อริยทรัพย์ : หลักสำคัญสำหรับการบริหารโภคทรัพย์


การดำเนินชีวิตในสังคมเศรษฐกิจ ได้บังคับ บีบคั้นให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “ทรัพย์” ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ทั้งจากากรแสวงหา การครอบครอง  รวมถึงการใช้ไปในทรัพย์เหล่านั้น วิวัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ที่เจริญก้าวหน้าได้พัฒนาให้เกิดการสะสมความมั่งคั่งให้พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพย์ที่มากมาย สะท้อนให้เห็นถึงนัยของความร่ำรวย มั่งมีที่อุดมไปด้วยทรัพย์สมบัติ แต่สิ่งเหล่านี้มิได้เป็นดัชนีชี้วัดที่ตีตราประทับรับรองว่ามีความสุขเสมอไป

         ในแง่ของทรัพย์นั้นท่านพุทธทาสได้กล่าวเอาไว้ว่า (จากหนังสือ สรรนิพนธ์พุทธทาสว่าด้วย วิถีประชาธิปไตยและหัวใจเศรษฐกิจพอเพียง รวบรวมเรียบเรียงโดยกวีวงศ์ หน้า ๓๙๓ - ๓๙๖)

 

          ...จะพูดถึงทรัพย์สมบัติว่าคืออะไร? ในทัศนะของพุทธบริษัทต่อไปตามเดิม. บางคนอาจจะคิดว่า ทำไมจะต้องเอาเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วมาพูด? อาตมาก็ขอร้องว่า ก็ขอให้ฟังดูก่อนว่า จะพูดกันอย่างไร. เดี๋ยวนี้ทุกคนก็มีทรัพย์สมบัติ แล้วจะให้มาถามว่า ทรัพย์สมบัติคืออะไร? ก็คล้ายกับว่ามาดูถูกดูหมิ่นกัน ว่าเป็นคนโง่ ไม่รู้ว่าทรัพย์สมบัตินั้นคืออะไร. ถ้าว่าโดยที่จริงแล้วคนเราก็ยังไม่รู้ว่า ทรัพย์สมบัตินั้นคืออะไร? คือเขาได้มีมัน และใช้มันไม่ตรงตามความหมายของคำคำนี้, และกำลังเดือดร้อนเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่ เพราะสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สมบัตินั้นเอง. จริงหรือไม่จริง? ขอให้พิจารณาดูกันต่อไป.

           พุทธบริษัทพิจารณาสิ่งใด ๆ ต้องพิจารณาพร้อมกันไปทั้ง ๒ ความหมาย คือความหมายในภาษคน อย่างหนึ่ง และความหมายในภาษธรรมอย่างหนึ่ง โดยใจความก็คือ ดูกันทั้งผิวนอก และดูกันทั้งเนื้อใน, ดูกันทั้งโดยตัวหนังสือ, และดูกันทั้งโดยความหมายแห่งตัวหนังสือนั้น.

          เมื่อพูดถึงทรัพย์สมบัติว่าคืออะไร? ดูกันตามตัวหนังสือตามธรรมดา ในภาษคน ก็ถือเอาความหมายอันแรกที่สุดว่า สิ่งเป็นเครื่องปลื้มใจ เพราะคำว่า “ทรัพย์” นี้ มันแปลว่า เครื่องปลื้มใจ ใครมีทรัพย์ คนนั้นก็ปลื้มใจ หรือว่าทรัพย์นั้น เป็นเครื่องทำความปลื้มใจให้แก่บุคคลนั้น; พูดง่าย ๆ ก็คือคำว่า “ความปลื้มใจ” นั่นเอง เป็นชื่อของสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์. แต่เนื่องจากเป็นภาษอินเดีย ถ้าพูดเป็นภาษไทย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็จะต้องเรียกมันว่าสิ่งปลื้มใจ, สิ่งที่ให้ความปลื้มใจ; พูดเป็นศัพท์ในทางศาสนา ก็ว่า สิ่งที่ให้อัสสาทะ คือความรู้สึกพอใจอย่างยิ่ง. เราจะต้องมองดูว่า ความหมายแท้จริงของคำนี้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

          อาตมาสันนิษฐานเอาเองว่า ครั้งแรก มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างไม่ต้องมีทรัพย์สมบัติ ซึ่งเราเคยได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษามาว่า มนุษย์ในชั้นแรกนั้น มันก็ไม่ผิดกับสัตว์เดรัจฉานนัก, เพิ่งขึ้นมาจากความเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็อยู่อย่างคนที่เรียกว่า คนป่า ครึ่งคนครึ่งสัตว์ ตามถ้ำ ตามเขา ตามโพรงไม้ แล้วแต่จะอยู่ได้อย่างไร. เขาก็ไม่ต้องจำเป็นจะต้องมีทรัพย์สมบัติ เพราะว่ามีเท้า มีตีน นั่นแหละเป็นทรัพย์สมบัติ พอรุ่งเช้าก็ออกเที่ยวหากิน อิ่มท้องแล้วก็กลับมานอน ไม่มียุ้งฉางที่จะเก็บรักษา สะสม อะไรไว้ ตามธรรมชาติ เหมือนกับสัตว์ทั้งหลายทั่วไป.

        ครั้นต่อมา ถึงยุคที่มนุษย์เหล่านั้น รู้จักเก็บรักษา สะสม หรือเพาะปลูก หรือขยายพืชพันธุ์ สิ่งที่มีชีวิตในการคุ้มครองของตน เขาก็เริ่มมีการสะสม สิ่งที่เขาสะสมนั้นเรียกว่า “ทรัพย์สมบัติ” คือเรียกว่า สิ่งปลื้มใจ; เพราะว่าเขามีมันไว้เขาก็ปลื้มใจ ไม่ต้องออกไปหาตามป่าไพรไกล ๆ กว่าจะได้กินสักคำหนึ่งก็ลำบาก. เดี๋ยวนี้มาอยู่ใกล้ ๆ มือ ในยุ้งในฉาง ในเล้า ในคอก มันก็เลยปลื้มใจ.

        เราจึงกล่าวได้ว่า ทรัพย์สมบัตินั้น คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก เมื่อมนุษย์รู้จักทำการสะสมนี้เอง. มันปลื้มใจตรงที่ว่า มันมีอยู่ใกล้ ๆ นี้; จะกินเมื่อไรก็ได้, จะใช้อย่างไรก็ได้. ฉะนั้น คำว่า “ทรัพย์” ที่มีความหมายว่า สิ่งทำความปลื้มใจ ก็เกิดขึ้นอย่างนี้.

        ผู้ใดมีทรัพย์ตรงตามความหมายของคำคำนี้ ก็ควรจะเป็นไป ในทางที่จะได้รับแต่ความปลื้มใจ พอใจ สบายใจ. ถ้าผิดไปจากนี้ มันก็ไม่ใช่ทรัพย์ คือไม่ตรงตามความหมายของคำว่า “ทรัพย์” มันกลายเป็นเสนียดจัญไร หรืออาทีนวะโทษอันเลวทรามอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาเสียแล้ว.

         เราจะเห็นว่า คนบางคน มีทรัพย์สมบัติสำหรับเป็นเครื่องหนักอกหนักใจ มีทรัพย์สมบัติสำหรับทะเลาะวิวาท เป็นถ้อยเป็นความกัน ตามโรงตามศาล ในระหว่างพี่น้องคลานตามกันมาก็มี; อย่างนี้จะเรียกทรัพย์นั้นว่าอย่างไร? และที่ร้ายไปกว่านั้นอีก ก็มีหลักฐานพยานปรากฏอยู่ว่า เจ้าของทรัพย์ต้องตายเพราะทรัพย์ของตัวเอง นี้ก็มีอยู่ทั่ว ๆ ไป; จะเรียกว่าทรัพย์นี้เป็นเครื่องปลื้มใจได้อย่างไร? แล้วเราจะควบคุมให้มันเป็นไปแต่ในทางที่เรียกว่า เป็นความปลื้มใจได้อย่างไร? ขอให้ลองคิดดู

        นี่แหละ ถ้าถามขึ้นมาว่า ‘ทรัพย์คืออะไร” ตัวหนังสือมันแปลว่า เครื่องปลื้มใจ; แต่แล้วมันได้ให้เกิดความปลื้มใจจริงตามตัวหนังสือนั้นหรือหาไม่? หรือว่ามันให้ทั้ง ๒ อย่าง; ก็ลองเปรียบเทียบกันดูว่ามันให้อย่างไหนมาก? ถ้าพูดถึงคนธรรมดาสามัญทั่วไป ที่เรียกว่า “ปุถุชน” แล้ว ดูเหมือนจะให้ความทุกข์ร้อน เหมือนตกนรกทั้งเป็นเสียมากกว่า.

             ลองพิจารณากันดูสักนิดกนึ่งตรงนี้ว่า เมื่อยังไม่ได้ทรัพย์ ยังกำลังต้องการแสวงหาอยู่ มันก็ร้อนใจ, ไม่ได้มาตามที่ตัวพอใจ มีความกระวนกระวายใจอยู่เพราะทรัพย์ที่ยังไม่ได้มา. ครั้นได้ทรัพย์นั้นมา ก็กระวนกระวายใจอยู่ด้วยความรัก ความยินดี ความหวง ความวิตกกังวล ความระแวงว่าจะถูกลัก ถูกขโมย หรือจะเปลี่ยนแปลงไปโดยประการใดประการหนึ่ง ก็นอนไม่ค่อยหลับเพราะทรัพย์ที่ได้มา...

 

          ใครมีทรัพย์สมบัติมากมายก็สร้างความปลื้มใจได้มากยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบัน ทรัพย์สมบัติที่วิ่งไล่กวดเพื่อให้ได้มาอยู่ในความครอบครองนั้น สร้างความปลื้มใจหรือหนักใจมากกว่ากัน ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนะคติของแต่ละบุคคลว่าจะเอาอะไรมาเป็นฐานอ้างอิงในการเทียบสัมพัทธ์ (เปรียบเทียบ) ทรัพย์สมบัติที่เสาะแสวงหาและวิ่งไขว่คว้าตามความทะยานอยากที่ไม่มีสิ้นสุดของตัวเอง ก็ไม่ต่างอะไรกับการวิ่งไล่กวดหาความสุขจากภายนอกที่ไม่มีความจีรังยั่งยืน เติมไม่เต็ม เมื่อเห็นวัตถุสิ่งนี้ที่มาใหม่ก็ตีค่าวัดราคาแห่งความสุขออกมาเพื่อสนองกับความต้องการ แต่พอมีวัตถุที่ใหม่กว่าผ่านเข้ามาสู่ทวารทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ก็กระโจนทะยานเข้าหาเพื่อไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งการครอบครอง เป็นวัฏจักรหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

         “ทรัพย์” หมายถึง สิ่งที่ถือว่ามีค่า ได้แก่ วัตถุมีรูปร่าง เช่น เงินตรา สิ่งอื่นๆ หรือ วัตถุที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ปัญญา เรียกว่า อริยทรัพย์ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าอริยทรัพย์นี้เป็นศัพท์  ที่มาจากพระไตรปิฎก
          ทรัพย์ มาจากศัพท์ในภาษาบาลีหลายคำด้วยกัน เช่น  ทัพพะ, ธนะ และ นิธิ เป็นต้น ทรัพย์ แปลว่า เครื่องปลื้มใจ คำว่าทรัพย์ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นมี ๒ ประเภท คือ โภคทรัพย์และอริยทรัพย์ 

          โภคทรัพย์
            โภคทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ภายนอก คือของที่จะพึงบริโภค เป็นเครื่องทำนุบำรุงร่างกาย แบ่งเป็นโภคทรัพย์โดยตรง และโภคทรัพย์โดยอ้อม 
          โภคทรัพย์โดยตรง ได้แก่ ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ส่วนโภคทรัพย์โดยอ้อม ได้แก่ เงินทอง หรือ เงินตรา ที่บัญญัติขึ้นสำหรับเป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน เงินทองนั้นไม่ได้เป็นโภคทรัพย์โดยตรง เพราะไม่อาจจะเอามา    เป็นเครื่องทำนุบำรุงร่างกาย คือ เอามานุ่งห่มไม่ได้ กินไม่ได้ เป็นต้น แต่จะต้องนำเอาไปซื้อโภคทรัพย์โดยตรงคือ ปัจจัย ๔ มาอีกทีหนึ่ง
          โภคทรัพย์ หมายรวมถึง เรือกสวน ไร่นา ที่ดิน  เพชร นิล จินดา ยานพาหนะ สัตว์เลี้ยง หรือสิ่งของที่มีค่าอื่นๆ ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัย ๔ ได้เช่นกัน
          โภคทรัพย์นั้นจัดเป็น "โลกียทรัพย์" หมายถึง ทรัพย์ในทางโลก 

         อริยทรัพย์

         แท้ที่จริงแล้ว “ทรัพย์” ที่สร้างความปลื้มใจ นำไปสู่วิถีแห่งความสุขที่ยั่งยืน มีเท่าไหร่ก็ใช้ไม่หมด เข้าทำนองยิ่งใช้มากยิ่งมีความสุขมาก ตรงกันข้าม กับทรัพย์ทางวัตถุที่ยิ่งใช้ยิ่งหมดไป ทรัพย์ที่สร้างความปลื้มใจให้ความสุขที่ยั่งยืนดังกล่าวก็คือ “อริยทรัพย์” นั่นเอง

          

          อริยทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่มีภายในใจ มีอยู่ ๗ ประการด้วยกัน คือ สัทธาธนัง ทรัพย์คือศรัทธา,สีลธนัง ทรัพย์คือศีล, หิริธนัง ทรัพย์คือหิริ, โอตตัปปธนัง ทรัพย์คือโอตตัปปะ, สุตธนัง ทรัพย์คือสุตะ, จาคธนัง ทรัพย์คือจาคะ และ ปัญญาธนัง ทรัพย์ คือปัญญา
        

           ๑. ศรัทธา (Faith) หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบไปด้วยปัญญา เชื่ออย่างมีสติพิจารณาว่า สิ่งใดควรเชื่อ สิ่งใดไม่ควรเชื่อ เป็นเสมือนทรัพย์ที่คุ้มครองให้ปลื้มอกปลื้มใจ มีความอุ่นอกอุ่นใจ ทำให้หัวใจสงบร่มเย็น ซึ่งศรัทธาขั้นพื้นฐานมีอยู่ ๔ ประการ คือ
                  - เชื่อกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง ทำอะไรแล้วย่อมมีผลเสมอ
                  - เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
                  - เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วย่อมติดตามผู้ทำนั้นตลอดไป
                  - เชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง และเชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์
      

           ๒. ศีล (Morality) หมายถึง ความถูกต้องทางมารยาท การกระทำทางกายและทางวาจา เป็นไปในลักษณะของการรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยเป็นปกติ ไม่เบียดเบียนใคร ให้ความมั่นคงและความจริงใจซื่อสัตย์ต่อกัน อันเป็นหลักประกันความเป็นมนุษย์ในตัวบุคคล อย่างน้อยต้องรักษาศีลให้ได้ ๕ ข้อ ซึ่งต้องหมั่นทำให้เป็นปกติจนกลายเป็นนิสัยให้ได้ ผู้ใดไม่มีความผิดพลาดแห่งการกระทำทั้งทางกายและทางวาจา ผู้นั้นย่อมเป็นสุข ไม่เดือดร้อนวุ่นวายทั้งกายและใจ


          ๓. หิริ (Moral shame) หมายถึง ความละอายความชั่ว หรือเกลียดความชั่วอย่างของสกปรก ความละอายต่อการทำบาป ละอายต่อการคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว โดยต้องหมั่นเตือนตนเองไม่ให้พลาดพลั้งไปทำความชั่วอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าใครมีหิริ ก็กลายเป็นคนสะอาดและบริสุทธิ์ เป็นคนถูกต้องไม่สร้างเวรสร้างภัยให้กับสิ่งใด ๆ

 

         ๔. โอตตัปปะ (Moral fear) หมายถึง ความกลัวความชั่ว กลัวบาป ความกลัวต่อผลของบาปว่า ถ้าเราคิดชั่ว พูดชั่ว หรือทำชั่วไปแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ วิบาก ที่ส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต คนที่กลัวบาปก็ไม่มีการทำบาป จึงไม่มีบาป เมื่อไม่มีบาปก็มีบุญโดยอัตโนมัติ ก็มีสิ่งที่ทำให้ปลอดภัยในตัวของมันเอง อยู่ด้วยความสงบร่มเย็นแห่งชีวิต

        

           ๕. สุตะ หรือพาหุสัจจะ (Great learning) หมายถึง การได้รับการสดับตรับฟังมาก หมั่นฟังธรรมและศึกษาธรรมเพื่อให้ได้ฟังและรู้สิ่งที่ตนไม่เคยรู้ และเพิ่มพูนความรู้ที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มพูนมากยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วศึกษาให้แตกฉาน ทั้งความรู้ทางโลกและทางธรรม สามารถทำให้มีทรัพย์ที่เป็นอริยทรัพย์ได้ รวมทั้งป้องกันความผิดพลาดไม่ให้เกิดขึ้นในการใช้ชีวิต


           ๖. จาคะ (Charity) หมายถึง การรู้จักเสียสละ แบ่งออกเป็น ๒ ประการ
                  - การสละสิ่งของเป็นทาน เป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ  
                  - สละอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นทาน คือ สละอารมณ์โกรธ พยาบาทออกไป และให้อภัยทาน ซึ่งจะส่งผลให้ใจของเราผ่องใสไม่ขุ่นมัว และไม่จองเวรกับใคร

              เป็นไปในลักษณะของการรู้จักสละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน คือ ความชั่วทั้งปวง หรือกิเลสทั้งหลายนั่นเอง
       

         ๗. ปัญญา (Wisdom) หมายถึง ความรอบรู้ที่ถูกต้องในสภาวะ (ธรรม) ตามจริง เป็นไปในลักษณะของความรู้ในการกำจัดกิเลสเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “ปัญญาถือเป็นทรัพย์สุดยอด”
     

          อริยทรัพย์นั้นจัดเป็น "โลกุตตรทรัพย์" หมายถึง ทรัพย์ที่พ้นจากโลก อยู่เหนือโลก  
          อริยทรัพย์บางพระสูตร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เพียง ๕ ประการบ้าง หรือ ๔ ประการบ้าง เช่น ธนสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอริยทรัพย์ไว้ ๕ ประการ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา และในทีฆชาณุสูตรพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอริยทรัพย์ไว้ ๔ ประการ คือ ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา
          สำหรับอริยทรัพย์ ๗ นั้น หากจะย่อให้เหลือ ๕ ประการก็ได้ คือ จัด "หิริ" และ "โอต- ตัปปะ" ไว้ในหมวด "ศีล" เพราะธรรมทั้งสองประการนี้เกี่ยวข้องกับการรักษาศีล ถ้าจะย่ออริยทรัพย์ ๕ ให้เหลือ ๔ ประการก็ได้คือจัด "สุตะ" ไว้ในหมวด "ปัญญา" เพราะสุตะเป็นเรื่องของการแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนปัญญา เป็นอันว่าอริยทรัพย์ ๗ ก็ดี อริยทรัพย์ ๕ ก็ดี หรือ อริยทรัพย์ ๔ ก็ดี ก็คืออันเดียวกันเพียงแต่จะกล่าวโดยย่อหรือขยายเท่านั้น   

 

 

วิถีของการดำเนินชีวิตในสังเศรษฐกิจ บังคับ บีบคั้นให้เราต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกียทรัพย์ (โภคทรัพย์) อย่างมิพักสงสัย ทั้งในรูปแบบของการแสวหา  การเก็บรักษา รวมถึงการใช้ไป ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวหากว่าเราไม่รู้จักบริหารจัดการให้ดี ก็จะมีโอกาสที่จะพลาดพลั้งเข้าไปอยู่ในวังวนที่ลุ่มหลงบูชาวัตถุและเงินตราหรือที่เรียกกันว่า “ลัทธิบริโภคนิยม” ที่ผสมปนเปื้อนทางทัศนคติที่ว่า ยิ่งหาสิ่งมาบำรุงบำเรอ (บริโภค) ตามความต้องการได้มากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้ได้รับความสุข ความรื่นเริงบันเทิงใจได้มากเท่านั้น อิทธิพลทางความคิดและความเชื่อดังกล่าว ได้ฉุดดึงคนส่วนใหญ่ให้เข้าไปอยู่ในลู่วิ่งของการไล่กวดแสวงหาและสะสมความมั่งคั่งอย่างไร้จิตสำนึก ซึ่งหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการกระบวนการแสวงหา  การเก็บรักษา  รวมทั้งการใช้ไปในโลกียทรัพย์ให้เจริญงอกงามนำพาความสุขมาสู่ตนเองและสังคมก็คือ “อริยทรัพย์” นั่นเอง

 

         การแสวงหา  การเก็บรักษา  และการใช้ไปในโลกียทรัพย์ (โภคทรัพย์) ต้องถูกกำกับด้วยอริยทรัพย์จึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด กล่าวคือ เมื่อมีความเชื่อ (ศรัทธา) ในเรื่องบุญ – บาป และกรรม ย่อมนำพามาสู่กระบวนการทางความคิดที่ยึดติดในสัมมาอาชีพเพื่อแสวงหาหรือทำมาหากินอย่างถูกต้องตามครรลองครองธรรม (ศีลธรรม) ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น รวมทั้งธรรมชาติ ทรัพย์ที่สามารถแสวงหามาได้ก็เป็นไปในลักษณะของทรัพย์ที่บริสุทธิ์เย็นใจ เก็บรักษาเอาไว้ก็ไม่มีความรุ่มร้อน รวมถึงการใช้ไปในทรัพย์นั้นก็เป็นไปในทางสัมมาทิฏฐิ ที่มีความละอายต่อบาป (หิริ) และความเกรงกลัวต่อผลของบาป (โอตตัปปะ) ใช้ทรัพย์ที่หามาได้นั้นไปในทางที่ถูกต้อง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองและผู้อื่น เพราะมีความรู้ความเข้าใจในโลกียทรัพย์อย่างถูกต้องตามจริง (พาหุสัจจะ) รู้จักเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสกว่า (จาคะ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกโดยรวมได้ว่าเป็นการใช้ “ปัญญา” ในการบริหารจัดการโลกียทรัพย์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและส่วนรวมในฐานะที่ทุกคนล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) นั่นเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 496304เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท