ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๑๔. ชีวิตที่มีประกาย


 

          บทบรรณาธิการในวารสาร Science ฉบับวันที่ ๒๙ มิ.ย. ๕๕ เรื่อง Science Friction เขียนโดย Maire Geoghegan-Quinn ผู้มีตำแหน่งเป็น European Commissioner forResearch, Innovation and Science ทำให้ผมนึกถึงหัวเรื่องของบันทึกนี้

 

          เพราะอ่านบทความหนึ่งหน้านี้แล้วผมเกิดอาการ “ของขึ้น”   คือรู้สึกว่าชีวิตมันคึกคักมีชีวิตชีวา    คล้ายๆ ได้รับ “โรคติดต่อ” มาทางหน้ากระดาษหรือถ้อยคำ    อ่านแล้วได้สัมผัสความคิด หรือเรื่องราวที่มีคุณค่า

 

          คำที่ผมชอบคือ “Science is a necessity, not a luxury.”    ยุคนี้เป็นยุคแห่งความยากลำบากของยุโรป   เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ   แต่ประเทศที่ลงทุนด้านการวิจัยมาก ทนต่อวิกฤตเศรษฐกิจได้ดีกว่า    บริษัทที่มีนวัตกรรมมีความยืดหยุ่นปรับตัว (resilience) ดีกว่า

 

         ผู้เขียนบอกว่า สำหรับเขาเอง การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง   โดยไม่ต้องเอ่ยถึงประโยชน์ทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างงาน   เพราะวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วยความใคร่รู้ (curiosity-driven science) มีผลกำหนดและชี้ทิศทางการพัฒนาของมนุษย์

 

         แต่ถึงแม้จะมีความเชื่อเช่นนี้   ก็ต้องมีการจัดการการลงทุนต่อการพัฒนาการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง   และต้องสื่อสารเรื่องราวต่อสังคม

 

          ผมชอบอ่านหนังสือ และคอยจ้องสังเกตหรือตีความคุณค่าของสิ่งต่างๆ ผ่านข้อเขียนหรือคำพูดของคนเก่งๆ   นำมาตั้งเป็นข้อพิศวงว่าเขามีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้อย่างไร   สมัยหนุ่มๆ ผมจะตั้งคำถามกับตนเองว่าตัวเราเองจะพัฒนาตนเองให้คิดลึกหรือเชื่อมโยงในระดับนั้นได้อย่างไร   จะฝึกอย่างไรจึงจะสื่อสารเรื่องราวได้ชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างเขา   หรือว่าทำอย่างไรจึงจะทำงานสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเขา

 

          แต่เดี๋ยวนี้คำถามต่อตนเองเปลี่ยนไปแล้ว   เพราะผมมีชีวิตช่วงวัย ๗๐ แบบผู้เกษียณอายุงาน    คือไม่มีงานที่ตนเองเป็นเจ้าของ    มีแต่กิจกรรมในฐานะกองเชียร์   ซึ่งก็ได้ความสุขจากประกายความกระตือรือร้นมีชีวิตชีวาของคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถสูง    คำถามของผมก็กลายเป็น “จะสร้างสภาพโรคติดต่อ ในกิจกรรมดีๆ เหล่านั้นได้อย่างไร”   ทำอย่างไรจะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมเช่นนั้นได้รับการสนับสนุนทรัพยากรและการสนับสนุนอื่นๆ 

 

          ประกายคุณค่า  ประกายของการสร้างคุณค่า แก่สังคม   ทำให้ชีวิตของผมมีความสุข และความมีชีวิตชีวา

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มิ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 496840เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท