รู้หรือยังสัญญาณอันตราย “คุณเป็นเบาหวาน” แล้วนะ ตอนที่ 1


สัญญาณเตือน เบาหวาน เหนื่อยเพลีย คอแห้งกระหายน้ำ น้ำหนักลด รวดเร็ว หากมีอาการพวกนี้อย่านิ่งนอนใจนะค่ะ

รู้หรือยังสัญญาณอันตราย “คุณเป็นเบาหวาน” แล้วนะ  ตอนที่ 1

            2 วันมานี่ชลัญเจอคนไข้ที่มีอาการน่าสนใจ มาฝาก  ซึ่ง  อาจจะเกิดขึ้นได้กับตัวคุณ และคนใกล้ตัวคุณได้ เพื่อเป็นการสังเกต  ว่า  สัญญาณแบบนี้เราต้องทำอย่างไรบ้าง

            ผู้ป่วยรายแรก  เป็น เด็กหญิง อายุ 11 ปี มากับมารดา ด้วย  นน.ลด 8 กก. ภายใน 2 เดือน  จริงๆชลัญไม่ได้ซักประวัติเด็กคนนี้แต่เป็นพี่ที่นั่งอยู่ติดกันซัก  ก็เลยทำให้สนใจ case  จึงเข้าไปเสนอหน้าหน่อยหนึ่ง  ตอนแรกที่พี่ในแผนกซักนั้นมองประเด็นเด็กลดความอ้วนซึ่งเด็กก็บอกพยายามลดจริง  แต่ก็ไม่ได้กินยาลดหรืออกกำลังกาย เพียงลดอาหารเล็กน้อย  ฟังดูแล้วไม่น่า นน.ลดเร็วเพียงนี้ หน้าตาก็ดูไม่มีเหนื่อยเพลีย  ผิวไม่เหี่ยว ดู healthyทีเดียว   ชลัญจึงช่วยถามเพิ่มเติม เพราะสงสัยเบาหวานในเด็กนั่นเอง  สอบถามพบว่า  ในครอบครัวนั้นยายเป็นเบาหวานอยู่   มารดาของเธอก็มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์  เด็กคนนี้เล่าว่ากลางคืนนั้นมีปัสสาวะบ่อย 5-6 ครั้งต่อคืน  มีคอแห้ง กระหายน้ำ   ชลัญจึงเสนอพี่ ที่แผนกว่า

            “พี่หนูว่า DTX stat (เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างหนึ่ง ที่ได้ผลรวดเร็ว ซึ่งมีเครื่องประจำอยู่ที่แผนก  ไม่ต้องส่งไปห้องชันสูตรเพราะผลจะออกช้ามาก )  เลย  เบาหวานชัวร์”

            พี่ที่แผนกลังเล  เพราะพี่เขาไม่กล้าทำอะไรที่นอกเหนือจาก order แพทย์  ซึ่ง พบ. หลายคนจะเป็นแบบนี้  สาเหตุที่ไม่กล้าทำเนื่องจาก องค์ความรู้ที่มีนั้น  อาจไม่พอหากแพทย์ถามกลับว่า เหตุใดจึงต้องส่ง โน่น  นี่  นั่น  พบ.มักตอบไม่ได้  แต่ชลัญอ่านมากมีเหตุผลในการส่งตรวจเสมอ ไม่ได้โม้ว่าตัวเองเก่ง แต่เพื่อความรวดเร็วในการดูแลผู้ป่วยนั่นเอง ซึ่งถ้าหากรอแพทย์นั้น  กว่าจะเข้าคิวรออีกนาน แน่   เดี๋ยวแพทย์ส่ง ตรวจเพิ่มเติมดีไม่ดี เสียเวลาเป็นวันกว่าจะวินิจฉัยได้  ซึ่งสำหรับผู้ป่วยรายนี้เช่นเดียวกัน  ดูแล้ว จากอาการไม่มีความผิดปกติชัดเจน     ดูเธอก็ปกติดี  สัญญาณชีพก็ปกติ  ดูไม่เหนื่อยไม่หอบ  ได้ซักประวัติ 9.00 น.  เมื่อเห็นพี่ลังเล ชลัญก็เลยให้พี่เขาตัดสินใจเอง  สรุปว่าให้รอแพทย์  แล้วชลัญก็ไม่ได้ตาม case  อีก  ก็ทำหน้าที่ตัวเองต่อไป 

            จนกระทั่งประมาณ  14. 30 น.  กุมารแพทย์  เดินออกมาหา 

            “ พี่โจ้ ขึ้นทะเบียนเบาหวานรายใหม่ให้หน่อย”

 

        ชลัญหันไป  อ้าว!  ไอ้เด็กเมื่อเช้านี่เอง  ว่าแล้วเชียว  เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ที่ไม่สามารถหลั่งอินซูลิน  ให้ออกมาใช้ ได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย  ทำให้เกิดเบาหวานนั่นเอง   คนไข้รายนี้ได้รับการรักษาด้วยการฉีด อินซูลิน  และต้องใช้ไปตลอดชีวิต  ด้วย  จริงๆภาวะเบาหวานที่เกิดในเด็กนี้น่าสงสาร เพราะ  เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต  เป็นวัยรุ่น  การใช้ชีวิตจะต่างกับเพื่อนในวัยเดียวกันโดยสิ้นเชิง  อาหารต้องจำกัด  ซึ่งป็นการยากที่จะควบคุมตัวเองได้  เมือปลายปีก่อน  ผู้ป่วยเบาหวานชลัญ  อายุ 18 ปี  ก็เสียชีวิต ด้วยไตวายเฉียบพลัน ไป หนึ่งคน  เฮ้ย  น่าสงสาร  เด็กคนนี้หลังจากแพทย์วินิจฉัยแล้วเธอก็นั่งร้องไห้  ต้องปลอบกันพักใหญ่ทีเดียว  แม่ที่มาด้วยก็ดูจะเครียดไม่น้อย  ทำไงได้  กรรมใครก็กรรมคนนั้น  ก็ต้องรักษากันไป 

            ตอนนี้คนไข้เบาหวานชนิดที่ 1 ที่ต้องพึ่งอินซูลินนี่  มีอยู่ประมาณ 22 คน  อายุน้อยสุด  8 ขวบ  พบตอนอายุ 5 ขวบ คนนั้นมาด้วยหมดสติเลยทีเดียว  มีภาวะ  DKA  [Diabetic ketoacidosis]  เป็นภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อย โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ภาวะนี้เกิดจากการเสียสมดุลของอินซูลิน ซึ่งอาจจะขาดหรือน้อยไป กับฮอร์โมนต้านฤทธิ์อินซูลิน เช่น glucagon steroid และ catecholamine สูงขึ้นทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะระดับน้ำตาลสูง และภาวะกรดในเลือด และมีการคั่งของคีโตนในเลือด คีโตนนี้เป็นกรดจะตรวจพบในปัสสาวะหากว่าอินซูลินไม่พอ และเบาหวานควบคุมไม่ดี  ตอนนี้เธอ 8 ขวบแล้ว  ผลการควบคุมเบาหวานก็ไม่ค่อยดีเท่าไร  ชลัญก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะยื้อชีวิตเธอได้นานเท่าไร 

 

            สัญญาณเตือน เบาหวาน  เหนื่อยเพลีย  คอแห้งกระหายน้ำ  น้ำหนักลด  รวดเร็ว   หากมีอาการพวกนี้อย่านิ่งนอนใจนะค่ะ  

           ติดตามตอน 2 เป็นอีกตัวอย่างคนไข้ที่พบ ค่ะ

 

 

ชลัญธร   ตรียมณีรัตน์

 

 

หมายเลขบันทึก: 496298เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ..เบาหวานในเด็ก ยากแก่การควบคุมกว่าผู้ใหญ่มาก..

การอยู่กับโรคเรื้อรังก็คล้ายการหัดขับรถคะ ต้องมีทั้งสติและความรับผิดชอบ เด็กที่ต้องหัดขับตั้งแต่ 8ขวบ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท