มรณะสติ


มรณะสติ ..มหาองค์ธรรมแห่งถ้ำม้า

อ.พัฒนานิคม  จ.ลพบุรี  วันที่ 25 ตุลาคม  2552

มรณะสติ หมายถึง การมรณะ (ตาย) อย่างมีสติ  ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์ความตายคือ สิ่งที่มนุษย์กลัวที่สุด  จริงอยู่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ามนุษย์เราทุกคนหนีไม่พ้นความตาย แต่ถึงกระนั้นมนุษย์ก็จะแสวงหาทางที่จะไม่ตาย จะเรียกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ก็ไม่คงไม่แปลกนัก    ความไม่อยากตายหาใช่เป็นเหตุผลที่แท้จริงไม่  ความไม่อยากพลัดพรากจากสิ่งที่รัก  ที่หวงแหน  สิ่งที่ได้ยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของไว้ต่างหาก ที่ทำให้มนุษย์ไม่อยากตาย  ความจริงตรงนี้แหละที่พระพุทธองค์บรมครูผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระปัญญาญาณ ได้ทรงพบว่า ความไม่พร้อมในการตายส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชิวิต (ดวงจิต) หลังความตายอย่างใหญ่หลวง  มีอิทธิพลให้มนุษย์เราต้องเวียนวายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ดังนั้นพระองค์จึงทรงแนะแนวทางให้มนุษย์เกิดปัญญา เรียกว่า ดวงตาเห็นธรรม สามารถนำพาตนเองให้หลุดพ้นบ่วงวัฏจักรนี้  แนวทางที่เราเรียกว่า ธรรมะ ทั้งปวง  ถ้าจะกล่าวว่าปลายทางสุดท้ายคือ การเตรียมตัวตายก็คงชัดเจนยิ่งขึ้น  ในครั้งหนึ่ง คณะเราได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำอริยะสัจจสี่ จังหวัดลพบุรี  ณ  ถ้ำแห่งหนึ่ง ชื่อ ถ้ำม้า ครูบาอาจารย์ได้เมตตาให้พิจารณามหาองค์ธรรม “ มรณะสติ ”

               ถ้าท่านอยากปฏิบัติจิต  สมาธิให้แกร่งมันต้องมาภาวนาที่ถ้ำนี้ สมาธิจะถูกกระตุ้นจากความเคลื่อนไหว จะทำให้เรามีสติ  สติที่บอกนี้ มาจากความเคลื่อนไหว เราต้องสร้างตัวคุมมากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เราจะสร้างตัวคุมมากขึ้นลมหายใจ (อานาปนสติ ) จึงเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ เพราะลมหายใจนั้น คือ แก่นแห่งมรณะสติ  ถ้ำนี้จึงเน้นฐานมรณะสติ  

องค์ธรรม(ใหญ๋) ที่ 1  มรณะสติ 

มรณะสติหมายถึง การมีสติเอาความตายเป็นที่ตั้ง ถ้ามนุษย์มีสติเอาความตายเป็นที่ตั้ง มนุษย์ทั้งหลายจะตัดสิ่งยึดมั่น  ถือมั่นทั้งหลายออกได้อย่างง่ายดาย จนสุดท้ายเรามีสติก่อนถึงความตาย เรียกว่า มรณะสติ คือมีสติที่เกิดจากการเห็นไปถึงมรณะนั้น  มันจะให้เราไปถึงคำว่า “ จิตตาย ”  จิตตายมิใช่จิตดับ ( นิพพาน ) จิตดับเป็นสิ่งที่ไกลเกินกว่ามนุษย์ส่วนใหญ่จะเรียนรู้และไปถึงมันได้  เมื่อจิตตายกายก็จะตายอย่างแท้จริง  แต่มนุษย์ไม่เคยกลัวจิตตาย  แต่ไปกลัวกายตายแต่หารู้ไม่ว่าถ้ามนุษย์มีสติอยู่กับจิตตาย กายมนุษย์จะอยู่นานเท่านาน  แต่ถ้ามนุษย์กลัวตายที่กาย มนุษย์จะตายเร็ว เพราะตัวควบคุมกายมันก็คือ จิต  ฉะนั้น ถ้าจิตไม่ตาย  กายไม่จาก  แต่ถ้าจิตมันพราก กายจะจากทันที ดังนั้นเราจำเป็นต้องฝึกคุมจิตให้อยู่ โดยการเรียนรู้ในมรณะสติ  นี่คือ หัวใจขององค์ธรรมแห่งถ้ำม้านี้  

การที่มนุษย์จะฝึกฝน เรียนรู้ให้จิตแข็งแกร่ง มนุษย์ต้องเข้าถึงมรณะสติ  ในถ้ำแห่งนี้มีองค์ธรรมสำคัญอยู่  9  องค์ธรรม หนึ่งในเก้า คือ องค์หลักคือ มรณะสติ ซึ่งเป็นหัวใจใหญ่ของทั้งหมด  การเรียนรู้องค์ธรรมทั้งเก้า สามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน วิธีการคือ การพิจารณามรณะสติทุกอย่างมันตายหมด  กิเลสไม่ใช่ดับ ให้มันตาย  เมื่อเรากำหนดว่าทุกวันพวกเราเดินทางไปสู่เส้นทางตาย บอกตนเองให้ได้ว่าเรากำลังเดินเข้าสู่เส้นทางตาย มันจะทำให้เรารีบไขว่คว้าให้ได้มาก่อนถึงวันตาย  สรุปว่าเราได้เตรียมหาวิธีการที่จะมารองรับความตายที่จะเกิดขึ้น  การจะทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะรองรับความตายในเบื้องหน้า   แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทะเจ้าเจ้าทุกระองค์ ที่เป็นผู้รู้แห่งความตาย ยังไม่สามารถหลีกพ้นความตายได้  ทำได้เพียงแค่เตรียมการรองรับ ที่เราเรีกว่า “ การสร้างบุญกุศล สร้างทานบารมี ”   ผลแห่งทานบารมีก็มาเชื่อมสู่มรณะสติ  จงมีสติก่อนมรณะ เมื่อถึงกาลมรณะ เราจะเป็นผู้มรณะอย่างมีความสุข และตราบใดที่มนุษย์ยังไม่ได้เข้าถึงการมรณะอย่างมีสติ มนุษย์จะมีแต่ความทุกข์ แม้ขณะจะมรณะหรือเรียกว่า “ มรณะอย่างไร้สติ ” เมื่อมนุษย์เรามรณะอย่างไร้สติ จิตหลังความตายมันก็ยุ่งเหยิง เสมือนถูกคลื่นชัดมากระทบเป็นระลอกๆ  อารมณ์ทั้งหลาย จิตทั้งหลาย ที่ฟุ้งซ่านนำพากรรมใดก็แล้วแต่ จะพัดมากระทบ จิตก็จะแตกกระเจิดกระเจิง เพราะไม่มีสติคุม  เพราะฉะนั้น ทุกเวลา ทุกขณะจิตมนุษย์ต้องเอาความตายมาเป็นจุดมุ่งหมาย  อย่าไร้สติ  อาณาปานสติคือ การมีสติขณะกายและรับรู้  แต่ถ้าเราฝึกฝนบ่อยๆ จนเราถึงขั้นมีสติแม้ขณะจะสู่การมรณะได้แล้ว  แม้ขณะที่เราจะมรณะ เราจะไม่มีสติก็ตาม  สติจากการฝึกฝนที่เรารู้เรื่องมรณะสติ จะทำให้เรามีสติอย่างผู้รับรู้โดยอัตโนมัต  สติจะคงอยู่ขณะที่เรากำลังจะมรณะ  จริงอยู่มนุษย์หนีไม่พ้นภาวะหลังความตาย นั่นคือ วิญญาณ  แต่การเรียนรู้มรณะสติ จะเป็นการนำภาวะวิญญาณมาอยู่ด้านหน้าหรือ ก่อนความตาย หรือ ตายก่อนตาย คือให้ทุกอย่างให้มันมรณะ มรณังไป ซึ่งก็คือ การฝึกให้มารู้จักกับการดับนั่นเอง  สรรพสิ่งในความเป็นมนุษย์แท้จริงมันก็ไม่พ้นเรื่อง การเกิด-ดับ การทำให้เรารู้ว่าสิ่งใดมันเกิด สิ่งใดมันดับ เช่นนี้ เรียกว่า มรณะสติในขณะที่เรามีสติ ให้มันเชื่อมกันให้ได้ระหว่างอานาปนสติและมรณะสติ อย่าไปศึกษาและเรียนรู้ว่าเฉพาะมรณะสติ แต่ให้ไปเรียนรู้ว่าขณะที่เราอยู่ในอานาปนสติ เราก็ยังพบกับมรณะสติเกิดขึ้นด้วย มีเกิด-ดับตลอดเวลาทุกลมหายใจ เรียกว่า ให้เรียนรู้ความตายในขณะที่ยังมีลมหายใจ เป็นการเรียนรู้คำว่า อานาปนสติที่จะนำไปสู่มรณะสติด้วย  การฝึกการรับรู้ในมรณะสติที่ต่อจากอานาปนสติ คือ การหยุดลมหายใจ  หลายท่านอาจได้ฝึกฝนมาบ้างแล้วแต่ครูบาอาจารย์ไม่ได้บอกกล่าวให้รู้ นั้นคือ การหยุดลมหายใจ การเดินลมหายใจ การพักลมหายใจ เหล่านี้ก็คือ มรณะสติเชื่อมกับอาณาปนสติ ตรงนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า   “ ชีวิตคืออะไร” ชีวิตมันต้องเรียนรู้ด้วยอานาปานสติต่อด้วยมรณะสติ คือชีวิตจะอยู่อย่างผู้มีสติ ชีวิตจะดับ ให้ดับอย่างมรณะสติ  สรุปแล้ว ตัวสติเป็นตัวเชื่อมภพภูมิสำคัญของความเป็นมนุษย์  แม้แต่จิตวิญญาณยังต้องมีคำว่าสติ  สติแห่งจิตวิญญาณ มันคือ มรณะ  มรณา  มรณัง ทุกขัง  ยังเกิดขึ้นถ้าเราไม่รู้จักคำว่า “มรณะสติ” เพราะฉะนั้นหัวใจของอานาปนสติและมรณะสติ คือ การเอาความตาย (ความดับ) ทั้งหลายเอามาอยู่หน้าความตาย (มรณะ)และมันส่งผลให้หลังความตายที่แท้จริงว่า “ได้วิมาน หรือ พบสุขที่แท้จริง ”  การเอาความตายที่อยู่ด้านหลังมาไว้ด้านหน้า มันจะเป็นปัญญาสู่หนทางแห่ง มรณะ  คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นอย่างผู้มีสติ  ก็คือ เอาความตายมาอยู่ด้านหน้า สร้างปัญญาให้เกิดเชื่อมกับสติที่รู้  คำว่า สติที่รู้ในอานาปนสติ กับเอาสติที่รู้ไปเชื่อมกับมรณะสติ มันก็จะได้สิ่งเกิดและดับอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นอย่าดับแล้วสู่ความเป็นวิญญาณอย่างเดียว ให้ดับอย่างรู้ทีท่าของวิญญาณ ที่เมื่อถูกเผาพลาญกาย แต่อย่าเป็นวิญญาณที่ไร้ที่เพราะเราไม่มีสติกำกับ อย่าเป็นวิญญานที่ไร้ที่ เพราะเราไม่มีหนทางไป  อย่าเป็นวิญญาณที่ไร้ที่เพราะเราไม่รู้ที่หมายปลายทางของวิญญาณ  ฉะนั้นเมื่อรู้ความตายอยู่ตลอดเวลา  แม้มรณาก็ได้ชื่อว่ายังมีสติ มนุษย์ชอบพูดเสมอว่าว่าความตายอยู่เบื้องหน้า แต่มนุษย์ไม่เคยมีปัญญาหันเข้าหาสติ ทั้งยังทำอะไรเรื่อยไปโดยไม่มีสติ เขาเรียกตรงนี้ว่า “ ไม่รู้จักครองสติ” นี่ตัวสำคัญ  การครองสติมันมีการครองตลอดเวลากับครองห้วงเวลา ทุกท่านเป็นฆราวาสเป็นปุถุชน หากได้รับการพัฒนาและจนเกิดศรัทธาในองค์ธรรม จนเกิดความสว่าง ความกระจ่างแจ้งในชีวิต จนเห็นจุดเกิด-ดับได้ชัดเจนอย่างนั้น เรียกว่า “อารยะบุคคล”  ผู้กำลังเดินอยู่ระหว่าง 2 จุด คือ เกิด-ดับ,เกิด-ดับ  ฉะนั้นหากว่าเรามีสติก่อนและเข้าใจก่อนการที่มันจะดับถือว่าเรารู้เท่าทันชีวิต เพราะแท้จริงมนุษย์กำลังตาย และตายไปทุกขณะจิต ทุกอย่างมันถูกเผาผลาญไปตามกาลเวลา ทุกเสี้ยววินาที เราต้องรู้เท่าทันมัน โดยการมีสติจากอานาปนสติ  มันเป็นกำแพงกั้นอยู่ระหว่างอานาปนสติกับมรณะสติ แต่ไม่มีมนุษย์ผู้ใดแม้จะรู้หลักธรรม ก็ไม่ได้นำคำว่ามรณะสติมาใช้มากนัก มันก็เลยทำให้มนุษย์เรียนรู้เพียงแค่อานาปนสติ เอาแค่ปัญญา แต่ไม่สามารถนำไปค้นหาหลังแห่งความตาย และยังเข้าใจว่าความตายคือการไร้สังขาร ซึ่งผิดมหันต์  ตายที่แท้จริงคือ การรู้ความตายทุกขณะที่เคลื่อนไหว ให้รับรู้ตลอดเวลาว่านี่เรากำลังตาย ความตายคืบคลานมาสู่ของมนุษย์ตลอดเวลา  แต่เราไปได้แค่การดับคือ การตาย แต่ที่จริงการเกิดดับมันเกิดในตัว มันตายในตัวอยู่แล้ว ถ้าเราดับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันเกิดในจิตของเราแล้วเราดับมันได้ เขาก็เรียกว่าการดับเหมือนกัน การดับก่อนเหมือนอานาปนสติ เรียกว่า การดับด้วยปัญญา  ปัญหาคือ เรามักไปเข้าใจว่าการดับคือ ดับสังขาร ความจริงดับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในจิตเราแล้วเราดับมันได้ เราเรียกว่า อานาปนสติ เช่นกัน เรียกว่า ดับด้วยสติปัญญา เพราะการเกิด-ดับมันก็เกิดขึ้นระหว่างอานาปนสติเสมอ  กายจากไปแต่จิตผ่องใสร่มเย็น นั่นแหละ มรณะสติ ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ องค์ธรรมหลัก

 องค์ธรรมที่  2   องค์ธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลง

องค์ธรรมตัวที่ 2  จะต้องมาดูการเปลี่ยนแปลง อันเป็นรอยต่อของจากการเกิด-การดับของชีวิต หรือ อานาปนสติกับมรณะสติ กล่าวคือ ตั้งแต่มนุษย์เกิดจนถึงตาย มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจากสภาพแวดล้อม ทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล วันเวลา ร่างกายสังขาร ฯลฯ สรรพสิ่งรอบตัวเรามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา หากว่าเราเดินทางไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  เราจะไม่สามารถยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ กล่าวคือ เพราะมนุษย์ไม่สามารถปรับจิตให้รับรู้และยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นนั่นเอง  ทำให้มนุษย์ทำใจไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในทางพุทธศาสนา เรียกว่า “ ทุกข์ ” การนี้ส่งผลให้มนุษย์แสดงปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยานี้ เรียกว่า เกิดโมหะจริต โลภะจริต โทสะจริตเกิดขึ้น การที่มนุษย์เราจะรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มนุษย์ต้องฝึกให้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของ “ อารมณ์ ”  ซึ่งเป็นองค์ธรรมคือ ตัวที่ 3 

 

องค์ธรรมที่  3   องค์ธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์

มนุษย์เราต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่เกิดขึ้น อันเป็นผลจากเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในธรรมชาติ  ธรรมชาติมนุษย์มีอารมณ์เป็นสรณะในชีวิต ซึ่งมีทั้งอารมณ์ลบและอารมณ์บวก โดยทั่วไปมนุษย์เราจะเข้าใจความหมายของอารมณ์ในทางลบเสมอ  ที่เป็นเช่นนี้เพราะอารมณ์ในทางบวกคือ ความว่างเปล่า ไม่มีอารมณ์ หรือ อุเบกขา การที่จะให้เกิดอารมร์อุเบกขาได้ ต้องมีกระบวนการฝึกฝน นั่นคือ การฝึกสติ   ตัวสติจะไปเบรกตัวอารมณ์ เรียกว่ามีสติรู้เท่าทันอารมณ์  การคิด การตัดสินใจใดๆ โดยไร้สติ เรียกว่า มีอารมณ์ (ความหมายทางลบ) ในทางตรงกันข้าม หากการคิดและตัดสินใจใดๆ อย่างมีสติ เราเรียกว่า มีปัญญา (ความหมายทางบวก)  แต่ถ้าเราไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เราก็จะเกิดความทุกข์ ตัวนี้สำคัญ  เปลี่ยนแปลงตัวที่สำคัญสำหรับมนุษย์คือการเปลี่ยนแปลงจากการเกิดขึ้น  เรียกว่า รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของการเกิด เพราะการเกิดขึ้นมันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและกระทบต่ออารมณ์  นี่คือ องค์ธรรมตัวที่  3  คือ การเปลี่ยนแปลงอารมณ์

 

องค์ธรรมที่  4  องค์ธรรมแห่งสัจธรรม

หมายความว่า เราอย่าไปทุกข์กับความเป็นสัจธรรม หรือ ความจริงที่หนีไม่พ้น เช่น ความแก่  ความชรา ความเหี่ยวย่น  ความอ่อนแรง อย่าไปทุกข์กับความเป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้น ด้วยความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลานั่นเอง การเกิดขึ้น  การตั้งอยู่ การดับไป เป็นสัจธรรม เราต้องพอใจ เข้าใจในสัจธรรมที่เกิดขึ้น บางคนทุกขืกับอายุที่แก่ขึ้น ทุกข์กับสังขารที่เหี่ยวย่น  โดยเฉพาะสุภาพสตรีมากมายหลายคน จะกระตือรือร้นหาวิธีการชลอความสาว รักษาผิวพรรณไม่ให้เปลี่ยนผันไปตามอายุ  บางผู้ทุกข์กับการจากไปของคนที่รัก จนเกิดวัฒนธรรม “ไว้ทุกข์” อย่างกว้างขวาง ครูบาอาจารย์ท่านเมตตาฝากสัจธรรมเตือนสติปัญญาไว้ว่า “ ความไม่เที่ยงมันเที่ยงหนอ ”

 

องค์ธรรมที่  5  องค์ธรรมแห่งวัฏจักรของกรรม

มนุษย์ทุกคนมีกรรมเป็นแดนเกิด นั่นย่อมอธิบายถึงวงจรการเวียนว่ายของมนุษย์ในสังสารวัฎปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นใดๆ ทั้งสุขและทุกข์ ที่เกิดต่อมนุษย์จึงมิใช่สิ่งบังเอิญ  แต่ล้วนมีเหตุที่มาทั้งสิ้น อาจเป็นเหตุจากอดีตเหตุจากภพภูมิอดีต ภายใต้อิทธิพลของการเกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ  อันเป็นไปตามสัจธรรมแห่งธรรมชาติทั้งสิ้นที่มีเกิดย่อมมีดับ ของคู่กัน  เมื่อมนุษย์เกิดทุกข์ ไม่นานทุกข์ก็จะดับ หรือ แม้พบสุข ไม่นานสุขก็จะดับเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องทำความเข้าใจมัน ให้รู้ว่าทั้งหลายมันมีวัฏจักรของกรรม คือ มีการเวียน ว่าย ตาย เกิด  เป็นวัฏจักรที่หนีไม่พ้น  ซึ่งจะเห็นทั้งธรรมชาติ  เห็นทั้งในสัตว์ เห็นทั้งในมนุษย์ ตรงนี้  เรียกว่า ภพภูมิ หรือ อบายภูมิ หนีไม่พ้น  หรือ เราอาจเรียกว่า โลกุตรธรรม

 

องค์ธรรมที่  6   องค์ธรรมแห่งกรรม

เมื่อเรามองความเปลี่ยนแปลง แบบภพภูมิ ไม่ว่าจะเป็นอบายภูมิ  เป็นภพภูมิ ล้วนเป็นวัฏจักร  เรียกว่ากรรมเก่า  กรรมปัจจุบัน  กรรมอนาคต หรือ อดีตชาติ  ภพชาติ  ชาติหน้า  พลังกรรมจะส่งผลข้ามภพข้ามชาติ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน และเราต้องยอมรับในความเปลี่ยนแปลง เช่น บางคนเกิดมายากจน เกิดมาพิการ มีความบกพร่องทางกาย ทางจิต  อันถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในกายและและจิต ของมนุษย์  ซึ่งจริงๆ มันพบอยู่แล้วในตัวมนุษย์ ทุกๆ คนนั่นแหละความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นพลังกรรมแห่งความเป็นภพชาติเกิดขึ้น

 

องค์ธรรมที่  7     องค์ธรรมแห่งบุญบารมี 

สิ่งที่เกิดขึ้นแห่งความเปลี่ยนแปลงในความเป็นภพชาติ  ตรงนี้ก็จะมี “ บารมี ” มาเชื่อมให้ทุกอย่าง กล่าวคือ สิ่งที่มีอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภพหนึ่ง สู่อีกภพหนึ่ง “ บารมี ” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทาง ที่เรากำลังอยู่ภายใต้ของความเปลี่ยนแปลง  บารมีที่เป็นแนวทางคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรารู้จักกันในนาม” “ บารมีสิบ ” หรือ  บารมีสามสิบทัศ ” อันประกอบด้วย ทานบารมี  ศีลบารมี  เนกขัมมะบารมี  ปัญญาบารมี  วิริยะบารมี  ขันติบารมี  สัจจะบารมี   อธิษฐานบารมี  เมตตาบารมี   อุเบกขาบารมี  รวม  10  บารมี แต่ละบารมี มีระดับอยู่  3  ระดับ  ระดับต้น  ระดับกลาง (อุปบารมี) ระดับสูง (ปรมัตถบารมี) จึงรวมได้  30  ประการ หากเรามองตัวเราเองพบว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดกับเราและเรามีความพึงพอใจ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เรารับได้ และมันจะทำให้เรามีความสุขได้  เหล่านี้เป็นตัวที่จะสร้าง เขาเรียกว่า แห่งบุญบารมี  เหล่านี้มันจะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงข้ามภพข้ามชาติ  

 

องค์ธรรมที่  8    องค์ธรรมแห่งลมหายใจ

เมื่อเรารู้ถึงการนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงจนกระทั้งข้ามภพชาติ ที่เป็นวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงหนึ่ง  ก่อนจะถึงจุดที่มรณะสติ  ย้อนกลับไปถึงจุดที่จะเชื่อมต่อที่ เรียกว่า  ลมหายใจ  เป็นกระบวนการทำความเปลี่ยนแปลง จากลมอานาปนสติ กับมรณะสติ ให้มันกลมกลืน ลมมรณะสติตรงนี้  เป็นตัวปฏิบัติ หมายถึง เป็นวิธีการปฏิบัติ เป็นกรรมฐาน เป็นกระบวนการปฏิบัติเชื่อมระหว่างลมอานาปนสติ กับ ลมมรณะสติ เป็นกระบวนการเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติในการเรียนรู้กับลมหายใจ หรือเรียนรู้ อานาปนสติ เชื่อมต่อ มรณะสติ

 

องค์ธรรมที่  9     องค์ธรรมแห่งความสงบ 

ก่อนไปพบทางสว่าง หลังจากเราเรียนรู้มรณะสติแล้ว ขั้นตอนถัดไปเป็นการไปสู่ตัวความสงบ ในที่นี้เราจะเรียกนิพพาน หรือ จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ จุดสุดท้ายก็คือ ต้องสงบ สงบในที่นี้หมายถึง  สงบในจิต จิตตรงนี้  เป็นจิตที่ไม่ห่วงใดๆ ทั้งสิ้น เขาเรียกตรงนี้ว่า จิตที่ละวาง  ปล่อยวางทุกสิ่ง เมื่อปล่อยทุกสิ่ง วางแล้วทุกสิ่ง  มันก็คือ ตัวสุดท้าย ที่ทำให้ท่านทั้งหลายหลุดพ้น นี่คือ ปลายทางแห่งหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  สรุปองค์ธรรมในถ้ำนี้ มีจุดเริ่มต้นที่เป็นหัวใจคือมรณะสติ  และปลายทางสุดท้ายก็คือ หลุดพ้น  ความหลุดพ้น ไม่ว่าจะหลุดพ้นในอบายภูมิ หรือ หลุดพ้นในสังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิด หรือ นิพพาน ....

ทั้งหมดคือเก้าองค์ธรรมแห่งถ้ำม้า  วัดถ้ำอริยสัจสี่  จังหวัดลพบุรี ที่คณะเราชาวบวรธรรมสถานที่ได้รับเมตตา  จากครูบาอาจารย์แห่งถ้ำม้าประทานให้มา จึงได้นำมาเผยแผ่เป็นธรรมทาน หากองค์ธรรมนี้ก่อให้เกิดแสงสว่างในดวงจิตของผู้อ่านแล้งไซร้ ก็ขออุทิศเป็นพละอานิสงส์ถวายแด่ครูบาอาจารย์ผู้ประทานองค์ธรรมนี้ และอุทิศบุญทานบารมีนี้แด่ดวงจิตวิญญาณแห่งถ้ำม้าที่รอรับอานิสงส์จากการเผยแผ่องค์ธรรมในครั้งนี้    

หมายเลขบันทึก: 497879เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

องค์ธรรม ความสงบ ==> สามารถฝึกได้ ==> ได้ประโยชน์กับผู้ปฏิบัติทันที่

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท