แม่ทำเพื่อลูก ลูกทำเพื่อแม่


ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิการในชุมชน

ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชมีบทบาทหน้าที่ในการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กพิการทุกประเภท ทั้งประเภทที่รับบริการที่ศูนย์ฯ ที่บ้าน ในชุมชน และในโรงเรียนเรียนร่วม เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่กว้างไกล ทำให้การช่วยเหลือไม่ครอบคลุมและทั่วถึงในทุกพื้นที่ เพราะศูนย์การศึกษาพิเศษมีข้อจำกัดในด้านบุคลากร งบประมาณ ยานพาหนะและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มียุทธศาสตร์ในการให้บริการเชิงรุก โดยได้สำรวจรวบรวมข้อมูลครอบครัวเด็กพิการที่ไม่สามารถมารับบริการที่ศูนย์ฯหรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้ จึงจัดให้บริการที่บ้านสำหรับครอบครัวเด็กพิการที่มีความต้องการช่วยเหลือเร่งด่วน โดยการปรับเจตคติและสร้างองค์ความรู้ให้ครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง มีแผนการปฏิบัติงานประจำปีและให้บริการอย่างต่อเนื่อง

          ผลจากการดำเนินงานในการให้บริการแก่ครอบครัวเด็กพิการที่บ้าน ทำให้ครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องมีเจตคติที่ดี มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดทักษะ มีความตระหนักในการดูแลช่วยเหลือเด็กพิการได้อย่างเหมาะสม ทำให้เด็กพิการมีพัฒนาการที่ดี ปรับตัวให้อยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้ สามารถส่งต่อเข้าเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น และเป็นต้นแบบของโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ซึ่งต่อมาได้มีการขับเคลื่อนเป็นนโยบายระดับประเทศ

          ความสำเร็จในการให้บริการที่บ้าน ทำให้ครอบครัวเด็กพิการสามารถนำบุตรหลานออกสู่สังคม เกิดการยอมรับ เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญต่อเด็กพิการ นอกจากนั้นยังพบว่า มีครอบครัวเด็กพิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ศูนย์การศึกษาพิเศษจึงได้จัดทำประชาสังคมเกี่ยวกับความต้องการในการรับบริการช่วยเหลือเด็กพิการ ในแต่ละชุมชน  ผลจากได้ดำเนินการจัดทำประชาสังคม ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของครอบครัวเด็กพิการ โดยศูนย์การศึกษาพิเศษและเครือข่ายร่วมกันรับผิดชอบ  มีการจัดประชุมวางแผน เตรียมความพร้อมสำหรับให้บริการ ด้านสถานที่ สื่อ อุปกรณ์ แผนปฏิบัติงานประจำปี งบประมาณ วิทยากรและอื่น ๆ ตามความจำเป็น

          รูปแบบกิจกรรมในการพบกลุ่ม ประกอบด้วย การสร้างองค์ความรู้ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง การฝึกทักษะการดูแลช่วยเหลือเด็กพิการด้านต่าง ๆ กิจกรรมนันทนาการ  การผลิตสื่อ อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการฝึกทักษะที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดค่ายทักษะชีวิตสำหรับเด็กพิการ ค่ายครอบครัว การศึกษาแหล่งเรียนรู้ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ การประเมินพัฒนาการโดยทีมสหวิทยาการ การนำเสนอผลงานของครอบครัวที่ประสบความสำเร็จในเวทีระดับจังหวัด/ภาค/ประเทศ

          เมื่อกลุ่มครอบครัวเด็กพิการมีความเข้มแข็ง ภาคีเครือข่าย จะลดบทบาทในการให้ความช่วยเหลือลง และส่งเสริมพัฒนาครอบครัวให้มีบทบาทในการเป็นผู้นำกลุ่ม โดยมีคณะกรรมการดำเนินการในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เครือข่ายและครูการศึกษาพิเศษเป็นที่ปรึกษา มีการกำหนดแผนกิจกรรม สถานที่ วันเวลา ผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิการในชุมชน ที่สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของครอบครัวเด็กพิการและชุมชนให้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยมี อบต.ชะเมา อ.ปาก-พนัง จ.นครศรีธรรมราช มูลนิธิเพื่อเด็กพิการจังหวัดนครศรีธรรมราชและศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการบูรณาการในการพัฒนาแบบองค์รวม มุ่งเน้นและเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน เช่น ครอบครัวเด็กพิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้เกี่ยวข้อง หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ผลสำเร็จของศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิการในชุมชน

         1.มีการขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆเพิ่มขึ้น ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิการในชุมชน จำนวน 3 ศูนย์ฯคือ ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิการในชุมชน ต.ทางพูน อ.เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิการในชุมชน ต.ชะเมา อ.ปากพนัง ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิการในชุมชน ต.เสา-เภา อ.สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

         2. เด็กพิการมีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีความสามารถในด้านทักษะต่างๆ เช่น สามารถช่วยเหลือตนเอง

สื่อสาร โต้ตอบกับบุคคลอื่นให้เข้าใจได้ เรียนรู้ทักษะทางวิชาการ ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ

         3. ครอบครัวและชุมชน มีเจตคติที่ดี มีความรู้ ความเข้าใจ มีความตระหนักต่อคนพิการ เปิดโอกาสให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในชุมชน

         4. ครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง ผลิต สื่อและอุปกรณ์ในการฝึกทักษะเด็กพิการ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เก้าอี้ฝึกนั่ง กระดานฝึกยืน รอกไม้คู่ ราวไม้คู่ แอกเวียน กระดานหก  S Five In One

          5. เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน มีคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ด้านสิทธิคนพิการ นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          6. ครอบครัวและชุมชนสามารถดูแลช่วยเหลือเด็กพิการได้ด้วยตนเอง ทำให้ครอบครัวเข้มแข็งเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

          4.7 เป็นต้นแบบในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กพิการในชุมชน ในพื้นที่อื่น ๆ ที่จัดตั้งในอนาคต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                    

 

หมายเลขบันทึก: 497205เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พื้นฐานสังคมที่ดีอยู่ที่ครอบครัวที่เข้มแข็ง...สวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท