไม่มีความสิ้นสุดลงตรงไหนอย่างแท้จริง เกี่ยวเนื่องจาก องค์ประกอบช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ (ธุรกิจล้มละลายและการตกงาน) กลับเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกประการอย่างยิ่งยวดที่ บังคับ บีบคั้นผลักดันให้วงจรขับเคลื่อนหมุนเวียนต่อไป กล่าวคือ ธุรกิจล้มละลายและการตกงาน เป็นภาวะอาการที่แสดงออกมาทางวิบาก (ผล) ของการที่มีกิเลสเป็นหัวเชื้อตกผลึกอยู่ภายในจิตใจ ที่น้อมนำไปสู่การยึดติดถือมั่นในตัวเราของเรา (ตัวกู - ของกู) เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจนำพามาซึ่งการล้มละลายและการตกงาน กิเลสที่ฝังแน่นตกผลึกอยู่ภายในจิตใจก็จะบังคับ บีบคั้นให้กระหายและทะยานอยากได้ อยากมีเหมือนเดิม หรือเข้าทำนองที่ว่า “จมไม่ลง” เกี่ยวเนื่องจากการเสพติดที่หลงยึดติดถือมั่นในธุรกิจของเรา รถยนต์โก้หรูของเรา บ้านหลังใหญ่โตของเรา ตำแหน่งหน้าที่การงานของเรา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นกับดักแห่งกิเลส เมื่อภาวะบีบคั้น บังคับที่ได้รับจากแรงขับเคลื่อนของกิเลสดังกล่าว ก็จะเป็นเชื้อเพลิงให้กระโจนทะยานเข้าสู่กระบวนการแห่งวิกฤติเศรษฐกิจต่อไปอีก (ความต้องการ  ไปสู่  การสนองตอบ ไปสู่  ราคา (เทียบสัมพัทธ์)  ไปสู่ การแลกเปลี่ยน  ไปสู่   เงิน  ไปสู่   การสะสมความมั่งคั่ง ไปสู่   การเก็งกำไร  ไปสู่ วิกฤติเศรษฐกิจ (การล้มละลายและการตกงาน) )... หมุนเวียนเป็นวัฏฏะ ขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการไหนที่จะเด่นชัดเจนขึ้นมาในสภาวการณ์นั้น ๆ ซึ่งก็จะเป็นกระแสสายธารหมุนเวียนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสาย เป็นไปในลักษณะของวัฏฏะ หรือวงจรที่ ไม่มีเบื้องแรกและเบื้องปลาย หาความสิ้นสุดไม่ได้อย่างแท้จริง 

 

                                             บรรณานุกรม

  

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๔๔). เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๕๑). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๑). กรุงเทพมหานคร : บจก.เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์.  

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๕๒). พุทธธรรม (ฉบับปรับปรุงและขยายความ พิมพ์ครั้งที่ ๑๑). กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 

พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล). (๒๕๕๑). ปฏิจจสมุปบาท สำหรับคนรุ่นใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ ๕). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บ้านหนังสือโกสินทร์.

พุทธทาสภิกขุ. (๒๕๔๖). ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. (๒๕๔๕). เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติการณ์ปี ๒๕๔๐. กรุงเทพมหานคร : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

อภิชา  ที่รักษ์. ๒๕๕๑. ทางรอดในภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ดอกหญ้าวิชาการ.

อภิชา  ที่รักษ์. ๒๕๕๕. เศรษฐธรรม หลักปฏิบัติเพื่อความสุขและความมั่งคั่งที่ยั่งยืน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ธิงค์ บียอนด์ ธรรมะ.

อภิชัย  พันธเสน. (๒๕๔๔). พุทธเศรษฐศาสตร์: วิวัฒนาการ ทฤษฎี และการประยุกต์กับ เศรษฐศาสตร์สาขาต่าง ๆ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์.

 

 ********************************************************************************************************

 

       

หมายเลขบันทึก: 498009เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท