อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ : วงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ (๔)


จากคำอธิบายขยายความในวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจหรือหลักอิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจนั้น สามารถแบ่งพิจารณาตามความสำคัญเพิ่มเติม ดังนี้

         ๑. สามารถพิจารณาถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของวงจรปัจจัยเหตุต่าง ๆ ในลักษณะของกาล (เวลา) ได้ ดังนี้

               ๑.๑   อดีต           =     ความต้องการ   การสนองตอบ  

               ๑.๒. ปัจจุบัน        =      ราคา   การแลกเปลี่ยน    เงิน   การสะสมความมั่งคั่ง  การเก็งกำไร 

               ๑.๓. อนาคต         =     วิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลาย, ตกงาน)

 

            การจัดแบ่งเหตุปัจจัยต่าง ๆ ให้เป็นไปในลักษณะของ ๓ กาล คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตนั้น เพื่อต้องการที่จะแสดงนัยของเหตุปัจจัยในแต่ละช่วงที่มีตัวเด่นชัดเจนขึ้นมาเพื่อความเข้าใจง่ายในแต่ละกระบวนการ กล่าวคือ เมื่อเรายึดโยงถึงองค์ประกอบในภาวะปัจจุบันนั้น จะพึงสังเกตได้ว่าตัวเด่นชัดเจนของการทำงานที่ขยันขันแข็งในกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ออกหน้าออกตาในกระแสสายธารของกระบวนการวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจก็คือ ราคา  การแลกเปลี่ยน  เงิน  การสะสมความมั่งคั่ง  และการเก็งกำไร นั่นเอง และเมื่อสืบสาวราวเรื่องลงลึกไปถึงปัจจัยที่เกื้อหนุนให้องค์ประกอบดังกล่าว (ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร) เด่นชัดเจนเป็นสง่าขึ้นมาในภาวะปัจจุบันนั้น ก็เกี่ยวเนื่องมาจากการทำงานของ ความต้องการและการสนองตอบ นั่นเอง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ทั้งสองเหตุปัจจัย (ความต้องการและการสนองตอบ) นั้น เป็นตัวเด่นชัดเจนในภาคอดีต สำหรับตัวเด่นชัดเจนของเหตุปัจจัยในกระแสสายธารแห่งการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเบื้องต่อไปก็ได้แก่ การล้มละลายและการตกงาน (วิกฤติเศรษฐกิจ) นั่นเอง ซึ่งจะแสดงบทบาทฐานะของตัวเด่นชัดเจนในอนาคต เมื่อเกิดการสั่งสมของกระบวนการในอดีต (ความต้องการและการสนองตอบ) และปัจจุบัน (ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร) จนเข้มข้นถึงระดับหนึ่งก็จะนำพามาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจ (การล้มละลายและการตกงาน) ในภาคอนาคตสืบเนื่องเป็นเบื้องต่อไปในกระแสสายธารของกระบวนการด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

             ในภาคปัจจุบันนั้น ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร ถือได้ว่าเป็นตัวสภาวะในระบบเศรษฐกิจที่คอยขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน เป็นไปในลักษณะของการแสดงบทบาทในฐานะที่เป็นตัวเด่นชัดเจนของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่มิพึงกล่าวได้ว่าในขณะปัจจุบัน (ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร) นั้น กระบวนการดังกล่าวเป็นเอกเทศจากสภาวะของอดีต (ความต้องการและการสนองตอบ) และอนาคต (วิกฤติเศรษฐกิจ : ล้มละลายและตกงาน) ในทางกลับกันก็มิพึงกล่าวได้ว่า อดีต (ความต้องการและการสนองตอบ) นั้น เป็นกระบวนการเอกเทศจากสภาวะของปัจจุบัน (ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร) และอนาคต (วิกฤติเศรษฐกิจ : ล้มละลายและตกงาน) และในทำนองเดียวกัน ก็มิพึงกล่าวได้ว่า อนาคต (วิกฤติเศรษฐกิจ : ล้มละลายและตกงาน) นั้น เป็นกระบวนการเอกเทศจากสภาวะของอดีต (ความต้องการและการสนองตอบ) และปัจจุบัน (ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร) เกี่ยวเนื่องจาก :

 

              ๑. ในสภาวะอดีต (ความต้องการและการสนองตอบ) นั้น ก็จะมีกระบวนการของราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร (ภาคปัจจุบัน) รวมทั้งสภาวะของกระบวนการทางวิกฤติเศรษฐกิจทั้งการล้มละลายและการตกงาน (ภาคอนาคต) ผสมคลุกเคล้าเจือปนอยู่ด้วยในกระแสสายธารของกระบวนการแห่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่มีเหตุปัจจัยใดแยกอยู่โดยเอกเทศ ทุกปัจจัยเหตุทำงานผสมกลมกลืนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แต่ที่พึงหยิบยกเอา ความต้องการและการสนองตอบ มาอธิบายในฐานะตัวเด่นชัดเจนในภาคอดีต เกี่ยวเนื่องจาก ความต้องการและการสนองตอบเปรียบเสมือนปฐมฐานของการขับเคลื่อนไปในกระบวนการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญอีกประการก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายในภาพแยกย่อยของแต่ละช่วงแห่งกาลในกระบวนการทางเศรษฐกิจ

 

             ๒. ในสภาวะปัจจุบัน (ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร) นั้น ก็จะมีกระบวนการของความต้องการและการสนองตอบ (ภาคอดีต) รวมทั้งสภาวะของกระบวนการทางวิกฤติเศรษฐกิจทั้งการล้มละลายและตกงาน (ภาคอนาคต) ผสมคลุกเคล้าเจือปนอยู่ด้วยในกระแสสายธารของกระบวนการแห่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่มีเหตุปัจจัยใดแยกอยู่โดยเอกเทศ ทุกปัจจัยเหตุทำงานผสมกลมกลืนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แต่ที่พึงหยิบยกเอา ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร มาอธิบายในฐานะตัวเด่นชัดเจนในภาคปัจจุบันนั้น เกี่ยวเนื่องจาก ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร เปรียบเสมือน เหตุปัจจัยที่ต่อยอดมาจากความต้องการและการสนองตอบ (อดีต) ที่เอื้อให้เกิดความคล่องตัวเป็นไปในลักษณะของการทำงานที่เด่นชัดเจนตามปกติที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนและดำเนินไปไม่ขาดตอน และที่สำคัญอีกประการก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายในภาพแยกย่อยของแต่ละช่วงแห่งกาลในกระบวนการทางเศรษฐกิจ

 

             ๓. ในสภาวะอนาคต (วิกฤติเศรษฐกิจ : การล้มละลายและตกงาน) นั้น ก็จะมีกระบวนการความต้องการและการสนองตอบ (ภาคอดีต) รวมทั้งสภาวะของกระบวนการทางด้านราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร (ภาคปัจจุบัน) ผสมคลุกเคล้าเจือปนอยู่ด้วยในกระแสสายธารของกระบวนการแห่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่มีเหตุปัจจัยใดแยกอยู่โดยเอกเทศ ทุกปัจจัยเหตุทำงานผสมกลมกลืนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แต่ที่พึงหยิบยกเอาวิกฤติเศรษฐกิจทั้งการล้มละลายและการตกงาน มาอธิบายในฐานะตัวเด่นชัดเจนในภาคอนาคตนั้น เกี่ยวเนื่องจาก วิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลายและตกงาน) เปรียบเสมือน ลูกระเบิดที่ทำลายดุลยภาพทางเศรษฐกิจให้แตกสลายไป วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นเองโดด ๆ หรือเป็นเอกเทศที่ไม่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับเหตุปัจจัยใด ๆ หากแต่ว่า เป็นการสั่งสมของกระบวนการทำงานทางเศรษฐกิจในภาคอดีต (ความต้องการและการสนองตอบ) และภาคปัจจุบัน (ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร) ที่เกิดความเข้มข้นของการปั่นกิเลสขึ้นอย่างมากมาย จนถึงจุดหนึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เคลื่อนตัวออกจากจุดสมดุลจนในที่สุดก็เกิดระเบิดออกมาเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลายและตกงาน) เป็นไปในลักษณะของการจัดดุลยภาพของกระบวนการทางเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปในวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจอย่างนี้เรื่อยไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย และที่สำคัญอีกประการก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายในภาพแยกย่อยของแต่ละช่วงแห่งกาลในกระบวนการทางเศรษฐกิจ

 

            ดังนั้น ลักษณะของ ๓ กาล (อดีต ปัจจุบัน และอนาคต) เป็นไปในลักษณะของกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเจือปนผสมคลุกเคล้ากันไปตลอดทั้งสายในกระบวนการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการใดจะแสดงบทบาทออกมาในฐานะที่เป็นตัวเด่นชัดเจนในสถานการณ์ต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การที่แบ่งพิจารณาออกมาเป็น ๓ กาลนั้น เพียงเพื่อ ความสะดวกในการอรรถาธิบายขยายความเพื่อให้เข้าใจในภาพแยกย่อยของกระบวนการด้านวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ก่อเกิดอะไรเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน ซึ่งในความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงดังกล่าวนั้น เป็นไปในลักษณะของการอาศัยซึ่งกันและกันในการดำเนินไปในวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ หรืออาจกล่าวได้ว่า ใน ๓ กาล (อดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ของกระบวนการดังกล่าวถูกคลุกเคล้าผสมรวมอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พึงดำเนินไปในกระบวนการของมันอยู่แล้วนั่นเอง

 

            ๒. การพิจารณาความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของวงจรปัจจัยเหตุต่าง ๆ ที่เป็นไปในลักษณะต่อยอดจากกาล (เวลา) ไปหา อดีต (เหตุ) ปัจจุบัน (ผลและเหตุ) และอนาคต (ผล) ซึ่งสามารถอธิบายขยายความแสดงได้เป็น ๔ ช่วง ดังนี้

                     ๒.๑ อดีตเหตุ            =     ความต้องการ     การสนองตอบ

                     ๒.๒ ปัจจุบันผล         =     ราคา      การแลกเปลี่ยน      เงิน

                     ๒.๓ ปัจจุบันเหตุ        =     การสะสมความมั่งคั่ง     การเก็งกำไร

                     ๒.๔ อนาคตผล         =     วิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลาย, ตกงาน)

 

           การแสดงความสัมพันธ์ในฝ่ายอดีตเฉพาะด้านเหตุ เป็นไปในลักษณะของการสืบสาวราวเรื่องไล่เรียงไปในผลที่ปรากฏในปัจจุบันนั้นว่าเกิดมาจากเหตุปัจจัยอะไรในอดีต ( =  อดีตเหตุ  ไปสู่  ปัจจุบันผล) และในฝ่ายอนาคตแสดงเฉพาะด้านผลนั้นเป็นไปในลักษณะของการชักโยงจากเหตุปัจจัยในปัจจุบันออกไปว่าจะให้เกิดผลอะไรในอนาคต ( =  ปัจจุบันเหตุ  ไปสู่  อนาคตผล) โดยนัยนี้เฉพาะของช่วงปัจจุบัน (ช่วงกลาง) นั้น จึงมีพร้อมทั้งฝ่ายผลและเหตุในช่วงเดียวกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 497716เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท