วิเคราะห์คู่ต่อสู้ระดับโลก3คู่ อองซานซูจี/เต็งเส่ง โอบามา/รอมนีย์ Mohamed Morsi/ Mohamed Hussein Tantawi นำมาเป็นบทเรียนให้คนไทย


บทความจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 21 กรกฏาคม 2555

ติดตามย้อนหลังได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

http://www.naewna.com/columnist/1104

วิเคราะห์คู่ต่อสู้ระดับโลก3คู่ อองซานซูจี/เต็งเส่ง โอบามา/รอมนีย์ Mohamed Morsi/ Mohamed Hussein Tantawi นำมาเป็นบทเรียนให้คนไทย

ขอขอบคุณท่านผู้อ่านเป็นจำนวนมากที่กรุณาบอกกล่าวว่าเป็นแฟนบทความของผมมานานอย่างสม่ำเสมอ

พลังและกำลังใจเหล่านี้แหละที่ทำให้ผมต้องค้นหาสิ่งดีๆมามอบให้ผู้อ่านและต้องขอบคุณ “แนวหน้า” ที่ยืนหยัดในความถูกต้อง ผมก็จะทำหน้าที่ต่อไป

เรื่องแรกวันนี้ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวกิตติขจร ที่ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ภริยา จอมพลถนอม ถึงแก่อนิจกรรม

กิตติขจรเป็นครอบครัวที่รับใช้ประเทศมานาน บางครั้งอาจจะถูกมองในทางลบบ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วความดีของท่านจอมพลถนอมก็มีมากมายและยังช่วยประเทศไทยในระยาวยาวได้

ท่านผู้หญิงจงกลมาจากครอบครัวเก่าแก่ในอยุธยา มีศักดิ์เป็นญาติผู้ใหญ่ของคุณแม่ผม ท่านผู้หญิงลำเจียก หงส์ลดารมภ์

ช่วงที่จอมพลถนอมเป็นนายกฯ คุณพ่อผมก็อยู่ในคณะรัฐมนตรีของท่านกว่า 10 ปี

 

ถึงแม้ว่าจอมพลถนอมและคุณพ่อจะออกจากการเป็นรัฐบาลแล้ว คุณพ่อผมกับจอมพลถนอมก็ไปมาหาสู่กันเสมอ ลูกๆ ก็สนิทกัน

วันที่ผมไปงานสวดพระอภิธรรม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จไปงานสวดพระอภิธรรมด้วย

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ผมไปทำวิจัยเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ภูเก็ต ได้ทราบข่าวการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลคุณทักษิณแก้รัฐธรรมนูญได้ ถ้าแก้ทั้งฉบับก็ต้องทำประชามติก่อน หรือถ้าไม่แก้ทั้งฉบับก็สามารถแก้ในแต่ละมาตราไป

แปลกใจที่กลุ่มเสื้อแดงบางคนยังดันทุรัง ไม่ให้ความเคารพศาลรัฐธรรมนูญแบบไร้ยางอาย เพราะอะไร? ท่านผู้อ่านคงทราบดี

ศาลอาญาก็ทันเหตุการณ์ เรียกเสื้อแดงไปแถลงเรื่องพฤติกรรมข่มขู่ศาลจนอาจต้องถอนประกัน กฎหมายอาญาของไทยยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ครับคุณก่อแก้ว

แต่ลึกๆ ผมทราบมาว่า พรรคเพื่อไทยยังปั่นป่วนในพรรค เพราะความพยายามของเสื้อแดงที่จะกดดันรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ให้ทำตามที่พวกเขาต้องการ คล้ายทวงบุญคุณ

ผมจึงไม่แปลกใจทั้งคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ที่ต้องเจอความกดดันแบบนี้ เพราะสร้างปัญหาขึ้นมาเอง

จนกระทั่งมีข่าวว่า อาจจะยุบสภาเพื่อลดอำนาจแดงลง แต่ก็เสี่ยงเพราะยุบแล้วพรรคเพื่อไทยคุมเสียงได้จริงหรือ? ความนิยมยังมีมากอย่างที่คิดหรือ? ก็ต้องตามดูต่อไป

สัปดาห์นี้ขอจับคู่ ผู้นำระดับโลก 3 คู่ มาวิเคราะห์ ดูว่ามีบทเรียนอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน

คู่แรก คือที่พม่า ระหว่าง ออง ซาน ซู จี และพลเอกเต็งเส่ง

คนหนึ่งเป็นทหารที่ฉลาด ดูแลความยั่งยืนของประเทศพม่าและมองประโยชน์ของชาวพม่าทั้งหมด

เพราะพม่ามีชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก ถ้าเปิดเป็นประชาธิปไตยเร็วไป จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ขาดความมั่นคง และถ้าไม่เปิดประเทศก็จะถูกจีนมีอิทธิพลมากเกินไป จึงเริ่มเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป

ตัวอย่างคือรัฐบาลชุดปัจจุบันถึงจะมีทหารยังปกครองอยู่ก็ตาม แต่คุณเต็งเส่งฟังเสียงนักวิชาการหลายคน โดยดึงเข้าไปเป็นรัฐมนตรี เช่น รัฐมนตรีศึกษาจากมหาวิทยาลัยดังๆ เช่น จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง

อนุญาตให้ออง ซานและพรรคของออง ซานสมัครผู้แทนได้และได้รับเลือกตั้ง

ส่วนออง ซาน ซู จี ข้อดีก็คือ ปรับ Mindset (ทัศนคติเชิงลึก)ได้ดีเพราะระหว่างที่อยู่พม่ากว่า 20 ปี ก็ได้เริ่มเข้าใจว่า การเมืองในเอเชียไม่ใช่แบบอังกฤษ ควรจะพบกันครึ่งทางค่อยๆ ปรองดองไม่ใช่แบบอังกฤษมีอำนาจ มีเสียงข้างมาก ทำอะไรได้ทุกอย่าง

ข้อดีอีกด้านของออง ซาน คือมีความรู้ มีความรักชาติ มีฐานประชาชน แต่ในอดีตมองพม่าแบบฝรั่งเพราะเคยเห็นแต่ประชาธิปไตยในอังกฤษ ไม่ปรับตัวเข้ากับการเมืองในพม่า

ช่วงหลังๆ ออง ซาน เริ่มฟังคนหลายๆ กลุ่มและระหว่างที่ถูกกักขัง รัฐบาลก็อนุญาตให้ออง ซาน ดูข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น CNN, BCC หรือสื่อไทย ช่วยปรับวิธีคิดว่าจะพาพม่าไปสู่ความสำเร็จ ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างไร?

บทเรียนของพม่าที่ไทยควรเรียนรู้คือ “ความปรองดอง” ที่อยู่บนเงื่อนไขของสันติวิธี ซึ่งคุณทักษิณควรจะศึกษาให้ดี และมีความเสียสละซึ่งออง ซานและเต็งเส่งมีทั้งคู่ แต่ปัจจุบันทักษิณมีแต่ ต้องได้ ไม่มีคำว่า เสียสละเพื่อส่วนรวม

คู่ปรับหรือคู่แข่งอีก 1 คู่คือ ที่สหรัฐอเมริการะหว่าง รอมนีย์กับโอบามา

คุณรอมนีย์มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจและเศรษฐกิจมากกว่าโอบามาเพราะเคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน

แต่ถูกมองว่าช่วงเป็นนักธุรกิจสนใจ แต่ผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุด ไม่ค่อยได้มองผลประโยชน์ของคนจน เช่น สมัยทำงานอยู่ที่ Bain Capital เป็นบริษัทเงินทุน ก็ไปซื้อกิจการและขายธุรกิจทิ้ง สร้างกำไรให้ตัวเอง และทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ข้อเสียมากอีกด้านก็คือมีเงินมาก เสียภาษีน้อย เพราะมีช่องทางเลี่ยงภาษีเยอะ เช่น นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศและอาจจะไม่โปร่งใส หลีกเลี่ยงภาษี

บทบาทของรอมนีย์ทำให้คนอเมริกันที่ตกงานหรือคนยากจนในอเมริกามองว่า รอมนีย์รวยเกินไป มาเล่นการเมืองแล้วจะดีหรือ? จะช่วยคนยากจนได้จริงหรือ?

ส่วนโอบามาถูกมองว่าเก่งแต่พูด เก่งในการหาเสียงกับคนจน พยายามเน้นบทบาทเป็นผู้ที่จะช่วยคนจนให้หลุดจากวิกฤติ จึงถูกมองว่าไม่เปิดโอกาสให้ธุรกิจหรือผู้ประกอบการกล้าที่จะลงทุน กล้าที่จะแสวงหานวัตกรรมธุรกิจใหม่ซึ่งขัดแย้งกับปรัชญาทุนนิยมในอเมริกา ทำให้คนชั้นกลางไม่พอใจและมีแนวโน้มว่าจะไม่ลดหย่อนภาษีให้คนรวย

ตัวอย่างคือเรื่องการรักษาพยาบาลคนจนในอเมริกา ในอดีตไม่มีประกันเพราะรายได้ไม่พอ โอบามาออกกฎหมายให้เอกชนไม่ปฏิเสธในเรื่องการประกันสุขภาพของคนอเมริกันทุกกลุ่ม ซึ่งทำให้ธุรกิจประกันขาดรายได้ที่มั่นคงไป เพราะต้องประกันลูกค้าที่ด้อยคุณภาพ

จุดอ่อนของโอบามาคือถูกมองว่าไม่มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้จำนวนคนว่างงานยังมีสูงอยู่

บทเรียนของคู่นี้คือ ทั้งสองคนมีจุดยืนที่ดี โอบามาช่วยคนจน แต่รอมนีย์ช่วยคนรวย ใครแพ้ชนะก็ขึ้นอยู่กับฐานเสียงของทั้ง 2 ฝ่าย

แต่ในเมืองไทย คุณทักษิณรวยที่สุดคนหนึ่งในโลก คนชั้นกลางของไทยไม่ชอบ แต่คนจนชอบเพราะอะไร? ผมขอเรียกระบอบทักษิณว่า “อุดมการณ์ตีลังกา”

ส่วนคู่สุดท้ายคือประเทศอียิปต์ ซึ่งปัจจุบันได้ประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว ชื่อ Mohamed Morsi ซึ่งเป็นตัวแทนมุสลิมหัวรุนแรง (Muslim brotherhood) มีข้อดีก็คือ Morsi รู้ว่าถ้ามีนโยบายหัวรุนแรงแบบเดิมคงไม่มีใครยอมรับ จึงเป็นผู้นำที่ปรับวิธีการคิดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ส่วน Mohamed Hussein Tantawi ยังเป็นผู้นำทางทหารอยู่และมีบทบาทสูงในการดูแลความมั่นคง

ถ้าอียิปต์อยู่รอด ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายต้องประนีประนอมกันแบบพบกันครึ่งทาง เพราะอียิปต์กำลังปรับตัวหลังจากถูกปกครองโดยประธานาธิบดี Mubarak มานาน

ฉะนั้น ผู้นำทั้งคู่จะต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยและนำประเทศให้ผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปได้ ไม่เน้นเสียงข้างมากโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและความเหมาะสม

ถ้าผู้นำทั้งสองคนไม่ประนีประนอม ก็จะทำให้ประเทศอียิปต์ขาดความมั่นคง ขาดความยั่งยืนในที่สุด

บทเรียนก็คือ ต้องแบ่งปันอำนาจกัน เพื่อให้ประเทศอยู่ได้ในระยะยาว

ส่วนบทเรียนสำหรับเมืองไทยก็คือ พรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมากคิดว่า ทำทุกอย่างได้ ลองศึกษาที่ตัวอย่างประเทศอียิปต์ดูว่า “ผู้นำต้องบริหารอำนาจและแบ่งปันอำนาจกันอย่างไร”

 

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
[email protected]
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์ 0-2273-0181

หมายเลขบันทึก: 496896เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท