อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ : วงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ (๓)


ในกระบวนการของอิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจนั้น ในสถานการณ์จริง การแสดงบทบาทในฐานะตัวเด่นชัดเจนอาจเริ่มต้นด้วยองค์ประกอบของกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งในระหว่างนั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของกระบวนการใดจะกลายมาเป็นปัญหาเด่นชัดเจนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เช่น

               - วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในทศวรรษ ๑๙๓๐ : ตัวเด่นชัดเจนเริ่มขึ้นจากอุปทานรวม (Aggregate Supply) ที่มีมากเกินไป ในขณะที่อุปสงค์รวม (Aggregate Demand) มีอยู่ในระดับที่ต่ำ นำมาซึ่งภาวะของสินค้าและบริการล้นตลาด รวมทั้งการตกต่ำของระดับราคาสินค้า (ขายไม่ออก) นำพามาซึ่งการขาดทุนของผู้ประกอบการทะยานสู่การปลดคนงานและการล้มละลายของธุรกิจลุกลามสู่สถาบันการเงินเป็นลูกโซ่ นำพามาสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression) ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวนี้จะพึงสังเกตได้ว่า มีตัวเด่นชัดเจนคือ การสนองตอบ (การผลิตสินค้าและบริการออกมาเป็นจำนวนมากกว่าความต้องการ) แล้วนำพามาสู่การตกต่ำของระดับราคา เป็นปัญหาให้ธุรกิจขาดทุนและล้มละลาย เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก (วิกฤติเศรษฐกิจ) แต่ในกระบวนการดังกล่าวนั้น องค์ประกอบอื่น ๆ ในกระบวนการทั้ง ความต้องการ การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร ถือเป็นเหตุปัจจัยที่มีเจือปนอยู่ด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวถูกคลุกเคล้าผสมเข้าด้วยกันในระบบเศรษฐกิจ เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปไม่มีซึ่งเบื้องแรกและเบื้องปลาย แต่เป็นไปในลักษณะของเหตุปัจจัยที่เกื้อหนุนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน

              - วิกฤติการณ์การเงินในประเทศไทยเมื่อ พ. ศ. ๒๕๔๐ : ตัวเด่นชัดเจนเริ่มต้นจาก การสะสมความมั่งคั่ง และการเก็งกำไร ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ราคาของอสังหาริมทรัพย์ถูกปั่นให้ทะยานสูงขึ้นเกินความเป็นจริงหลายเท่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ทั้งในต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ) ผุดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด (ถือเป็นการสนองตอบเพื่อรองรับกับอุปสงค์) จนเมื่อฟองสบู่แตก ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงมาเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการขาดทุนมหาศาล ไม่มีเงินไปชำระคืนสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน) และสถาบันการเงินภายในประเทศก็ขาดสภาพคล่องไม่มีเงินไปชำระคืนเจ้าหนี้ที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ เชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ กอปรกับมีการผสมโรงในการเก็งกำไรค่าเงินบาท นำพามาสู่วิกฤติเศรษฐกิจ (ธุรกิจล้มละลายและการตกงาน) แต่ในกระบวนการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวนั้น องค์ประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญทั้ง ความต้องการ การแลกเปลี่ยน และปริมาณเงินในระบบ ถือเป็นเหตุปัจจัยที่มีเจือปนอยู่ด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวถูกคลุกเคล้าผสมเข้าด้วยกันในระบบเศรษฐกิจ เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปไม่มีเบื้องแรกและเบื้องปลาย แต่เป็นไปในลักษณะของเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน

 

          การอธิบายขยายความลักษณะของอิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ

          โดยปกติทั่วไปแล้วกระบวนการของวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจในกระบวนการที่ ๑ - ๔  นั้นถือได้ว่าเป็นกระบวนการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปในปัจจุบันที่มี การผลิต  การแลกเปลี่ยน และการบริโภค แต่ หากว่ามนุษย์มีความต้องการ (กิเลส) ที่เพิ่มขึ้นโดยขาดซึ่ง “สติ” หรือเป็นไปในลักษณะของความต้องการนำปัญญา แล้วก็จะนำพามาซึ่งกระบวนการของวงจรแห่งวิกฤติเศรษฐกิจที่ ๕, ๖ และ ๗ (ครบรอบ) ตามลำดับ จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์ จะรุนแรงมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของเหตุปัจจัยทางด้านมูลค่าของตลาดการเก็งกำไรผสมโรงไปด้วยภาวะการตื่นตระหนก (panic) เป็นสำคัญ

 

        กระบวนการที่ ๑    เพราะความต้องการ   เป็นปัจจัย    การสนองตอบจึงมี

            ความต้องการ ก็คือ ความอยากได้ในสินค้าและบริการ เช่น อยากมีรถ อยากมีบ้าน อยากมีเงิน อยากมีทอง เป็นต้น ความอยากเป็นลักษณะของนามธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจและความคิด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วความอยากของมนุษย์นั้น (หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี) จะมีอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด

            การสนองตอบ ก็คือ เป็นไปในลักษณะของการแปลงค่าของความอยาก (นามธรรม) ให้เป็นรูปธรรม (วัตถุ) ในสินค้าและบริการ เช่น รถยนต์ บ้าน โทรศัพท์ ทีวี แอร์ ดีวีดี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น 

           กระบวนการแปลงค่าจากความต้องการหรือความอยาก (นามธรรม) ทำให้เป็นรูปธรรม (วัตถุ) หรือสินค้าและบริการนั้น กระบวนการดังกล่าวในทางเศรษฐกิจก็คือ กระบวนการผลิตนั่นเอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เหตุปัจจัยในการสนองตอบเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงในกรอบของกระบวนการผลิตสินค้าและบริการทั้งหมด โดยการสนองตอบนั้น ถือเป็นการนำเอาทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดมาเข้าสู่กระบวนการการผลิตเพื่อผลิตสินค้าและบริการมาสนองตอบต่อความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด นั่นเอง

 

        กระบวนการที่ ๒   เพราะการสนองตอบ  เป็นปัจจัย    ราคา (เทียบสัมพัทธ์) จึงมี

           ราคา คือ ค่าเฉลี่ยของมาตราวัดความพึงพอใจของอุปสงค์ (ผู้ซื้อ) กับอุปทาน (ผู้ขาย) ราคาถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้การซื้อ – ขาย สินค้าและบริการเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เป็นลักษณะของนามธรรม ซึ่งในปัจจุบันสะท้อนออกมาในรูปของการวัดมูลค่าทางตัวเงิน เช่น

               - ในสมัยก่อนที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้ากับสินค้า สมมติว่า ไก่ ๕ ตัว แลก หมูได้ ๑ ตัว ซึ่งนัยราคาก็คือ ๕ (ไก่) : ๑ (หมู) นั่นเอง

             สมัยก่อนยังไม่ได้มีการใช้เงิน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจึงทำให้การวัดมูลค่าหรือราคานั้นสะท้อนออกมาในลักษณะของการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งของกับสิ่งของ (สิ่งของสองสิ่ง) ที่ต้องการจะแลกเปลี่ยนกัน แต่เมื่อเงินได้เข้ามามีบทบาทในฐานะตัวเด่นชัดเจนที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแล้ว จึงเกิดการเปรียบเทียบเป็นราคา (ตัวเงิน) เกิดขึ้น 

 

        กระบวนการที่ ๓    เพราะราคา (เทียบสัมพัทธ์)   เป็นปัจจัย   การแลกเปลี่ยนจึงมี

            การแลกเปลี่ยน  เป็นไปในลักษณะของกระบวนการของการโอนถ่ายสินค้าและบริการจากผู้ขายไปสู่ผู้ซื้อ (ผู้บริโภค) ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวในอดีตเป็นไปในลักษณะของการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้ากับสินค้า เช่น กล้วย ๒ หวี แลกกับ ขนุน ๑ ลูก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการจะอาศัยเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

 

        กระบวนการที่ ๔      เพราะการแลกเปลี่ยน    เป็นปัจจัย      เงินจึงมี

             เงิน  ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์คือ อะไรก็ได้ที่สังคมยอมรับให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและมีมูลค่าค่อนข้างที่จะคงที่ หรือ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เงิน คือ ข้อตกลง ร่วมกันของสังคมที่จะใช้อะไรก็ได้เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ดังนั้นจึงปรากฏในประวัติศาสตร์ของการใช้เงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หอย โลหะ ทองแดง ทองคำ และเงิน เป็นต้น

 

       กระบวนการที่ ๕   เพราะเงิน      เป็นปัจจัย    การสะสมความมั่งคั่งจึงมี

            การสะสมความมั่งคั่ง  เป็นไปในลักษณะของการแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองให้ได้มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันการสะสมความมั่งคั่งมักมาคู่กับเกียรติ อำนาจและบารมี  หากมีคนตั้งคำถามว่า บุคคลในสังคมหรือในประเทศท่านใดถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีเกียรติ คนส่วนใหญ่ก็จะตอบออกมาในแนวทางที่เป็นไปในลักษณะของบุคคลที่สังคมรู้จักเป็นอย่างดี เป็นบุคคลที่มีหน้ามีตาในสังคม เป็นบุคคลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง เป็นต้น น้อยคนนักที่จะนึกถึงบุคคลที่มีคุณสมบัติที่เป็นคนดี ก่อนในเบื้องแรก ดังพุทธพจน์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสกว่าสองพันปีที่ผ่านมา เป็นสัจธรรมมิเสื่อมคลายในสาระสำคัญที่ว่า “ในหมู่คนที่คิดว่าตนเองเจริญแล้วเรื่องเกียรติถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่และมีดัชนีชี้วัดในเรื่องดังกล่าว ก็คือ ความมั่งคั่งทางด้านวัตถุ”

 

        กระบวนการที่ ๖  เพราะการสะสมความมั่งคั่ง   เป็นปัจจัย    การเก็งกำไรจึงมี

           การเก็งกำไร  เป็นไปในลักษณะของการคาดการณ์ในมูลค่าของทรัพย์สินที่ลงทุนในปัจจุบันว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นหรือต่ำลงในอนาคต เช่น

               - หากคาดการณ์ว่าในอนาคตค่าเงินบาทจะมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สรอ. ในปัจจุบันก็จะทำการนำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์สรอ.กักตุนไว้ เพื่อนำไปขายทำกำไรในอนาคตเมื่อมูลค่าของเงินบาทลดลง

               - หากคาดการณ์ว่าในอนาคตราคาทองคำจะสูงขึ้น ในปัจจุบันก็จะทำการซื้อทองคำกักตุนไว้ เพื่อนำไปขายทำกำไรในอนาคตเมื่อมูลค่าของราคาทองคำสูงขึ้น เป็นต้น

           การเก็งกำไรจะเป็นไปในลักษณะของการคาดการณ์มูลค่าในอนาคตของสินทรัพย์ (สูงขึ้นหรือต่ำลง) เป็นเรื่องของการ “เก็ง” หรือคาดการณ์ มักมีความเสี่ยงสูงแต่ก็มีโอกาสรวยได้ ซึ่งในปัจจุบันนั้นการเก็งกำไรมีอยู่ในทุกตลาดไม่ว่าจะเป็นตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดสินค้าและบริการที่ซื้อขายกันล่วงหน้า ตลาดทองคำ ตลาดน้ำมัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

 

       กระบวนการที่ ๗      เพราะการเก็งกำไร   เป็นปัจจัย     วิกฤติเศรษฐกิจจึงมี

            วิกฤติเศรษฐกิจ  เป็นไปในลักษณะของ การเสียสมดุลของกระบวนการทำงานระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งสะท้อนออกมาในลักษณะของภาวะเศรษฐกิจถดถอยและตกต่ำ ส่งผลทำให้ธุรกิจล้มละลาย รวมถึงการว่างงานเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมตามมา 

 

*********************************************************************************************************

 

 

             

 

หมายเลขบันทึก: 497593เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท