อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ : วงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ (๒)


            วัฏฏะ ๓ (ไตรวัฏฏ์)     

            “วัฏจักรเศรษฐกิจ” (economic cycles) ที่หมุนเวียนเป็นวงจร เมื่อมองสะท้อนในแง่พุทธศาสนา สามารถจัดรูปให้เป็นไปใน “สังสารวัฏฏ์” หรือที่เรียกว่า วัฏฏะ ๓ (ไตรวัฏฏ์ : วน ๓) คือ

                 ๑. กิเลส คือ ตัวสาเหตุผลักดันให้คิดปรุงแต่งกระทำการต่าง ๆ เรียกว่า กิเลสวัฏฏ์

                 ๒. กรรม คือ กระบวนการกระทำหรือกรรมทั้งหลายที่ปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไปในลักษณะต่าง ๆ เรียกว่า กรรมวัฏฏ์

                 ๓. วิบาก คือ สภาพชีวิตที่เป็นผลแห่งการปรุงแต่งของกรรม (การกระทำ) และกลับมาเป็นเหตุปัจจัยในการเสริมสร้าง สนับสนุนเกื้อกูล “กิเลส” ต่อไปได้อีก เรียกว่า วิปากวัฏฏ์

          ซึ่งวัฏฏะทั้ง ๓ นี้ ก็จะหมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนจุนเจือแก่กัน เป็นไปในลักษณะของวงจรที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ดังภาพ         

 

                   

            ภาพ ๒ วัฏฏะ ๓ (ไตรวัฏฏ์)

 

          “วัฏจักรเศรษฐกิจ” (economic cycles) ที่ถูกผลิตขึ้นจากองค์ประกอบที่สำคัญอันได้แก่ ความต้องการ  การสนองตอบ  ราคา (เทียบสัมพัทธ์)  การแลกเปลี่ยน  เงิน  การสะสมความมั่งคั่ง  การเก็งกำไร  และวิกฤติเศรษฐกิจ (ตกงานและการล้มละลาย) นั้น เมื่อพิจารณาความสำคัญของการดำเนินไปในรูปวงเวียนของ “สังสารวัฏฏ์” ที่หมุนวนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน จะได้ว่า

              ๑. กิเลส    =   ความต้องการ + การสะสมความมั่งคั่ง

              ๒. กรรม    =   การสนองตอบ + การเก็งกำไร

              ๓. วิบาก    =   ราคา + การแลกเปลี่ยน + เงิน  =  วิกฤติเศรษฐกิจ (ตกงานและการล้มละลาย)    

 

           การอธิบายขยายความเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญ ด้านกระบวนการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นอีกหนึ่งผลผลิตของกฎธรรมชาติที่เนื่องกับหลัก “สังสารวัฏฏ์ (วัฏฏะ ๓)” นั้น จะพึงทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดเจนไล่เรียงไปตลอดทั้งสายได้ดังนี้

              ๑. ความต้องการและการสะสมความมั่งคั่ง เป็นตัวเด่นชัดเจนในฐานะที่เป็นกิเลสตัวสาเหตุที่จะผลักดันให้คิดผลิตเพื่อกระทำการต่าง ๆ ซึ่งหากพิจารณาตามสภาวะ (ธรรม) แล้ว ความต้องการและการสะสมความมั่งคั่งที่ถูกผลิตขึ้นมานั้น เกี่ยวเนื่องกับ กฎธรรมชาติ “จิตนิยาม” (Psychological laws) ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกลไกในการทำงานของจิต เป็นไปในลักษณะของอำนาจแห่งความคิดเพื่อต่อยอดไปทำกรรม (การกระทำ) ต่าง ๆ ในเบื้องถัดไป

             ๒. การสนองตอบและการเก็งกำไ ถือได้ว่าเป็นตัวเด่นชัดเจนในฐานะที่เป็นกรรม คือ กระบวนการกระทำหรือกรรมทั้งหมดทั้งปวง ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาทำให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งหากพิจารณาตามสภาวะ (ธรรม) แล้ว การสนองตอบและการเก็งกำไรนั้น เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกฎธรรมชาติ “กรรมนิยาม” (Moral Laws) ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นไปในลักษณะของการกระทำ (กรรม) อันทำให้เกิดพัฒนาการและวิวัฒนาการทุกด้านทางเศรษฐกิจ เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมเป็นกระบวนการก่อการกระทำและการให้ผลของการกระทำ กินลึกลงไปถึงกระบวนการแห่งเจตน์จำนง หรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอดคล้องประสานกันในทางเศรษฐกิจ

             ๓. ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน เป็นไปในสภาพที่เป็นผลแห่งการกระทำน้อมนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ (ตกงานและการล้มละลาย) ถือว่าเป็นตัวเด่นชัดเจนในฐานะที่เป็นวิบาก (ผล) ซึ่งถ้าหากว่าพิจารณาตามสภาวะ (ธรรม) แล้ว วิกฤติเศรษฐกิจ (ตกงานและการล้มละลาย) นั้น เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกฎธรรมชาติ “ธรรมนิยาม” (Causal Laws) เป็นกฎธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยและผลแห่งกระแสสายธารของกระบวนการผลิตในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน

 

            ความต้องการที่ถูกผลิตจากชุดความคิดที่ขาดสติและปัญญา เมื่อมาบรรจบกับการสนองตอบถือเป็นการครบรอบของการก่อเกิดมีที่สมบูรณ์แห่ง “กิเลส” ที่ครอบงำนำทางมุ่งสู่ประตูของ “การกระทำ (กรรม)” ที่ก้าวล้ำเข้าไปในการเบียดเบียนซึ่งกันและกันรวมถึงสิ่งแวดล้อม น้อมนำให้เกิด “วิบาก (ผล)” ซึ่งจะสะท้อนความเข้มข้นออกมาตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสาย วิบาก (ผล) จะเลวร้ายเพียงใด ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยแห่งการสั่งสมของการกระทำ (กรรม)

            วงจรหลักทั้ง ๓ (กิเลส กรรม และวิบาก) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็จะหมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันทำให้วงจรแห่งกระแสสายธารของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจดำเนินไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน

 

          วงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ

          ในทางพระพุทธศาสนา การเข้าถึงและเข้าใจในกระแสสายธารของกระบวนการเกิดทุกข์ ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ยกเอากฎอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท ให้เป็นหัวใจหลักของการทำความเข้าใจในกระบวนการดังกล่าวว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดอะไรไล่เรียงไปสุดสายไม่ขาดตอนที่มีความทุกข์ทั้งมวลเป็นเบื้องปลาย ถือเป็นกระบวนการ (ธรรม) ของการสืบสายไล่เรียงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงแก่นแท้และรากเหง้าของปัจจัยเหตุแห่งทุกข์

          ทุกสรรพสิ่งบนพื้นพิภพโลกล้วนมีเหตุปัจจัยในการก่อเกิด ขึ้นอยู่กับว่าส่วนผสมของปัจจัยเหตุเหล่านั้นจะมีมากน้อยเพียงใด เฉกเช่นเดียวกันกับการก่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้รับการยกเว้น วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเริ่มถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้น เกี่ยวเนื่องจาก การเชื่อมโยงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนพื้นพิภพโลกมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งภาคการเงิน การค้า รวมทั้งการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งผูกตลาดของแต่ละประเทศเข้าด้วยกันจนเป็นปมแน่น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นจึงส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงกันหมดอย่างมิพักสงสัย ยิ่งถ้าหากว่าวิกฤติเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแล้วหละก็ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อประเทศทั่วโลกเป็นอย่างมากเฉกเช่นวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา บทสรุปของวิกฤติเศรษฐกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ในท้ายที่สุดนั้น ล้วนนำพามาซึ่งปัญหาทางสังคมเป็นเงาตามติดมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่จะพึงเห็นตามข่าวสารและสื่อต่าง ๆ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเกี่ยวกับ การตกงานหรือการล้มละลายทางธุรกิจ นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นหรือการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

           วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาในอดีตไม่มีข้อตกลงหรือพันธะสัญญาใด ๆ ว่าจะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต สิ่งสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจก็คือ ต้องรู้เท่าทันกระบวนการเกิดของวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว เพื่อที่จะทำความเข้าใจนำไปสู่การใช้ปัญญาในการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ก้าวเข้าไปสู่ประตูของกับดักแห่งวิกฤติเศรษฐกิจนั้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวประกอบไปด้วย

 

        กระบวนการที่ ๑   เพราะความต้องการ                เป็นปัจจัย         การสนองตอบจึงมี

        กระบวนการที่ ๒   เพราะการสนองตอบ               เป็นปัจจัย         ราคา (เทียบสัมพัทธ์)จึงมี

        กระบวนการที่ ๓   เพราะราคา (เทียบสัมพัทธ์)       เป็นปัจจัย         การแลกเปลี่ยนจึงมี

        กระบวนการที่ ๔   เพราะการแลกเปลี่ยน              เป็นปัจจัย         เงินจึงมี

        กระบวนการที่ ๕   เพราะเงิน                             เป็นปัจจัย         การสะสมความมั่งคั่งจึงมี

        กระบวนการที่ ๖   เพราะการสะสมความมั่งคั่ง         เป็นปัจจัย          การเก็งกำไรจึงมี

        กระบวนการที่ ๗   เพราะการเก็งกำไร                   เป็นปัจจัย         วิกฤติเศรษฐกิจจึงมี

                   (เพราะ วิกฤติเศรษฐกิจเป็นปัจจัย การล้มละลายและการตกงานก็มีพร้อม)

                  ๗ กระบวนการ เป็น ๑ รอบ ของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์

 

        


           ภาพ ๓ อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ : วงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ

           

       จากภาพ : กระแสสายธารของกระบวนการทำงานที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยในการนำพามาสู่วิกฤติเศรษฐกิจ (อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ) นั้น อธิบายขยายความได้ว่า

 

      ไม่มีเบื้องแรก เบื้องสุดท้าย : นัยของกระบวนการของสภาวะ (ธรรม) ตามหลักอิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจหรือวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจนั้น จะสังเกตได้ว่า จากการไล่เรียงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตั้งแต่กระบวนการที่ ๑ จนถึงกระบวนการที่ ๗ (ครบ ๑ รอบของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์) นั้น เป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงตัวเด่นที่ชัดเจนในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัยในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น แต่กระบวนการของวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องอาศัยสืบต่อกัน เป็นไปในลักษณะของรูปวงเวียน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย นัยคือ ไม่มีตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด (มูลการณ์หรือ The First Cause) การที่หยิบยกเอา “ความต้องการ” ตั้งขึ้นมาเป็นเหตุปัจจัยในเบื้องแรกของกระบวนการสภาวะ (ธรรม) ทางเศรษฐกิจในข้อที่ ๑ นั้น ไม่ได้หมายความว่า ความต้องการนั้นเป็นเหตุปัจจัยในเบื้องแรกหรือมูลการณ์ของสิ่งทั้งหลายในความเป็นไปของวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เป็นการตั้งหัวข้อเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจในสภาวะ เป็นไปในลักษณะของการตัดตอนยกเอาองค์ประกอบอันใดอันหนึ่งซึ่งพึงเห็นว่าเหมาะสมที่สุดขึ้นมาตั้งเป็นกระบวนการที่ ๑ และนับต่อเนื่องเชื่อมโยงไปตามลำดับตลอดสาย เพราะแก่นแท้จริงมิได้ให้หลงยึดติดถือมั่นเอา “ความต้องการ” นั้นเป็นมูลการณ์ เกี่ยวเนื่องจาก ในสภาวะของความต้องการนั้นกินลึกลงไปในการประกอบไปด้วย "อวิชชา" ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวเด่นชัดเจนในการครอบงำนำทางสร้างความต้องการให้กระโจนทะยานสืบเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด

 

 ******************************************************************************************************

 


หมายเลขบันทึก: 497446เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะคุณ จัตุเศรษฐธรรม ขอบคุณ สรรพสาระดีๆที่เขียนให้สมาชิกได้อ่านทุกวัน....อืมม์ ขออนุญาตเรียก..อาจารย์นะค่ะ ..ด้วยความเคารพ เพราะรู้สึกว่า อ่านข้อเขียนแล้ว ทำให้ได้ศึกษาด้านนี้มากขึ้น เห็นความเชื่อมโยงมากขึ้นในมิติต่างๆของศาสนาพุทธ เช่นการเชือมโยงทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อย่างบันทึกนี้เป็นประเด็น cycle of economics ... แหม... ใจคิดถึงความสนุกแลยไถลไปนึกถึงโน่นเลย The circle of life ใน The lion king..ขออภัยๆๆค่ะ.:-((

ก่อนหน้านี้ อาจารย์เขียนมาให้เห็น/ฝึก วางและว่าง ... ไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา ) ... ไตรลักษณ์ และ อิทัปปัจจยตา ปฏิจสมุปบาบ ดีจังค่ะ ย่อยให้อ่านได้ไม่ยากนัก เพราะโดยส่วนตัวคงเป็นประเภทผู้ที่ศึกษาธรรมะมือใหม่ แถมได้อ่านเรื่องสั้น กวี มีหลากหลายดี ได้อ่านทีละน้อยก็ค่อยๆคิดไป ..

นึกเปรียบเทียบกับชีวิตประจำวัน... "ความไม่ใส่ใจ โอกาส และ จุดเปลี่ยน.. * ที่บ้านมีมอเตอร์ไซค์ ... ก็ไม่เคยคิดจะขับให้เป็น นั่งอย่างเดียว ต่อมาเมื่อต้องการจะขับ...ก็ขับได้ ...ไม่ยาก * ที่บ้านมีรถยนต์แล้วแต่จะเลือกใช้..ไม่เคยคิดจะขับ ..นั่งอย่างเดียว...ต่อมาเมื่อต้องการขับ ก็ไปเรียน ไม่กี่ชั่วโมงขับได้ มีทักษะ มาจนทุกวันนี้ มีความสุข *ที่บ้านมีหนังสือ ธรรมะของท่านพุทธทาสเป็นชุด..เรียงบนชั้น เล่มใหญ่ๆทั้งนั้น มี อริยสัจจากพระโอษฐ์ อิทัปปัจจยตา และอื่นๆ นอกจากแต่ละเล่มจะอ้วนแล้วก็หนักด้วย ....รูปลักษณ์เหล่านี้ ทำให้ปิดตา ปิดใจ..ไม่เคยคิดจะอ่าน/เรียน ..ผู้อ่านมีเพียง..พ่อ.เท่านั้น ...หลังจากที่ได้อ่านข้อเขียนของอาจารย์ ต่อไปคงได้เริ่มต้ันไปหยิบจับ หนังสือเหล่านั้นมาอ่านทำความเข้าใจมากขึ้น เป็นพื้นฐานให้่ต่อยอดได้ดี.....ขอขอบพระคุณค่ะ ที่ทำให้มี " the turning point" . อาจารย์ช่วยชี้แนะ ช่วยพัฒนาตน ด้วยสาระในข้อเขียน :-))

        ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจเสมอ รวมทั้งให้แง่คิดและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ 

        ธรรมะมีอยู่รอบตัวครับ เพียงแค่เราใช้สติกำกับและพิจารณาอยู่กับปัจจุบันดังท่านอาจารย์พุทธทาส กล่าวไว้ว่า "ธรรมะคือการปฏิบัติงาน" โดยท่านสรุปให้เข้าใจได้ง่ายคือ

       ๑. เมื่อทำงานอะไรอยู่ให้มีสติอยู่กับงานที่ทำเสมอ เมื่อสติตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดสมาธิในการทำงาน งานมักไม่ผิดพลาด เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดปัญญา งานที่ทำก็เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ

       ๒. เมื่อประสบปัญหา โลกธรรมแปด เราต้องใช้ มรรคแปด เป็นหนทางแก้ไข เมื่ออยู่ในโลก ในสังคม ย่อมหลีกเลี่ยง โลกธรรมแปด ไม่ได้ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าของเราสอนให้อยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด บุคคลที่นึกถึงอดีตที่ผ่านมา หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง ย่อมหาความสุขไม่ได้เลย

       ๓. อาศัยธรรมะแห่งการอยู่ร่วมกัน คือ พรหมวิหารสี่ คือธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบได้แก่

              -  เมตตา คือ ปราถนาเห็นผู้อื่นพ้นทุกข์ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
              -  กรุณา คือ ช่วยให้ผู้อื่นได้พ้นทุกข์ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
              - มุทิตา คือ ยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
              - อุเบกขา คือ วางเฉยเมื่อเราช่วยแล้ว หรือช่วยไม่ได้ แล้วเค้ายังไม่พ้นทุกข์ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้ง รู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

       ที่สำคัญคือการให้อภัย....
       หิริ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวและละอายต่อบาป
       ทมะ และ ขันติ คือการรู้จักข่มใจและอดทน


       เมื่อเรามีธรรมะอยู่ตลอดแล้วคงหนีไม่พ้นคำกล่าวว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม

 

 

    

ขอบคุณ..สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมค่ะ อืมม์...เคยเรียนวิชากระทู้ธรรม ตั้งแต่สมัยประถม สอบได้นักธรรมโท ตอนป 6 ..เพราะมีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สมัยนั้น ไปเรียนเพราะสนุกแบบเด็กๆ ครูให้ไปเรียนกันทุกคนตั้งแต่ ป5-6-7..แต่มิได้มีอะไรมากมายในเรื่องการศึกษาธรรมะ เพียงแต่พูดได้ว่า "เป็นเด็กไม่ห่างวัด" มากนัก ...วันนี้ขอเอากระทู้ธรรม มาสอดรับ คำอธิบายของอาจารย์... "ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ".. ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม. สาธุๆๆ :-))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท