วรรณกรรมวิจารณ์และมุมมองแบบผู้หญิง: ข้อโต้แย้งที่มีต่อมุมมองทางมานุษยวิทยา ตอนที่ 3


วรรณกรรมวิจารณ์และมุมมองแบบผู้หญิง: ข้อโต้แย้งที่มีต่อมุมมองทางมานุษยวิทยา

               ข้อวิจารณ์ข้อแรก เรื่องแนวคิดของ Strauss ที่บ่งชี้ว่าการควบคุมโดยผู้ชายที่มีต่อการแลกเปลี่ยนผู้หญิงซึ่ง่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งนั้น ย่อมทำให้วัฒนธรรมนั้นต้องพึ่งพิงการกดผู้หญิงให้ต่ำกว่าผู้ชายเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้จะยังให้ช่องทางในการต่อสู้ของคนที่มีมุมมองแบบผู้หญิง ก็เพราะว่า ความอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ชายนั้น เป็นผลมาจาก ‘การผลิตของความสัมพันธ์ ซึ่งเพศสรีระ (sex) และเพศสภาพ (gender) ถูกจัดระบบและถูกสร้างขึ้นในระบบเครือญาติ’ มากกว่าเป็นรากเหง้าของความสัมพันธ์นั้น (พูดอย่างนี้ก็แสดงว่าเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ได้ครับ) ระบบเครือญาตินั้นได้ผลิตการแลกเปลี่ยนทั้งหลายขึ้นมา เช่นสถานภาพ สิทธิ ทรัพย์สิน และการแลกเปลี่ยนผู้หญิงก็เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนี้เท่านั้น

                ข้อวิจารณ์ข้อที่สองที่มีต่อการสร้างเพศสภาพ (gender construction) ของ Strauss คือ โครงสร้างของการมีชื่อเสียง (Prestige Structures) ดำรงอยู่ก่อนระบบเพศสรีระ (sex) และเพศสภาพ (gender) ซึ่งระบบโครงสร้างการมีชื่อเสียงนี้ทำหน้าเหมือนกับรหัสซึ่งส่งผ่านความมีชื่อเสียงและแน่นอนผู้ชายเป็นคนกำหนดคนสุดท้ายในความสัมพันธ์นั้น ดังนั้นความมีชื่อเสียงจึงมีแหล่งที่มาหลากหลาย เช่น อำนาจทางการเมือง ทักษะส่วนบุคคลในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ระบบเครือญาติ ทรัพย์สิน ความโด่งดัง เป็นต้น สังกัปของความมีชื่อเสียง (conception of prestige) จะถูกสร้างขึ้นโดยเครือข่ายความเชื่อ การจัดประเภท (category) สมมติฐาน (assumption) และสัญลักษณ์ ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ในที่สุดก็จะสร้างวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามในขณะที่ระบบเครือญาติและการแต่งงานเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเหล่านี้ แต่ทั้งระบบเครือญาติและการแต่งงานสุดท้ายก็จะถูกเลือกสรรคัดกรองโดยมุมมองของผู้ชายในที่สุด ประโยชน์ของข้อวิจารณ์แบบที่สองก็คือ ถ้าเราไม่สามารถจะรื้อถอนโครงสร้างของการมีชื่อเสียงของผู้ชายลงได้ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศก็ยังมีอยู่ต่อไป

                ข้อวิจารณ์ข้อที่สามที่วิพากษ์ Strauss ที่มีแนวคิดว่าการแลกเปลี่ยนผู้หญิงโดยผู้ชายในการแต่งงานเกิดขึ้นมาในระดับจิตวิทยา จากโครงสร้างทางจิตนี้เองที่ได้สร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศให้ดำรงอยู่ในตัวของปัจเจกบุคคล Gayle Rubin ซึ่งได้ผสมผสานทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ Lacan กับมานุษยวิทยาโครงสร้างของ Strauss กล่าวว่าการแลกเปลี่ยนผู้หญิงทำหน้าที่ในการสร้างเพศสภาพ (gender) โดยการสนับสนุนและให้คุณค่ากับการร่วมรักระหว่างคนต่างเพศ (heterosexuality)และกดทับเพศวิถีแบบผู้หญิง (female sexuality) ให้ต่ำลงไป (โปรดดูความแตกต่างระหว่างเพศสรีระ (sex) เพศสภาพ (gender) และเพศวิถี (sexuality) ข้างล่างครับ) Rubin หยิบยืมคำของ Lacan มาใช้ โดยถือว่า อัณฑะ ก็คือ phallus หรืออำนาจแบบผู้ชายซึ่งจะกำหนดความมีระเบียบ (order) และความหมาย (meaning) และการแต่งงานก็คือ การแสดงออกซึ่งส่งผ่านอำนาจของผู้ชายนั่นเอง สิ่งซึ่งกำลังมีการแลกเปลี่ยนไม่ใช่ตัวผู้หญิง แต่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจผู้ชาย ผู้หญิงเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนที่แท้จริง ไม่ใช่ตัววัตถุของการแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด กล่าวโดยสรุปการแต่งงานก็คือการที่ผู้ชายกระชับอำนาจของตนเองในหมู่ผู้ชายด้วยกัน

                เดี๋ยวบล็อกหน้ามาพูดถึงทฤษฎีในวงการมนุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์วรรณกรรมโดยใช้มุมมองแบบผู้หญิงต่ออีกสักทฤษฎีนะครับ

  บรรณานุกรม

Gayle Green and Coppelia Kahn. Feminist scholarship and the social construction of woman. in Gayle Green and Coppelia Kahn (eds). (1985). Making Difference: Feminist Literary Criticism. London. Methuen

ถึงตรงนี้สมควรกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างเพศ เพศสภาพ และเพศวิถีสักเล็กน้อยครับ 1. เพศ (sex) คือการกำหนดว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงโดยดูที่อวัยวะเพศเป็นหลัก ดังนั้นถ้าเป็นชายต้องมีอัณฑะ และเป็นหญิงก็ต้องมีช่องคลอด 2. เพศสภาพ (gender) คือ สภาวะทางเพศที่ถูกประกอบสร้างทางสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความเป็นชาย และความเป็นหญิงนั่นเอง โดยมากแล้วคนเราจะกำหนดเพศสภาพจากเพศที่มาจากอวัยวะในร่างกาย ดังนั้นถ้าคนที่มีอัณฑะก็ต้องแข็งแรงอดทน บึกบึน ร้องไห้ยาก เป็นต้น และคนที่มีช่องคลอดก็ต้องใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล ร้องไห้เก่ง ฯลฯ แต่ถ้าหากสังคมไทยกำหนดเพศสภาพจากแหล่งอื่นนอกจากเหนือจากเพศที่เป็นอวัยวะแล้ว เราก็อาจมีเกย์ ทอม ตุ๊ด ดี้ ฯลฯ ต่างๆมากขึ้น 3. เพศวิถี (sexuality) หมายถึง วิถีชีวิตทางเพศซึ่งถูกหล่อหลอมสร้างจากสังคม ค่านิยม บรรทัดฐาน ระบบวิธีคิด วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความปรารถนา และการแสดงออกทางเพศ ความคิดเกี่ยวกับคู่รัก คู่ชีวิตในอุดมคติและกามกิจ มาจาก กฤตยา อาชวนิจกุล เพศวิถีที่กำลังเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย   www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVII/.../2011-Article-03.pdf

 

หมายเลขบันทึก: 496322เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท